22 พ.ค. 2566
22 พฤษภาคม 2566 กลุ่มนักกิจกรรมและนักศึกษาจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 6 คน ได้เดินทางรับทราบข้อกล่าวหา “ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 หลังจากถูกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกล่าวหาดำเนินคดี เวลา 10.00 น. ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่
เวลา 10.20 น.มีการแย่งป้ายผ้าระหว่างตำรวจและนักกิจกรรม เนื้อหาในป้ายเขียนว่า “ปฏิรูปสถาบันตุลาการ” ประมาณ 10 นาที
10.30 น. การแสดง Performance Art และอ่านบทกวี โดยกลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรม มีการลากศาลพระภูมิและทุบในเวลาต่อมา มีการขึงป้ายผ้าที่มีการยึดแย่งกันก่อนหน้า มีการทาสีแดงบริเวณร่างกาย มีการจุดเทียน และสุดท้ายมีการชูสามนิ้วก่อนทั้ง 6 คนจะเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายน 2566 นักกิจกรรมทยอยได้รับหมายเรียกของ สภ.เมืองเชียงใหม่ ในคดีที่มีสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดย นายมนตรี แดงศรี เป็นผู้กล่าวหา และมี ร.ต.ท.อภิวัฒน์ กุลดี เป็นพนักงานสอบสวนผู้ออกหมายเรียก ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 พ.ค. 2566 แต่เนื่องจากหลายคนติดภารกิจ ยังไม่สามารถเข้ารับทราบข้อกล่าวหาได้ตามนัด จึงยื่นหนังสือขอเลื่อนมาเป็นวันที่ 22 พ.ค. 2566 แทน
สำหรับเหตุที่ถูกกล่าวหา ทราบเบื้องต้นว่าเกิดจากกรณีการติดป้ายข้อความแสดงออกในตัวเมืองเชียงใหม่ หลังจากเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปี แต่ศาลเห็นว่าต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้
ในการแจ้งข้อกล่าวหา ร.ต.ท.อภิวัฒน์ กุลดี พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี และคณะพนักงานสอบสวนอีก 5 นาย ได้ทำการแจ้งพฤติการณ์ต่อผู้ต้องหา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยการดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบวาระ 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2565 กลุ่มมวลชนที่เคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองซึ่งมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้มีการจัดกิจกรรม “ รามาตุลาการ ” บริเวณลานสังคีต อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการกล่าวปราศรัยถึงการไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ต่อมาในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มทะลุ มช. Thalu CMU” และ “ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ได้เผยแพร่ภาพกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ที่สวมใส่หน้ากาก นําหุ่นผ้าสีขาว โดยใช้รูปภาพใบหน้าของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกระดาษพิมพ์ข้อความแสดงออกต่อการตัดสินคดีของศาล และแขวนหุ่นผ้าสีขาว บริเวณตรงข้ามภาควิชาเวชศาสตร์และครอบครัว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ตรงข้ามปั้มน้ำมันสาขาวัดโลกโมฬี และลานเอนกประสงค์ประตูท่าแพ
ตำรวจจึงได้ตรวจยึดหุ่นผ้าสีขาวดังกล่าวจํานวน 17 ตัวไว้ และทําการตรวจสอบผู้ร่วมกันกระทำการดังกล่าว ซึ่งทําให้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงความน่าเชื่อถือขององค์กร ทําลายความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญในฐานะองค์กรที่ใช้อํานาจฝ่ายตุลาการ ในระบบการยุติธรรมของประเทศสําหรับการพิจารณา พิพากษา หรือวินิจฉัยคดี อันถือเป็นหลักสําคัญในการดํารงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติ
ตำรวจได้แจ้งข้อหา “ร่วมกันดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1–7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000–140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ได้ให้การปฎิเสธข้อกล่าวหา ก่อนที่ทั้งหมดจะถูกให้พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม โดยใช้เครื่องพิมพ์ลายนิ้วมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่ต้องพิมพ์กับหมึกพิมพ์อีก หลังจากนั้นตำรวจจึงปล่อยตัวกลับ พร้อมนัดหมายเพื่อส่งสำนวนคดีให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 22 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ต่อไป
เมื่อเสร็จสิ้นการรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนได้ออกมาอ่านแถลงการณ์ “ศาลที่ไม่อาจเคารพ” บริเวณหน้า สภ.เมืองเชียงใหม่ มีเนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงความอยุติธรรมภายหลังการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นเวลา 9 ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีและตัดสินคดีของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพจำนวนมาก ก่อนตะโกนคำว่า “ปฎิรูปสถาบันตุลาการ”
นอกจากนี้นักกิจกรรมและนักศึกษาจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 6 คน ได้ออกมาให้ความเห็นต่อกระบวนการศาลที่ปฏิบัติต่อประชาชน หลังจากรับทราบข้อกล่าวหา
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...