เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ โรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวอำเภอแม่สะเรียงและพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 700 ชีวิต จัดเวทีรวมพลคัดค้านเหมืองแร่และโรงโม่หินแม่สะเรียง ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีอุตสาหกรรม จี้เพิกถอนประกาศของกระทรวงฯ พื้นที่ป่าออกจากแหล่งหินแร่ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) แม่ฮ่องสอน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มเยาวชน และภาคประชาชน เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนบนเวทีอย่างพร้อมหน้า
สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 น. ที่โรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และอำเภอใกล้เคียง กว่า 600-700 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลคนแม่สะเรียงคัดค้านเหมืองแร่และโรงโม่หินแม่สะเรียง” บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักโดยมีการแจกเอกสารข้อมูลผลกระทบจากการสร้างเหมือง นอกจากนี้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยได้สวมเสื้อมีข้อความคัดค้านการทำเหมือง ขณะที่ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้ง ส.ส. นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) แม่ฮ่องสอน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ นักเรียน กลุ่มเยาวชน ต่างเดินทางมาร่วมเวทีกันพร้อมหน้า ยกเว้นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ระบุว่าติดภารกิจจึงได้มอบหมายให้นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง มาเป็นตัวแทน
ดร.ทองทิพย์ แก้วใส แกนนำชุมชนคัดค้านโครงการเหมืองแร่แม่สะเรียง กล่าวว่า หลังจากที่ทางบริษัทขอประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนอุตสาหกรรมใน อ.แม่สะเรียง พื้นที่ 132 ไร่ 91 ตารางวา และทางกลุ่มได้ทำการคัดค้านมาตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 จนกระทั่งปัจจุบันทางบริษัทได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานอุตสาหกรรม จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อขอระงับการทำเวทีประชาคม
“คนแม่สะเรียงไม่ต้องการเหมืองแร่ เพราะพื้นที่ติดชุมชนเมือง ถ้าบริษัทถอนเรื่องการขอประทานบัตรเราก็จะถอน แต่ถ้าบริษัทไม่ถอนเราก็ไม่ถอย ตอนนี้บริษัทไม่รับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน อ้างว่าประชาชนคัดค้าน ไม่พร้อมด้านเอกสาร ซึ่งทางทีมงานได้ลงไปทำประชาคมกับประชาชน ต.แม่สะเรียง และ ต.บ้านกาศ จำนวน 16 หมู่บ้าน ประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ คัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะมีเหมืองในแม่สะเรียง มติชุมชนที่ทำไว้คือจะไม่รับฟังความคิดเห็นอีกต่อไป” ดร.ทองทิพย์ กล่าว
แกนนำชุมชนคัดค้านการสร้างเหมืองแม่สะเรียง กล่าวอีกว่า การทำเหมืองมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ป่าไม้มีความสมบูรณ์ต้องถูกทำลาย ป่าที่จะทำเหมืองแร่ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม มีต้นไม้ใหญ่ เป็นที่อยู่สัตว์ป่า ต้นน้ำ ถ้าป่าไม่สมบูรณ์ทางหมู่บ้านคงไม่ทำฝายชะลอน้ำ
“การทำเหมืองแร่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษทางเสียง โดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ที่ติดกับป่า รบกวนการเรียนของเด็กและครู อาคาร รวมถึงกระทบกับคนแม่สะเรียงทั้งหมด ถนนซึ่งประชาชนใช้หมายเลข 108 เป็นเส้นทางหลักมีหน่วยงานราชการ โรงพยาบาลแม่สะเรียง รถบรรทุกขนหินแล่นไปมาจะทำให้ถนนทรุดเป็นหลุมอาจเกิดอุบัติเหตุ เกิดปัญหาสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กทำลายสมอง ปอดและหัวใจ การทำเหมืองใช้เวลา 30 ปี คนแม่สะเรียงต้องตายผ่อนส่ง นี่คือสาเหตุที่เราลุกขึ้นมาคัดค้าน เราจะสูญเสียความสวยงามของธรรมชาติ ถ้าไม่มีธรรมชาตินักท่องเที่ยวก็จะไม่เข้ามาแม่สะเรียง ภาคประชาชนจะเดินหน้าต่อ มีเป้าหมายสูงสุดคือไม่ให้ป่าถูกทำลายจะไม่ให้มีเหมืองและโรงโม่หิน” ดร.ทองทิพย์ กล่าว
ด้านนายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง กล่าวว่า ในส่วนของอำเภอดำเนินการยื่นหนังสือคัดค้านของประชาชนแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด โครงการนี้ประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย
“มีหน่วยงานต่างๆเกี่ยวข้องมากมาย ทางอำเภอไม่มีส่วนอนุญาตใดๆ ถือว่าการคัดค้านของประชาชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โครงการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนถ้ากระทบต่อประชาชน ประชาชนสามารถคัดค้านได้ ผมขอเป็นกำลังใจให้ ตอนนี้บริษัทยังไม่ได้ฟังความคิดเห็นของประชาชน ถ้ายังไม่ผ่านก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ โดยศูนย์ดำรงธรรมแม่สะเรียงยินดีรับความเดือดร้อนของพี่น้องทุกเรื่องเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
หลังจากนายสุรเชษฐ์กล่าวจบ แกนนำชุมชนคัดค้านการสร้างเหมืองแม่สะเรียงและภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือต่อนายอำเภอแม่สะเรียง เรียกร้องให้กันพื้นที่ทำเหมืองออกจากป่า ส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจะหนังสือไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงที่ระบุให้พื้นที่ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งแร่หิน
จากนั้นได้มีเวทีเสวนาโดยวิทยากรประกอบด้วย นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล, นายสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ , นายจีรพงษ์ พวงทอง สจ.เขตอำเภอแม่สะเรียง , นายวิชัย กองแก้ว นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลยวมใต้ , นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน , นายสุมิตรชัย หัตถสาร นักกฏหมายศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น , นายทยากร บุษยาวรรณ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์
นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การขออนุมัติประทานบัตร ต้องมีการอนุมัติใช้พื้นที่ป่าสงวนเพื่อทำเหมืองแร่ ตนมีข้อมูลที่สะท้อนความไม่เท่าเทียม การอนุมัติพื้นที่ป่าสงวนให้นายทุนใช้ทำเหมือนแร่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าสูงถึงกว่า 2 หมื่นไร่ทั่วประเทศ แต่ประชาชนชาวบ้านขอใช้พื้นที่ป่าในการทำถนน กลับมีการอนุมัติเพียง 1.5 พันไร่ สัดส่วนห่างกันถึง 15 เท่า จึงเป็นภาพสะท้อนความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรและระบบกฎหมายอย่างชัดเจน
“ผมทำงานเริ่มต้นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ คัดค้านโครงการเขื่อนสาละวิน คัดค้านเหมืองแร่แม่ลาน้อย แม่ลาหลวง ผมใช้กฎหมายเพื่อปกป้องชุมชน และเวลานี้เป็นผู้แทนราษฎร ก็จะใช้ช่องทางนี้ เราเห็นชัดเจนว่าป่าแห่งนี้อยู่ในแม่สะเรียง แต่คนที่อื่นจะมาแสวงหาประโยชน์ คนที่อนุญาตกลับเป็นส่วนกลาง ที่ไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับที่นี่ เราเป็นได้เพียงแค่ผู้ได้รับผลกระทบ โครงสร้างกฎหมายของเราไม่เป็นธรรม จะคัดค้านอย่างไรแต่เสียงพวกเราไม่มีน้ำหนักทางกฎหมาย มีน้ำหนักน้อย กฎหมายเอื้อให้ผู้มีอำนาจและนายทุน”ส.ส.ก้าวไกล กล่าว
ด้านนายจีรพงษ์ พวงทอง สจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ที่ผ่านมาในกระบวนการการมีส่วนร่วมมักอ้างว่า ต้องรับฟังจากชาวบ้านที่มีส่วนได้เสียโดยตรงที่มีถิ่นพำนักใกล้กับพื้นที่ประทานบัตรในระยะห่างตามที่กฎหมายกำหนด แต่ในสภาพความเป็นจริงนั้น ผลกระทบไม่ได้อยู่เพียงแค่ระยะห่างตามกฎหมายเท่านั้น เพราะผลพวงอาจมีการขยายวงกว้างไปได้อีก ยืนยันว่าชาวแม่สะเรียงไม่เห็นด้วยกับการทำเหมืองอย่างแน่นอน แนวทางการพัฒนามีได้หลายแนวทางที่ไม่ใช่การทำเหมือง ยังมีแนวทางทางเศรษฐกิจอื่นอีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมในพื้นที่
นายประเทือง อาจองกุล นายกอบต.บ้านกาศ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกสัมปทานเหมืองในพื้นที่ และอบต.บ้านกาศไม่ได้หยุดนิ่งในฐานะเจ้าของพื้นที่โดยตรง หากมีการยื่นคำขอผ่านมายังขั้นตอนการพิจารณาของอบต.บ้านกาด เชื่อว่าแม้เอกสารประกอบอื่นของผู้ยื่นจะครบ แต่ขั้นตอนสำคัญคือขั้นตอนการทำประชาคมที่ชาวบ้านกาศส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย บริษัทก็ทำไม่ได้เพราะองค์ประกอบไม่ครบ ขอให้ชาวบ้านสบายใจได้ไม่ต้องเครียด เวทีประชาคมจะมีความสำคัญที่สุด
นายวิชัย กองแก้ว นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลยวมใต้ กล่าวว่า ในพื้นที่ ต.ยวมใต้ สรุปได้ 2 ประเด็น คือ 1.ชาวบ้านกังวลมากเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองฟุ้งกระจายไปทั่วอำเภอแม่สะเรียง 2.ไม่ได้เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ต้นไม้มีอายุ 30-50 ปี ชาวบ้านเป็นห่วงคือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีการต่อประปาภูเขาเพื่ออุปโภค ซึ่งมีทั้งชาวบ้านและหน่วยงาน กรมทหารพราน กรมทางหลวง อบต.ข้างเคียง ล้วนใช้น้ำจากต้นน้ำดังกล่าวทั้งสิ้น และถ้ามีการสัมปทานเหมืองชาวบ้านกังวลว่าน้ำต้นน้ำจะแห้ง
“ขั้นตอนการขออนุมัติจากสภาท้องถิ่น ผมมั่นใจว่าในเมื่อประชาชนเลือกผมและสมาชิกฯท่านอื่นๆมาเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน พวกเราคงต้องอยู่เคียงข้างชาวบ้าน เราต้องเอาข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านกังวลเรื่องผลกระทบมาตัดสินใจ” นายกอบต.ยวมใต้ ระบุ
ด้านนายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับสัมปทานเหมือง และดีใจที่วันนี้ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาแสดงออกทางความคิดเห็น ที่ผ่านมาประชาชนไม่มีโอกาสตัดสินใจ แต่ครั้งนี้เมื่อประชาชนออกมาส่งเสียง ตนเชื่อว่าทุกฝ่ายจะรับฟัง จ.แม่ฮ่องสอน มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ และคนอยู่ได้เพราะสิ่งแวดล้อม หากมลพิษ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป พวกเราจะได้รับผลกระทบ อ.แม่สะเรียงมีสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ซึ่งอ่อนไหวต่อปัญหามลภาวะฝุ่นมาก และจะกระทบทั้งชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และทุกๆคน
“แม้อำนาจการตัดสินใจจะขึ้นกับระเบียบข้อกฎหมายและมีอีกหลายขั้นตอน แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ชาวบ้านต้องออกมาส่งเสียง และขอฝากส.ส.ในพื้นที่ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล อยากฝากว่า ให้คณะรัฐมนตรีมีมติยกเลิกประกาศเขตแหล่งหินอุตสาหกรรมออกจากพื้นที่ อ.แม่สะเรียงให้ได้ เพราะเป็นแนวทางแก้ไขป้องกันที่ยั่งยืนที่สุด” นายกอบต.แม่สามแลบ กล่าว .
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า พลังของคนแม่สะเรียงในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมามีความชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ในแง่กระบวนการตาม พ.ร.บ.แร่อุตสาหกรรม เมื่อมีการยื่นคำขอ ต้องมีการทำหนังสือแจ้งราษฎรในพื้นที่และมีการจัดเวที ไม่เช่นนั้นจะเดินต่อไม่ได้ ล่าสุดบริษัททำหนังสือถึงอุตสาหกรรมจังหวัดขอเลื่อนเวทีประชาคมไปก่อน เพราะรู้ว่าจัดตอนนี้ก็ไปต่อไม่ได้ เหมือนเป็นกระบวนการดึงเวลาออกไปเพื่อรอให้กระบวนการพร้อม กระบวนการตามขั้นตอนกฎหมายหลังจากนั้นยังมีอีกเยอะ สำหรับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะมีการจ้างบริษัทเอกชนมาดำเนินการจัดทำ ต้องผ่านเรื่องจากอบต. และอีกมากมาย ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันติดตาม เพราะการแสดงออกในวันนี้ยังไม่สามารถทำให้กระบวนการทั้งหมดหยุดลงได้ ชาวแม่สะเรียงจึงต้องเดินหน้ายืนหยัดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นายทยากร บุษยาวรรณ ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ กล่าวว่า โรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ ได้ดูแลลูกหลานของชาวอ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย และอ.สบเมย มายาวนานกว่า 50 ปี สิ่งที่เรากังวลถ้ามีเหมืองแร่คือเรื่องสุขภาพของเด็ก เพราะเด็กที่เติบโตตั้งแต่ก่อนวัยอนุบาลไปจนถึง ป.6 ต้องมีอากาศที่ดีเพื่อสุขภาพที่ดี เราสร้างให้เด็กมีสุขภาพและมีมันสมองที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม ผู้ปกครองส่งลูกมาเรียนหากมีมลภาวะที่ไม่ดี อากาศไม่ดีที่จะได้รับตั้งแต่ในครรภ์ จนในวัยเรียน
“เสียงระเบิดหินย่อมกระทบต่อสมาธิในการเรียน เด็กนักเรียนอาจเกิดความหวาดผวา เรียนไม่ต่อเนื่อง การเรียนกลางแจ้ง เช่น กีฬาเด็กก็จะเจอกับมลพิษ ฝุ่นและเสียงจากรถบรรทุกหินที่ต้องวิ่งผ่านหน้าโรงเรียนวันละหลายสิบคันจะกระทบกับเด็กแน่นอน รวมทั้งอุบัติเหตุต่างๆและการชำรุดของถนนหนทางด้วย โรงเรียนไม่เห็นด้วย เพราะผมต้องเป็นผู้บริหารที่ต้องสร้างลูกๆ ของเราให้เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ” ผู้จัดการโรงเรียนอนุบาลธารทิพย์ กล่าว
ขณะที่ผู้แทนอุตสาหกรรมจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวชี้แจงบนเวทีว่า ต้องถือว่าขณะนี้ทางหน่วยงานยังไม่ได้รับคำร้องขอประทานบัตรจากบริษัทเชียงใหม่โรงโม่หิน จำกัด แต่อย่างใด เพราะเอกสารที่ขอมานั้นไม่ครบถ้วนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำเหมือง อ้างอิงจากล่าสุดที่กรมป่าไม้ได้มีหนังสือกรมป่าไม้ที่ ทส.1602.51/11901 ลงวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เกี่ยวกับระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยกรมป่าไม้ระบุในการยื่นคำขอประทานบัตรที่เกี่ยวข้องกับการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนนั้น ต้องมีเอกสารส่วนประกอบมากมาย โดยเฉพาะรายงานการสำรวจนับแยกประเภท-ขนาดไม้ทั่วพื้นที่ ตลอดจนสภาพการประเมินความอุดมสมบูรณ์พื้นที่ที่ยื่นขอ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) แผนผังการทำเหมืองแร่ ฯลฯ ที่สำคัญที่สุดคือการขออนุญาตทำเหมืองมีปัญหาการร้องเรียนจากราษฎรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงหรือไม่ สุดท้าย คือการทำประชาคมผู้เกี่ยวข้อง หากตรงนี้ไม่ผ่านก็ไม่สามารถอนุมัติประทานบัตรได้ และขณะนี้บริษัทเชียงใหม่ฯ ก็ยังไม่มีเอกสารประกอบที่ครบถ้วนโดยเฉพาะ EIA และการทำประชาคม ทางหน่วยงานจึงยังไม่ได้รับคำขอแต่อย่างใด
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...