‘วาระเชียงใหม่’ จัดเวทีทบทวนวิกฤตฝุ่นเดินหน้าอากาศสะอาด ย้ำแนวทางจัดการไฟไม่กดทับชุมชน แนะตรวจปอดฟรีไม่มีเงื่อนไข

30 กรกฎาคม 2567  เวลา 13.00 – 16.00 น. วาระเชียงใหม่และเครือข่ายภาคประชาชน ได้จัดเวที ‘วาระเชียงใหม่: การแก้ปัญหาฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่’ เพื่อรวบรวมข้อเสนอและหาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ณ จริงใจ มาร์เก็ต เชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับทิศทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นทั้งในระดับนโยบาย ระดับท้องถิ่น รวมไปถึงมิติทางสุขภาพ

ก่อนเริ่มเวทีได้มีการเปิดระดมความคิดเห็นออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กวาระเชียงใหม่ “ถามคนเชียงใหม่ ผ่านฝุ่นปี 67 กันมาได้อย่างไร?” จากความคิดเห็นทั้งหมดรวมไปถึงข้อเสนอที่ได้ คือ ประชาชนได้รับผลกระทบปัญหาสุขภาพในการใช้ชีวิตประจำวันต่อเนื่องเป็นระยะยาว อีกทั้งจำนวนเงินประมาณเฉลี่ยกว่า 18,000 ต่อเดือน ที่ต้องเสียให้กับค่าใช้จ่ายไปกับเครื่องฟอกอากาศและหน้ากากกันฝุ่นและค่าไฟที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งการดูแลตนเองทำได้เพียงสวมใส่หน้ากากตลอดเวลา อยู่ในพื้นที่ที่มีเครื่องกรองอากาศ ปิดหน้าต่างบ้านให้มิดชิด และเสนอให้มีส่วนร่วมในการลดการเกิดฝุ่นควันได้โดยการไม่เผาทุกชนิด, ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ปลูกต้นไม้ และร่วมกันผลักดันแก้ปัญหาไปพร้อมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป

เช็คจังหวะร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ภาคประชาชนเชียงใหม่พร้อมประกาศพร้อมเดินหน้า

การพูดคุยในประเด็นแรกจะเป็นการพูดคุยถึงร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ….. โดย ภาวัต เป็งวันผูก ผู้ชำนาญการ ผู้แทน สส.ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ จาก เขต 8 พรรคก้าวไกล กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยภาวัตระบุว่า ถ้าพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ ประชาชนสามารถทำอย่างไรได้บ้าง หนึ่งคือ การเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งเราต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาและไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเผาซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือสิ่งที่ทำให้เกิดมลพิษข้ามพรมแดน และเน้นย้ำว่ารัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่ต้องรอ พ.ร.บ.อากาศสะอาด  เนื่องจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มี พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อใช้ในการออกระเบียบมาตรฐานบังคับสำหรับสินค้าไม่เผา ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวสามารถบังคับใช้และทำให้การนำเข้า – ส่งออกสินค้าต้องปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ 

เรื่องที่สอง คือ หน้าตาของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ระบุว่าการแก้ไขปัญหาฝุ่น ต้องมีการตรวจสอบโครงสร้างของระบบอุปสงค์-อุปทานที่เกิดขึ้นของระบบห่วงโซ่ทางการค้า ซึ่งทางพรรคก้าวไกลได้มีการยื่นร่างไปยังสภาผู้แทนราษฎรในประเด็นการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยผลักดันให้ต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อดูที่มาของผลิตภัณฑ์/สินค้า ว่ามีที่มาจากการเผาหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลได้กับทั้งทาง NARIT และ GISTDA อีกทั้งยังมีการให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงานทางห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถตรวจสอบได้

ถัดมามีการระบุถึง ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษสู่อากาศ (PRTR) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมายนี้คู่กับกฎหมายของภาคประชาชน โดยมีหลักการสำคัญคือ การตรวจสอบผู้ประกอบการที่มีการปล่อยหรือเคลื่อนย้ายมลพิษ

ภาวัตยังระบุถึงร่างพ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกลเป็นร่างพ.ร.บ.เดียวที่มีการตั้งโครงสร้างระดับจังหวัดโดยมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นประธานกรรมการ เนื่องจากนายกอบจ. มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีหน้าที่รับผิดรับชอบโดยตรงต่อประชาชน และประชาชนมีความมั่นใจในการทำงาน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดยังคงมีการกำกับดูแลอยู่ ยกตัวอย่างถึง บทบาทของนายกอบจ.ในภาคการปล่อยมลพิษทั้ง  4 ภาค คือ 1. ภาคไฟป่า  2. ภาคการเกษตร   3. ภาคคมนาคม   4. ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทั้ง 4 ภาคนี้ต้องเผชิญปัญหาฝุ่นควันในระยะยาวและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะขาดงบประมาณและอำนาจการบริหารจัดการของท้องถิ่น โดยภาวัตมีข้อเสนอคือ การกระจายอำนาจไม่เพียงแค่ตั้งคณะกรรมจังหวัด หรือ ผู้ว่า CEO เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือการให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีงบประมาณ มีอำนาจออกแบบการจัดการปัญหาของตนเองได้อย่างแท้จริง

ถัดมา ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่  ได้กล่าวถึงปัญหาฝุ่นควันว่ามีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ทุกระดับ ทุกพื้นที่ และอยู่ภายใต้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมีการออกแบบแนวทางที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม และมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ดังนี้ 1. ต้องมีการประกาศนำแนวทาง พ.ร.บ.อากาศสะอาด มาใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาในปี พ.ศ. 2568 สำหรับทุกจังหวัดโดยมีจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่อง ผ่านการเปิดเวทีสัมมนาทั้ง 17 จังหวัดในภาคเหนือ 2. ต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน ผ่านการประชุม และการประชาคม ให้มีข้อตกลง/ธรรมนูญร่วมกันในการลดและควบคุมการเผาของแต่ละชุมชน หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นต้องใช้ไฟในการประกอบอาชีพ หรือพื้นที่เสี่ยง สามารถยอมรับได้ แต่ต้องมีการทำแนวกันไฟเพื่อการควบคุมไม่ให้ไฟลุกลาม สุดท้าย เสนอให้มีการจัดงบกลางมาในเดือนมกราคม และต้องการกฎหมายฉบับนี้ส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ในทุกระดับให้มีความเข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างแท้จริง 

ในส่วนของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่มีการระบุถึงสิทธิอากาศสะอาดที่ทุกรัฐบาลต้องแก้ไขให้กับประชาชน และการลดแหล่งกำเนิดของฝุ่นควันที่มาจากหลายสาเหตุ หลัก ๆ คือ ประเทศเพื่อนบ้านที่กลุ่มทุนจากไทยเข้าไปลงทุนและทำกำไร จึงย้ำว่าต้องมีการลงโทษอย่างหนักและมีการควบคุมกำกับดูแลกองทุนอากาศสะอาดซึ่งบริษัทใหญ่และภาคอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วย จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องติดตามต่อไปหากยังไม่มีเชียงใหม่มหานคร งบประมาณจากรัฐที่แก้ไขปัญหามีน้อยมาก อีกทั้งงบประมาณไม่สมเหตุสมผลกับวิกฤตการณ์

ย้ำแนวทางการบริหารจัดการไฟต้องไม่กดทับชุมชนท้องถิ่น

ในประเด็นที่ถัดมามีการพูดคุยเกี่ยวกับทิศทางการบริหารจัดการไฟและแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน  โดย ปริศนา พรหมมา จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวถึงการทำงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ที่ทำงานร่วมกับองค์กรภาคีต่าง ๆ กว่า 3 ปีที่ได้มีการสนับสนุนรูปธรรมการบริหารจัดการไฟเชิงพื้นที่ และมีนัยให้เกิดกระบวนการสนับสนุนการจัดการไฟฟ้าที่เน้นจากพื้นที่ คือ พื้นที่ชุมชนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ด้านข้อเสนอมีทิศทางไปในทางเดียวกัน คือ สนับสนุนให้เกิดการจัดทำแผนและกำหนดด้วยตนเอง เพราะทุกพื้นที่มีบริบทที่แตกต่างกันเราจึงต้องยอมรับถึงการบริหารที่แตกต่าง  เงื่อนไขของการใช้ไฟจำเป็น ในเขตป่าพลัดใบที่ครอบคลุมถึงพื่นที่เสี่ยง พื้นที่หาอยู่หากิน ปริศนา ระบุว่าแผนที่ออกมามีความหลากหลายบนเงื่อนไขที่ยอมรับในเงื่อนไขการใช้ไฟจำเป็น เพราะทุกการจุดไฟจะมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องสุขภาพเพื่อเป็นการหาทางออกระหว่างผู้ต้องการใช้ไฟและการลดผลกระทบสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนข้อมูลไปยัง อปท. 

พชร คำชำนาญ จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือและศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า ระบุว่าในฐานะที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นหน่วยปฏิบัติการที่สำคัญแต่กลับถูกพูดถึงน้อยมาก โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่  ซึ่งสาเหตุของ PM2.5 มีหลายสาเหตุทั้งภาคเกษตร, ฝุ่นควันข้ามพรมแดน, ภาคอุตสาหกรรม, พื้นที่ป่าไม้, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ   แต่พื้นที่ป่ากลับเป็นพื้นที่ที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุด และการบริหารจัดการที่ไม่ได้สัดส่วน เห็นได้จาก พ.ร.บ.อากาศสะอาด อีกทั้งสาเหตุของ PM2.5 เป็นประเด็นเรื่องสุขภาพที่คนตระหนักรู้มากขึ้น แต่ในพื้นที่ภาคเหนือ การเผาในพื้นที่โล่ง ไฟป่า กลับเป็นประเด็นที่รัฐพยายามใช้มาตรการเฉพาะจัดการมากกว่าแหล่งอื่น ๆ เช่น มาตรการห้ามเผา  พบว่าทุกชุมชนในหลายท้องถิ่นมีต้นทุนควบคุมการการจัดการไฟป่า และมีศักยภาพในการจัดการไฟป่า ที่ควบคู่ไปกับองค์ความรู้และนวัตกรรมสมัยใหม่ สามารถประเมินความเสี่ยงได้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อพื้นที่ป่า ชุมชน และพื้นที่เกษตร เช่น ไร่หมุนเวียน ซึ่งการจัดการไฟป่าและฝุ่นควันได้กลายมาเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของพวกเขาและมีแผนระยะยาวในการรับมือ เช่นในฤดูฝนต้องมีการจัดการวางแผนเรื่องระบบน้ำ เพื่อมีความพร้อมในการจัดการไฟในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่สอดคล้องกับแผนการจัดการของรัฐที่มีการวางแผนแค่ในช่วงก่อนจะเกิดไม่กี่เดือน แต่ชุมชนมีการวางแผนตลอดทั้งปี ในส่วนของ ไฟจำเป็น (Cultural burning)  คือไฟตามวิถีของชาวบ้าน ซึ่งมีความแตกต่างกับไฟป่า ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ในการจัดการได้ถูกลดทอนศักยภาพลง เช่น ไร่หมุนเวียนของคนปกาเกอะญอ ซึ่งถึงแม้จะมีแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง, Burn Check แต่กลับกลายเป็น ไม่มีการจำแนกว่าไฟทั้งสองแบบควรที่จะมีศักดิ์ศรีที่ต่างกัน และไม่ควรอยู่ในระบบการรวมศูนย์อำนาจเดียวกัน ซึ่งมาตรการห้ามเผามีผลโดยตรงต่อ ระบบการผลิตอาหารของชุมชนและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศป่าในระยะยาว

พชรเสนอให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงควรเป็นแนวทางหลักในการจัดการต่อไป แต่ต้องมีการปรับให้เกิดการ กระจายอำนาจไม่ให้อำนาจไปขึ้นอยู่กับที่ระบบที่ไม่มีการแยกแยะหรือค่าฝุ่นในเมือง เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นแล้วสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้คือ เรื่องแผนการจัดการไฟกับ PM2.5 รวมถึงแผนการจัดการเชื้อเพลิงควรจะต้องทำไปปรับไปตามสถานการณ์ และให้มีการประเมินผลเพื่อปรับปรุงวิธีการจัดการในขั้นตอนภายหลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านป่าไม้ควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการบูรณาการและส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการจัดการไฟป่าซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และอยู่ร่วมกันในสังคมที่สุขภาพดี ไม่กดทับ ไม่กดขี่ พี่น้องในพื้นที่ป่า

ทั้งนี้ได้มีผู้นำชุมชนมาร่วมสะท้อนปัญหาและเสนอทางออกวิธีการจัดการไฟป่าฝุ่นควัน   โดย ทรงราช กันทะอุโมงค์ ผู้ใหญ่บ้านนาเม็ง ตำบลแม่หอพระ เสนอให้งบประมาณในการสนับสนุนภารกิจและภาครัฐควรมีคำสั่งที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นปีไม่ต้องรอให้ไฟเกิดก่อน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะห้ามชาวบ้านไม่ให้ใช้ไฟเพราะชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอยู่กับป่าซึ่งขณะนี้ทำได้เพียงรอคำสั่งซึ่งชาวบ้านมีแผนการจัดการอยู่แล้ว และอำพร ไพรพนาสัมพันธ์ จากเครือข่ายผู้หญิงชาติพันธุ์ ระบุว่าในฐานะผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทุกปีจะมีคนชี้ว่าคนบนเขาเป็นคนเผา แต่แท้จริงแล้วพวกเขาก็ไม่รู้ว่าไฟมาจากไหน เพราะในทุกปีชาวบ้านต้องไปดับไฟแต่ไม่มีงบประมาณสนับสนุน จึงเสนอให้มีเวทีถอดบทเรียนร่วมกันในทุกภาคส่วนเพื่อนำองค์ความรู้มาปรับใช้ รวมถึงต้องมีสวัสดิการในเรื่องของการประกันอุบัติเหตุให้กับชาวบ้านที่ไปทำแนวกันไฟ  

แนะประชาชนทุกคนต้องได้ตรวจปอดฟรีไม่มีเงื่อนไข

ในประเด็นสุดท้ายมีการพูดคุยในเรื่องของวิกฤตฝุ่นควัน-สุขภาพคนเชียงใหม่ต้องมาก่อน (“คนเหนือต้องได้ตรวจปอด”) วิเชียร ทาหล้า จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กลุ่มกรีนเรนเจอร์   กล่าวว่า ทุกคนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน และค่าใช้จ่ายที่ไม่เพียงพอของการจัดการระบบสุขภาพในช่วงวิกฤตและเข้าถึงสิทธิ ต่าง ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนไร้บ้าน, กลุ่มคนเปราะบางที่ภาคแรงงานให้กับเมือง เนื่องจากปัจจัยในการดำรงชีวิตที่น้อยอยู่แล้วจึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อนและได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การป้องกัน โดยมีข้อเสนอให้ ทุกคนในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวให้เข้าถึงบริการตรวจสอบสุขภาพ, การตรวจปอดฟรีโดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลที่ทำให้เกิดการตระหนักรู้อย่างต่อเนื่องว่าวิกฤตเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร เพราะปัญหาสุขภาพเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะมีการลุกลามไปยังเรื่องอื่น ๆ เช่น การทำงาน การเข้าถึงรายได้ และคุณภาพชีวิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทุกภาคหน่วยต้องกระทำ 

ถัดมา ดร.นณธภัทร ธีระวรรธนะสิริ จากศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ระบุถึง จังหวัดเชียงใหม่ที่มีสถานีตรวจวัดตามมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ ทั้งหมด 4 สถานี ซึ่งมีข้อถกเถียงว่าควรจะต้องมีเครื่องตรวจวัดขนาดเล็กหรือไม่และได้รับการตอบรับว่าควรจะต้องมีในพื้นที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะในแต่ละพื้นที่มีบริบทที่ต่างกัน ข้อมูลเหล่านี้จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ในการแจ้งเตือนไปยังประชาชน โดย ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็กขึ้น (DustBoy) และดำเนินการติดตั้งตามพื้นที่ต่าง ๆ  แต่ปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมทุกตำบลจึงได้ร่วมกันพัฒนาระบบเฝ้าระวังซึ่งทำให้มีข้อมูลระดับอันตรายจากฝุ่นในแต่ระดับเพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ  เพื่อประกาศสถานการณ์ให้ประชาชนในชุมชนรับรู้ รับทราบ ในส่วนของพื้นที่ปลอดฝุ่นทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, โรงเรียน นณธภัทร มองว่า อปท. ในพื้นที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบดูแลในการปรับปรุงห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดฝุ่นสำหรับเด็ก หากกรณีงบประมาณไม่เพียงพอต้องมีการร้องขอไปยัง อบจ.  ซึ่งต้องพิจารณาถึงความวิกฤตในแต่ละพื้นที่โดยอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์อนามัย สุดท้ายคือการให้ความสำคัญกับอาสาดับไฟป่าที่ได้รับปัญหาสุขภาพและอุบัติเหตุจากการดับไฟป่าเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตรวจยังเป็นลักษณะที่ช่วย ๆ กันอยู่ การยืนยันข้อมูลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (คสจ.)

โดย สุรีรัตน์ ตรีมรรคา  รองประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้ระบุว่าแคมเปญลงชื่อสนับสนุนให้  “คนเหนือต้องได้ตรวจปอด” อย่างน้อย 5,000 ชื่อ เพื่อนำยื่นต่อประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขณะนี้ขาดอีกประมาณ 120 รายชื่อ ร่วมลงชื่อได้ที่ https://forms.gle/Hhz7tLQeuPCgzvi36 

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง