ฝันเดียวกัน สองทางแยก เปิดหัวใจถอดความคิดคนเสื้อแดงภาคเหนือ เกือบ 2 ทศวรรษแห่งการต่อสู้ในวันที่เราไม่ได้เดินด้วยกัน

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

หากพูดถึง ‘คนเสื้อแดง’ ถือได้ว่าเป็นขบวนการสำคัญที่เกิดจากการรวมตัวกันหลังการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ที่ยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในวันที่ 19 กันยายน 2549 จนนำมาสู่การชุมนุมประท้วงการรัฐประหาร และเกิดการรวมตัวกันเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เรียกร้องความเป็นธรรมเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ และเศรษฐกิจปากท้อง

ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 14 มีนาคม 2567 

การชุมนุมเรียกร้องของคนเสื้อแดงนั้นเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่จุดสำคัญที่ถือว่าเป็นบาดแผลของคนเสื้อแดงที่ไม่มีสามารถเยียวยาได้จนถึงปัจจุบัน ย้อนไปในปี 2553 คนเสื้อแดงได้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา จนนำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในวันที่ 10 เมษายน และวันที่ 19 พฤษภาคม ที่มีคนเสื้อแดงล้มตายมากกว่า 94 คน ข้อมูลบางแห่งยังระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การปราบปรามกว่า 99 คน และบาดเจ็บมากกว่า 2,100 คน 

หลังจากรอยแผลของคนเสื้อแดงในครั้งนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เกิดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 และได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้นก็คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ในสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่กระนั้นเองการรัฐประหารก็กลับมาอีกครั้งในปี 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำประเทศไทยกลับสู่ความมืดมนอีกครั้ง

กระทั้งประเทศไทยได้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกหลังรัฐประหารในปี 2562 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ถือว่าใกล้เคียงกับชุดอุดมการณ์คนเสื้อแดงเพิ่มขึ้น อย่างพรรคอนาคตใหม่ รวมไปถึงพรรคเพื่อไทยที่ยังคงเป็นพรรคในดวงใจของเสื้อแดงหลายคน ส่งผลประชาชนมีตัวเลือกในพรรคที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามขั้วเผด็จการมากกว่า 1 พรรค ส่งผลให้คนเสื้อแดงแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะไปสนับสนุนทางเลือกใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ ส่วนหนึ่งยังเลือกพรรคเพื่อไทยตามเดิม แต่หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ผลการเลือกตั้งพลิกผัน พรรคพลังประชารัฐที่เป็นผลพวงจาก คสช. สามารถรวมพรรคการเมืองและตั้งเป็นรัฐบาลได้ ด้วยอำนาจของ สว. 250 จาก คสช. เจ้าเก่า ส่งผลให้พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมอีก 8 พรรค ต้องจับมือกันเป็นฝ่ายค้าน 

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์การยุบพรรคอนาคตใหม่ ส่งผลให้สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ย้ายไปสังกัดพรรคก้าวไกล จนกระทั่งมีการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2566 คนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็ยังคงดำเนินตามรอยเดิม เฉกเช่นเดียวกับเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่เคยเลือกพรรคอนาคตใหม่ในอดีตก็ยังเลือกในเส้นทางเดิม และทั้งสองกลุ่มเชื่อว่าพรรคที่พวกเขาเลือกนั้นจะจับมือกันกลมเกลียวเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ผลจากการเลือกตั้งในปี 2566 พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงจากประชาชนอย่างถล่มถลายกว่า 14 ล้านเสียง กลายเป็นพรรคอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยจำนวน สส. กว่า 151 ที่นั่ง  ส่วนพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเป็นอันดับ 2 แต่ถึงแม้พรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 และ 2 อย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยก็ไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ภายใต้อำนาจอันแยบยลของ สว. 250 เสียง ที่มีเสียงกว่า 1 ใน 3 ของสภาในการชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ด้วยสาเหตุนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยหันไปจับมือกับพรรคการเมืองที่เป็นมรดกของ คสช. จนเกิดเป็น ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ ที่แถลงการณ์จัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 หนึ่งวันก่อนหน้าทักษิณกลับประเทศไทย และผลักพรรคอันดับ 1 อย่างพรรคก้าวไกลไปเป็นผู้นำฝ่ายค้าน 

อดีตเสื้อแดงเชียงใหม่เผาเสื้อหลังพรรคเพื่อไทยมีการฉีก MOU เพื่อจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ในวันที่ 5 สิงหาคม 2566 บริเวณประตูท่าแพจังหวัดเชียงใหม่

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล รวมไปถึงเสื้อแดงที่ยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เกิดความขัดแย้งขึ้น เนื่องใน 14 ปี ครบรอบการล้อมปราบคนเสื้อแดงปี 2549  Lanner ชวนคุยกับคนเสื้อแดงภาคเหนือที่ครั้งหนึ่งเคยต่อสู้เพื่ออุดมการณ์เดียวกันมาตั้งแต่อดีต มาจนถึงเส้นทางที่เลือกที่อาจจะไม่ได้มีแค่เส้นเดียว และความเชื่อความฝันที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อปากท้องอิ่ม อะไรดีๆ จะตามมา

“ตอนแรกก็ไม่ได้รักทักษิณขนาดนั้น แต่เรามองว่าเขาเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว อย่างโครงการบ้านเอื้ออาทร เมื่อก่อนคนรายได้น้อยไม่มีปัญญาซื้อบ้านได้หรอก แต่ทุกวันนี้มีที่พักพิงมีบ้านเป็นของตัวเอง ตอนนั้นถ้าท่านไม่ได้ทำโครงการนี้ คิดว่าไม่มีใครสามารถซื้อบ้านได้ บ้านเนี่ยราคาหลังละ 490,000 แต่ท่านช่วยบ้านหลังละ 100,000 ก็เลยเหลือหลังละประมาณ 390,000 บาท

คือถ้าปากท้องมันดีอย่างอื่นมันก็ตามมาเอง แต่ถ้าปากท้องมันยังไม่ค่อยดี อะไรมันก็ตามมาไม่ได้” 

เฮงเฮง ศรีอารยะชาติ คนเสื้อแดง วัย 65 ปี อาชีพขายน้ำสมุนไพรบริเวณหน้าหมู่บ้านเอื้ออาทรลำปาง (ต้นธงชัย) เล่าให้ฟังถึงอดีตที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารประเทศโดย ทักษิณ ชินวัตร ที่ตนมีกินมีใช้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่หลังเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ก็ส่งผลกระทบอย่างจังกับตนเอง และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ โกเฮงและพรรคพวกเข้าร่วมกับขบวนการเสื้อและมีการเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549-2553 ทั้งบ้านเกิดในจังหวัดลำปาง และกรุงเทพมหานคร

“ไอ้ที่เราลงไปเนี่ยเราก็ไม่ได้อยากไประรานใครหรอก เพียงแต่เราอยากเรียกร้อง ตอนนั้นคนก็ชวนกันไปต่างคนต่างชวนก็ไปเฉพาะคนที่เต็มใจไป คนที่อยากระบายว่าปัญหาที่เค้าเจอมันก็คือเรื่องเศรษฐกิจเรื่องปากท้อง”

โกเฮง เล่าเสริมว่าก่อนหน้านี้ได้มีการสั่งสมความคิดจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเพื่อนที่สนใจการเมือง ยาวไปจนถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา จนรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งเป็นกลุ่ม ‘รักลำปาง’ ช่วงปี 2548 เป็นกลุ่มของคนรักประชาธิปไตยมาร่วมกัน นอกจากรวมตัวกันเพื่อพูดคุยเรื่องสังคมการเมืองแล้วก็มีการทำกิจกรรมรณรงค์ทางการเมือง อาทิ การแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง

ด้าน เก๊าเสา (นามสมมุติ) เสื้อแดงผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค และแทนตัวเองว่า ‘แดงอิสระ’ ในช่วงของการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงช่วงปี 2553

เก๊าเสา เสื้อแดงผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค

เก๊าเสาบอกกับ Lanner ว่าตนเห็นผลงานของทักษิณตั้งแต่ตอนอยู่กับพรรคพลังธรรม ที่นำโดย พลตรี จำลอง ศรีเมือง พอทักษิณออกมาตั้งพรรคไทยรักไทยจึงเริ่มติดตามตั้งแต่นั้นมา และเริ่มเคลื่อนไหวในนามเสื้อแดงช่วงปี 2549 ที่เริ่มเห็นถึงความไม่ถูกต้องและอยุติธรรม หลังกลุ่มคนเสื้อเหลือง หรือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีทักษิณ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนทำให้รัฐบาลทักษิณที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้นถูกรัฐประหาร โดย คปค.

“พอไม่ได้ดั่งใจก็ล้มโต๊ะ มันไม่ถูก มันต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ หลังจากรัฐประหารโดย คปค. ก็มีรัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ามาปกครองประเทศเราก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหว เพราะเราไม่ได้เลือกเข้ามา เราต้องการเรียกร้องความยุติธรรมคืนมา เราไปชุมนุมทุกที่ที่มีโอกาสได้ไป ทั้งในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เราไม่ได้อยู่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เราไปในนามอิสระ ออกมาโดยเจตจำนงเสรี และไม่ได้มีการสนับสนุนของพรรคเลย เราแทนตัวเองว่า ‘แดงอิสระ’ อย่าง ‘กลุ่มรักเชียงใหม่ 51’ เราก็ไม่ได้เข้าร่วมนะ ช่วงปี 2553 เราเคลื่อนไหวในเชียงใหม่ เรากับเพื่อน ๆ ก็ตั้งเวทีแยกที่ลานช้างเผือก” 

ทิพพ์จุฑา พรธนาพิพัฒน์ อดีตคนเสื้อแดงที่ในปัจจุบันหันเหทิศทางจากพรรคเพื่อไทยและไปสนับสนุนพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ได้เล่าย้อนไปในช่วงก่อนมีการรัฐประหาร 49 นโยบายและการบริหารงานของพรรคไทยรักไทยที่ถือว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในยุคนั้น มีผลงานเชิงประจักษ์ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

ทิพพ์จุฑา พรธนาพิพัฒน์

“ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหาร 49 ตอนนั้นเราก็มีความหวังที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เราเห็นผลงานของทักษิณตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสังกัดพรรคพลังธรรม เราเลยเริ่มสนใจเพราะรู้สึกว่ามันมีความเปลี่ยนแปลง พอทักษิณแยกออกมาตั้งพรรคไทยรักไทยเราเห็นนโยบายก็ยิ่งรู้สึกว่ามันเข้าท่า”

“แล้วจำได้ว่ามีครั้งหนึ่ง อยู่ดี ๆ หน้าบ้านเรามีรถสิบล้อขนจักรยานมาเต็มคันรถ เราก็ไปถามเขาว่าจะเอาจักรยานไปขายที่ไหน เค้าก็บอกว่าเป็นโครงการของทักษิณที่จะเอาจักรยานมอบให้กับคนกับชนบท เราก็เลยรู้สึกว่าเออมันเข้าท่านะเราก็เลยเทใจให้กับคนนี้ 

แต่ไม่นานก็เกิดรัฐประหาร 49 เราก็คิดว่าประเทศมันไม่ควรมีรัฐประหารอีกแล้ว มันไม่ถูกต้อง เราเกิดมาในยุคสมัยจอมพลถนอม เราเห็นเราโตกับอำนาจเผด็จการ เราเห็นว่าประชาชนไม่มีเสรีภาพ”

การเคลื่อนไหวของกลุ่ม เสื้อแดงลำปาง 51 (ภาพ: mgronline)

ทิพพ์จุฑาเล่าว่าหลังจากการรัฐประหารปี 2549 มีสถานีวิทยุชุมชนคนล้านนา 90.25 MHz. ซึ่งตนได้มีโอกาสได้รับฟัง และได้รับรู้ข่าวสารในกรุงเทพฯ ที่มีการจัดชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารที่เรียกว่า ‘กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ’ และกลุ่มอื่นอีกมากมาย ส่งผลให้จังหวัดลำปางมีการจัดตั้งกลุ่มเสื้อแดงขึ้นมา โดยมีการจัดชุมนุมในจังหวัดลำปางครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2550 ที่ศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเก่า ทิพพ์จุฑา ก็ได้เข้าร่วมชุมนุมจนกระทั้งปี 2551 กลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดลำปางได้มีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็นกลุ่ม ‘ลำปาง 51’ แต่ ทิพพ์จุฑา ไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากมีปัญหาภายในตนจึงออกมาเรียกร้องแบบเอกเทศ 

ด้าน พันธ์อรรถ ตันศิริเจริญกุล สามีของ ทิพพ์จุฑา อดีตเสื้อแดงที่ปัจจุบันหันมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลเช่นเดียวกับภรรยาของตน พันธ์อรรถ เล่าว่าในตอนแรกตน ยังไม่ได้เทใจไปยังทักษิณเช่นเดียวกับภรรยาของตน เกิดการถกเถียงกันระหว่างสามี-ภรรยา แต่หลังจากที่ภรรยาของตนได้ออกไปรับรู้ข้อมูลมากขึ้นผ่านการไปชุมนุมในหลาย ๆ ครั้ง และได้พูดคุยกับตนทำให้ตนเริ่มสนใจในความเป็นเสื้อแดงมากยิ่งขึ้น

“จนมาถึงยุคไทยรักไทย ตอนนั้นเราก็ยังเฉย ๆ เราเห็นนโยบายของทักษิณเรารู้สึกว่ามันเป็นไปได้ยาก เพราะเรายังฟังข้อมูลจากฝั่งตรงข้ามอยู่ แต่หลังจากนั้นพอแม่ (ทิพพ์จุฑา) เริ่มไปร่วมการชุมนุมบ่อยขึ้นเราก็เริ่มหาข้อมูลมากขึ้น ๆ ทีนี้ก็กลายเป็นว่าเรารับข้อมูลสองด้าน มันเริ่มขัดแย้งกันในตัวเอง เราก็เลยเอนเอียงมาทางเสื้อแดง” 

พันธ์อรรถ ตันศิริเจริญกุล

แต่สาเหตุที่ พันธ์อรรถ ได้ก้าวขามาเป็นเสื้อแดงเต็มตัวคือในสมัยที่ หนูหริ่ง หรือ สมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงได้ออกมาเคลื่อนไหวช่วงปี 2553 ทำให้ตนเห็นอะไรหลายอย่างมากขึ้น หลังจากนั้น พันธ์อรรถ ก็เข้าร่วมการชุมนุมร่วมกับภรรยาในทุกครั้งที่มีโอกาส

ทางที่เลือก ไม่ได้มีแค่ทางเดียว

การเลือกตั้งในปี 2562 ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากการรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557 รัฐธรรมนูญใหม่ที่สร้างกฎเกณฑ์กติกาในการกุมอำนาจไว้ที่คนกลุ่มเดียว นโยบายแต่ละนโยบายที่ออกมา สร้างความลำบากให้แก่ประชาชนกับทั้งประเทศ ทั้งนี้การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 ถือเป็นแสงสว่างในความมืดมนของคนที่รักประชาธิปไตย เฉกเช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทยในอดีต ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นพรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนเสียงไปกว่า 6,330,617 เสียง และได้จำนวน สส. ที่เข้าไปนั่งในสภามากกว่า 81 คน เป็นรองแค่ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ 

หนึ่งใน 6 ล้านกว่าเสียงนั้น เก๊าเสา ก็ได้ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคอนาคตใหม่เพราะเห็นถึงความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศ และใกล้เคียงกับความเชื่อของตนในขณะนั้นมากที่สุด

“ช่วงปี 2562 ที่มีการเลือกตั้ง เราเลือกพรรคอนาคตใหม่ แต่ตอนนั้นก็โดนยุบพรรค และเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกล ยาวมาจนถึงก่อนเลือกตั้งปี 2566 เราก็ออกมาช่วยหาเสียงทั้ง พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจว่าเราจะเลือกพรรคไหน”

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เก๊าเสานั้นกลับมาเลือกพรรคเพื่อไทยอีกครั้งนั้นก็คือ คือช่วงหลังของการเลือกตั้ง 2566 เสร็จสิ้นไปประมาณ 1 เดือน ‘ช่อ พรรณิการ์ วานิช’ อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ได้พูดผ่านรายการ ถกถาม EP:17 season 3 ในตอน คุยกันเรื่องการแปะป้ายทางการเมืองในสังคมทั้งควายแดง สลิ่ม และสามกีบ โดยในรายการดังกล่าว พรรณิการ์ ได้พูดว่าพรรคอนาคตใหม่ในช่วงเริ่มก่อตั้งเห็นว่าการที่จะมีตีตราว่าใครต่อใครว่าเป็นสลิ่มนั้นจะทำการเดินต่อไปข้างหน้าเป็นไปได้ยาก และยอมรับว่าตัวพรรคนั้นเป็น ‘พรรคสลิ่มเฟส 2’ 

หลังจากเก๊าเสาได้รับชมวิดีโอดังกล่าวทำให้ตนไม่เห็นด้วย เก๊าเสา เล่าว่าตนที่เป็นคนเสื้อแดงนั้นมีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน การที่ถูกเหมารวมหรือยอมรับถึงสลิ่มในพรรคก้าวไกลนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับตน เนื่องจากในคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ต่อต้าน สุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส. และเกลียดคำว่า สลิ่ม แต่พรรคก้าวไกลกลับหลอมรวมคำว่าสลิ่ม ทำให้เก๊าเสากลับไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง 

“เรามองว่ามันไม่ใช่แล้ว เราผิดหวังกับพรรคก้าวไกล” เก๊าเสา กล่าว

กิจกรรม ‘รำลึก 14 ปี พฤษภาฯ ’กูยังไม่ลืม‘ บริเวณ ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2567

ด้าน พันธ์อรรถและทิพพ์จุฑา ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งคู่ก็มีความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศเฉกเช่นเดียวกับเก๊าเสา แต่ ณ ช่วงเวลานั้นการที่การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ ที่ออกนโยบายที่เหมือนความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศ รวมไปถึงการหาเสียงที่เชื่อในการเมืองแบบใหม่ ทำให้เสื้อแดงบางส่วนที่ในอดีตเคยสนับสนุนพรรคไทยรักไทยหรือพรรคเพื่อไทยหันปากกาสีแดงไปเลือกพรรคสีส้ม ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างคนเสื้อแดงเกิดขึ้น

“เค้าทั้งอันเฟรนด์และบล็อคเราในเฟซบุ๊กไปเยอะเลย บางคนถึงขั้นแบบไม่พูดคุยกันก็มี ตั้งแต่ช่วงตั้งพรรคอนาคตใหม่แรก ๆ เค้าด่าว่าเราไม่มั่นคงในพรรคเพื่อไทย เค้าถามเราว่าไม่เห็นตอนทักษิณอยู่เนี่ยเศรษฐกิจเป็นยังไง เน้นคำว่าเศรษฐกิจทุกคนปากท้องกันทุกคน แต่เรามองสิ่งที่ควรทำในการบริหารประเทศก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารต่างหากล่ะ ก็กลายเป็นว่าทะเลาะกันไป” ทิพพ์จุฑา กล่าว

ทิพพ์จุฑา เล่าต่อว่า ช่วงการเลือกตั้งปี 2566 เสื้อแดงฝั่งที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดงฝั่งที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล ต่างคิดว่าทั้งสองพรรคจะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นในช่วงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง 

การลงนามข้อตกลง MOU จัดตั้งรัฐบาล ของ 8 พรรค (ภาพ: ThaiPBS)

“สำหรับเราตอนนั้นคิดว่าพรรคไหนก็ได้ ขอให้ฝั่งประชาธิปไตยชนะแล้วเรามีคนเข้าไปร่วมรัฐบาลโดยที่ไม่จำเป็นต้องตีกัน ฝั่งสนับสนุนพรรคเพื่อไทยก็มั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง ในช่วงนั้นก็เลยมีความประนีประนอมประมาณว่าถ้าไม่เลือกพรรคก็เลือกคน ถ้าไม่เลือกคนก็เลือกพรรค จะเป็นลักษณะนี้ก็เลยจะไม่ค่อยมีปัญหาไม่ค่อยมีความขัดแย้งกันเท่าไหร่”  

ทิพพ์จุฑา เสริมว่าหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วขึ้น ความสัมพันธ์ของคนเสื้อแดงมีทั้งดีขึ้นและแย่ลง คนเสื้อแดงที่อยากให้ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลร่วมกันก็รู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจของพรรค แต่คนเสื้อแดงที่เป็นคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างเหนียวแน่น ทิพพ์จุฑา กล่าวว่ามีปัญหาด้วยกันที่ค่อนข้างรุนแรง และมีการทะเลาะกันบนโลกออนไลน์

แตกหักเพื่อไปต่อ เพื่อนยังคงเป็นเพื่อน แม้แตกหัก

ถึงแม้ทางเดินอาจจะแยกเป็น 2 สายไม่ได้มาบรรจบกันอย่างในอดีต แต่ความเชื่อความฝันในวันวานยังเหมือนเดิม

โกเฮง ยังคงเชื่อมั่นว่าจุดยืนที่ตนเชื่อยังคงเหมือนเดิม และยังมีกำลังใจมากขึ้นที่จะสู้ต่อเพื่อให้ไปถึงความฝันที่เคยคิดไว้ และอยากให้ประเทศไทยและประชาชนคนไทยได้ยิ้มสู้กับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ปล่อยให้เรื่องราวความเจ็บปวดในครั้งนั้นเป็นอดีต หากมีการสู้อีกครั้งจะต้องมีการถอนรากถอนโคนอำนาจเผด็จการที่ยังมีอยู่ให้หมดไป และไม่ต้องกลับมาต่อสู้ที่เกิดการสูญเสียแบบที่ผ่านมา

“เราก็คุยเรื่องนี้กันกับเพื่อน อย่างตอนเย็นเขาโทรมาก็ได้คุยเรื่องนี้กันบ้าง เพื่อนบางคนก็ถามเราว่าโกเฮงยังเหมือนเดิมไหม ผมก็ยังบอกว่าผมเหมือนเดิม แต่ตอนนี้ขอทำมาหากินก่อน ใจเย็น ๆ ยังรอเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่”

ด้านเก๊าเสา กล่าวว่าตนยังมีความเชื่อเหมือนเดิม ที่เชื่อว่าทุกอย่างต้องจบด้วยการเลือกตั้ง ตราบใดที่มีการเลือกตั้งก็ไม่จำเป็นต้องออกไปเคลื่อนไหว และประเทศไทยจะต้องไม่มีการรัฐประหารอีกต่อไป ซึ่งในปัจจุบันก็มีการแก้ปัญหาด้วยระบบรัฐสภาแบบเลือกตั้ง 

“เพราะประชาชนเลือกเข้าไป ต้องฟังเสียงประชาชน”

เก๊าเสา กล่าวว่า รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นอยู่ประชาชน หากรัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชนหากมีการเลือกตั้งในครั้งถัดไปประชาชนก็ไม่พรรคเดิมอีก เก๊าเสายังเชื่อว่า พลังบริสุทธิ์ที่พรรคก้าวไกลได้พูดไว้ สามารถเกิดขึ้นได้จริง

“ประชาชนไม่ได้โง่ ประชาชนเลือกพรรคที่เขาเชื่อมั่น ต้องดูตามนโยบายของแต่ละพรรค เรายังมองหาพรรคที่มีนโยบายเพื่อประชาชน ไม่ได้ยึดโยงว่าต้องเป็นพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย เพราะเราต้องการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่ได้ดีกว่านี้เราก็ไม่เอา”

ด้าน พันธ์อรรถ ยังฝันว่าประเทศไทยจะต้องมีการรื้อโครงสร้าง และเปลี่ยนแปลงประเทศ และเชื่อว่าหากประเทศไทยยังอยู่ในระบอบแบบเดิม ทุกสิ่งก็จะกลับมาลูปของการรัฐประหารเหมือนเดิม ตนนั้นเชื่อว่าในอนาคตหากมีพรรคการเมืองที่ดีกว่า เข้าใกล้อุดมการณ์ของตนมากกว่า พันธ์อรรถ ย้ำว่า “เราพร้อมไปเลย”

พันธ์อรรถ – ทิพพ์จุฑา

“เราไม่ได้ยึดติดที่ตัวพรรค เรายึดที่หลักการ เราหาว่าอะไรที่จะทำให้เราเข้าใกล้อุดมการณ์ของเราได้มากที่สุดเราก็ต้องไปทางนั้น หากในอนาคตมันมีพรรคอะไรที่ดีกว่า เป็นทางเลือกที่ดีกว่า เข้าใกล้อุดมการณ์ได้มากกว่า และทำงานได้ดีกว่าเราก็พร้อมที่จะสนับสนุน เพราะเราพูดแต่แรกแล้วว่าเราทำงานบนฐานของอุดมการณ์เป็นหลักก่อน”

“คนเท่ากัน” ทิพพ์จุฑายังเชื่อในจุดยืนในความเท่าเทียม ที่หมายถึงการได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐบาลนั้นมีหน้าที่ในการสร้างโอกาสอันเท่าเทียมให้แก่ทุกคน 

ทิพพ์จุฑา ส่งท้ายไว้ว่า เห็นความหวังในการเปลี่ยนแปลง จากการที่คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าหลายคนที่เริ่มจะเปลี่ยนความคิด ถึงแม้อาจจะยังไม่เปลี่ยนทุกกลุ่ม 

“มันก็ทำให้เรามองว่าเด็กรุ่นใหม่ เปิดรับความเห็นในการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราเคยคุยกับเด็กหลายคนความคิดเขาชัดเจนกว่าเราอีกนะ มันทำให้เรามีความหวัง”

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง