เวทีเสวนา ‘ส่ง สส.พลังหญิง เดินหน้าเข้าสภา’ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566 ณ Book Re:public ตั้งแต่เวลา 16.00 น. โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็น 4 ส.ส.หญิงจากพรรคก้าวไกลจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อรพรรณ จันตาเรือง เขต 6, พุธิตา ชัยอนันต์ เขต 4, การณิก จันทดา เขต 2 และ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เขต 1 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ส่ง ส.ส.พลังหญิง เดินหน้าเข้าสภา เป็นเสวนาที่มุ่งไปที่ประเด็นการทำงานการเมือง ที่มีความเชื่อมโยงกับมิติทางเพศ โดยเฉพาะ ‘เพศหญิง’ ที่ในปัจจุบันมี ส.ส.หญิงจำนวนมากขึ้นได้เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภา ที่ซึ่งถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของ ‘เพศชาย’ โดย 4 ส.ส.หญิงจากพรรคก้าวไกลได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านการผันตัวเข้าสู่เส้นทางการเมือง ยุทธศาสตร์ในการหาเสียง รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของ ส.ส.หญิงจากอดีตสู่ปัจจุบัน
การผันตัวเข้าสู่เส้นทางการเมือง พร้อมเปลี่ยนพื้นที่ของผู้ชาย ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู เชื่อว่าในปัจจุบันแนวคิด ‘ผู้หญิงมีความสามารถด้อยกว่าผู้ชาย’ ยังคงมีอยู่ในสังคม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เพชรรัตน์เองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ไม่ต่างจากประชาชนคนอื่น ๆ นั่นทำให้เธอตัดสินใจลงสนามการเมือง อาสาเข้าทำงานในส่วนนิติบัญญัติเพื่อถ่วงดุลอำนาจ หลังจากที่ได้พบเจอความบิดเบี้ยวในงบประมาณที่รัฐใช้ไป
เพชรรัตน์ ชี้ความเชื่อมโยงของประเด็นทางเพศกับปัญหาต่าง ๆ ที่รัฐบาลพยายามแก้ไข โดยเธอเชื่อว่าการที่การเมืองเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ทำให้กระบวนการแก้ปัญหาและการออกแบบนโยบายไม่ได้ถูกสร้างขึ้นผ่านมิติของผู้หญิง
“ดังนั้นการที่มี ส.ส.หญิงเข้าไปทำงานในสภา จะทำให้การออกแบบนโยบายในอนาคตจะถูกออกแบบผ่านมิติของผู้หญิงด้วยความเข้าใจและความใส่ใจมากขึ้น”
การณิก จันทดา ชี้ว่าตนเป็นเหยื่อจากการกระทำของรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการหลังการรัฐประหาร การเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวเมื่อปี 2562 มาจนถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วิกฤตการณ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าการจัดการงบประมาณของรัฐบาลขาดประสิทธิภาพ อีกทั้งด้วยความที่ครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ ทำให้ภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมในช่วงวิกฤตชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักให้เธอตัดสินใจเข้าในงานการเมืองด้วยตัวเองแทนที่จะรอตัวแทนของประชาชนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้คิดถึงประชาชนส่วนใหญ่ ก็อาจจะฉุดรั้งประเทศไทยไม่ไปไหน
พุธิตา ชัยอนันต์ เปิดเผยถึงการผันตัวเข้าทำงานการเมืองว่ามีความยากกว่าการเป็นนักกิจกรรมทำงานเคลื่อนไหวบนท้องถนน โดยชี้ว่าการเข้าทำงานการเมืองจำเป็นต้องทำความเข้าใจข้อจำกัด และวาระทางสังคม ที่จำกัดการเคลื่อนไหวเมื่อเธอต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ต่างจากการเป็นนักกิจกรรมที่สามารถผลักดันเปลี่ยนทางสังคมได้อย่างเต็มที่ ซึ่ง พุธิตา มองว่าการต่อสู้ทั้ง 2 รูปแบบนี้จำเป็นต้องอยู่คู่กันต่อไป
พุธิตา ยังชี้ถึงความท้าทายของการเป็นผู้หญิงที่เข้าทำงานไปการเมืองในสภา โดยเธอต้องการลบล้างอคติทางเพศที่เกิดขึ้นภายในสภา ทำให้เนื้อหาของ ส.ส.หญิงในสภามีน้ำหนักมากกว่าเรือนร่างภายนอก อีกทั้งในฐานะผู้เป็นแม่ ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าแม้จะเป็น Working Women แต่เธอก็เป็นแม่ที่ดี สามารถเลี้ยงดูบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อรพรรณ จันตาเรือง กล่าวในฐานะที่เธอไม่ใช่คนที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง จึงพบเจอกับความเหลื่อมล้ำในประเด็นต่าง ๆ อย่างชัดเจน อย่างเช่นประเด็นการศึกษา โดย อรพรรณ ตัดสินใจเข้าทำงานการเมืองจากความขาดโอกาส และเข้าไม่ถึงสวัสดิการและสิทธิหลายอย่าง ด้วยความตั้งใจที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม
มองการเมืองแบบใหม่ เปลี่ยนยุทธศาสตร์การหาเสียงเพื่อเข้าใจประชาชน
จากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง เขต 1 จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2562 เพชรรัตน์ เล็งเห็นว่าพรรคก้าวไกลจำเป็นต้องดึงฐานคะแนนจากกลุ่มประชากรอายุ 40 ปีขึ้นไปมาเลือกพรรคตน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่พรรคกำลังผลักดันอย่าง ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’ ทุกช่วงวัย อีกทั้งยังต้องทำการเมืองแบบใหม่เพื่อเข้าถึงคนเมืองและประชากรวัยรุ่นมากขึ้น
“นี่เป็นความท้าทาย เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่และยังไม่รู้วิธีการดีนัก แต่จากการทำการเมืองแบบใหม่และลงพื้นที่ จึงได้เห็นว่าความรู้สึกของประชาชนต่อปัญหาที่เรื้อรังมานานในจังหวัดเชียงใหม่ล้วนเหมือนกัน นั่นคือความต้องการการเปลี่ยนแปลงของประชาชน จึงกลายเป็นโจทย์การออกแบบนโยบายของพรรคก้าวไกลเพื่อแก้ปัญหาจากโครงสร้าง แทนที่จะเป็นนโยบายประชานิยม”
การณิก ให้ความสำคัญกับเครือข่ายในพื้นที่ โดยเผยว่าเธอเองก็แปลกใจกับค่าใช้จ่ายในระบบหัวคะแนนเมื่อต้องลงพื้นที่หาเสียง เธอจึงเลือกที่จะลงพื้นที่หาเสียงโดยหลีกเลี่ยงระบบหัวคะแนนแบบเก่า ผ่านการเข้าหาประชาชนในพื้นที่โดยตรง
‘กระแส’ ชนะ ‘กระสุน’ การณิก ชี้ว่าคำพูดนี้เกิดขึ้นได้จริง แต่โจทย์ข้อถัดไปที่ก้าวไกลต้องแก้ไขต่อคือความจำเป็นของระบบหัวคะแนนแบบเก่า ในเกมการเมืองในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันมองว่าพรรคก้าวไกลสามารถตีโจทย์การทำงานโดยไม่พึ่งระบบหัวคะแนนได้แล้ว ผ่านการใช้กระแสจากสื่อออนไลน์ เพื่อถ่ายทอดความเคลื่อนไหวของ ส.ส.แต่ละคนให้เข้าถึงประชาชนได้ง่ายมากขึ้น
พุธิตา แสดงจุดยืนของพรรคที่ต่อต้านระบบอุปถัมภ์และหัวคะแนน มุ่งหน้าสร้างการเมืองแบบใหม่ ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นจุดแข็งของพรรค อีกทั้งยังมีความแตกต่างจากนักการเมืองคนอื่นๆ อย่างการที่ พุธิตา ต่อสู้กับระบบนายทุนเคียงข้างประชาชน กลายเป็นข้อพิสูจน์ว่าเธอสามารถทำงานเป็นปากเสียงให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง
อรพรรณ อาศัยการลงพื้นที่เพื่อเข้าหาประชาชนเป็นหลัก โดยแสดงจุดยืนชัดเจนในการไม่หาคะแนนจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งยืนยันความตั้งใจในการทำการเมืองแบบใหม่ ออกแบบนโยบายพัฒนาชุมชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงโดยไม่ต้องจ่ายค่าลงพื้นที่ใด ๆ
ความแตกต่างของ ส.ส.หญิง จากอดีตถึงปัจจุบัน
เพชรรัตน์ มองว่าสิ่งที่สำคัญของการเป็น ส.ส.ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย คือการทำตามนโยบายที่เคยให้เสียงเอาไว้ให้สำเร็จ แต่ในส่วนของความแตกต่างระหว่าง ส.ส.ในปัจจุบันและในอดีต คือแนวคิดและหลักในการทำงาน ที่มีความหลากหลายมากขึ้นตามความสามารถและความนิยมของ ส.ส.หญิงคนนั้น ๆ
การณิก เชื่อว่าผู้หญิงมีความสามารถทัดเทียมกับผู้ชาย “แต่สิ่งสำคัญคือการวางตัวของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ซึ่งไม่ว่าจะมีการวางตัวหรือวิธีคิดแบบไหน การณิก ก็มองว่าทุกคนต่างต้องเคารพซึ่งกันและกัน” นอกจากนี้เธอยังมองว่าการวางตัวและวิธีการคิด อาจจะมีผลมาจากวิธีการที่ถูกเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง
ความเปลี่ยนแปลงที่ การณิก คาดว่าอาจจะเกิดขึ้น คืออาการทางร่างกายในเพศหญิง อย่างเช่นอาการปวดประจำเดือน หรือการคลอดบุตร ที่จะเกิดมากขึ้นตามจำนวน ส.ส.หญิงที่เพิ่มขึ้นในสภา ซึ่งเธอมองว่านี่จะทำให้เกิดความเข้าใจในมิติของเพศหญิงมาขึ้นในกระบวนการออกแบบนโยบาย แทนที่จะมองว่าเป็นข้อจำกัด
พุธิตา กล่าวว่า การที่มี ส.ส.หญิงเข้าสภามากขึ้นจะเป็นผลดีในหลาย ๆ แง่ อาทิการพิจารณาทางกฎหมายเรื่องการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยความที่รัฐสภาเป็นพื้นที่ของผู้ชายซึ่งอาจจะไม่เข้าใจในความละเอียดอ่อน ไม่เคยมีประสบการณ์การอุ้มท้อง หรือรับความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการคลอด รวมไปถึงความลำบากของการเป็นแม่ รวมไปถึงความคาดหวังของสังคมต่อคนที่เป็นแม่เป็นยังไง ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนรวมไปถึง ส.ส.ที่อยู่พรรคก้าวไกลก็ไม่ได้เห็นด้วยของการยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
พุธิตา มองว่าควรที่จะมีโควต้า ส.ส.หญิงเข้าไปสู่สภา สุดท้ายประเด็นต่าง ๆ ที่เราจะต้องผลักดันเพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมจะไม่สามารถผ่านไปได้เลยถ้าหากมีแค่เพศใดเพศหนึ่ง จึงต้องมี ส.ส.ที่เป็นหญิงและ ส.ส.ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
อรพรรณ เชื่อว่าการทำงานของ ส.ส.หญิงในสภา จะทำให้เกิดความละเอียดอ่อนในการออกแบบและผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการต่าง ๆ โดยชี้ว่าการผลักดันนโยบายสวัสดิการโดยผู้ชายก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาจากความไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้หญิงได้
สามารถติดตามไลฟ์การเสวนาย้อนหลังได้ที่
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...