11 กรกฎาคม 2566 ประชาชนในแต่ละจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือได้จัดกิจกรรมรณรงค์ Respect My Vote เคารพผลเลือกตั้งฟังเสียงประชาชน เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาหรือส.ว. ต้องเคารพผลการเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชนโดยการโหวตนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากจากประชาชน เนื่องด้วยในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 จะมีโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย โดยมีทั้งการแสดงออกผ่านการติดแผ่นป้าย Respect My Vote รวมไปถึงเปิดโพลล์สอบถามในหลายจังหวัดภาคเหนือ
ในจังหวัดเชียงใหม่ ชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำโพลสอบถามความเห็นในหัวข้อ “สว.ควรโหวตให้พรรคที่ได้ สส. มากสุดหรือไม่?” และสอบถามประชาชนในพื้นที่ “อยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าหรือไม่?” ทั้งนี้เพจ KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ได้ระบุว่ามีแผ่นป้าย Respect My Vote ติดอยู่ที่บริเวณลานกิจกรรมท่าแพอีกด้วย
นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมในจังหวัดอื่นๆในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นจ.พะเยาโดยกลุ่ม UP Democracy-ชมรมนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยาเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย, จ.เชียงรายโดยกลุ่มราษฎรเชียงราย, จ.พิษณุโลกโดยกลุ่ม NU-Movement, จ.พิจิตรโดยกลุ่มพิจิตรปลดแอก, จ.ลำปางโดยพิราบขาวเพื่อมวลชน, จ.น่านโดยเครือข่ายนักเรียนนักศึกษาจังหวัดน่าน และจ.ตากโดยกลุ่มแม่สอดต้านเผด็จการ ที่มีการแสดงออกผ่านการติดแผ่นป้าย Respect My Vote และข้อความเรียกร้องให้ส.ว.เคารพเสียงประชาชนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ประชาชนแต่ละจังหวัดได้อธิบายเพิ่มเติมถึงมาตรา 114 ตามรัฐธรรมนูญโดยมีใจความสำคัญว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย” แม้ว่า ส.ว. จะมาจากคสช. ไม่ได้มาจากปวงชนชาวไทย แต่ถ้าฟังเสียงปวงชนชาวไทย ก็ยังพอจะถือว่าเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยได้ แต่ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากปวงชนชาวไทยแล้วยังไม่ฟังเสียงปวงชนชาวไทยอีก จะยังเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยต่อไปได้อย่างไร?
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...