เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว
ความเชื่อเกี่ยวกับ ‘ผี’ นั้นมีความแตกต่างหลากหลายกันอย่างมาก บ้างก็ถูกเล่าเรื่องเล่าเป็นตำนานในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงผ่านสื่อต่างๆ หลายสิ่งเหล่านี้ก็มักจะสร้างให้ ‘ผี’ กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว สยองขวัญ อาฆาตมาดร้าย หลอกหลอนผู้คน สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คน เป็นการผลิตซ้ำความน่ากลัวที่ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ
แต่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยนั้นมีความเชื่อที่ให้การเคารพบูชานั้นถือ ผี มาตั้งแต่อดีตกาลก่อนการเข้ามาของศาสนาพุทธที่แผ่ขยายไปเกือบทั้งประเทศ ในล้านนาเองก็มีความเชื่อในการบูชาภูติผี ดั่งผู้เป็นตัวแทนของธรรมชาติ ผู้ให้ความคุ้มครองปกปักรักษา หรือบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ผ่านการทำความเคารพผ่านพิธีกรรมต่างๆ
ผีบรรพบุรุษ ความผูกพันธ์ทางสายเลือดของชาวล้านนา
ในล้านนามีการนับถือผีบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน เนื่องจากพื้นฐานมาจากสังคมแบบเครือญาติ เชื่อว่าวิญญาณของบรรพบุรุษเมื่อเสียชีวิตแล้วจะไม่สูญหายไปไหน แต่จะกลายเป็นผีผู้พิทักษ์คอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานภายในครอบครัว
จะเห็นได้ผีปู่ย่าที่เป็นดั่งวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว มีบทบาทในการเชื่อมความสัมพันธ์กันในกลุ่มเครือญาติที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการปกป้องรักษาให้ลูกหลานอยู่รอดปลอดภัย การเคารพบูชาผีปู่ย่า จะเรียกว่า ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า มีการสร้างหอไว้สำหรับเคารพบูชาไว้ทางทิศหัวนอน ซึ่งบนหอจะมีการจัดวางเครื่องหิ้งบูชา เช่น พาน ธูปเทียน และ อาหารท้องถิ่น ใช้เครื่องสักการะเป็น สวยดอกไม้ หรือ กรวยดอกไม้ นอกจากนี้ในหลายพื้นที่ในล้านนา มีการสืบทอดผีปู่ย่าจะสืบผ่าน ‘ผู้หญิง’ ที่เป็นลูกสาวคนโต เรียกว่า “เก๊าผี”
การตั้งหอสำหรับบูชาจะตั้งไว้อยู่ในบ้านของลูกสาวคนโต หากลูกสาวคนโตเสียชีวิตก็จะส่งมอบให้ลูกสาวคนรองลงมาเป็นลำดับ หากในครอบครัวไม่มีลูกสาวก็จะดูภายในเครือญาติมีบ้านของสตรีที่เป็นอาวุโสมากที่สุดก็จะนำหิ้งผีปู่ย่าไปไว้ให้บ้านนั้นดูแล เป็นการตรอกย้ำอำนาจของผู้หญิงล้านนาที่เป็นทั้งผู้นำในพิธีกรรมและการมีอำนาจในเรื่องเหนือธรรมชาติ
การเลี้ยงผีปู่ย่ามักเลี้ยงในช่วงเดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน แต่ด้วยในปัจจุบันการที่จะสามารถรวมลูกหลานให้มาอยู่พร้อมหน้ากันเป็นเรื่องยาก ส่วนมากจึงจัดเลี้ยงผีปู่ย่าในช่วงเดือนเมษายนที่ตรงกับวันหยุดยาว ทำให้ลูกหลานทุกคนสามารถมารวมตัวกันบูชาสักการะประจำปีได้ การนับถือผีบรรพบุรุษยังมีความเชื่อที่ให้ผู้หญิงและผู้ชายอยู่ในนำนองคลองธรรม หากมีการแตะเนื้อต้องตัว หรือเดินเข้าสู่ประตูห้องนอน จะทำให้ผีปู่ย่าลงโทษ ทำให้คนในครอบครัวเกิดภัยอันตราย เรียกว่า ‘ผิดผี’ ตามจารีตต้องมีการขอขมาเพื่อไม่ให้เกิดภัยอันตรายแก่ครอบครัว
ผีผู้เป็นตัวแทนของธรรมชาติ
นอกจากผีที่ยึดโยงกับบรรพบุรุษ ในวัฒนธรรมล้านนาก็ยังมีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นดั่งตัวแทนของธรรมชาติ ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่คอยดูแลปกปักรักษาทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำ ภูเขาและป่าไม้ เป็นต้น ปัจจุบันการบูชานับถือผีที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติลดลงไปแล้วเป็นจำนวนมาก ยังเหลืออยู่บ้างในบางพื้นที่ และผีที่คนในปัจจุบันก็ยังทำการบูชาอยู่คือ ผีขุนน้ำ มาจากคำว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลต้นน้ำ มีหน้าที่ผู้ปกปักรักษาต้นลำธาร เป็นการสร้างความเชื่อให้คนในชุมชนเกิดความผูกพัน ต่อป่าไม้และแม่น้ำลำธาร ส่งผลให้การเกิดสำนึกในการปกปักรักษาแหล่งต้นน้ำของชุมชนขึ้น
ผีขุนน้ำ จะสิ่งสถิตอยู่บนภูเขาหรือขุน ที่เป็นต้นน้ำลำธาร ซึ่งเรียกของผีขุนน้ำอยู่แม่น้ำสายใด ก็จะตั้งชื่อตามแม่น้ำสายนั้น อาทิ ขุนลาว ขุนวัง ขุนออน เป็นต้น มักจะเลี้ยงในเดือน 8 เดือน 9 ตามปฏิทินล้านนา (เดือน พฤษภาคม-มิถุนายน) ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงต้นของฤดูฝนก่อนจะเริ่มมีการเพาะปลูก ซึ่งจะเรียกวัฒนธรรมนี้ว่า ‘ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ’
ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำมักเลี้ยงในพื้นที่ต้นน้ำที่ผีขุนน้ำสิงสถิตอยู่ ดั่งเช่นบริเวณ ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง ขุนน้ำฮู ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดงานประเพณีเลี้ยงดงหอดงเจ้าหลวงคำแดง นางอินเหลา (เก้าเป็ง) เลี้ยงผีขุนน้ำฮู โดยภายในงานมีการจัดพิธีกรรมตามฉบับล้านนาไม่ว่าจะเป็น พิธีแห่พระเจ้าฝนแสนห่า สรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า จุดบอกไฟไปหาพญาแกน พิธีบวชป่าผูกผ้าจีวรต้นไม้
ไพโรจน์ โพธิพงศ์สกุล คนรุ่นใหม่ในชุมชนที่ร่วมสืบสานประเพณีดังกล่าว เล่าว่า “การเลี้ยงเป็นการเฉลิมฉลองร่วมกันระหว่างมนุษย์และผี เป็นการขอบคุณผ่านการให้อาหาร ผลไม้ สุรา และเป็นการขอให้ผีคุ้มครองมนุษย์ รวมไปถึงการขอให้ฝนตกลงมาเพื่อมีน้ำเป็นต้นทุนการผลิตอาหาร ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในการร่วมเฉลิมฉลองในปีถัดไป การเลี้ยงเป็นการเฉลิมฉลองร่วมกันระหว่างมนุษย์และผี เป็นการขอบคุณผ่านการให้อาหาร ผลไม้ สุรา ฯลฯ และเป็นการขอให้ผีคุ้มครองมนุษย์ รวมไปถึงการขอให้ฝนตกลงมาเพื่อมีน้ำเป็นต้นทุนการผลิตอาหาร ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในการร่วมเฉลิมฉลองในปีถัดไป”
จะเห็นได้ว่าผีที่เป็นตัวแทนของธรรมชาติมักจะมาพร้อมนัยยะในการปกปักรักษาธรรมชาติที่ช่วยให้คนในชุมชนร่วมกันปกป้องธรรมชาติในพื้นที่ของตน นอกจากผีขุนน้ำที่เป็นตัวแทนของตนน้ำแล้ว ยังมีผีอื่นๆ ที่ชาวล้านนามักจัดพิธีกรรมเทิดทูนบูชา อาทิ ผีดง ผีดอย เป็นต้น
‘ผีเสื้อ’ ผีผู้ให้การปกปักรักษา
เสื้อ ในภาษาล้านนาหมายถึงการปกป้อง คุ้มครอง เมื่อเอามารวมกับคำว่าผี จะได้คำว่า ‘ผีเสื้อ’ที่ไม่ใช่แมลงมีปีกหรือ ก่ำเบ้อ แต่มีความหมายถึงผีผู้ให้การปกป้องคุ้มครอง มักจะยึดโยงกับสถานที่ต่างๆ อย่างเช่น ผีเสื้อเมือง หมายถึงผีที่ทำการดูแลคุ้มครองในระดับเมือง ผีเสื้อบ้าน เป็นผีที่ดูแลในระดับหมู่บ้านหรือชุมชนเป็นต้น
ผีเสื้อ มีความเชื่อว่าเป็นผีที่เป็นอดีตเจ้าของ ณ สถานที่นั้นที่เสียชีวิตไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ผีเสื้อเมือง เป็นผีที่เป็นดวงวิญญาณของอดีตเจ้าเมืองที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงมีการสร้างหอเสื้อเมืองเพื่อให้อดีตเจ้าเมืองมาสิงสถิต มีความเชื่อว่าอดีตเจ้าเมืองยังมีความห่วงใยคอยปกป้องดูแลชาวเมืองอยู่ ผีเสื้อเมืองที่มีชื่อเสียงและยังมีการบูชาในปัจจุบัน อาทิ เจ้าหลวงคำแดง ขุนหลวงวิรังคะ ปู่แสะ ย่าแสะ เป็นต้น
จะเห็นได้ชัดใน ตําบลแม่เหียะ อําเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี จะมีการจัด ‘ประเพณีการเลี้ยงดง’ ขึ้น จะมีการฆ่าควายเพื่อเซ่นสังเวยให้แก่ ปู่แสะย่าแสะที่เป็นผู้ปกปักรักษาดอยสุเทพ-ปุย และดอยคำให้มีความอุดมสมบูรณ์ฝนตกตามฤดูกาล ในพิธีกรรมจะมีการลงทรงของม้าขี่ (คนทรง) ปู่แสะย่าแสะจะทําการกินเนื้อควายสด โดยพิธีกรรมนี้สืบทอดกันมากว่าร้อยปี
นอกจากผีเสื้อเมือง ยังมีผีเสื้อบ้าน ที่คอยดูแลระดับชุมชนก็จะมีการตั้งศาลหรือ หอผี ไว้กลางหรือหัวของหมู่บ้าน บริเวณใต้ไม้ใหญ่ และทำการเชิญเทวาอารักษ์ที่มีดวงวิญญาณอยู่ใกล้ๆขึ้นสิงสู่อยู่บนหอนั้น และกำหนดการบูชาประจำปีขึ้น เช่นวันไหว้สาบูชาบ้านประจำปี
นอกจากผีเสื้อเมือง และ ผีเสื้อบ้าน ในวัฒนธรรมล้านนายังมีการบูชาผีเสื้ออีกมากมายที่คอยดูแลสถานที่สำคัญต่างๆ อาทิ ผีเสื้อน้ำ คอยดูแลรักษาแหล่งน้ำ ผีเสื้อนาคอยดูทุ่งนา และผีเสื้อวัดที่คอยดูแลรักษาวัด เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าในตำนานล้านนา ที่ถึงแม้จะมีผีที่คอยหลอกหลอนผู้คนอยู่ แต่กระนั้นก็ยังมี ‘ผี’ ที่คอยปกปักรักษา คุ้มครอง ไล่ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ไปจนถึงเมือง ที่ชาวล้านนาให้การเคารพดูแลมาอย่างยาวนาน ยังจะเห็นได้อีกว่าความเชื่อเกี่ยวกับผีในล้านนาก็จะแปลเปลี่ยนไปยังพื้นที่ทางวัฒนธรรมและพื้นที่ทางกายภาพอีกด้วย และยังเปลี่ยนวิธีการในการบูชาตามแต่ละพื้นที่อีกด้วย
อ้างอิง
- ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า
- คน ผี ความงมงาย และอำนาจการจัดระเบียบสังคม
- ผีล้านนา อำนาจไร้รูปสู่รูปลักษณ์ในงานทัศนศิลป์
- คําเรียกผีและความเชื่อเรื่องผีในภาษาไทยถิ่นเหนือ
- การสื่อสารของผู้หญิงล้านนาเพื่อเสริมสร้างอํานาจ*ในสื่อพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า)
- ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “ผีเสื้อ”
- เปิดตำนานประเพณีเลี้ยงผีขุนน้ำ : วัฒนธรรมชุมชนล้านนา ที่ใกล้สูญหาย
- ประเพณีเลี้ยงผีขุนน้้ำ
- ชุมชนบ้านหัวทุ่งเชียงดาวจัดเลี้ยงหอดง-ผีขุนน้ำฮู เคารพธรรมชาติตามวิถีล้านนา
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ