เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม
ภาพถ่าย: ปรัชญา ไชยแก้ว
เป็นเวลาร่วมหนึ่งเดือนเต็มที่ประชาชนไทยได้ออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง เลือกคนที่ใช่และพรรคการเมืองที่ชอบ โดยมีอนาคตของประเทศเป็นเดิมพัน แน่นอนว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ลงสนามก็ต่างงัดนโยบายและคำสัญญาออกมาฟาดฟันอย่างดุเดือด
ซึ่งผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ พรรคก้าวไกลกวาดไป 14,438,851 คะแนน ตามมาด้วยพรรคเพื่อไทยที่ได้ไป 10,962,522 คะแนน เรียกได้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้นั้นพรรคที่ยึดถือในอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นฝ่ายที่ได้คะแนนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่ประเทศอยู่ในวังวนของการรัฐประหารที่พ่วงมาด้วยการสืบทอดอำนาจร่วม 9 ปี
แม้จะรู้ผลแล้วก็ตาม แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ ด้วยท่าทีของส.ว. ที่เหมือนจะขัดขวางประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงของประชาชน รวมไปถึงกกต. ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญในการสมัครรับเลือกตั้ง กรณีถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น เหตุคำร้องยื่นเกินระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด แต่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝืน นี่อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายที่บอกได้ว่าการตั้งรัฐบาลใหม่อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด
“ประเทศนี้บางส่วนมันไปได้ด้วยการด่าจริงๆ”
Lanner พูดคุยกับ ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระผู้ซึ่งติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชนมาอย่างเนื่อง ถึงช่วงก่อนการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้ง และขบวนการเคลื่อนไหวต่อจากนี้ว่าจะเป็นยังไงต่อ
ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา เห็นปรากฏการณ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง
คิดอย่างนี้นะคะ ว่าในช่วงเวลา 9 ปีที่ประยุทธ์อยู่ในอำนาจเนี่ย เขาทำสิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างนึกไม่ถึงเลย ซึ่งเขาเองก็คงไม่ได้ต้องการ
สิ่งที่เขาต้องการทำก็คือ ตั้งแต่รัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557 ถึงปัจจุบัน สิ่งที่เขาต้องการคือ พูดง่ายๆ ว่ากดประเทศไทย กดประชาชนไทย ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง แช่แข็งให้ประเทศย้อนถอยหลังไปสู่วิธีคิดแบบเดิมๆ ในเรื่องจารีตประเพณี โดยที่พยายามทุกทางให้เป็นแบบนั้น แต่สิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ เรียกว่าล้มเหลวมากกว่าคือเขาทำแบบนั้นไม่ได้ แต่กลับกลายเป็นว่าช่วง 9 ปีมานี้ เขาผลักให้คนคิดถึงปัญหาแบบที่ปัญญาชนหรือนักวิชาการชอบพูดว่า ‘โครงสร้าง’ แล้วเรามักจะบอกว่าชาวบ้านไม่เข้าใจปัญหาโครงสร้างหรอก แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ประยุทธ์ทำ มันทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างมันลงลึก ไปจนถึงในทุกชนชั้นทุกระดับการศึกษา อันส่วนหนึ่งคือความแพร่หลายทางเทคโนโลยี โซเชียลมีเดียด้วย ชาวบ้านอาจจะไม่พูดคำว่าโครงสร้าง แต่เขาเข้าใจในการเชื่อมโยงแล้วว่า การเมืองกับชีวิตเขาเป็นยังไง พูดง่ายๆ ว่าเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง เขาต้องการเดินไปข้างหน้า มันเป็นสิ่งที่สร้างความสั่นสะเทือนตรงนี้ คือในเรื่องความเข้าใจของประชาชนรุนแรงมาก แล้วก็คิดว่าไปถึงคนในทุกระดับมาก แพร่หลายมาก แล้วมันก็สะท้อนออกมาในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมันจะเห็นได้ว่า มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกเพราะผลประโยชน์ระยะสั้นแล้ว
แล้วผลประโยชน์ระยะสั้นคืออะไร?
คือผลประโยชน์ระยะสั้นหรือลักษณะที่ว่าพรรคพลังประชารัฐหรือรวมไทยสร้างชาติจะเสนอนั่นเสนอนี่ให้ พยายามอัดฉีดเงินในช่วงก่อนเลือกตั้ง หรือการซื้อเสียงอะไรก็ตาม มันก็ยังมีการวิเคราะห์ว่าในเขตที่มีการซื้อเสียง สุดท้ายแล้วคนก็กาให้กับ ส.ส.เขต แต่ปาร์ตี้ลิสต์ไปกาให้ก้าวไกล แล้วสุดท้ายแล้วก้าวไกลเป็นพรรคที่มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากที่สุด
ทีนี้เลยคิดว่าสิ่งที่เราเห็นในครั้งนี้ มันมีการที่คนในทุกระดับชั้นมีความเข้าใจ แล้วมองเห็นแล้วว่าการเมืองมันเกี่ยวข้องกับอะไร แล้วคิดว่าความเข้าใจนี้มันไปถึงระดับที่ว่า ถ้าในช่วงชีวิตของตัวเราเนี่ย ก็ถือว่าเป็นคน Gen X ที่คาบเกี่ยวกับ Baby Boomer เราผ่านการรัฐประหารมาหลายครั้งมาก ส่วนใหญ่ทหารมาปกครองแปปๆ แล้วก็ไป แต่ในยุคประยุทธ์ เป็นยุคที่อยู่ยาวนานมากที่สุดยุคหนึ่ง
แต่สิ่งที่แตกต่างมากเลยสำหรับคนยุคเรา ถ้าเปรียบเทียบมาก็คือว่า ไม่เคยมีผู้นำที่เป็นทหารคนไหนไร้คุณสมบัติการเป็นผู้นำเท่าประยุทธ์มาก่อน แต่กลับอยู่นานมาก ถ้าเทียบใกล้ๆ ก็ดูอย่าง สุรยุทธ์ จุลานนท์ พูดง่ายๆ ดูรูปลักษณ์ การพูดจา ความรู้ การตอบคำถาม คือมันยังมีลักษณะที่คนไทยส่วนใหญ่รู้สึกว่าโอเคแหละ พอยอมรับได้ แต่พอเป็นประยุทธ์เนี่ย เป็นครั้งแรกที่เรามีผู้นำที่กักขฬะที่สุด ตอบคำถามแย่ที่สุด ไร้ความสามารถที่สุด แต่เป็นผู้นำยาวนานที่สุด ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ชาวบ้าน ประชาชนรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่สุด ว่าคนอย่างนี้ มาอยู่เป็นผู้นำได้อย่างนี้ ยาวนานอย่างนี้ มันไม่ใช่ที่ตัวเขา ไม่ใช่ที่ตัวประยุทธ์แน่ๆ แต่มันต้องมีอำนาจเหนือกว่านั้นที่ทำให้ประยุทธ์อยู่ได้ เพราะฉะนั้นมันถึงทำให้เขารู้สึกว่ามันต้องแก้ไปถึงจุดนั้นด้วย มันต้องแก้ไปถึงอำนาจ เราจะกลับไปใช้คำแบบทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ว่า ‘อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ’ หรืออะไรอย่างนี้ มันเป็นครั้งแรกที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันจำเป็น แล้วมันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้อเสนอเรื่องแก้ ม.112 ของก้าวไกลได้รับการยอมรับด้วย
คิดว่าการเคลื่อนไหวของเยาวชนในช่วงปี 2563 มันมีผลสืบเนื่องกับการเลือกตั้งครั้งนี้ยังไงบ้าง
มันต้องมีผลแน่นอน จริงๆ การเคลื่อนไหวในปี 2563 ส่วนหนึ่งมันก็มาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วยนั่นแหละ คือนอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่พูดไปแล้ว ที่ว่าคนมีความตระหนักรู้ทางการเมือง ยกระดับมากขึ้น ในขณะเดียวกันนอกจากชาวบ้าน สิ่งที่น่าสนใจคือเยาวชน แม้แต่คนที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งก็ตามนะ นี่เป็นครั้งที่เด็กนักเรียนหันมาสนใจการเมืองมากเลย อย่างเวลาที่พรรคก้าวไกลไปที่ไหนก็ตาม คนที่กรี๊ดพรรคก้าวไกลมากที่สุดบางทีเป็นเด็กนักเรียนซึ่งยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ก็คือมันก็เห็นว่าเยาวชนก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งเหมือนกันที่ได้รับผลกระทบ แล้วเขาก็เริ่มเชื่อมโยงเหมือนกันว่าปัญหาชีวิตทั้งเรื่องการเรียนหรือชีวิตประจำวันที่เขาเจอ มันเกี่ยวข้องกับการเมือง แล้วถ้าเปลี่ยนตรงนี้ได้ ปัญหาชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องเครื่องแบบ ทรงผมบ้าบอ หลักสูตรที่แย่ การต้องเรียนพิเศษ ความทุกข์ทรมานในชีวิตของเด็กทั้งหมด มันแก้ได้ด้วยการเมือง
แล้วในขบวนการปี 2563 ที่เกิดขึ้น แล้วก็ข้อเสนอต่างๆ มันมีการเชื่อมโยงตรงนี้เยอะ แล้วก็มีการเผยแพร่ไปในออนไลน์เยอะ แล้วพอมันลงไปถึงเยาวชนที่เขาสนใจ เยาวชนก็มีส่วนในการนำแนวคิดนี้กลับบ้านไปคุยกับพ่อแม่ ไปคุยกับผู้ใหญ่ ในขณะที่ช่วงหนึ่งเราก็เข้าใจว่ามันเกิดปัญหาสังคมขึ้นมา ก็คือในช่วงปี 2553 มันคือความขัดแย้งเหลืองแดง คือเพื่อนกับเพื่อนก็แตกกันหมด แต่พอปี 62 – 63 ลากมาถึงก่อนหน้านี้ เป็นยุคของพ่อแม่กับลูก ที่มีความขัดแย้งระหว่างรุ่นรุนแรงมาก มีการไล่ออกจากบ้าน ตรงจุดนี้ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่ามีผู้ใหญ่จำนวนมาก ที่คล้อยตามลูกเหมือนกัน พูดง่ายๆ ว่าแม้แต่ในหน่วยระดับครอบครัวมันมีการถกเถียงเรื่องการเมือง เชื่อว่าตรงจุดนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองขึ้นมา
ในฐานะที่ติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้คือเปลี่ยนไปเยอะมากใช่ไหม?
คือมันเปลี่ยนเยอะ เยอะจนบางเรื่องเราก็ยังตอบคำถามไม่ได้ทั้งหมด เท่าที่รู้ก็คือว่ามันก็มีนักวิชาการหลายคนพยายามตอบคำถาม แล้วก็ลงพื้นที่ไปดูว่าทำไมพื้นที่ที่เคยเป็นของพรรคเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐ ทำไมก้าวไกลถึงชนะ อันนี้คิดว่าส่วนหนึ่งก็ต้องรอข้อมูลดิบพวกนี้ด้วยในการวิเคราะห์ แต่คิดว่าในแง่หนึ่งมันไม่ใช่แค่เราตอบได้ว่ากระแสมันดัง นักการเมืองมีบารมี คิดว่ามันไม่ใช่แบบนั้น มันเกิดจาก 9 ปีของประยุทธ์ ทีนี้พอมันมีพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ มันก็ทำให้เกิดการพลิกของผลการเลือกตั้งขึ้นมา
อีกเรื่องที่น่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็คือมีนักกิจกรรมหลายคน ที่มีโอกาสที่จะได้เข้าไปทำงานในสภา คิดว่าจากนี้ไปประเด็นที่มันเคยถูกพูดถึงบนท้องถนนจะถูกเอาไปพูดในสภาเยอะแค่ไหน
มันมีหลายประเทศที่นักกิจกรรมเข้าไปอยู่ในสภา อย่างที่ชัดๆ ก็ที่ประเทศชิลี ในสภาก็มีคนจากขบวนการนักศึกษาเข้าไปทำงาน แต่จะว่าไปคนในขบวนการนักศึกษาที่ชิลีใช้เวลานานกว่าของไทยกว่าจะเข้าไปอยู่ในสภา พวกเขาเข้าไปทำงานการเมืองอยู่หลายปี กาบริเอล โบริช ฟอนต์(Gabriel Boric Font ) ประธานธิบดีคนปัจจุบัน เคยเป็นนักศึกษาที่เคลื่อนไหวกับสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยชิลี Federacion of Estudiantes of the Universidad of Chile ( FECh ) แล้วพอเรียนจบมันเป็นช่วง 10 ปี ที่เขาไปทำงานทางการเมืองต่อ อาจจะใกล้เคียงกับรุ่นลูกเกด(ชลธิชา แจ้งเร็ว) หรือก่อนหน้านิดหน่อย อันนี้ไม่แน่ใจเรื่องเวลา คือในแง่หนึ่งเนี่ยมันก็เป็นข้อดี ก็คือว่าข้อเรียกร้องที่เคยอยู่บนถนนไปอยู่ในสภาแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดเยอะ โดยส่วนตัวคิดว่ามันก็มีหลายเรื่องที่จะถูกข้อจำกัดจากลักษณะของรัฐสภาหรือรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จำกัดบทบาทเอาไว้
อย่างเช่นเรื่องการอภิปรายหลายเรื่อง สมมติเขาคิดเรื่องหนึ่งอย่าง ม.112 เขาก็จะพูดเรื่องนี้ในสภาได้ก็ต่อเมื่อมีการการเสนอญัตติถูกไหม มันจะกฎอะไรที่ว่าจะยื่นเข้าไปคุย มันไม่ใช่ว่าเข้าไปแล้วได้คุยเลย ไม่ใช่แบบนั้น มันก็จะมีข้อจำกัดอยู่ ซึ่งคิดว่ามันต้องทำสองส่วน คือการเคลื่อนไหวข้างนอกก็ต้องมีต่อไปด้วย แต่อันนี้ก็เป็นเรื่องต่อไปข้างหน้า เพียงแต่ว่าการที่มีนักกิจกรรมจำนวนมากเข้าไปในสภามันก็มีข้อดี แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดด้วยอย่างที่บอก
MOU ก้าวไกลกับอีก 7 พรรคการเมืองที่เป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ในวาระร่วม 23 ข้อ มันมีบางเรื่องที่ไม่ได้พูดถึง อย่างการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง หรือเรื่อง ม.112 เรื่องนี้บอกอะไร?
คือประเทศมันมีความหลากหลาย มีคนหลายกลุ่ม คนแต่ละกลุ่มก็เลือกพรรคการเมืองแต่ละแบบ ในฝั่งประชาธิปไตยมันก็มีเฉดความคิดที่ไม่เหมือนกัน มันไม่ใช่แค่เรื่อง ม.112 กับนิรโทษกรรม ปัญหาเรื่องสุราก้าวหน้า ปัญหาเรื่องสมรสเท่าเทียม บางพรรคก็ไม่อยากให้เอาเข้ามาอยู่ใน MOU เหมือนกันอย่างพรรคประชาชาติในกรณีศาสนา มันก็มีบางเรื่องเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันสะท้อนความหลากหลาย ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจว่า MOU หมายถึงข้อตกลงของกลุ่มคนที่มีความคิดไปในทางเดียวกัน แต่ไม่เห็นด้วยกันทุกเรื่อง ก็เป็นเรื่องปกติ ในส่วนที่เห็นพ้องต้องกันมันก็ทำไปด้วยกัน ในส่วนที่ไม่เห็นด้วย พรรคที่เสนอหรือตกลงกับประชาชนไว้ก็ต้องทำไปเอง โดยส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาอะไร
คิดว่าเป็นธรรมชาติของสังคมที่มันมีคนคิดไม่เหมือนกันเยอะ ไม่งั้นทุกคนก็เลือกก้าวไกลหมด หรือเลือกเพื่อไทยกันหมดแล้ว คะแนนเสียงมันก็ไม่แบ่งออกมาเป็นกลุ่มขนาดนี้ มันก็ต้องเคารพความคิดเห็นของกลุ่มเขา อย่างฐานเสียงพรรคเพื่อไทยเขาอาจจะไม่ต้องการเรื่องนิรโทษกรรมหรือ ม.112 ก็ได้ หรืออาจจะคิดว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนก็ได้ แล้วในเมื่อมันเป็นแบบนั้น มันก็ต้องเคารพของเขา เพียงแต่พรรคก้าวไกลก็ต้องผลักเรื่องนี้ตามที่หาเสียงไว้
ถ้าเขาผลัก ก็จะมีการขวางอีกมาก?
ก็ใช่ แน่นอน มันต้องโดนขวางอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยก็ต้องพยายามลองดู มันก็จะค่อยๆ ทำให้เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่พูดกันได้ปกติในสังคมมากขึ้น เพราะทุกวันนี้เราก็พูดคำว่า ม.112 กันได้เนอะ ขนาดในทีวีก็ยังพูดกันได้เลย
ตอนนี้มันมีท่าทีของ สว.ที่เหมือนจะขวางเสียงประชาชน ขณะเดียวกันก็เห็น Movement ของประชาชน ที่อาจจะไม่ได้ต้องลงถนน แต่มันมีการกดดันให้ตอบคำถามขอความชัดเจน คิดว่าการกดดันในลักษณะแบบนี้ของประชาชน มันจะช่วยให้สว. หรือผู้มีอำนาจเคารพมติบ้างไหม
มีผลแน่นอน เราก็ต้องกดดันไปอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าถ้าแรงกดดันมันลดลงเมื่อไหร่ ก็เป็นไปได้ที่ฝั่งอนุรักษ์นิยมจะดำเนินตามแผนการของเขา คือถ้าเราอยากจะผลักดันฝั่งของเรา เราก็ต้องใช้วิธีกดดันแบบนี้ บางทีเราอาจจะกดดันน้อยไปด้วย อาจจะต้องค่อยๆ เพิ่มแรงกดดันลงไปอีก
แต่ว่าแรงด่าก็สำคัญ ประเทศนี้บางส่วนมันไปได้ด้วยการด่าจริงๆ
ถ้าสุดท้ายแล้วพรรคที่ประชาชนเลือกมาไม่ได้เป็นรัฐบาล คิดว่าจะเกิดอะไร?
น่าจะมีการประท้วงใหญ่มาก ค่อนข้างจะมั่นใจอย่างนั้น ต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลก็ใช้จังหวะนี้ได้ดี คือในขณะที่ สว.หรือ กกต.เขาใช้เงื่อนไขเวลา 60 วันก่อนจะรับรอง ปกติเมื่อก่อนนี้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาพอเลือกตั้งเสร็จปุ๊บก็ได้รัฐบาลเลย ก็ตั้งได้เลย แต่เดี๋ยวนี้มันต้องใช้เวลา ทีนี้พอเว้นระยะเวลาปุ๊บเนี่ย สิ่งที่ก้าวไกลทำก็คือทำงาน แสดงวิสัยทัศน์ เริ่มต้นเลย แล้วมันทำให้คนเกิดความหวังว่าจะเปลี่ยน เพราะคนก็อึดอัด ทีนี้ถ้าความหวังของคนอยู่ดีๆ ถูกทุบทำลายทิ้งไป แรงระเบิดมันจะเยอะ แล้วก็แรงระเบิดนี้มันจะไม่ใช่แค่สามกีบเดิมๆ คิดว่าครั้งนี้จะมีคนทั่วไปออกมาด้วย คนธรรมดาที่ไม่เคยประท้วง คนที่ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับขบวนประท้วงออกมาด้วย เพราะงั้นมันน่าจะมีการประท้วงครั้งใหญ่พอสมควร
มันอาจจะคล้ายๆ ตอนปี 63 ที่มันมีม็อบ Organic ออกมาเยอะ แต่ว่าครั้งนี้คิดว่ามันน่าจะไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ มันน่าจะลามไปถึงต่างจังหวัดด้วย น่าจะมากกว่าปี 63 คิดว่าอย่างนั้น
อากาศก็ร้อน หัวก็ร้อน คือพอมันเริ่มมีความหวังที่จะเปลี่ยน แล้วอยู่ดีๆ ถูกทำลาย อันนี้แรงนะ
จากนี้ขบวนการที่ต่อสู้ในรายประเด็นจะไปยังไงต่อ จะต่อเนื่องขึ้นหรือเบาลง
ถ้าเป็นขบวนการที่ขับเคลื่อนเชิงการเมือง ขบวนร่างรัฐธรรมนูญ เขาก็อาจคงรอดูก่อน เพราะว่าก้าวไกลสัญญาไว้ใช่ไหม ที่จริงไม่ใช่แค่ก้าวไกล เพื่อไทยด้วย อันนี้เป็นมติร่วมของว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ก็คงแก้แน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญนี้ทุกคนก็ยอมรับว่าไม่โอเค
ส่วนตัวคิดว่าถ้าตั้งรัฐบาลได้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร นอกจากจะไปถูกขวางด้วยวิธีการอื่นๆ ที่จะไม่ยอมให้แก้ แต่มันน่าจะยังมีการประท้วงในรายประเด็นเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรอยู่ คิดว่าอันนี้ไม่จบ แล้วก็นโยบายของก้าวไกลในบางจุด อย่างเรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ก็เป็นเรื่องที่ขัดแย้งแน่นอน อาจจะมีการประท้วงหรือปะทะในเรื่องนี้บ้าง นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดา
ในขณะเดียวกันเราก็หวังว่ามันจะมีนักกิจกรรมใหม่ๆ คือคนที่เข้ามาเคลื่อนไหวประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ไม่ได้ไปผูกกับพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา คือมีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ด้วย อันนี้ในแง่หนึ่งก็คิดว่าก้าวไกลเขามีแนวคิดเรื่องที่เขาจะเซ็น ILO 87-98 ใช่ไหม รับรองการรวมตัว แล้วก็จริงๆ ตัวเราอยากจะผลักดันให้มันการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอั้งยี่ซ่องโจรด้วย เพื่อจะให้คนมารวมตัวง่ายขึ้น เราคิดว่าขบวนการพวกนี้จะเกิดขึ้นถ้ารัฐบาล ถ้าการปกครองมันมีลักษณะเปิดมากขึ้น แล้วก็ไม่ปิดกั้นเรื่องพวกนี้ มันจะทำให้เกิดขบวนการประชาชนที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่มันจะเป็นรากฐานให้ พูดง่ายๆ ว่าทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น แล้วก็ทำให้การรัฐประหารมันยากขึ้นมากกว่า เพราะว่าถ้าไม่มีขบวนประชาชนอยู่ข้างนอก คือพรรคการเมืองอย่างเดียวยังคิดว่าไม่น่าที่จะต้านรัฐประหารได้
ระบบการเมืองที่เข้มแข็ง มันต้องมีการรวมกลุ่มข้างนอกของประชาชนด้วย ปัญหาในสังคมไทยมันไม่ได้แก้ได้ด้วยรัฐบาลอย่างเดียว ลักษณะนี้มันต้องงัดข้อกันว่ามันจะก้าวหน้าแค่ไหน บางทีก็อาจจะมีกลุ่มคนที่ไม่ชอบแนวทางแบบที่รัฐบาลเสนอมา ซึ่งมันก็ต้องอาศัยขบวนการ ยิ่งถ้าหากว่าในสังคมที่อนุรักษ์นิยมยังเข้มแข็ง เรายังปฏิรูปกองทัพไม่สำเร็จทั้งหมด เรายังปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรายังแก้ไขกฎหมายหลายตัวไม่ได้ เรายังทลายทุนผูกขาดไม่ได้ ขบวนการประชาชนมันสำคัญอยู่ กลุ่มประชาชนข้างนอกก็ยังสำคัญอยู่ เพราะมันคือสิ่งที่จะกดดัน แล้วมันเหมือนยันให้พรรคการเมืองยังทำงานได้มากขึ้น แล้วในขณะเดียวกันก็ต้องกดดันพรรคการเมืองให้ทำงานอย่างที่สัญญาด้วย
แล้วอย่างเรื่องของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ถูกพูดกันบ่อยๆ จะมีโอกาสเป็นไปได้ไหม
เรื่องนี้เราพูดได้ไม่เยอะ เพราะเราก็ไม่ได้อยู่ในแวดวงการบริหารการปกครอง คือเราคิดว่าถ้ากระจายอำนาจมากขึ้น แล้วมีการเลือกตั้งทุกระดับมันจะดีขึ้น เพราะมันจะเป็นการตรวจสอบโดยประชาชน เดี๋ยวประชาชนเข้ามายัน เข้ามาเป็นตัวถ่วงดุลระบบราชการ แล้วก็หวังว่ามันจะมีการปฏิรูปหลายสถาบัน อย่างน้อยอย่างเช่นการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีการเลือกตั้งทุกระดับ แล้วก็ในเรื่องของระบบตำรวจ ก็คือกระจายอำนาจให้มากขึ้น อย่าให้อยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างเดียว มันก็ควรจะมีการดึงอำนาจบางส่วนออก คือมีการแยกอำนาจออก เราว่าวิธีนี้มันอาจจะช่วยให้ระบบราชการมันคล่องตัวมากขึ้น ปฏิรูประบบได้ง่ายขึ้น หรือศาลอย่างนี้เป็นต้น ก็ควรมีการปรับระบบ ควรมีระบบลูกขุนไหม หรือทำให้ศาลยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้ ต้องหาวิธีเข้าไปค่อยๆ ทำให้ระบบราชการแข็งตัวละรวมศูนย์ให้มันแตกออก เหมือนเราทุบหินเจาะหิน เราก็หวังว่ามันจะเป็นอย่างนั้น แต่คิดว่าจุดสำคัญคือต้องเริ่มกระจายอำนาจ
ถ้ามีรัฐบาลประชาธิปไตย ประเด็นที่อ่อนไหวในสังคมไทยได้ไหม อย่างแนวคิดสังคมนิยม หรือแนวคิดอนาคิสต์ จะถูกพูดถึงในสภาได้ไหม
โดยอุดมคติ ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยมันจะรับรองเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถ้าโดยอุดมคติมันควรจะพูดได้ทุกเรื่อง มันควรจะเรียกร้องเรื่องสาธารณะได้ ควรจะเรียกร้องเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ตั้งพรรคสังคมนิยมได้ แต่ในขณะเดียวกัน ทุกสังคมที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย มันต้องมีจารีตบางอย่างที่ทำให้การพูดเรื่องพวกนี้ มันก็พูดได้มากพูดได้น้อยต่างกันไป ยิ่งสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยิ่งพูดได้น้อย อย่างเช่นถ้าเราไปพูดที่อินโดนีเซีย อย่างอินโดนีเซียนี่ก็เป็นประชาธิปไตยมานานกว่าเราด้วย ปฏิรูปกองทัพก็สำเร็จประมาณหนึ่ง แต่เรื่องคอมมิวนิสต์ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่พูดได้นะ มันยังมีความกลัวฝังอยู่ มันจะมีหลายเรื่อง หรืออย่างอนาคิสต์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่สังคมตะวันออกทุกสังคมเขายอมรับ เพราะว่ามันก็ยังถูกผูกกับการก่อวินาศกรรมอยู่ อย่างในสหรัฐอเมริกา มันพูดได้แต่ก็ไม่ได้ถูกมองในทางที่ดีเป็นต้น
มันก็จะมีประวัติศาสตร์ มันจะมีความเชื่อบางอย่างที่ทำให้พูดไม่ได้ทั้งหมด แต่เราก็หวังว่าอย่างน้อยที่สุด มันต้องถกเถียงได้ เริ่มจากในวงเสวนา หรือแวดวงการศึกษา แล้วออกมาสู่ข้างนอกมากขึ้น เพราะมันจะได้เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ ได้มากขึ้น คือพอเราเป็นเสรีนิยม มันไม่ได้ทันทีหรอกที่เราจะพูดได้ทุกเรื่อง มันก็จะมีแรงต้านอยู่ดี
มีอะไรที่เราจะต้องเตรียมรับมือหลังจากนี้บ้าง
อุปสรรคตอนนี้คือจะตั้งรัฐบาลได้ไหม? ตั้งมาได้จะทำงานได้ไหม แล้วก็ถ้าตั้งได้ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือจะบริหารแล้วเป็นไปตามความคาดหวังไหม แล้วสิ่งที่พรรครัฐบาลผสมจะต้องเจอแน่นอนคือราชการไทย ซึ่งเขาก็จะมีเล่ห์กลวิธีการเยอะแยะที่จะทำให้การทำงานมันไม่สามารถทำงานได้ แล้วพอทำงานไม่ได้มันก็จะไม่สามารถทำตามความคาดหวังของคน กับคำสัญญาของคุณได้ สิ่งที่น่ากลัวคือความรู้สึกสิ้นหวัง หมดหวัง อาจนำไปสู่การไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของประชาชนทั่วไป อันนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วงมากกว่า
ส่วนเรื่องรัฐประหารเราก็ไม่กล้าพูดว่าไม่มี ก็รุ่นเราพูดมาเยอะว่าจะไม่มี แล้วก็มีมา 2 รอบแล้ว มันก็คงมีได้ตลอด เป็นไปได้ แต่ถ้ามีขึ้นอีกก็น่าจะเป็นครั้งที่ค่อนข้างน่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นเยอะ แรงต้านของฝ่ายประชาชนก็น่าจะเยอะขึ้นด้วย ซึ่งมันอาจจะยืดเยื้อ ไม่น่าจะจบง่ายเหมือนที่ผ่านมา แต่เราก็หวัง คือจริงๆ นึกถึงประเทศอาร์เจนติน่า ตอนที่เปลี่ยนผ่าน มันก็เป็นเรื่องที่เราก็ยังไม่เข้าใจทั้งหมดว่าทำได้ยังไง คือเขาเป็นรัฐบาลทหารมานาน ซึ่งช่วงที่ทำรัฐประหารเขากวาดล้างรุนแรงมาก ใช้ทั้งการอุ้มหาย ซ้อมทรมาน ลอบสังหาร เยอะมาก แล้วหลังจากนั้นมันมีปัญหาเศษรฐกิจ มีปัญหาการแพ้สงคราม มันมีการประท้วงของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้มีการประท้วงใหญ่ๆ เลยนะ มันไม่ได้ใหญ่ชนิดที่เป็นภาพจำ มันจะเป็นแค่ภาพของเหล่าแม่ๆ ของผู้สูญหายออกมาประท้วง แล้วคนก็ออกมาสนับสนุนการประท้วง แต่มันไม่ได้ใหญ่โตมโหฬาร แบบที่ฟิลิปปินส์หรือแบบที่อินโดนีเซีย แต่อยู่ๆ รัฐบาลทหารก็ยอมมอบอำนาจให้พลเรือน ด้วยความที่ว่ามันเสื่อมความนิยมสุดๆ แล้ว
รัฐบาลพลเรือนตอนนั้นก็ทำได้หลายอย่าง แล้วก็ทำไม่ได้หลายอย่าง แต่ก็ทำไปเยอะมากในการปฏิรูปกองทัพ มีกระบวนการไต่สวนหาความจริง อะไรต่างๆ ปรับปรุงหลายๆ เรื่อง เราหวังว่าจะเป็นแบบนั้น
คิดว่าตอนนั้นกองทัพเขาประเมินแล้วว่าถ้าอยู่ต่อ เขาจะเสียอำนาจกว่า สุดท้ายก็ต้องยอมเพราะมันมีการปฏิรูปกองทัพ แต่มันใช้เวลานานพอสมควรนะ แล้วมันก็มีคำขู่ว่าจะเกิดรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ทำ มันก็เป็นระยะเวลาที่ค่อยๆ เปลี่ยนมา ซึ่งจริงๆ ก็หวังว่าเราจะเป็นแบบนั้น หวังว่าจะไม่ต้องนองเลือดอะไรอีก แต่ว่ากองทัพและชนชั้นนำ และสถาบันต่างๆ ยอมรับว่า โอเค เราไม่สามารถไปอย่างนี้ต่อไปได้แล้วไม่งั้นเราจะเสียอำนาจ เราต้องถอยบ้าง แล้วก็เปิดให้มีการปฏิรูปบ้าง ซึ่งมันก็มีสัญญาณอยู่ อย่างเช่นการที่กองทัพอยู่ดีๆ ออกมาบอกว่าเดี๋ยวจะปฏิรูปตัวเองเป็นต้น ก็คือเป็นการยอมรับว่าคุณอยู่อย่างนี้คุณอยู่ไม่ได้ ไปไม่ได้แล้ว ก็รู้ตัวอยู่ ก็เลยหวังว่าเขาจะมีการปรับตัวแล้วก็ยอมถอย เพื่อรักษาให้มากที่สุดเท่าที่เขาต้องการแหละ แต่เราก็หวังว่าจะได้กลับมาบ้าง แล้วก็ค่อยๆ ใช้ระยะเวลาเอาคืนมาเรื่อยๆ
บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )