เรียบเรียง: ปรัชญา ไชยแก้ว
12 กรกฎาคม 2566 กลุ่ม SAAP 24:7 จัดกิจกรรมเวทีเสวนา “ประกาศชุมนุม ขยุ้มหัวใจ” ตั้งแต่เวลา 14.00-17.30 น. ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายในกิจกรรมแบ่งเสวนาออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ เวลา 14.00 – 15.30 น. เสวนาหัวข้อ “ประกาศขออนุญาตชุมนุมในมช. กับสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ” และ เวลา 15.35 -17.05 น. วงสนทนา “พื้นที่สาธารณะใช่มุ้ยนะ” (พูดคุยกันเรื่องประกาศขออนุญาตชุมนุมในมช. กับหลักการพื้นที่สาธารณะ)
เสวนาหัวข้อ “ประกาศขออนุญาตชุมนุมในมช. กับสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ” มีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ กฤษณ์พชร โสมณวัตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , กนกวรรณ สมศิริวรางกูล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวัลย์นภัสร์ เจนร่วมจิต ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย วัชรภัทร ธรรมจักร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และตัวแทนจากประชาคมมอชอ
กนกวรรณ กล่าวว่าประกาศล่าสุดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการลดทอนการเมือง ในมิติของการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและประชาชน กนกวรรณได้ยกตัวอย่างในสหรัฐในช่วงปี 60 ในช่วงสงครามเย็นมีการนำ Teach in เข้าไปในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้าง Engage เข้าไปในการศึกษาเกี่ยวกับประเด็น Vietnam War เพื่อเปิดพื้นที่ให้สร้าง Dialogue เป็นการสร้างวัฒนธรรมการพูด ซึ่งส่วนทางกับสิงที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำในปัจจุบัน กนกวรรณเสนอว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องมีสร้างวัฒนธรรมในการพูดขึ้นมา
กนกวรรณ เสริมว่า เวลามีการเรียกร้อง คนที่ออกมาเรียกร้องส่วนใหญ่ต้องการเชื่อมปัญหาไปกับโครงสร้างทางการเมือง ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างไม่สามารถทำหรือพูดได้แค่คนเดียวได้ จึงต้องมีการพูดในพื้นที่สาธารณะ Public Hearing เป็นการเปิดพื้นที่ถกเถียง เพื่อเปิดรับความหลากหลาย กนกวรรณมองว่าการกำกับการชุมนุมนั้นเป็นปัญหาด้านพื้นที่และเวลา เป็นการกำกับพื้นที่และเวลาตามระบบราชการซึ่งขัดแย้งกับระบบที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พยายามสร้างขึ้นมาคือ Life Long Learning
“เราต้องการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ไม่ได้ผูกติดกับแค่นวัตกรรมทางสังคมอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรมการพูดการส่งเสียงด้วย”
กฤษณ์พชร กล่าวว่าโอกาศที่จะมีนักวิชาการระดับโลกคือมหาวิทยาลัยมีพื้นที่ในการแสดงออกที่เปิดกว้าง ทั้งการเมือง และวิชาการ ซึ่งในฐานะผู้บริหารระดับย่อย กฤษณ์พชรกล่าวว่าการบริหารกิจกรรมนักศึกษาไม่สามารถทำงานบริหารได้ภายใต้สถานการณ์ที่ปิดกั้นการแสดงออก ซึ่งประกาศฉบับนี้เป็นการกระทบต่อเสรีภาพและวิชาการ
ต่อมา กฤษณ์พชร กล่าวว่ากิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วโลกน้อยมากที่จะมีการปิดกั้นกิจกรรมทางการเมือง กฤษณ์พชร ได้ยกตัวอย่าง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกได้แก่ Harvard university ,Victoria university และ Birkbeck university of london ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนเลยที่ไม่รับรองการแสดงออกของทั้ง นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งสวนทางกับความอยากเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กฤษณ์พชร เสริมว่ามาตรฐานของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการกำหนดการชุมนุม แต่ไม่ใช่เป็นการห้ามไม่ให้ชุมนุม แต่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ชุมนุมมากกว่าจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
วัลย์นภัสร์ กล่าวว่าปัจจุบัน พรบ.ชุมนุมสาธารณะ เป็นการให้สิทธิในการชุมนุม ถึงแม้จะต้องแจ้งต่อสถานีตำรวจ แต่ก็เป็นการแจ้งเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกต่อผู้ชุมนุม ซึ่งไม่ใช่การขอความอนุญาตในการจัดชุมนุม ซึ่งย้อนแย้งกับ ประกาศล่าสุดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัลย์นภัสร์เสริมว่า พรบ.ชุมนุมสาธารณะไม่ได้บังคับต่อสถานศึกษาทั่วประเทศ เนื่องจากสถานศึกษาเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ พรบ.ชุมนุมสาธารณะ จึงไม่บังคับใช้ในสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาเป็นพื้นที่ในการแสดงออก วิชาการ และเสรีภาพ
วัลย์นภัสร์ ยังเสริมอีกว่าเนื้อหาในประกาศล่าสุดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีความคลุมเคลือและไม่ชัดเจน สามารถตีความไปถึงการชุมนุมทุกรูปแบบ ซึ่งประกาศฉบับนี้มีความเข้มข้นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากกว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่บังคับใช้อยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสียอีก
“ผู้ออกประกาศฉบับนี้อาจะไม่เข้าใจความหมายของการชุมนุมและการถกเถียง ซึ่งในทางวิชาการ การถกเถียงเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว เป็นการต่อยอดทางวิชาการ”
วงสนทนา ” พื้นที่สาธารณะใช่มุ้ยนะ ” (พูดคุยกันเรื่องประกาศขออนุญาตชุมนุมในมช. กับหลักการพื้นที่สาธารณะ) เป็นการพูดคุยในประเด็นประกาศขออนุญาตชุมนุมในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับหลักการพื้นที่สาธารณะ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและบทบาทในฐานะ ผู้นำนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและนักศึกษา มีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ ภัทรรพินธ์ พงศ์ธนะลีลา นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,นิติธร แก้วเกษ ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,ทัศนัย เศรษฐเสรี คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,ทินกฤต นุตวงษ์ เจ้าหน้าที่ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,วัชรภัทร ธรรมจักร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และตัวแทนจากประชาคมมอชอ และนาวินธิติ จารุประทัย สมาชิกกลุ่ม SAAP 24:7 ดำเนินรายการโดย นิธิกร ศรีลารักษ์ สมาชิกกลุ่ม SAAP 24:7
วัชรภัทร ได้พูดถึงในประเด็นการจัดพื้นที่ชุมนุมที่ให้นักศึกษาอยู่ในสถานที่ที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามารถมองเห็น ควบคุมได้ และยังจำกัดสิทธิหรือเนื้อหาในการพูดซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวอ้าง วัชรภัทร ย้ำว่าการแจ้งให้ทราบก่อนมีการจัดชุมนุมยังมีความจำเป็น เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมที่รวมถึงนักศึกษา เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป
นาวินธิติ ได้เสนอประเด็นที่เนื้อหาในประกาศที่ระบุไว้ว่าการจัดชุมนุมห้ามมีการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งขัดแย้งกับการที่ทาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดงานเฉลิมพระเกียรติอยู่เป็นประจำ ก็เป็นการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ นาวินธิติ ได้ตั้งคำถามว่าสิ่งที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำแบบนี้เป็นการยึดสถาบันกษัตริย์เป็นของตัวเองในพื้นที่ตัวเองเท่านั้น ซึ่งเป็นการที่ทำให้การพูดถึงสถาบันกษัตริย์เป็นไปได้ตามแนวทางที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เห็นดีเห็นงามด้วย
ทัศนัย เล่าย้อนไปในช่วงหลังปี 2557 ที่มีการรณรงค์เรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่มีอาจารย์หลายท่านถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนการชุมนุม ซึ่งหลังจากถูกดำเนินคดี ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลับไม่ได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือหรือทำสิ่งใดที่แสดงถึงจุดยืนว่ามหาวิทยาลัยคือพื้นที่ของมนุษย์ที่คงไว้ซึ่งเสรีภาพและการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย
ทัศนัย เสริมว่ารวมไปถึงเหตุการณ์กรณีนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ที่ประท้วงคณบดีเรื่องค่าเทอมในการจัดกิจกรรมประจำปี และย้ำว่านายกสโมสรนักศึกษาและสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าเป็นเรื่องที่ผู้นำนักศึกษาต้องปกป้องสิทธิของนักศึกษา
นิติธร เล่าว่าก่อนที่จะมีประกาศฉบับนี้ออกมาทางสภานักศึกษามีการติงไปถึงข้อกังวลเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่สุดท้ายก็มีการออกประกาศฉบับนี้อยู่ดี นิติธรย้ำว่าจะนำเรื่องที่มีการพูดคุยในวันนี้ที่เป็นปัญหาของนักศึกษาเข้าไปในที่ประชุมเพื่อผลักดันต่อไป
ภัทรรพินธ์ กล่าวว่าในรายละเอียดของเนื้อหายังมีบางอย่างที่ยังมีปัญหา แต่หลังจากที่ตนได้อ่านประกาศฉบับเต็ม ภัทรรพินธ์มีความคิดเห็นว่ามันอาจจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้รึป่าว ภัทรรพินธ์เสริมว่าตนเห็นด้วยในเรื่องการขออนุญาตก่อนมีการจัดชุมนุม แต่ยังมีข้อกังวลในเรื่องระยะเวลาในการจัดชุมนุม หากต้องการจัด ณ ตอนนั้นเลยทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีทางออกต่อเรื่องนี้ยังไง
ทินกฤต ในฐานะเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่และบุคลากรจะชุมนุมส่วนใหญ่จะเป็นเรื่อง สิทธิสวัสดิการ เงินเดือน การถูกไล่ออก ทินกฤต เล่าว่าสมมุติถ้าหากตนทำงานอยู่ที่วิทยาลัยการศึกษาและการจัดการทางทะเล จังหวัด สมุทรปราการ ต้องการที่จะชุมนุม แต่ในประกาศระบุไว้ให้ชุมนุมได้ที่ศาลาอ่างแก้วหรือลานสังคีต ซึ่งในเชิงปฏิบัติมันไม่สอดคล้องกับพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอยู่กว่า 8,500 ไร่ ซึ่งค่อนข้างจำกัดเป็นอย่างมากในการชุมนุม
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ