เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
ภาพปก: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยนเรศวรเริ่มเปิดเทอมเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ภาพนักศึกษาจำนวนมากที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นวันแรกที่เผยแพร่อย่างกว้าง แลดูเป็นที่น่าปิติยินดี ความคึกคักของมหาวิทยาลัยกำลังกลับมา กิจกรรมมากมายหลากหลายฟื้นคืนชีพกลับมาอีกครั้ง หลังพิษการแพร่ระบาดโควิด-19 เบาบางลงจนไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญอีกต่อไป
เพียงแต่ว่าภาพนิ่งก็คงจับได้เพียงบรรยากาศชั่วขณะหนึ่ง ยิ่งภาพเหล่านั้นถูกถ่ายจากเลนส์กล้องของเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยด้วยแล้ว ภาพที่ถูกนำเสนอคงจับเพียงชั่วขณะแห่งความสวยงามและความคึกคักของนิสิตใหม่และเก่า ที่ต่างกำลังเดินทางเข้ามาเรียนอย่างตื่นเต้น(หรือเร่งรีบ?)
หากลองเปลี่ยนจากภาพนิ่งมาเป็นวิดีโอทั้งภายในมหาวิทยาลัยและรอบมหาวิทยาลัย บรรยายกาศอันคึกคักและสวยงามที่ภาพนิ่งนำเสนอคงเปลี่ยนความวุ่นวายและสับสนมึนงง เนื่องจากจำนวนรถที่ใช้สัญจรที่หากแสดงในภาพนิ่งอาจตีความได้ว่าเป็นความคึกคัก แต่หากตความจากวิดีโอวงจรปิดคงเป็นความวุ่นวาย หรือหากนำเสนอเป็นตัวหนังสือคำบอกเล่าจากผู้ที่ต้องสัญจรในวันนั้นคงเป็นความหงุดหงิด กระทั่งความหวั่นไหวต่อปริมาณรถสัญจรที่หนาแน่นจนนึกว่าอยุ่กรุงเทพมหานคร
คือวุ่นวายมาก รถติดสุด ๆ ตอนเช้าก็ติดคงเพราะรีบไปเรียนกัน กลางวันติดอีกเพราะออก ๆ เข้า ๆ ไปกินข้าว ตอนเย็นนี่คือติดที่สุด (นักศึกษาปี 2 คณะสังคมศาสตร์ สัมภาษณ์เมื่อ 11/07/66)
จากสถิติจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยพบว่ามหาวิทยาลัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ในปี 2561 ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมีจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้น 22,201 คน แต่ในปี 2665 จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 27,399 คน กล่าวคือเพิ่มขึ้นกว่า 5 พันคน เฉลี่ยจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 พันคนทุกปี ซึ่งเมื่อนำอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักศึกษาในช่วง 5 ปีที่มาเทียบกับจำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวรในช่วงตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2560 ที่จำนวนนักศึกษาคงที่ เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 22,000 คน จำนวนนักศึกษาไม่เพิ่มขึ้นเหมือนกับที่ปรากฏในช่วงปี 2561 ถึง 26651
เมื่อจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้น แน่นอนสิ่งที่ตามมาเป็นเงาตามตัวนักศึกษาใหม่คือพาหนะคู่ใจของนักศึกษา ซึ่งคงจะเป็นพาหนะอื่นใดไปไม่ได้นอกจาก “มอเตอร์ไซค์”
พาหนะที่ใช้ในการสัญจรมีแน่นอนว่ามีทั้งรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และอื่น ๆ แต่หากเทียบปริมาณมอเตอร์ไซค์กับพาหนะชนิดอื่น มอเตอร์ไซค์คงชนะขาดกว่าหลายเท่าตัวในเรื่องปริมาณ เนื่องจากเป็นพาหนะที่ราคาถูก (ถูกกว่ารถยนต์ แม้จะแพงกว่าจักรยาน) และยังมีความคล่องตัวสูง ทั้งคล่องตัวในการขับขี่และคล่องตัวในการจอด
มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะคู่กายของพวกเราชาวไทยอย่างปฏิเสธได้ยาก และเป็นพาหนะคู่กายของนักศึกษา (มหาลัยภูธร) อย่างปฏิเสธได้ยากขึ้นไปอีก หากปัจจัยการดำรงชีวิตพื้นฐานมีอยู่ 4 อย่าง และปัจจุบันมีปัจจัยที่ 5 หากล้อตามยุคสมัยคือสมาร์ทโฟน ผมขอเพิ่มปัจจัยที่ 6 เข้าไปเพื่อจะดำรงชีวิตในมหาวิทยาลัย (ทั้งภูธรและไม่ภูธร) นั่นคือ “มอเตอร์ไซค์” ข้อมูลกรมจากขนส่งทางบกก็ยิ่งช่วยยืนยันความสำคัญของมอเตอร์ไซค์ กรมขนส่งทางบกเผยว่าประเทศไทยมีจำนวนรถมอเตอร์ไซค์มากกว่า 22 ล้านคัน คิดเป็นร้อย 52.66 ของจำนวนภาหนะทางบกทั้งหมด กล่าวคือคือ จำนวนรถที่วิ่งอยู่บนถนนในประเทศไทยกว่าครึ่งคือมอเตอร์ไซค์2
เมื่อประเทศเป็นเช่นนี้ นักศึกษาจะไม่มีมอเตอร์ไซค์ไว้ในครอบครองได้อย่างไร ยิ่งกับนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่ห้อมล้อมไปด้วยความเขียวขจีของทุ่งนา และปราศจากการรบกวนจากขนส่งมวลชนใด ๆ มอเตอร์ไซค์จึงมาพร้อมกับนักศึกษา เพราะนักศึกษาต้องมาพร้อมกับมอเตอร์ไซค์ นักศึกษาที่เพิ่มขึ้นก็นำเข้ามอเตอร์ไซค์มาสู่ตำบลท่าโพธิ์มากขึ้นเช่นกัน
ปีนี้รถติดมาก จริง ๆ มันก็ติดทุกปี แต่คงเพราะรับนิสิตใหม่มาเยอะ แล้วก็หลังโควิตด้วยเขาก็กลับมาเรียนที่มอกัน คิดดูดิต้องเพิ่มประตูไว้สำหรับมอไซค์อ่ะ (นักศึกษาปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สัมภาษณ์เมื่อ 11/07/66)
จากการสัมภาษณ์นักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวรที่เรียนมามากกว่า 3 ปี จะพบว่าปีการศึกษา 2566 นี้มีความรู้สึกว่าจำนวนรถมอเตอร์ไซค์มีเพิ่มขึ้นสูงมากจนสังเกตได้
แพตฟอร์มออนไลน์อย่าง Tiktok เมื่อสำรวจวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับหมาวิทยาลัยนเรศวรจะพบว่า มีวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปริมาณรถมอเตอร์ไซค์ที่มีจำนวนมากและปัญหาการจราจรอยู่หลายวิดีโอ
พร้อมกันนี้ ในปีการศึกษา 2566 นี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรทำการเจาะกำแพงของมหาวิทยาลัย 2 จุดเพื่อสร้างเป็นประตูขนาดเล็กสำหรับใช้เดินทางเข้า-ออกโดยมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ
ตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า “นักศึกษาต้องมาพร้อมกับมอเตอร์ไซค์ นักศึกษาที่เพิ่มขึ้นก็นำเข้ามอเตอร์ไซค์มาสู่ตำบลท่าโพธิ์มากขึ้นเช่นกัน” ทั้งคำสัมภาษณ์ วิดีโอใน Tiktok และการเจาะจำแพง เหล่านี้เองเป็นหลักฐานยืนยันความเกี่ยวโยงกันของจำนวนนักศึกษากับจำนวนมอเตอร์ไซค์ที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก
เมื่อรู้ว่ามอเตอร์ไซค์เยอะขึ้นคำถามต่อมาคือ แล้วมันเป็นปัญหาอย่างไร?
มอเตอร์ไซค์เป็นดังปัจจัยที่ 6 ของการใช้ชีวิตดังที่ที่กล่าวไป แต่มอเตอร์ไซค์กลับได้รับความสนใจน้อยมากในด้านนโยบายและการพัฒนาระบบการขนส่ง นโยบายและการลงทุนในการพัฒนาระบบขนส่งมุ่งให้ความสำคัญกับรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นหลัก มอเตอร์ไซด์ในฐานะปัจจัยที่ 6 กลับหายไปจากการออกแบบนโยบายและพัฒนาระบบขนส่ง3
กลับมามองที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ความสำคัญของมอเตอร์ไซด์อาจมิได้ถูกมองข้าม เห็นได้จากการเจาะกำแพงเพื่อทำเป็นประตูสำหรับมอเตอร์ไซด์โดยเฉพาะ หรือก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยนเรศวรเองก็มีประตูที่สร้างเพื่อมอเตอร์ไซด์โดยเฉพาะ (ประตู 6)
แม้จะกล่าวว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรเห็นความสำคัญของมอเตอร์ไซค์ แต่ก็สามารถกล่าวได้เช่นกันว่า “เห็นความสำคัญก็เมื่อสายเกินไป” สังเกตได้จากนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการจำนวนมอเตอร์ไซค์มักดำเนินนโยบายในรูปของ “การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” มากกว่าจะเป็นการวางแผนบริหารจัดการในระยะยาว เนื่องจากการเจาะประตูเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางเข้า-ออกโดยมอเตอร์ไซค์เป็นการดำเนินนโยบาย “เพื่อแก้ปัญหา” การจราจรที่ติดขัด มากกว่าจะเป็นการวางแผนบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์อย่างเป็นระบบ
อีกหลักฐานที่ยืนยันว่าการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยนเรศวรเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าจะเป็นนโยบายการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ คือปรากฏการณ์ที่จอดรถไม่เพียงพอต่อจำนวนมอเตอร์ไซค์ หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาคือ “ปัญหาที่จอดมอเตอร์ไซค์ไม่เพียงพอ”
เรื่องที่จอดรถนี่คือต้องลุ้นเอาว่าจะมีให้จอดไหม ประเด็นคือที่จอดมันน้อยเกินไป บางทีต้องไปจอดไกล ๆ หรือไม่ก็ต้องหน้าด้านอ่ะ จอดซ้อนจอดเบียยดคนอื่นเค้าอ่ะ ทำไงได้ตื่นก็จะไม่ทันเรียนอยู่แล้ว นี่ต้องมาวนหาที่จอดรถอีกนะ ขนาดขี่มอไซค์ไม่ใช่รถยนต์ (นักศึกษาปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สัมภาษณ์เมื่อ 11/07/66)
เมื่อสำรวจที่จอดรถบริเวณอาคารเรียนรวม ทั้งอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา (อาคารเรียนรวม QS) อาคารเรียนรวมปราบไตรจักร 1 และปราบไตรจักร 2 จะพบว่าที่จอดรถของอาคารเรียนรวมเหล่านี้มีรถมอเตอร์ไซค์จอดอยู่เกินกว่าความสามารถในการรองรับการจอดมอเตอร์ไซค์ได้ มีการจอดซ้อนคันหรือจอดในพื้นที่ที่มิได้ถูกออกแบบมาเป็นพื้นที่จอดมอเตอร์ไซค์ อาทิ จอดมอเตอร์บนบริเวณที่ถูกประกาศว่าห้ามจอด เมื่อปัญหาที่จอดมอเตอร์ไซค์ไม่เพียงพอเกิดขึ้นพร้อมกับการเจาะกำแพงเพื่อสร้างประตูทางเข้า-ออกมอเตอร์ไซค์ อาจทำให้สารถอนุมานได้ว่าการเจาะกำแพงเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างปัญหาการจราจรติดขัดมากกว่าที่จะเป็นนโยบายที่มุ่งบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์อย่างเป็นระบบ
(รูปที่จอดรถหน้าหอสมุด ข้างวิทยาลัยนานาชาติ)
พร้อมกันนี้ พบว่านโยบายแก้ปัญหาที่จอดมอเตอร์ไซค์ไม่เพียงพอ คือการสร้างความเป็นทางการให้กับที่จอดรถที่เคยไม่เป็นทางการ กล่าวคือ ที่จอดมอเตอร์ไซค์ที่เคยเป็นที่เป็นสถานที่ที่เคยถูกห้ามมิให้จอดได้กลายมาเป็นลานจอดรถมอเตอร์ไซค์ในท้ายที่สุด เช่น บริเวณหน้าหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยที่เคยถูกประกาศว่าห้ามจอดรถ ณ ขณะนี้ได้กลายเป็นที่จอดรถมอเตอร์ไซค์แล้ว การแก้ปัญหาที่จอดมอเตอร์ไซค์ด้วย นโยบายเปิดที่จอดรถเพิ่มก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันว่าการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยนเรศวรเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าจะเป็นนโยบายการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตามทั้งสองปัญหาคือการจราจรติดขัดและที่จอดมอเตอร์ไซด์ไม่เพียงพออาจไม่ใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเปิดรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี แต่มิได้วางแผนในการบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์อย่างเป็นระบบ ทั้งที่หากมหาวิทยาลัยพินิจข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นและข้อมูลอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยมี การออกนโยบายบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์คงมิใช่เรื่องที่เกินความสามารถของมหาวิทยาลัย
ผมเคยพูดกับกิจการนิสิตแล้วเรื่องที่ มน. เด็กมันต้องมีมอเตอร์ไซค์ เราจะแก้ปัญหานี้ยังไงกันดี เขาบอกผมว่า “พี่ว่าเด็กที่เขาจะมาเรียนที่นี่เขาก็ต้องเข้าใจเงื่อนไขอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่เขาต้องยอมรับสิ ถ้าจะมาเรียนที่นี่” (อดีตสมาชิกสภานิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร สัมภาษณ์เมื่อ 11/07/66)
ตัวอย่างนโยบายหนึ่งของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ช่วยในการบริหารจัดการมอเตอร์ไซด์ คือในปีการศึกษา 2564 มหาวิทยาลัยนเรศวรออกนโยบายให้รถรับ-ส่งนักศึกษา (รถส้ม) วิ่งออกนอกรั้วมหาวิทยาเพื่อไปรับ-ส่งนักศึกษาตามจุดต่าง ๆ นอกรั้วมหาวิทยาลัย นโยบายดังกล่าวเอื้อให้เกิดเงื่อนไขที่จะช่วยลดปริมาณการใช้รถมอเตอร์ไซค์ของนักศึกษา เนื่องจากการวิ่งรถรับ-ส่งนักศึกษานอกรั้วมหาวิทยาลัยรอบหนึ่งสามารถรับ-ส่งนักศึกษาได้จำนวนมาก จะช่วยลดปริมาณการใช้มอเตอร์ไซค์ลงไปมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นโยบายดังกล่าวถูกนำมาใช้เพียงหนึ่งเทอมการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่นโยบายดังกล่าวกลับดำเนินการอยู่เพียงหนึ่งเทอมเท่านั้น
ทั้งหมดที่กล่าว คือความพยายามของผู้เขียนที่ต้องการเชื่อมโยงปัญหาการจราจรและปัญหาที่จอดไม่เพียงพอเข้ากับการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่รับนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี โดยใช้มอเตอร์ไซค์เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงปัญหาทั้งสองและนโยบายการรับนักศึกษาเข้าด้วยกัน กล่าวคือให้มอเตอร์ไซค์พระเอกในการดำเนินเรื่องราวของความเชื่อมโยงดังกล่าว
พร้อมกันนี้ผู้เขียนมิได้ต่อต้านนโยบายการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นของมหาวิทยาลัยนเรศวรแต่อย่างใด หากแต่ประสงค์จะชี้ให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายรับนักศึกษาเพิ่ม โดยมิได้วางแผนในการบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์จะนำมาซึ่งปัญหาอย่างการจราจรติดขัดและที่จอดรถไม่เพียงพอ การดำเนินนโยบายที่แก้ปัญหาเหล่านี้โดยวิธีเฉพาะหน้ามิอาจเป็นการบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์อย่างเป็นระบบได้ ควรมีการวางนโยบายบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์เพื่อให้รองรับจำนวนมอเตอร์ไซค์ที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักศึกษา เพราะอย่างไรก็ตามมอเตอร์ไซค์ก็ได้กลายมาเป็นปัจจัยที่ 6 ของการใช้ชีวิตในประเทศไทยไปเสียแล้ว การปฏิเสธการออกแบบนโยบายเพื่อรองรับการมีอยู่ของมอเตอร์หรือดำเนินนโยบายแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็พิสูจน์แล้วว่ามิอาจแก้ปัญหาใด ๆ ได้
อีกหนึ่งตัวละครที่เรามิอาจลืมได้เลยคือองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น อย่างองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ (อบต.ท่าโพธิ์) หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่ในดูแลพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนเรศวร หากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ประสานงานร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์ผ่านนโยบายส่วนท้องถิ่นประสานไปกับนโยบายการบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร อาจมีเพียงการประสานงานของทั้งสองหน่วยงานเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ เพื่อรองรับนักศึกษาที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นและไม่ทำให้มอเตอร์ไซค์ต้องกลายเป็นปัญหา
ผู้เขียนขอกล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้เขียนยืนยันมิปฏิเสธหรือต่อต้านนโยบายการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้น ซ้ำยังเห็นว่าการรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของตำบลท่าโพธิ์และจังหวัดพิษณุโลก หากแต่ว่าการรับนักศึกษาเพิ่มควรคำนึงเงื่อนไขที่เอื้อให้ชีวิตของนักศึกษาและผู้คนรอบมหาวิทยาลัยสามารถนำเนินไปได้อย่างสะดวก การบริหารจัดการมอเตอร์ไซค์ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะนำมาซึ่งความสะดวกในชีวิตของนักศึกษาและผู้คนรอบมหาวิทยาลัย และท้ายที่สุดอาจกลายเป็นเงื่อนไขพื้นฐานจะเอื้อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของตำบลท่าโพธิ์และจังหวัดพิษณุโลก
คอลัมน์ อยู่-ระหว่าง-เหนือ-ล่าง โดย ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย ที่จะพาเราไปเข้าใจ ชีวิต แง่มุมน่าคิด ของผู้คนในภูมิภาคเหนือตอนล่างที่ไม่ใช่แค่จังหวัดทางผ่านที่พวกเราเคยรู้จัก
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...