วันนี้ (4 ก.ย. 2566) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง สมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมสะท้อนผลกระทบประกาศอุทยานแห่งชาติทับที่ชุมชนในเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียจากการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง โดยชาวบ้านต่างยังไม่ยินยอมให้ประกาศอุทยานฯ ดังกล่าวเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในแนวเขตว่าทับซ้อนกับชุมชนหรือไม่ รวมทั้งกระบวนการประชาสัมพันธ์ก่อนเปิดเวทีดังกล่าวก็ไม่ทั่วถึง อาจขัดกับหลักการมีส่วนร่วม
พีระเมศร์ ตื้อตันสกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ลำปาง ชี้แจงว่าการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทนั้นเป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ และ ป่าเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอุทยานแห่งขาติถ้ำผาไทนั้นอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์นั้น
“ประเทศไทยนั้นมีเรื่องน้ำแล้ง น้ำหลาก ก็ต้องมีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศกลับมาเหมือนเก่า เราต้องดูในภาพรวม อยากให้พี่น้องเข้าใจว่าทุกอย่างมันเป็นไปตามนโยบาย เราจึงต้องมาคุยกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้สมดุลและยั่งยืน” ผอ.สำนักฯ กล่าว
สมพงษ์ ยาง ชาวปกาเกอะญอบ้านขวัญคีรีนอก หมู่ที่ 11 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวถึงความไม่ชอบธรรมจากการจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้ว่า มีผู้นำหลายชุมชนไม่ได้มาเข้าร่วม แต่เป็นปัญหาที่การประสานงานของอุทยานฯ หรือไม่ และหากประกาศไปโดยไม่มีส่งนร่วมจะสร้างผลกระทบต่อชุมชน
“ถ้าประกาศอุทยานฯ ไปแล้วมันจะเป็นการตัดสิทธิของคนอยู่กับป่า อย่ามามีอคติกับชุมชน ที่บอกว่าจะมีการส่งเสริมและมีผลประโยชน์กับชุมชน นี่ขนาดตอนนี้ผมอยู่ป่าสงวนฯ ยังไม่ได้รับสิทธิเลย แล้วถ้าอยู่อุทยานฯ เราจะได้ได้ยังไง” สมพงษ์กล่าว
ในช่วงท้ายของเวทีปรากฏว่าไร้ข้อยุติ ชาวบ้านยืนยันไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังความเห็น และยืนยันให้กลับไปทำความเข้าใจกับทุกชุมชนก่อน และยื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยื่นถึงผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ลำปาง โดยมีข้อเรียกร้อง ได้แก่
1. ดำเนินการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับชุมชนให้เป็นที่ยุติร่วมกัน และกันแนวเขตที่ดินเดิมของชุมชนออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
2. กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิให้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และวิถีวัฒนธรรมของชุมชน ไม่ข่มขู่ คุกคาม และผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์และอคติต่อคนอยู่กับป่า
3. เร่งปรับแก้กฎหมายด้านการจัดการป่าไม้ให้รับรองหลักสิทธิชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้เร่งบรรจุแนวทางการบริหารจัดการที่ดิน ป่าไม้ รูปแบบสิทธิชุมชน โฉนดชุมชน ในนโยบายของรัฐบาล ให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ โดยเฉพาะปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง นายกรัฐมนตรีควรแถลงขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อกรณีการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องแถลงต่อสาธารณะ
4. เร่งผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
5. นายกรัฐมนตรีควรแถลงขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อกรณีการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องแถลงต่อสาธารณะ
เปิดไทม์ไลน์ ‘ถ้ำผาไท’ ทบทวนประวัติศาสตร์คนและป่า
สำหรับประเด็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) นี้ ทางด้านมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือก็ได้สรุปไทม์ไลน์เหตุการณ์ต่างๆ ไว้โดยละเอียด โดยเดิมอุทยานฯถ้ำผาไท (เตรียมการ) เป็นวนอุทยานถ้ำผาไทที่ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2518 โดยในช่วงนั้น ยังคงมีการสัมปทานไม้ในภาคเหนือที่เริ่มขึ้นตั้งปี 2369 มาอย่างต่อเนื่อง และทำให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ปี 2528 รัฐบาลได้ออก ‘นโยบายการป่าไม้แห่งชาติ’ กำหนดให้ประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่าร้อยละ 40 โดยให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% (อุทยานแห่งชาติ, ป่าสงวนแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) และป่าเศรษฐกิจ 15% นำมาสู่การออกคำสั่งจากกรมป่าไม้ให้สำรวจพื้นที่ป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ เพื่อเตรียมประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ตามเป้าหมาย
ปี 2534 เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) โดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ และมีการดำเนิน ปี 2534 เกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) โดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ และมีการดำเนิน #โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) หรือ #โครงการอพยพคนออกจากป่า เพื่อเร่งรัดการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ตามแผนนโยบายป่าไม้แห่งชาติ นำมาสู่การมติคณะกรรมการอช. และกรมป่าไม้อนุมัติให้ประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่อุทยานฯถ้ำผาไท (เตรียมการ ) แม้รัฐบาลกล่าวว่ามีเจตนาเพื่อช่วยประชาชนผู้ยากไร้ ดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่พร้อมออกเอกสารสิทธิ์ให้ แต่ผลการดำเนินการในระดับพื้นที่ คือ การถูกบีบบังคับอพยพออกจากพื้นที่ป่า เช่น กรณีผาช่อ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง นำมาสู่การรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ในนาม #เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (#คกน.) เพื่อคัดค้านโครงการคจก. และเข้าร่วมการชุมนุมกับเครือข่าย ‘สมัชชาคนจน’ โดยมีข้อเรียกร้องให้กันพื้นที่ชุมชน และสิทธิของชุมชนในการจัดการป่าและทรัพยากรในพื้นที่ (คจก.) หรือโครงการอพยพคนออกจากป่า เพื่อเร่งรัดการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ตามแผนนโยบายป่าไม้แห่งชาติ นำมาสู่การมติคณะกรรมการอช. และกรมป่าไม้อนุมัติให้ประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่อุทยานฯถ้ำผาไท (เตรียมการ ) แม้รัฐบาลกล่าวว่ามีเจตนาเพื่อช่วยประชาชนผู้ยากไร้ ดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ใหม่พร้อมออกเอกสารสิทธิ์ให้ แต่ผลการดำเนินการในระดับพื้นที่ คือ การถูกบีบบังคับอพยพออกจากพื้นที่ป่า เช่น กรณีผาช่อ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง นำมาสู่การรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ในนามเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) เพื่อคัดค้านโครงการคจก. และเข้าร่วมการชุมนุมกับเครือข่าย ‘สมัชชาคนจน’ โดยมีข้อเรียกร้องให้กันพื้นที่ชุมชน และสิทธิของชุมชนในการจัดการป่าและทรัพยากรในพื้นที่
ปี 2542 เกิดการร่วมผลักดันพ.ร.บ.ป่าชุมชนภาคประชาชนโดยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายร่วมกับเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือก่อนจะถูกสมาชิกวุฒิสภาปัดตกในปี 2545 ซึ่งในปีเดียวกัน คกน. และสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย จำนวนกว่า 5,000 คน ได้จัดชุมนุมที่ศาลากลาง จ. เชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินและปัญหาสัญชาติ และได้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 พ.ค. 2542 มีคำสั่งให้ดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์ใต้หลักการพิสูจน์ว่า ประชาชนอยู่ก่อนการประกาศเขตป่าหรือไม่ หากเป็นกรณีคนอยู่ก่อนการประกาศเขตป่า ให้ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีประกาศเขตป่าก่อนให้อาศัยหลักการแก้ปัญหาเป็นรายกรณี ตามสภาพความเป็นจริง
หลังจากการเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนถูกส.ว.ปัดตกไปในปี 2545 ได้มีการเตรียมประกาศใช้พ.ร.บ.ป่าชุมชนโดยรัฐบาลในปี 2547 ชุมชนจึงได้เข้าร่วมกับคกน. จัดกิจกรรม “เดินธรรมชาติยาตรา” จาก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้หยุดพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับดังกล่าว ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จนสามารถคัดค้านได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2549 สิ่งที่ประชาชนร่วมกันผลักดันมาก็ถดถอยลงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนยังคงมีการผลักดันและขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ “แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง” ถือเป็นการเปิดประตูสู่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายของสังคมพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย
หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพียงหนึ่งได้ ได้มีคำสั่งคสช.ที่64/25557 หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดในการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อย่างเด็ดขาด ซึ่งในพื้นที่อุทยานฯถ้ำผาไท (เตรียมการ) มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เช่น กรณีแสงเดือน ตินยอด’ หรือ วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ถูกตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ แม้จะมีหลักฐานใบ สทก. เพื่อแสดงว่าตนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ก่อนและทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และมีการบังคับขู่เข็ญจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ให้แสงเดือนตัดฟันยางพาราของตัวเอง อ้างว่า หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกดำเนินคดี หรือกรณีอาแม อามอ กลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ถูกดำเนินคดีหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง อ.งาว จ.ลำปาง ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อุทยาน และฝ่ายปกครอง ได้สนธิกำลังกันเข้าตัดฟันต้นยางพารา ทุเรียน และเงาะในพื้นที่ดังกล่าว และอาแมได้รับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วย รวมทั้งไม่ได้มีล่ามในระหว่างการสอบถาม มีแต่เพียงการให้เจ้าหน้าที่เชิญญาติคนหนึ่งลงไปร่วมสอบถามในช่วงท้าย โดยนายอาแมมีปัญหาในการอ่านและสื่อสารภาษาไทย
ในปี 2557 ได้มีการผลักดันกฎหมายป่าที่ดินภาคประชาชน 4 ฉบับ คือ โฉนดชุมชน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน และกองทุนยุติธรรม และชุมชนได้ร่วมกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ดินเท้ารณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปที่ดิน และยุติการไล่ราษฎรผู้ยากไร้ลงจากป่าตามนโยบาย คสช. ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ทหาร ได้สกัดการเดินเท้าทั้งหมด พร้อมควบคุมตัวแกนนำการรณรงค์เอาไว้ในบริเวณที่จัดกิจกรรม ต่อมากระทรวงทรัพยฯ และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ภายใต้รัฐบาลคสช. ได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติเตรียมประกาศทุกแห่ง รวมถึงถ้ำผาไท ให้สำรวจพื้นที่เพื่อเร่งรัดการประกาศเขต ซึ่งในพื้นที่อุทยานฯ ถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้ตรวจสอบแนวเขตโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Orthomap 2545, Google Earth 17 ตำบล และลงพื้นที่สำรวจตรวจสอบร่วมกับเจ้าของแปลง ผู้นำชุมชน หน่วยงาน และผู้ขอใช้ประโยชน์ 17 ตำบล มาทำบันทึกการยอมรับแนวเขตอุทยานฯ กับผู้นำชุมชน และผู้นำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 17 ตำบล
ปี 2559 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ผ่านความเห็นชอบร่างพระราชกำหนด ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ…. (อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท) และให้กระทรวงทรัพยฯ ดำเนินการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ในปีถัดมา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ชี้แนวเขตอุทยานถ้ำผาไท ให้ราษฎรในพื้นที่รับทราบ จำนวน 63 ชุมชน ก่อนจะมีก่อนแก้ไขปรับปรุงแผนที่แนวเขตอช.ถ้ำผาไท ในปี 2562 ตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ตามที่เห็นว่ามีแนวเขตที่คาดเคลื่อน และในส่วนที่ทางอุทยานฯเห็นว่า เป็นพื้นที่ที่กันออกที่ไม่มีการใช้ประโยชน์และได้มีการฟื้นสภาพเป็นป่าแล้ว เหมาะสมในการประกาศเป็นเขตอุทยานฯ หากตามความเห็นของอุทยานฯนี้ จะส่งผลกระทบต่อวิถีการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการพักฟื้นและหมุนเวียนการใช้พื้นที่เป็นจำนวนรอบหลายปี
7 มีนาคม 2562 สภานิติบรรญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารคสช. ลงมติผ่านกฎหมายสองฉบับภายในวันเดียว ประกอบด้วย พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ท่ามวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านจากภาคประชาชนถึงตัวเนื้อหาที่ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ในทางกลับกัน กฎหมายฉบับใหม่เพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงานรัฐ จากการเพิ่มโทษ การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตรวจค้นโดยไม่ต้องใช้หมายค้น การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ทรัพยากรของประชาชน และการใช้มติ ครม. ที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือ คำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 เป็นหลักในการพิสูจน์สิทธิทำกินของประชาชน
9 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ, ป่าสงวนฯ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สนธิกำลังกันเข้ายึดไม้ในป่าชุมชนบ้านกลางที่ชุมชนกำลังนำไปใช้สร้างศาลาอเนกประสงค์ของโบสถ์คริสต์ กล่าวหาว่าชาวบ้านทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยทางชุมชนชี้แจงว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนที่ดูแลรักษามาแต่บรรพบุรุษ และได้ผ่านกลไกการขออนุญาตจากผู้ใหญ่บ้านแล้ว หลังจากนั้นได้มีการเจรจาและลงบันทึกข้อตกลงกันว่าหากชุมชนยินยอมคืนไม้ ต้องไม่มีการดำเนินคดีกับชาวบ้าน แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันมีหมายเรียกจาก สภ.แม่เมาะมายังชุมชนบ้านกลาง โดยผู้กล่าวหาคือ พีระเมศร์ ตื้อตันสกุล หัวหน้าอุทยานฯถ้ำผาไท (เตรียมการ) ในข้อหา “ร่วมกันทำไม้ในป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูป (ไม้จำปีป่า) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันแปรรูปไม้ในป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต”
ปลายเดือนเมษายนของปี 2565 ชาวบ้านชุมชนบ้านกลางพบขบวนการลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าชุมชน พบหลักฐานเป็นท่อนไม้ประดู่ขนาดใหญ่ เมื่อชาวบ้านแจ้งไปยังหน่วยงานระดับพื้นที่ กลับถูกบ่ายเบี่ยง ไม่ชัดเจนว่าเป็นจะพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานกรมป่าไม้หรือกรมอุทยานแห่งชาติ ทั้งที่ทั้งสองก็คือหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรชาติฯ ต่อมามีสื่อมวลชนลงข่าวด้วยถ้อยคำที่พยายามกล่าวโทษไปที่ชาวบ้านและผู้นำชุมชน ว่าเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจกับขบวนการดังกล่าว จนคนในชุมชนได้ออกมาตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณความรับผิดชอบของนักข่าว และเรียกร้องให้มีการชี้แจงแก้ไขข่าวให้ถูกต้อง
ในปี 2566 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ชุมชนทั้ง 7 ชุมชน ได้ยื่นหนังสือเร่งรัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้สำนักนายกรัฐมนตรีได้นำไปพิจารณาในการยกร่างระเบียบในคณะทำงานฯ ชุดดังกล่าว โดยมีหนึ่งในข้อเสนอ “ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทให้เกิดกระบวนการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตการเตรียมการประกาศ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และพิจารณากันพื้นที่ชุมชนประมาณ 87,531 ไร่ ออกจากการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท”
วันที่16 พ.ค. 2566 มีคำสั่งจาก ‘อรรถพล เจริญชันษา’ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชให้สำรวจของมูลสัตว์ของชุมชนในเขตอุทยานฯถ้ำผาไท (เตรียมการ) รวมถึงบ้านแม่ส้าน บ้านกลาง และบ้านขวัญคีรีนอก-ใน ในหนังสือระบุว่า สถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดความเสียแก่ป่าอนุรักษ์ ตลอดจนเกิดฝุ่นละอองและหมอกควันเป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในสาเหตุใหญ่ คือ การเผาป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งทางชุมชนได้ยื่นหนังสือขอปฏิเสธการสำรวจการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานฯ ถ้ำผาไท (เตรียมการ)
ข้อมูล
- https://www.facebook.com/northerndevelopmentfoundation/posts/pfbid0vDiBN8fTQxDAVXacFyHYzQHwx1BhUWvuyJX1SxBhsLnGp7vtgH37yrKVUrsPnTV7l?_rdc=1&_rdr
- https://www.facebook.com/photo?fbid=717033090450726&set=a.634990861988283&_rdc=1&_rdr
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...