มหา’ลัยไม่ใช่ค่ายกักกัน เมื่อมช.งัดข้อเสรีภาพ ชุมนุมต้องขออนุญาต

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพจสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยประกาศจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในกรณี การขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการชุมนุมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ 

ด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ ตามหลักแห่งเสรีภาพทางวิชาการ โดยยึดมั่นในสัจธรรมและคุณธรรม เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ การประยุกต์ เผยแพร่ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จึงตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และความรับผิดชอบต่อการชุมนุม ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

ดังนั้น เพื่อดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักศึกษา นักเรียน ผู้ปฏิบัติงานใน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือประชาชนผู้มาติดต่อ รวมทั้งทรัพย์สินซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูแลรับผิดชอบ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๑ และมติสภามหาวิทยาลัยในคราวประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๑

จากประกาศนี้ ได้สร้างข้อถกเถียงต่อเหล่านักศึกษาเป็นจำนวนมาก ที่แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นอ้างถึงเสรีภาพทางวิชาการมาตลอด แต่การออกประกาศในครั้งนี้สร้างความย้อนแย้งกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อ้างมาตลอด

ทางด้านของประชาคมมอชอ – Community of MorChor ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ว่า

“ต่อไปนี้นักศึกษาจะจัดกิจกรรมชุมนุมรวมกลุ่มกัน จะต้องได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขอีกสารพัด นี่หรือมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่า เป็นสถาบันทางวิชาการ  แม้แต่การรวมตัวยังต้องขออนุญาต พยายามทำตัวเป็นรัฐไทยที่มี พรบ.ชุมนุม (ซึ่งยกเว้น สถานศึกษา) ประกาศฉบับนี้ ถือเป็นความร้ายแรงอย่างยิ่งเพราะจะไม่มีพื้นที่ไหนที่นักศึกษา เยาวชน หรือประชาชน จะสามารถเรียกร้องปัญหาอีกได้ #ไม่เอาประกาศชุมนุมมอชอ”

SAAP 24:7 เองก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าประกาศล่าสุดนั้นเป็นประกาศที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมจาก “ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง  การจัดกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ซึ่งถูกเผยแพร่ออกมาเพื่อหวังบังคับใช้ในช่วงเกิดการชุมนุมใหญ่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #มอชองัดข้อเผด็จการ ราวเดือนสิงหาคม ปี 2563 

SAAP 24:7 ได้สรุปประกาศล่าสุด ได้ออกมา 7 ประเด็น รายเอียดดังรูปภาพด้านล่าง (กรอบสีเหลืองคือเนื้อหาเพิ่มเติมจากประกาศปี 2563)

หรือจะเป็นการสถาปนาความชอบธรรมในการใช้กฎหมายเล่นงานคนเห็นต่าง?

นาวินธิติ จารุประทัย อดีตสมาชิกสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปีการศึกษา 2565 ได้บอกเล่ากับ Lanner ว่าหลังจากที่ตนได้เห็นประกาศนี้ตนรู้สึกว่าประกาศฉบับนี้พยายามสร้างความย้อนแย้งกับเนื้อหารวมไปถึงเป็นการสร้างความชอบธรรมในการออกประกาศ

“ตั้งแต่เห็นประกาศนี้ครั้งแรก รู้สึกว่ามันน่าตลกมากๆ โดยเฉพาะตรงส่วนต้นของประกาศที่พยายามจะสร้างความชอบธรรมของประกาศนี้ว่าเป็นไปตามหลักเสรีภาพทางวิชาการซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของสถานศึกษา แถมยังอ้างสิทธิชุมนุมภายใต้ขอบเขตรัฐธรรมนูญอีก เพราะมันย้อนแย้งกับตัวเนื้อหาประกาศที่เต็มไปด้วยการสร้างข้อจำกัดสารพัดอย่างในการจะชุมนุมมากๆ ซึ่งมันยิ่งออกห่างเสรีภาพซะยิ่งกว่าเก่า ซึ่งแย่อยู่แล้ว ทั้งในเชิงปฏิบัติและในเชิงประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับที่มช.ใช้เป็นเครื่องมือตลอดมา และประกาศฉบับนี้ปรับปรุงเพิ่มเติมจาก ” ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การจัดกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ” ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ซึ่งถูกเผยแพร่ออกมาเพื่อหวังบังคับใช้ในช่วงเกิดการชุมนุมใหญ่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ #มอชองัดข้อเผด็จการ ราวเดือนสิงหาคม ปี 2563” 

“เดาได้ไม่ยากว่าประกาศฉบับใหม่ที่เขียนมาทับฉบับเก่าเกิดจากการไตร่ตรองเกี่ยวกับการรับมือโดยมช. เรื่องความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างคนตัวเล็กกับคนมีอำนาจในมช.ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แล้วนำมาร่างเพื่อให้ครอบคลุมกับทุกกรณีที่มช.จัดการความขัดแย้งเหล่านี้ได้ห่วยแตกเสมอมา” 

“ถ้าสังเกตเข้าไปในตัวเนื้อหาจริงๆ ประกาศนี้เปิดช่องให้ตีความตามอำเภอใจของผู้ถืออำนาจมากๆ เช่น ชุมนุมโดยสันติ ไม่เสี่ยงความขัดแย้ง ไม่ก่อความเดือดร้อน ไม่รบกวนการเรียนการสอน/การทำงาน ไม่ขัดขวางผู้อื่น แถมยังมีลักษณะควบคุมการชุมนุม ซึ่งมันขัดกับตัวรัฐธรรมนูญเสียเองด้วยซ้ำ เช่น การไม่ให้พาดพิงสถาบันกษัตริย์ทั้งทางตรงทางอ้อม ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามเรื่องนี้ซะด้วยซ้ำไป ไม่อย่างนั้นการที่มช.จัดงานเฉลิมพระเกียรติบ่อยๆ นี่ก็พาดพิงเหมือนกันใช่หรือไม่? การจำกัดสถานที่และเวลาในการชุมนุม”

“การกำหนดให้คำนึงถึงความเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการให้อำนาจมช.ตัดสินใจอีกด้วยว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้จัดชุมนุมแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่แสดงถึงความพยายามที่จะปัดความรับผิดชอบให้แก่ผู้ที่ร่วมชุมนุมเมื่อถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอีก นี่ถือเป็นการพยายามสถาปนาความชอบธรรมในการใช้กฎหมายเล่นงานคนเห็นต่างที่เข้าถึงโอกาสทางกฎหมายน้อยกว่าคนอื่น”

นาวินธิติ ยังเล่าว่าการที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกประกาศในครั้งนี้ออกมาได้สร้างผลกระทบในประเด็นพื้นที่สาธารณะในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อนักศึกษา เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย รวมไปถึงประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย

“เรื่องนี้ส่งผลกับประเด็นพื้นที่สาธารณะในมช.อย่างใหญ่หลวงมากๆ ยิ่งมช.ออกประกาศมากำหนดแบบนี้ยิ่งเป็นการพยายามตอกย้ำว่าพื้นที่นี้มันไม่ใช่ของพวกเรา คนตัวเล็กๆ อย่างนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชน ซึ่งเป็นสมาชิกประชาคมมหาวิทยาลัย เพราะมช.จะยินยอมให้มีเพียงประเด็น พฤติกรรม และการแสดงออกที่มช.ยินยอมและเห็นดีเห็นงามด้วยเท่านั้นที่จะได้อยู่บนพื้นที่ของ มช. และเมื่อไรที่เราที่เป็นคนตัวเล็กๆ คิดว่าการแสดงออกของพวกเราที่มช.ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย มันชอบธรรมแล้วมช.ก็จะสามารถใช้กระบวนการของมช.พิสูจน์สิ่งที่เกิดบนพื้นที่ของมช.เองว่ามันผิดยังไง โดยมีไอ้ลายลักษณ์อักษรจำพวกประกาศ ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับพวกนี้นี่แหละ ที่เขาเอามาอ้าง ซึ่งมันก็ได้รับอำนาจมาจากกฎหมายลำดับต่างๆ ในระดับรัฐ ดังนั้นก็จะเห็นกรณีคล้ายการฟ้องปิดปากผู้เห็นต่างที่มีอำนาจและความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่า (SLAPP – Strategic Lawsuit against Public Participation) ในมช.อยู่บ่อยครั้งมาก เช่น การดำเนินการทางวินัย การฟ้องหมิ่นประมาท แจ้งความบุกรุก ซึ่งคนของ มช. หรือบางทีก็เป็นตัวมช.ในฐานะนิติบุคคลเองทั้งนั้นที่เป็นคนทำ”

“หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่มีสิทธิ์จะชุมนุมได้ แต่จริงๆ แล้วไม่เลย เพราะถ้าเขาต้องการจะช่วยเหลือและคำนึงถึงเสรีภาพทางวิชาการจริงๆ สิ่งที่เขาควรทำคือการโอบรับความหลากหลาย และให้ผู้คนได้ตัดสินใจอย่างเต็มที่ว่าจะแสดงออกยังไง ซึ่งพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนมีเสรีภาพจริงๆ มันมาพร้อมความขัดแย้งอยู่แล้ว เพราะเมื่อไรเราเคลมว่าไม่มีความขัดแย้งเลย ก็แปลว่าต้องมีใครสักคนนั่นแหละ ที่ถืออำนาจเหนือกว่าคนอื่นเขา ความคิดและการแสดงออกแบบอื่นๆ ที่มันจะขัดแย้งกันมันถึงแสดงออกมาไม่ได้” 

“อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้ให้เกริ่นไปทั้งหมด… ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็เห็นได้ชัดว่ามช.ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้เสรีภาพทางวิชาการอะไรหรอก และมั่นใจว่าถึงเวลาประกาศฉบับนี้ก็ห้ามการชุมนุมที่มันมาจากความแร้นแค้นและเจตจำนงอันแรงกล้าของผู้คนไม่ได้”

กฏระเบียบมหาลัยว่าด้วยการชุมนุม ขัดหลักรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2566) รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง

สมชาย กล่าวว่า การชุมนุมเป็นเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดเจน โดยสมชายได้ยกมาตรากฎหมายที่ชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมเป็นเสรีภาพของประชาชนดังนี้ 

มาตรา 34 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

มาตรา 44 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”

“การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

บทบัญญัติทั้งสองมาตรารับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมไว้อย่างชัดแจ้ง มหาวิทยาลัยก็เป็นหน่วยงานรัฐประเภทหนึ่ง การจะออกบทบัญญัติใด ๆ ก็ไม่อาจละเมิดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายและน่าเศร้าใจที่สถาบันการศึกษากลับกำลังกระทำในสิ่งที่ไม่ใช่จรรยาบรรณของสถาบันการศึกษาระดับสูงแล้วก็ยังกระทำการในลักษณะที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย

สมชาย ยังเสริมต่ออีกว่าประกาศล่าสุดที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกมานั้นไม่ใช่ประกาศฉบับแรก ก่อนหน้านี้ได้มีประกาศห้ามมิให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยแสดงการสนับสนุนต่อการหยั่งเสียงอธิการบดี มีเนื้อหาดังนี้

“อันที่จริง นี่ไม่ใช่ประกาศฉบับแรกของ ม. เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้ก็ได้มีประกาศห้ามมิให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยแสดงการสนับสนุนต่อการหยั่งเสียงอธิการบดี ซึ่งผมก็ได้ทักท้วงไปถึงผู้บริหารหลายคราแต่ก็มิได้มีการตอบสนอง ตรงกันข้ามกลับยืนยันว่าสามารถกระทำได้แต่ในท้ายที่สุดเมื่อมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เชียงใหม่ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็กลับปรับแก้ระเบียบดังกล่าว ทั้งที่ได้มีการยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องมาตลอด

มหาวิทยาลัยคือสถาบันการศึกษาซึ่งควรยึดมั่นต่อหลักการเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติรับรองเอาไว้ แต่ก็เป็นที่น่าเศร้าใจที่ในหลายครั้งกลับปรากฏการกระทำในลักษณะตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยควรเป็นแบบอย่างของการเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันอย่างเสรีเพื่อแสดงให้เห็นถึงการแสวงหาความรู้ความเข้าใจจากแง่มุมของความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงการปฏิบัติบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา 

ผมไม่คาดหวังว่าจะมีการตอบสนองที่ดีมากนัก เพราะบรรดาเนติบริกรก็คงออกมายืนยันมามหาวิทยาลัยสามารถกระทำได้ แต่หากมีการฟ้องคดีเกิดขึ้นเชื่อได้แน่ว่าการแก้ไขประกาศของมหาวิทยาลัยจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง

น่าเศร้านะครับ ถ้าต้องอยู่มีชีวิตทางวิชาการอยู่ในสถาบันการศึกษาที่นอกจากจะไม่เคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็น และก็ยังไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญไปพร้อมกัน”

นอกจากการชุมนุมเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญดังที่สมชายกล่าวไปข้างต้น ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าการชุมนุมถึงเป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน โดยหลักการการไล่ลำดับศักดิ์ของกฎหมายนั้นคือ กฎหมายที่อยู่ลำดับต่ำกว่านั้น ต้องไม่ขัดต่อกฎหมายในลำดับขั้นที่สูงขึ้นไป ซึ่งลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทยนั้นเรียงลำดับดังนี้

๐ รัฐธรรมนูญ

๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

๐ พระราชบัญญัติ / พระราชกำหนด

๐ พระราชกฤษฎีกา

๐ กฎกระทรวง

๐ ระเบียบกระทรวง / ระเบียบมหาวิทยาลัย

เห็นได้ว่าประกาศล่าสุดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นกฏระเบียบมหาวิทยาลัยนั้นเป็นกฏหมายที่อยู่ในลำดับท้ายๆ ชี้ให้เห็นว่าการชุมนุมในสถานศึกษาไม่สามารถถูกจำกัดได้ ซึ่งการ “ขออนุญาต” การชุมนุมนั้นขัดกับหลักกฏหมายที่ลำดับศักดิ์สูงกว่า อาทิ มาตรา 34 และ มาตรา 44 ดังที่สมชาย กล่าวไปข้างต้น

กรณีนี้ชี้ชัดให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของประเทศพยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกอย่างชัดเจน ซึ่งหากมองย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา จากกรณีที่ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการเปลี่ยนสถานที่จัดกิจกรรมเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ”  ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญในการรณรงค์ขับเคลื่อนประเด็นการกระจายจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น เนื่องจากมีข้อกังวลในการใช้สถานที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยอ้างว่ากลัวว่า “จะเกิดการขัดแย้ง” ในการจัดงานเสวนาในครั้งนั้น 

การปิดกั้นการแสดงออก นั้นห่างไกลกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยึดถือคือ หลักแห่งเสรีภาพทางวิชาการ

อ้างอิง

ประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมการชุมนุมตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สถานศึกษาสั่งห้ามชุมนุม อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย-เสรีภาพรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญ

สรุปประกาศมช.ฉบับใหม่สุดซี้ด เรื่องการขออนุญาตชุมนุมในมช.

เรียน อธิการบดี ม. เชียงใหม่ และเนติบริกรทุกท่าน เรื่อง ประกาศ ม. เชียงใหม่เรื่องการขออนุญาตจัดการชุมนุมที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ด่วน !! ทางทีมงานได้รับการแจ้งเปลี่ยนผู้ปาฐกถา cละสถานที่ในการจัดงานเสวนา ข้อสรุปเบื้องต้นกรณี

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง