นครลำปางเมืองแห่งความหวังของคนทุกวัย ?

เรื่อง: พินิจ ทองคำ

เราทุกคนอยากเห็นเมืองที่เจริญเติบโตเพื่อโอบรับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม พื้นที่ของเมืองควรถูกใช้เพื่อรองรับความหลากหลาย นโยบายการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นไปเพื่อคนในท้องถิ่นทุกคน แต่เมื่อมองกลับมาที่เมืองรองอย่างจังหวัดลำปาง เรามีสิ่งเหล่านี้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือไม่ นี่คือคำถามที่น่าครุ่นคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น

หมุดหมายสำคัญที่คนรุ่นใหม่แสวงหาโอกาสในการตั้งตัวท่ามกลางการแข่งขันภายใต้ระบบทุนนิยมอันหนักหน่วง หลายคนมีทางเลือกที่จะต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปสู่เมืองใหญ่ที่มีโอกาสกับชีวิตมากกว่า หรือเลือกที่จะต่อสู้ในพื้นที่ภายใต้สภาวะที่ไม่มีทางเลือกมากนัก เป็นสองทางที่คงไม่มีตัวเลือกเกินไปจากนี้ จากสถิติของจังหวัดลำปางที่มีสัดส่วนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง  ปี 2563 จำนวนประชากร 736,026 คน ปี 2566 จำนวนประชากร 714,316 คน เป็นสิ่งที่กำลังบ่งชี้ได้ว่าเมืองแห่งนี้กำลังหยุดหมุนตามกาลเวลาตามสโลแกนของจังหวัดที่ว่า “ลำปาง” เมืองไม่หมุนตามกาลเวลา



บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่บริหารการบริการสาธารณะของเมือง การเจริญเติบโตของเมืองเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่สุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การออกแบบบริการสาธารณะเพื่อรองรับคนทุกช่วงวัยต่างเป็นความใฝ่ฝันของประชาชนที่ต้องการสัมผัสว่าเป็นไปได้และเกิดขึ้นจริง ยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองจึงเป็นแผนกำหนดอนาคตของพื้นที่ วันนี้หลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของลำปาง อ้างถึงสภาวการณ์ของการเป็นเมืองผู้สูงอายุผ่านแผนยุทธศาตร์และแผนงบประมาณการพัฒนาพื้นที่ แต่การเจริญเติบโตของเมืองที่ขาดหายกระบวนการมีส่วนร่วมจากคนรุ่นใหม่จะเป็นผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาวของพื้นที่แห่งนี้

คนรุ่นใหม่ในลำปาง ขาดแคลนพื้นที่การแสดงออกตามวิถีความชอบของตนเอง ไม่มีพื้นที่รองรับไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นสาธารณะตอบโจทย์กับวิถีชีวิต กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ การดำเนินงานของเทศบาลนครลำปาง ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความรับผิดชอบในเขตพื้นที่เมือง มีแผนงานที่ใช้ชื่อว่า “วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนา พ.ศ. 2566 – 2570 ภายใต้คอนเซ็ปต์ เมืองลำปางเป็นบ้านที่มีความสุขของทุกคน (A happy home for all)  แผนยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัยเพื่อไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้และคนคุณภาพ เมื่อลงลึกต่อข้อมูลมากยิ่งขึ้น พบว่ามีความน่าสนใจเชิงรายละเอียดเป็นอย่างมาก โดยมีลักษณะของกลไกที่จะต้องสร้างสภาพแวดล่้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพที่รองรับกับทักษะในยุคศตวรรษที่ 21 ทั้งยังยึดหลักการเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีิพของยูเนสโก (UNESCO) มาปรับใช้ ประกอบไปด้วย

1. ส่งเสริมการเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานจนอุดมศึกษา
2. ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน
3.อำนวยความสะดวหให้มีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานที่ทำงาน
4. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย
5. ส่งเสริมคุณภาพของการเรียนรู้
6.สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเข้มแข็ง 



ย้อนเวลากลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่ลำปางรวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อกลุ่มลำลอง เพื่อขับเคลื่อนการใช้พื้นที่สาธารณะของคนรุ่นใหม่ บทบาทการรวมกลุ่มเป็นการใช้กิจกรรมร่วม เช่น การเปิดพื้นที่ขายของสินค้าแฮนเมด การแสดงดนตรี การเวิร์คช็อป หากมองภาพรวมของงานแล้ว นับเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะของคนรุ่นใหม่ในลำปาง ที่มีคุณค่า กิจกรรมในครั้งนั้นเป็นจุดเชื่อมประสานความต้องการของคนทุกวัย เกิดการสนทนาถึงทิศทางการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้อัตลักษณ์และวิถีชีวิตของความเป็นคนลำปาง ผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่  แต่การสนับสนุนจากส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังคงน้อยมาก งานล่าสุดของกลุ่มลำลอง เป็นการประยุกต์กิจกรรมวันภาษาไทยที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งกิจกรรมครั้งนั้นเป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ ส่วนงานกิจกรรมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดขึ้นมานั้น มีลักษณะเป็นงานทางการ เช่น กิจกรรมประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญ กิจกรรมประกวดนครลำปาง acoustic talent หรือกิจกรรมการ cosplay เป็นต้น



หรือแม้แต่พื้นที่สาธารณะที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ไม่สามารถใช้งานอย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อการแสดงออกทางการเมือง คนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นพลเมืองตื่นรู้ในนามของกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน มีความต้องการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการสื่อสารและนำเสนอประเด็นทางสังคมหรือประเด็นทางการเมือง เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตย หลายครั้งหลายหนที่มีการจัดกิจกรรม กลับพบว่ามีเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาสังเกตการณ์เพื่อติดตามว่ากระทำผิดกฎหมายอย่างไรบ้าง ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุออกมาแสดงออกทางการเมือง กลับไม่มีการดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกัน สะท้อนท่าทีความไม่เป็นมิตรและพึงเลือกการปฎิบัติต่อกันอย่างไร้มาตรฐาน

ปัจจุบันบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ที่ประชาชนต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่มากขึ้น ทั้งยังมีความคาดหวังจากทุกภาคส่วนที่อยากจะเห็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ มีศักยภาพสร้างเมืองให้มีชีวิตชีวา ไม่เงียบเหงาเหมือนดั่งอดีตที่ผ่านมา นับเป็นความท้าทายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะลำปาง ที่จะหลอมรวมผนึกกำลังกับประชาชนในพื้นที่ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เพื่อให้เมืองเป็นเมืองของทุกคนอย่างสมบูรณ์ ส่งมอบโอกาสจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมีความหวัง สร้างสรรค์เมืองให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาของโลก

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มีทางออกสำคัญ คือ การรวบกลุ่มคนรุ่นใหม่ลำปางให้มีเอกภาพต่อการสะท้อนเสียงความต้องการของคนในวัยเดียวกัน ส่งผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการรับรู้ความต้องการของคนรุ่นใหม่ เกิดกระบวนการพัฒนาเมืองที่มีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์จากคนทุกช่วงวัย พื้นที่สาธารณะของเมืองทุกกลุ่มคนสามารถใช้งานได้อย่างเป็นสาธารณะ เปลี่ยนความคิดจากอุดมคติสู่ความเป็นจริงว่ากลุ่มคนทุกวัยมีคุณค่าและความสำคัญต่อสังคมอย่างเท่าเทียมกัน สร้างวัฒนธรรมของเมืองใหม่ผ่านมุมมองมิติความคิด ประยุกต์อัตลักษณ์ท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแนวทางเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสอดรับกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะกระจายความเป็นธรรมต่อทุกกลุ่มช่วงวัยมากยิ่งขึ้น หากสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นจริง ความเป็นเมือง ผนวกกับพื้นที่และผู้คน ลำปางจะหมุนตามกาลเวลาได้เป็นจริงเสียที


อ้างอิง

ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากบทบาทการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสู่การเป็นผู้ค้นคว้าพัฒนาการของเมือง ชวนตั้งคำถามจากเรื่องราวปกติที่พบเจอ สู่การค้นหาคำตอบของสิ่งนั้น พร้อมกับการค้นพบใหม่ของเรื่องราวที่หลายคนยังไม่เคยรับรู้ บทบาท “นักชวนสงสัย” ฝั่งรากมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเจริญเติบโตขึ้นความเป็นนักชวนสงสัย จึงได้ขยายกลายเป็น “นักค้นหาเรื่องราว” ที่พร้อมจะท้าทายทุกเรื่องด้วยความจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง