‘เจ้า-ข้าฟ้าเดียวกัน’ บทระลึกถึง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผ่านแง่มุมเสรีภาพทางศิลปะ

เรียบเรียง: นลินี ค้ากำยาน

“เจ้า-ข้าฟ้าเดียวกัน อาจารย์นิธิเคยอ้างอิงบทกวีของศรีปราชญ์ในการพูดถึงเสรีภาพของศิลปะ โดยมีใจความสำคัญคือความเท่าเทียมกันในการดำรงอยู่ของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าพวกเราจะอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมแนวระนาบหรือแนวดิ่ง เราทุกคนล้วนมีความเท่าเทียมกันภายใต้ท้องฟ้าเดียวกัน ดั้งนั้น มนุษย์จึงมีเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางศิลปะที่เท่าเทียมกัน”

2 กันยายน 2566 เวลา 18.30 น. ทางสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเสวนา “เจ้า-ข้าฟ้าเดียวกัน – Under The Same Sky” บทระลึกถึงนิธิ เอียวศรีวงศ์ผ่านแง่มุมเสรีภาพทางศิลปะ ณ ลานอเนกประสงค์ ตึกมีเดียอาร์ต หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โปสเตอร์โดย สิรศิลป์ ปังประเสริฐกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นศิลปิน 2 ช่วงวัย ได้แก่ ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ กอล์ฟ-นลธวัช มะชัย กลุ่มลานยิ้มการละคร ดำเนินรายการโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เนื้อหาในเสวนาได้พูดถึงบทบาท มุมมอง และข้อจำกัดของยุคสมัยเกี่ยวกับเสรีภาพทางศิลปะของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ผ่านประสบการณ์ของผู้ร่วมเสวนาที่แตกต่างกัน

โดยทัศนัย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นก่อนของการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เว็บไซต์และเครือข่ายที่นำเสนอเรื่องราวทางวิชาการในช่วงทศวรรษ 2540 นั้นตั้งต้นมาจากเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนที่ห้องเรียน FB1307 ซึ่งเป็นห้องเรียนในคณะวิจิตรศิลป์ ตอนนั้นตนยังเป็นนักศึกษาวิจิตรศิลป์ ได้มีการพูดคุยกันของเหล่านักวิชาการรุ่นใหม่ ๆ ในหลายศาสตร์ทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ รวมไปถึงวิจิตรศิลป์ โดยมีการนัดเจอกันเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ก็เห็นความพยายามที่จะข้ามศาสตร์ข้ามสาขาวิชา มีการอ่านหนังสือมาถกเถียงกัน นักศึกษาและประชาชนก็มาเข้าร่วมฟังด้วย เกิดเป็นชุมชนที่สำคัญ

“วิชาการที่ต่างคนต่างอยู่ในอาณาบริเวณของตัวเอง ได้เขยิบออกมาจากจุดยืนของตัวเองและเกิดเป็นมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในที่สุด”

โดยมีการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นต่อสังคมไทย จนไปสู่รวมกลุ่มถกเถียงพูดคุยกันเพื่อให้เกิดปัญญา ภายใต้สภาพสังคมที่ศิลปะถูกจำกัดความคิด

“จุดเริ่มต้นของวงเสวนาในห้อง FB1307 คือความพยายามแรก ๆ ที่ทำให้ศิลปะถูกมองจากมุมมองอื่น ๆ เห็นมุมมองใหม่ ๆ ศิลปะทำหน้าที่และมีบทบาทมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งนักวิชาการรุ่นใหญ่ อย่างอาจารย์นิธิ ทำให้ศิลปะทำงานมากกว่านั้น”

ความพยายามส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ศิลปะกับสังคมสามารถดำรงอยู่ในสังคมไทยได้ภายใต้สังคมไทย ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะน้อยมาก ๆ ซึ่งนักวิชาการหลายคนในยุคสมัยนั้นมองว่าศิลปะไม่มีความจำเป็นต่อสังคมนี้เลย

ทั้งนี้การเกิดขึ้นของ ‘เชียงใหม่จัดวางสังคม’ (Chiang Mai Social Installation – CMSI) เป็นการใช้งานศิลปะอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ ในหลายพื้นที่ ก็เป็นหนึ่งในความพยายามของศิลปินที่จะทลายกรอบความคิดศิลปะของไทยที่ชัดเจนในห้วงเวลาหนึ่งของสังคมไทยในช่วงปี 2535 – 2541 (1992–98)

ภายหลังการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ศิลปะก็เริ่มถูกมองในมุมมองต่างๆ มากขึ้น ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งและเปิดประตูเรื่องเสรีภาพทางศิลปะเช่นกัน

ทัศนัย เศรษฐเสรี ,นลธวัช มะชัย ,ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

ด้านนลธวัช มะชัย ก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ทำงานการละครร่วมกับอาจารย์นิธิ ซึ่งแสดงให้เห็นมุมมองทางศิลปะของอาจารย์นิธิ ตั้งแต่การตั้งคำถามและการถกเถียงกับตัวตน คมความคิดของครูองุ่น มาลิก ผู้อุทิศตนให้สังคม ไล่ตั้งแต่การเติบโตและความเป็นอนุรักษ์นิยมในตัวตนของครูองุ่น ก่อนที่จะพูดถึงการชวนอาจารย์นิธิ มาร่วมเขียนหนังสือ ‘ชัยภูมิสุดท้าย’ หนังสือที่รวบรวมข้อเขียนจากนักคิดนักเขียนที่พูดถึงความรุนแรงของรัฐกับกรณีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส และการอุ้มหายนักปกป้องสิทธิ รวมไปถึงการปิดกั้นอิสรภาพทางความคิดเห็นทางการเมือง อาจารย์นิธิสามารถเชื่อมโยงทุกเรื่องได้อย่างแหลมคม เป็นระบบ โดยไม่มีท่วงทำนองที่รุนแรงแต่รู้สึกถึงสิ่งที่สื่อออกมาได้

นลธวัช พูดถึงประสบการณ์ในการทำ Lecture performance “วันที่ยังไม่มีชื่อเรียก” โดยในตอนนั้นอาจารย์นิธิ บอกว่าไม่มีความถนัดในการเล่นละคร และมีคำถามต่อกระบวนการในการทำละคร เช่น Material นี้เอามาจากไหน ซีนนี้ไปเจออะไรมา ในความหมายของความคิดต้นทางที่อาจารย์นิธิมักจะคอยไถ่ถามอยู่เสมอ

“อาจารย์นิธิมองศิลปะเป็นอาหารทางความคิดมากกว่าอาหารผ่านทางดวงดาหรือความรื่นรมย์ทางดวงตา”

ในช่วงท้ายหลังจบเสวนามีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ตั้งคำถามและถกเถียงพูดคุยเกี่ยวกับข้อจำกัดของอาจารย์นิธิที่ทิ้งไว้ให้เราคิดต่อ เพราะการคิดต่อทำให้อาจารย์นิธิมีชีวิตอยู่และจดจำเขาได้ตลอดไป

สามารถรับชมเจ้า-ข้าฟ้าเดียวกัน – Under The Same Sky บทระลึกถึงนิธิ เอียวศรีวงศ์ผ่านแง่มุมเสรีภาพทางศิลปะ ได้ที่ https://www.facebook.com/mads.cmu/videos/1365081294081801

นักศึกษาวารสาร ผู้ชื่นชอบการเขียน การหาข้อมูลและการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม สนใจประเด็นทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศิลปะวัฒนธรรมในชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง