ประชาชน 5 ภูมิภาค ยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐทบทวนร่างแผน PDP2024 และขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็น

ตัวแทนประชาชนจาก 5 ภูมิภาคยื่นหนังสือ สนพ. กระทรวงพลังงาน เรียกร้องรัฐทบทวนร่างแผน PDP2024 และขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็นมากกว่านี้ หยุดการใช้ถ่านหิน หยุดการเซ็นโรงไฟฟ้าก๊าซและซื้อไฟจากเขื่อนในลาว แล้วหันมาเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากกว่า 16% และต้องกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาให้ชัดเจน รัฐต้องสนับสนุนงบประมาณการติดตั้งโซลาร์เซลล์แก่ประชาชน ผู้ประกอบการกังวลว่า หากไทยยังใช้ไฟฟ้าจากฟอสซิลอยู่จะเป็นอุปสรรคในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลก

31 ก.ค. 2567 ที่ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร JustPow ร่วมกับเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ รวม 13 องค์กร จัดเวที “เสียงจากประชาชน 5 ภูมิภาคต่อร่างแผน PDP2024” เพื่อนำเสนอความคิดเห็น และเปิดผลโหวตของประชาชนทั่วประเทศต่อร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2567 (PDP2024) โดยมีตัวแทนจากประชาชนจากทั้ง 5 ภูมิภาคเข้าร่วม

ธัญญาภรณ์ สุรภักดี ผู้ประสานงาน JustPow กล่าวถึงที่มาในการจัดงานว่า สืบเนื่องจากการที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยร่างแผน PDP2024 ในวันที่ 6 มิ.ย. 2567 และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น 4 ภูมิภาคในรูปแบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งทำให้ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 อย่างทั่วถึง JustPow จึงจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอของประชาชนทั้ง 5 ภูมิภาค โดยมีกระบวนการโหวต 13+1 ข้อเสนอจากร่างแผน PDP และระดมข้อเสนอต่อร่างแผน PDP2024  เป็นรายภูมิภาคในช่วงระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน – 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 

จากผลโหวตต่อร่างแผน PDP2024 พบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมเวทีจากทุกภาคต้องการให้ทบทวนร่างแผน PDP2024 และขยายเวลารับฟังความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนมากกว่านี้ เพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้มากกว่า 16% และต้องกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาให้ชัดเจน ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ให้โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งในชุมชนและต้องมีการประเมินศักยภาพเชื้อเพลิงว่าเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ ประชาชนจากภาคตะวันออกและภาคตะวันตกยังเสนอให้หยุดสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซเพิ่ม เพราะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกินอยู่แล้ว ประชาชนภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประชาชนภาคเหนือเสนอให้ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน และประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสนอให้หยุดซื้อไฟฟ้าจากลาวและหยุดการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง

โดยในงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเสวนา 5 คนประกอบด้วยมนัสวัฑฒก์ ชุติมา ผู้ประกอบการ Old Chiangmai ตัวแทนภาคเหนือ สดใส สร่างโศรก เครือข่ายจับตาน้ำท่วมและเขื่อนแม่น้ำโขงอุบล ตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ เกาะจิกรีชาร์จ สเตชั่น ตัวแทนภาคตะวันออก สุรินทร์ แก้วคำ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี ตัวแทนภาคตะวันตก และเอิบ สารานิตย์ กลุ่ม Save นาบอน ตัวแทนภาคใต้

ณรงค์ชัย เหมสุวรรณ เกาะจิกรีชาร์จ สเตชั่น ตัวแทนภาคตะวันออก ซึ่งดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และใช้ภายในเกาะจิก จังหวัดจันทบุรีได้ถึง 95% เสนอให้ร่างแผน PDP2024 เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าให้มากกว่า 16%  เพราะด้วยสัดส่วนเพียง16% จะทำให้ไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ในพ.ศ. 2608 ได้ตามแผน นอกจากนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องต่อสู้ตามลำพังในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจึงเห็นว่า ควรลดหรือยกเลิกการนำเข้า LNG แล้วรัฐควรสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์อย่างจริงจัง ต้องการให้รัฐสนับสนุนงบประมาณสำหรับต้นทุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์แก่ประชาชนในสัดส่วน 60 ต่อ 40 เพื่อให้สามารถลดโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังกังวลที่ร่างแผน PDP กำหนดไว้ว่าจะใช้อุปกรณ์เก็บกักคาร์บอนซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและอาจกลายเป็นภาระประชาชน

มนัสวัฑฒก์ ชุติมา ผู้ประกอบการ Old Chiangmai ตัวแทนภาคเหนือ เสนอว่า ไม่ควรกำหนดแผน PDP แบบเหมารวม เพราะแต่ละภาคมีลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์และพื้นที่แตกต่างกัน แต่ต้องรับฟังความเห็นจากคนในพื้นที่ ในส่วนของผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้า ทั้งที่อุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคเหนือเป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้ประเทศมายาวนาน ผู้ประกอบการในภาคเหนือแทบจะไม่รู้เกี่ยวกับแผน PDP เลย ไม่รู้ว่าในปี 2580 ยังจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่สัดส่วน 7% การที่ยังใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ในขณะที่ยุโรปเริ่มตั้งกำแพงภาษีคาร์บอน หรือการบรรลุข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ อุปสรรคเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งในภาคเหนือและทั้งประเทศไทยในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ในโลก

เอิบ สารานิตย์ กลุ่ม Save นาบอน ตัวแทนภาคใต้กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลทบทวนแผน PDP ใหม่ ที่ภาครัฐเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมีผู้เข้าถึงเพียงพันกว่าคน ทั้งที่มิเตอร์ไฟฟ้ามีกว่า 30 ล้านเครื่อง ปัจจุบันนโยบายด้านพลังงานเป็นการผูกขาดจากภาครัฐและภาคเอกชน แต่ต้องเป็นการกระจายอำนาจ สำหรับกลุ่ม Save นาบอน กังวลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเสนอให้กำหนดกำลังการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่ให้เกิน 2 เมกะวัตต์ มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการไฟฟ้าในชุมชน

สดใส สร่างโศรก เครือข่ายจับตาน้ำท่วมและเขื่อนแม่น้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี ตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภายใต้แผน PDP 2018 ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประชาชนก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เราได้แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มั่นคง แต่ชีวิตชาวบ้านไม่มั่นคง และถูกละเมิดสิทธิที่บ้านของตนเอง ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าชีวมวลทำให้มีการนำเข้าขยะ 450 ตันต่อวันเพื่อมาผลิตไฟฟ้าในชุมชน การที่ร่างแผน PDP2024 ระบุว่าจะซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์สามารถนำไปสู่การสร้างเขื่อนในลาวเพิ่ม และน่ากังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสายต่างๆ ในประเทศ เช่น แม่น้ำโขง ต้องทบทวนและถอดถอนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและการจัดหาไฟฟ้าที่กระทบประชาชน

สุรินทร์ แก้วคำ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี ตัวแทนภาคตะวันตก กล่าวว่า ไม่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าก๊าซเพิ่มแล้ว เพราะจากประสบการณ์ของคนราชบุรีที่มีโรงไฟฟ้าจำนวนมาก ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าก๊าซ เป็นต้นว่าข้าวไม่ออกรวง ผลผลิตไม่ออกผล รวมถึงส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ตนเองไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงยังมีแผนที่จะเพิ่มโรงไฟฟ้าในราชบุรีอีก ทั้งที่ประชาชนไม่ได้เรียกร้อง จึงเห็นว่า ภาครัฐต้องทบทวนร่างแผน PDP ใหม่ ขณะเดียวกันราชบุรีก็มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเสนอให้รัฐสนับสนุนงบประมาณสำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ในท้องถิ่น ทั้งการจัดหาพื้นที่ และการบริหารจัดการโดยท้องถิ่น

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนายังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ตัวแทนประชาชนจากชุมชนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปางเสนอว่า  อยากเห็นแผนปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะอย่างเป็นทางการว่าจะรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างไร ที่ผ่านมา คนแม่เมาะก็ต้องจ่ายค่าไฟในราคาเดียวกับคนทั้งประเทศ ทั้งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ตัวแทนประชาชนจากปราจีนบุรีกล่าวว่า คำสั่ง คสช.ที่ให้โรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะมาตั้งในชุมชนเป็นปัญหาสำคัญที่สุด ต้องยกเลิกเป็นอันดับแรก ไม่ควรมีโรงไฟฟ้าขยะในชุมชน ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดแผน ที่ผ่านมาประชาชนถูกปิดปาก จากประสบการณ์ตนเองพบว่า ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพบว่า ประชาชนถูกปิดปาก ซึ่งมีแต่ผู้ที่เห็นด้วยเท่านั้นจึงจะเข้าไปรับฟังความคิดเห็นได้ ตัวแทนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวว่า เขื่อนที่สร้างในประเทศลาวไม่ได้เรียกว่าความมั่นคง เพราะในอนาคตอาจมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศมาเกี่ยวข้องจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะมั่นคงจริง ขณะที่ตัวแทนจากภาคตะวันตกตั้งคำถามว่า เหตุใดประชาชนซึ่งต้องจ่ายค่าไฟในราคาแพงแต่ไม่มีสิทธิต่อรอง

สำหรับการจัดงานครั้งนี้ มีการส่งหนังสือเชิญ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มารับข้อเสนอที่รวบรวมมาจากเวทีทั่วประเทศ แต่ได้รับแจ้งว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมารับหนังสือจากประชาชนทั้ง 5 ภาคภายในงานได้ และทางกระทรวงพลังงานก็ไม่สามารถส่งตัวแทนมาได้เช่นเดียวกัน ตัวแทนประชาชนจาก 5 ภูมิภาค ราว 60 คนจึงตัดสินใจเดินทางไปที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือถึง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยนอกจากยื่นข้อเสนอแล้ว ตัวแทนของประชาชนยังตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการขยายเวลาทบทวนร่างแผน PDP2024 ให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของประชาชนทั้ง 5 ภูมิภาค โดย สาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการ สนพ. ซึ่งเป็นตัวแทนในการมารับหนังสือ อธิบายว่า การรับฟังข้อเสนอจากประชาชน ผู้ทำแผนฯ พยายามเปิดรับฟังอยู่ แต่อาจยังไม่ครบถ้วน ทั้งนี้ การตัดสินใจต่อร่างแผน PDP ไม่ใช่บทบาทของ สนพ. หน่วยงานเดียวเพียงเท่านั้น โดยจากนี้จะนำข้อเสนอที่ประชาชนมายื่นในวันนี้เสนอต่อคณะกรรมการที่มีส่วนตัดสินใจ และเมื่อมีการตัดสินใจอย่างไรก็จะพยายามชี้แจงถึงเหตุผลของการเลือกและไม่เลือกในประเด็นต่างๆ ทั้งนี้ย้ำว่า จะยังคำนึงถึงหลักการเรื่องความมั่นคงของไฟฟ้า ต้นทุนที่เหมาะสมและตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม 

อ่านข้อเสนอทั้งหมดที่ https://justpow.co/pdp2024-recommendation/ 

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง