6 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.00-16.00 น. สภาพลเมืองเชียงใหม่และสมัชชาสุขภาพจัดงานเสวนา “อู้จ๋าเลือกตั้งผู้ว่าเจียงใหม่” ณ ห้องประชุมอาคารศาลาสหกิจ เทศบาลตําบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในเสวนามีการพูดคุยในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นซึ่งเน้นในประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดเชียงใหม่ มีตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ ข้าราชการ กลุ่มชาติพันธุ์ และภาคประชาชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
วงเสวนาเริ่มต้นด้วยการเปิดเสวนาโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง กรรมการในคณะพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ ธเนศวร์กล่าวว่า เสวนาในวันนี้เป็นการผลักดันประเด็นในเรื่องของกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ยุติการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง ให้ความสำคัญท้องถิ่น แม้ที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์มากว่า 30 ปี แล้ว แต่ท้องถิ่นยังถูกแช่แข็ง ทุกฝ่ายต้องร่วมใจขับเคลื่อนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมายและการเมือง กล่าวว่า การกระจายอำนาจถือเป็นรากฐานประชาธิปไตย ไม่ใช่แบ่งการปกครอง เพราะองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) แยกเป็นเอกเทศไม่ได้ และการกระจายอำนาจจะทำให้การบริหารจัดการของจังหวัดมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่กระจุกตัว
มีตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมได้แก่ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู จาก พรรคก้าวไกล ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 ,จักรพล ตั้งสุทธิธรรม จาก พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เขต 1 และสุภาพร ราธิเสน อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้เล่าถึงรายละเอียดนโยบายในเรื่องของการกระจายอำนาจของแต่ละพรรค
จากนั้น ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บรรยายเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของการบริหารราชการของประเทศไทยซึ่งเน้นในเรื่องการบริหารราชการส่วนภูมิภาคและบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงพัฒนาการของอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการออกแบบบริหารราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยส่วนกลาง และมักไม่ใช่คนท้องถิ่นที่ได้เป็นผู้ว่าฯ นอกจากนี้วาระของผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีระยะเวลาไม่แน่นอน ซึ่งวาระของผู้ว่าฯเชียงใหม่โดยเฉลี่ยคือ 1 ปี 6 เดือน ไม่เพียงแต่ผู้ว่าจะเป็นการแต่งตั้งคนนอกพื้นที่มาบริหารเท่านั้นแต่ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดยังมีอำนาจหน้าที่ที่ค่อนข้างซ้ำซ้อนและไม่สมเหตุสมผล
“ผู้ว่าฯเชียงใหม่ 41 คน มี 5 คนเป็นคนเชียงใหม่”
ต่อมา ชํานาญ จันทร์เรือง ได้เล่าถึงประเด็นเกี่ยวกับข้อเสียของผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง โดยได้ยกคำถามและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นมาอภิปรายเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการและแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มีข้อครหาคำถามและความเข้าใจจำนวนมากเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการเลือกตั้งผู้ว่า เช่น ทำให้การบริหารราขการขาดเอกภาพ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความไม่เป็นกลางทางการเมือง ซึ่งการกระจายอำนาจนั้นทำให้การบริหารเป็นเอกภาพมากขึ้นมีการทับซ้อนของหน้าที่น้อยลง ในด้านความมั่นคงของประเทศมีตัวอย่างเช่นเกาหลีใต้ที่อยู่ภายใต้สภาวะสงครามถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีปัญหาความมั่นคงจากการกระจายอำนาจ และประเด็นความไม่เป็นกลางทางการเมือง ผู้ว่าฯนั้นไม่ใช่ผู้พิพากษาตุลาการที่ต้องมีความเป็นกลางทางการเมืองเพราะตำแหน่งที่ถูกเลือกตั้งไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมล้วนเป็นตำแหน่งทางการเมืองและมีกฎกติกามารยาทกำหนดไว้อยู่แล้ว
“การเลือกตั้งผู้ว่าไม่ได้สร้างความแตกแยกแต่จะยิ่งเพิ่มความเป็นเอกภาพเพราะเป็นการควบรวมส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นมารวมกัน”
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้เล่าถึงข้อเรียกร้องกระจายอำนาจ 3 ข้อ คือ 1.การมีส่วนร่วมภาคประชาชน 2.ให้จังหวัดหรือท้องถิ่น จัดการตนเอง 3.มีสภาพลเมืองทุกจังหวัด ตามบริบทแต่ละพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ
ธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ ระบุว่า จังหวัดเชียงใหม่มีองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) 211 แห่งแต่ยังมีความเหลื่อมล้ำการพัฒนาในบางพื้นที่
“ท้องถิ่นเคยเรียกร้องสัดส่วนงบ 35% ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ 26 ปีมาแล้วแต่ยังไม่ได้การตอบสนองเลย”
ภายหลังการเสวนาโดยตัวแทนพรรคการเมืองและนักวิชาการ จึงเข้าสู่ช่วงแลกเปลี่ยนและถาม-ตอบ ของผู้เข้าร่วมงานเสวนาซึ่งมีผู้เข้าร่วมที่เป็น ข้าราชการส่วนภูมิภาค นักวิชาการ ข้าราชการท้องถิ่น ภาคประชาชนร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและการขับเคลื่อนประเด็นต่อไป
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...