‘ทหารมีไว้ทำไม’ เมื่อทหารอาจหาญไม่หายไปจากการเมืองไทย

เรียบเรียง: ณัฏฐวรรธน์ คล้ายสมมุติ

ภาพถ่าย: ปรัชญา ไชยแก้ว

เนื้อหาจากเสวนา “ทหารกับการเมืองไทย” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการอ่านเปิดโลก ครั้งที่ 4 “หมุนเข็มนาฬิกากี่ครั้ง เข็มก็เดินหน้าเสมอ: ชีวิตสังคมไทย ผ่านงานนิธิ เอียวศรีวงศ์” ณ ห้องประชุม Main Conference อาคารศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อวันที่ 4-5 กันยายน 2566 โดยคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ Dr.Paul Chambers และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินรายการ

หัวข้อของการเสวนานี้มาจากคำถามและบทความของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในเรื่อง ทหารมีไว้ทำไม ? ในบริบทสังคมไทยนั้นคำถามชุดนี้อาจจะมองได้ 3 มิติคือ 1. มิติทางประวัติศาสตร์ 2.มิติทางรัฐศาสตร์ และ3.มิติทางสังคม มิติหลักจะเป็นด้านรัฐศาสตร์ในเชิงทาหารกับสังคมในโลกที่ 3 ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ในการศึกษา และเป็นคำถามที่เก่าแก่ที่สุด ในประเด็นนี้หากมองย้อนกลับไปไกลถึงยุคโรมันเหล่าทหารรักษาพระองค์ หรือ Imperial Gard คือตัวอย่างของทหารกับการเมืองในยุคโรมันที่คุ้มครองบุคคลสำคัญทางการเมืองในกรุงโรม นอกจากนี้ ทหารยังทำหน้าที่เป็นหน่วยข่าวกรองและทำหน้าที่หลายอย่าง หากเทียบกับปัจจุบันคือ secret service ในประเทศอเมริกา ซึ่งต่างกันในแต่ละช่วงเวลา อาทิ ทหารกลายเป็นผู้ที่แต่งตั้งจักรพรรดิ หรือแต่งตั้งจักรพรรดิที่เป็นฝั่งตรงข้ามกับคู่แข่ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นภาพสะท้อนการแทรกแซงของทหารที่สัมพันธ์กับการเมือง แต่การนำเสนอแบบนี้อาจจะดูเก่าไปแล้ว สำหรับประเทศอื่นๆในปัจจุบัน

ประเทศโลกที่ 3 ในภาวะสงครามเย็น

เงื่อนไขและสภาวะของกองทัพสมัยใหม่ (Modern Army) หากมองผ่านประเทศโลกที่ 3 เส้นแบ่งเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์คือชาวงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงเวลานี้เกิดเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์ที่สำคัญคือ 1 สงครามเย็นและ 2 การค่อยๆสิ้นสุดของระบอบอาณานิคม ทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นสภาวะที่รัฐอาณานิคม อาทิ อังกฤษ ดัตท์ ฯลฯ ค่อยๆหมดอำนาจลง และเกิด The New Nation ในบรรดาประเทศที่กำลังเกิดใหม่ทั้งหลาย เห็นได้ชัดว่าบรรดายุคหลังอาณานิคมสำหรับประเทศเกิดใหม่ ประเทศที่เกิดใหม่ยังคงหวังว่าจะเป็นการเมืองในบริบทพลเรือนที่สืบทอดในตัวของเจ้าอาณานิคม อย่างไรก็ตามประเทศแทบเอเชียและทวีปแอฟริกา เกิดความผันผวนครั้งใหญ่ คือการกลายเป็นเรื่องของการเข้ามามีบทบาทของทหาร หากย้อนกลับไปดูคำถามใหญ่เกี่ยวกับทหารกับการเมืองช่วงก่อนหน้า ทหารอยู่ภายใต้อำนาจกองทัพสมัยใหม่ของความเป็นกองทัพยุคอาณานิคม (Colonial Army) ที่รับมรดกทางความคิดทางการเมืองที่ยอมรับเงื่อนไขความคิดประชาธิปไตยแบบตะวันตกเข้ามาสร้างประชาธิปไตยในรัฐอาณานิคม แต่หลังจากได้รับเอกราชแล้วนั้น กลับพลิกผันไปหมดหากไม่นับเอเชีย อาทิ ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa) ในสภาวะที่สามารถตอบได้ว่าในยุคอาณานิคมทหารกลายเป็นตัวแสดงหลักในบรรดาประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย ซึ่งรับกับเงื่อนไขในสงครามเย็น หลายประเทศเกิดใหม่กำลังเผชิญกับสงครามคอมมิวนิสต์” สุรชาติกล่าว

หากสงครามเย็นที่กำลังถูกขับเคลื่อนในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แพร่เข้าไปในสู่บรรดารัฐเอกราชใหม่หรือบรรดา The New Nation ขณะเดียวกันกองทัพก็ตัดสินใจเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ทหารช่วงสงครามเย็นสร้างกองทัพมีนัยกับกองทัพอย่างไร ซึ่งคิดว่าสิ่งที่เห็นชัดคือการเริ่มมีความคิดหากต้องสู้กับคอมมิวนิสต์ คำถามที่น่าสนใจคือ “ใครจะเป็นพลังสำคัญในสังคมที่เพิ่งได้รับเอกราชใหม่ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์”

นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่ากองทัพเป็นพลังของความคิดเรื่องชาตินิยม ซึ่งพลังชาติของความคิดเรื่องชาตินิยมจะสามารถต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้ “ในเช่วงเวลานี้จึงสามารถตอบคำถามกับอาจารย์นิธิว่า ทหารมีไว้ทำไม ? คำตอบก็คือทหารมีไว้ต่อสู้ในสงครามกับคอมมิวนิสต์ หลังจากต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์มันจึงเท่ากับส่งเสริมให้กองทัพเข้าไปมีบทบาททางการเมือง”

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

วิชารัฐศาสตร์ในหัวข้อทหารกับการเมือง

บทบาททางการเมืองของกองทัพอยู่ภายใต้ของสิ่งที่ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่าการควบคุมของพลเรือน หรือ Civilian Control ฉะนั้น เราจะเห็นว่าในคลาสเรียนการเมืองอเมริกันแทบจะไม่ต้องเรียนเรื่องทหารกับการเมือง หรือเรียนการเมืองอังกฤษในยุคปัจจุบัน ผมคิดว่าทหารกับการเมืองอังกฤษก็น่าจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากเรียนคลาสการเมืองระหว่างประเทศยุคสงครามเย็น เรียนคลาสการเมืองของประเทศกำลังพัฒนา เรียนคลาสการเมืองของประเทศด้อยพัฒนา มันหนีไม่พ้นเรื่องทหารกับการเมือง ในที่นี้ผมเชื่อว่าหลายท่านเรียนรัฐศาสตร์ คำถามคือ “พวกเราเรียนเรื่องทหารกับการเมืองไหม”

การเรียนรัฐศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ผมคิดว่ายุคหลังอาจไม่ต้องเรียนเรื่องนี้ก็ได้ ถ้าอธิบายจากมุมของผม เส้นแบ่งเวลาคือปี 2518 เป็นปีที่ทหารอเมริกันถอนกลับออกจากประเทศไทยไปหมดแล้ว วิชาที่ผมเรียนชื่อการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหัวข้อนี้วิชาถอดมาจากหลักสูตรของมหาวิทยาลัยในอเมริกาเลย แล้วในการเรียนเราเรียนเรื่องทหารกับการเมืองอยู่หัวข้อหนึ่ง ถามว่าใช้ตำราใครพวกเราหลายท่านก็คงหัวเราะ เพราะใช้งานของ Samuel Huntington ในหนังสือที่ชื่อว่า Political Order in Changing Societies 1968 ในสมัยเรียนเราอินด้วยไหม  ก็คงเห็นเวลาปี ค.ศ.1968 คนรุ่นผมไม่อินกับตำราอเมริกันแน่ๆ เนื่องจากช่วง 2518 เป็นช่วงของการเคลื่อนไหวของเหล่านิสิตนักศึกษา

สุรชาติ กล่าวว่างานศึกษาชิ้นต้นๆที่ศึกษาเกี่ยวกับทหารกับการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่างานของ Samuel Huntington เหมือนกัน The Soldier and the State 1957 เสียดายว่าถ้าเราอยู่ด้วยกันผมอยากจะโชว์หนังสือพวกนี้ เพราะมันเป็นตัวอย่างของหนังสือคลาสสิคที่ปัจจุบันถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำใหม่พองานของ  Huntington  ออกมาทำให้เกิดการดีเบตที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องเกี่ยวกับทหารอาชีพ ทหารมีฐานะเป็นทหารอาชีพ แต่หนังสือเล่มนี้ถ้าใครคุ้นจะเห็นข้อดีเบตหลายเรื่อง หรือบางคนล้อเล่นว่า  เราเรียนเกี่ยวกับทหารกับการเมือง คนที่สร้างปัญหาให้กับพวกเราคือ Huntington  เพราะงาน 1957 มันวาง Foundation ของการศึกษาในทางรัฐศาสตร์  หลังจากงาน Huntington ออกมาผมว่าเราเห็นงานของ Janowitz Marx บ้านเราไม่ค่อยคุ้นเพราะไม่ค่อยใช้ เรื่อง the proportion of soldier แต่ผมคิดว่างานที่น่าสนใจคืองาน 1962 ที่เป็นงานรวมเล่มเรื่องทหารกับการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา เราควรต้องอ่านถึงจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ความน่าสนใจคือ มันเห็นกลุ่มนักคิดที่เราเรียกว่า area studies ไม่ว่าจะเป็น เอเชียแอฟริกา ในตะวันออกกลาง เหมือนกับเปิดเวทีแล้วถกเรื่องทหาร หนึ่งในงานเล่มใหญ่คืองานของ Lucian Pye ที่เริ่มพูดถึงเรื่องของทหารในอีกมุมหนึ่งซึ่งคนรุ่นหลังอาจจะคิดว่ามันไม่ถูก ก็คือชุดความคิดนี้ถูกสร้างบนกรอบของทฤษฎีที่เราเรียกว่า modernization theory พวกเขาเชื่อว่าทหารเป็น modernizer กล่าวคือ กองทัพเป็นจุดของการเชื่อมต่อที่สำคัญที่สุดของสังคมที่ล้าหลังหรือสังคมด้อยพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว”

การเชื่อมต่อระหว่างประเทศโลกที่สามกับประเทศที่พัฒนาแล้ว กองทัพเป็น element ในสังคมที่รับชุดความคิดที่ modern ที่สุด เขาอธิบายว่ากองทัพเป็น part ที่ modern ที่สุดในสังคมที่เป็น Traditional  หรือสังคมแบบดั้งเดิม กล่าวคือ กองทัพเป็นองค์ประกอบที่ทันสมัยที่สุดในสังคมประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนา กองทัพจะพาสังคม transit หรือเปลี่ยนผ่านออกจากความเป็นสังคมแบบดั้งเดิมที่ด้อยพัฒนาไปสู่ความเป็น modern society หลายคนบอกว่านักวิชาการรัฐศาสตร์สายนี้ค่อนข้างโลกสวยมาก ก็ต้องยอมรับในชุดวิธีคิดในขณะนั้น เนื่องจาก หลังการได้รับเอกราชกองทัพเข้ามามีบทบาทในเชิงบวกในหลายประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ทฤษฎีชุดนี้มันวางรากฐานใหญ่ก็คือ สร้าง concept เรื่องนายทหารนักพัฒนา ทหารเป็น modernizer แต่พอปลายทศวรรษที่ 1960 เริ่มเห็นยุคพลิกผันสำหรับคนเรียนทหาร ถ้าให้ผมเป็นคนกำหนดเส้นแบกเวลาแล้วผมคิดว่ามันคือประมาณ 1964 ก็คือการรัฐประหารที่เริ่มเกิดและเป็นรัฐประหารชุดใหญ่ๆในลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารในบราซิล ในเปรู แล้วก็นำไปสู่ชุดความคิดใหม่ๆ เริ่มเห็นวิธีอธิบายของทหารถึงเหตุผลของการเข้าสู่การเมือง ขณะเดียวกัน เราเริ่มเห็นรัฐประหารที่ค่อนข้างสร้างระบอบทหารให้อยู่ได้ อาทิ แอฟริกา แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง จนถึงทศวรรษที่ 1970 มันเริ่มมีคำถามว่า “สิ่งที่ทฤษฎีอธิบายว่าทหารเป็น modernizer มันเป็นจริงไหม” มีงานศึกษาเริ่มตอบโต้ว่าทหารกลายเป็น anti modernization  ซึ่งค่อนข้างน่าสนใจ หรือถ้าเราจะใช้ภาษาในวิชาการ มันเกิดดีเบตใหญ่ในหมู่นักรัฐศาสตร์ พวกผมที่ทำเรื่องทหารแล้วมันเกิดเหมือนกับสอง  paradigm ที่ปะทะทางความคิด ซึ่งด้านหนึ่งก็ถูกอธิบายจากปรากฏการณ์ที่เป็นจริง คำถามคือ “ตกลงแล้วทหารยังเป็นคนที่จะพาสังคมไปสู่สังคมสมัยใหม่จริงไหม” หลายชุดคำอธิบายก็เหมือนจะตอบตรงกันว่าไม่จริง

การที่ทหารเข้ามามีบทบาทมาก ผมชี้ให้เห็นถึงภาษาทางประวัติศาสตร์ มี Concept เรื่อง militarism ซึ่งเป็นดีเบตใหญ่ในประวัติศาสตร์ยุโรป สำหรับคนที่สนใจเรื่องทหาร ดีเบตชุดนี้มาตั้งแต่ประมาณต้นคริสศตวรรษที่ 1700  ทั้งในสังคมฝรั่งเศสและสังคมอังกฤษ สิ่งที่น่าสนใจในดีเบตนี้คือ เขามองว่าทหารเป็นศัตรูของสังคมเสรีนิยม การสร้างสังคมเสรีต้องคุมกองทัพให้อยู่ แต่การดีเบตชุดนี้มันนำไปสู่ผลพวงทางความคิดในข้อถกเถียงในยุโรป ซึ่งเราจะนึกไม่ถึงว่าในศตวรรษที่18-19 มันเป็นข้อถกเถียงใหญ่ 

นักคิดบางส่วนบอกว่าดีเบตชุดนี้ต้องมองอีกมุมหนึ่งว่ามันไม่ต้องไปยุ่งกับรัฐศาสตร์มาก แต่คำตอบอยู่ที่เศรษฐศาสตร์ ซึ่งมุมนี้เชื่อว่าประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง ทหารน้อยลงไปเองเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ความคิดสายนี้อธิบายว่าโจทย์ใหญ่ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญแต่โจทย์ใหญ่ของทหารกับการเมืองอยู่ที่ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ต้องย้ำนะครับคำอธิบายนี้อธิบายในทศวรรษที่ 1800 มิได้พูดในบริบทของปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม keywords มันคือการควบคุมทหาร หรือพูดง่าย ๆ ผมคิดว่าผมตีความประวัติศาสตร์ ผมคิดว่ามันสร้าง Concept ใหญ่ที่สุดก็คือ civilian control โดยเชื่อว่าถ้าต้องสร้าง free society ยุคนั้นไม่ได้ใช้คำว่า liberal society ทหารจะเป็นอุปสรรค์ เพราะฉะนั้นต้องสร้างชุดความคิดของการควบคุม 

บทบาทของทหารกับการเมืองไทย

กลับมาที่คำถามที่ว่า “แล้วในไทยล่ะ” ผมคิดว่าในประเทศไทยเป็นพัฒนาการที่เราเห็นความต่อเนื่อง ผมคิดว่าบทบาททหารกับการเมืองไทยไม่ได้เริ่มที่ 2475  แต่เริ่มที่ ร.ศ. 130 กล่าวคือ ร.ศ 130 ซึ่งเห็นความไม่ต่อเนื่องกัน ซึ่งผมคิดว่ามันจบที่ 2490 ตัวละคร 2475 ที่เหลือ 2490 ผมคิดว่าก็ไม่ค่อยสำคัญยกเว้นตัวละครสำคัญ 2 คนคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับหลวงกาจสงคราม นอกจากนั้นผมคิดว่าแทบไม่มีนัยยะสำคัญแล้ว แล้วก็มิได้มีอิทธิพลมากมาย แต่หลังรัฐประหาร 2490 ผมว่ามันเปิดโจทย์ของทหารกับการเมืองชุดใหญ่ ส่วนนี้ผมคิดว่าเราเห็นบทบาททหารต่อเนื่องกัน จนมีสภาวะเดียวกันกับประเทศโลกที่ 3 อย่างที่ผมเปิดประเด็นว่าเราเห็นรัฐประหารในแอฟริกาเหนือ เห็นรัฐประหารในตะวันออกกลาง เป็นรัฐประหารในลาตินอเมริกา แล้วในเอเชีย ไทยก็เป็นหนึ่งในตัวแบบ ในช่วงงานของ samuel finer ที่ออกในปี 1962 แล้วก็เขียนโยงว่าพอถึงประมาณปี 1957 58 59 ไล่เรียงมา Samuel Finer ใช้ว่ามันเป็น The Golden Years of The Generals คือปีทองของบรรดานายพล จนถึงปี 1962 งานชิ้นใหญ่ที่ออกคือ The Man on Horseback หรือพูดง่ายๆ คืออัศวินม้าขาว แต่เอาเข้าจริงๆ เรากลับพบว่าม้าก็ไม่ขาวอัศวินก็ไม่ขาวแบบที่สังคมคาดหวัง

จอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหารในเวลาใกล้เคียงกับรัฐประหารครั้งใหญ่ในพม่า การรัฐประหารในเวียดนามใต้ การรัฐประหารในอินโดนีเซีย จนเสมือนหนึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาครัฐประหาร พอเข้าทศวรรษที่ 1960 ลาตินอเมริกาที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขรัฐประหารยกเว้นแต่อธิบายว่าเงื่อนไขรัฐประหารในลาตินอเมริกาเป็น Counter Reaction กับการปฏิวัติหรือความสำเร็จของ Cuban Revolution แต่ว่า Cuban Revolution 1957 มันสร้างโจทย์ต่ออีกชุดหนึ่ง คือความกลัวของชนชั้นกลาง ความกลัวของกลุ่มคนที่มีอำนาจและความกลัวของกลุ่มทุนในลาตินอเมริกา

ฉะนั้น ในประเทศไทยก็มีอาการคล้ายกันอยู่ กองทัพกับสังคมไทยผมว่ามันผูกกัน แต่พอเป็นอย่างนี้เราก็มีความหวัง ผมคิดว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มันไม่ได้ปิดยุคทหารเสียทีเดียว แต่มันปิดยุคของกลุ่มทหาร 2490 หลายคนตกใจหากย้อนกลับไปดูเอกสารในยุคนั้นว่ารัฐบาลทหารที่มีอำนาจอย่างยาวนานในสังคมไทยถูกล้ม แต่พอสามปีถัดมาเขาก็ล้มขบวนนักศึกษาเหมือนกัน แต่หลังจากนั้นเราก็เห็นทหารเริ่มปรับตัว อันที่จริงความน่าสนใจของผมคือทหารสมัยก่อนปรับตัวเป็นมาก หากมองเปรียบเทียบจากเหตุการณ์ยุคหลังปี พ.ศ.2519 พอเข้าปี พ.ศ.2520 มีการรัฐประหารถึง 3 ครั้ง รัฐประหารในเดือนมีนาคม ซึ่งก็คือเหตุการณ์ที่เราเรียกกันว่ากบฏฉลาด รัฐประหารในเดือนมิถุนายนที่ไม่ปกติ และรัฐประหารวันที่ 20 ตุลาคม ทั้งสามเหตุการณ์นี้มีความน่าสนใจคือ รัฐประหารชุดนี้มีความพยายามที่จะปรับระบบการเมืองไทย และพยายามยุติสงครามคอมมิวนิสต์ บทบาททหารในการเมืองไทยมันมีเรื่องของสงครามคอมมิวนิสต์ คำถามคือ “ถ้าสงครามคอมมิวนิสต์จบบทบาทของทหารจะจบไปด้วยไหม” วันนี้ถ้าผมถามหลายท่านมันอาจจะไม่ค่อยรู้สึกแล้ว 

สงครามคอมมิวนิสต์มีอายุ10 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา สงครามจบในปี 2525 – 2526 หมายความว่า 1 ทศวรรษหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 หลังจากสงครามคอมมิวนิสต์จบ มันรับกับสถานการณ์ใหญ่ในการเมืองโลกที่เคลื่อนไปอีกมิติหนึ่ง พอเป็นอย่างนี้เราก็จะเริ่มเห็นสงครามคอมมิวนิสต์ทั้งหมดหรือสงครามเย็นมันไปจบที่ปี พ.ศ.2534 ท่านรู้สึกไหมครับว่าเรามีรัฐประหารอีก 1 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 แต่รัฐประหารชุดนี้ไปจบที่ปีพ.ศ.2535 ทหารกับการเมืองที่มีบทบาทตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 จนถึง กุมพาพันธ์ พ.ศ.2535 ถ้าผมใช้ภาษาอย่างที่นักรัฐศาสตร์ชอบใช้ กล่าวคือ เราเห็นฤดูใบไม้ผลิในการเมืองไทยในปีพ.ศ.2516 เราเห็นฤดูใบไม้ผลิในการเมืองไทยอีกครั้งในปี พ.ศ2535 ก็เป็นความหวัง เราเริ่มมีคำถามตกลงมันจะจบไหม พอถึงปีพ.ศ.2549 มันก็กลับมาอีกครั้งและ ปีพ.ศ.2557 ก็มาอีกครั้งหนึ่ง

การรัฐประหารและการปรับตัวของทหารในโลกปัจจุบัน

สองปีที่ผ่านมามีการรัฐประหาร 8 ประเทศในแอฟริกา รัฐประหารในประเทศในเจอร์ รัฐประหารในประเทศกาบองก็ผูกโยงกับเงื่อนไขในการเมืองโลกอีกแบบหนึ่ง แล้วเรามีทางหลุดออกจากเงื่อนไขรัฐประหารได้ไหม? 

คำถามชุดนี้เป็นคำถามที่อยู่กับงานวิชาการผมทั้งชีวิต ตอนผมกลับไปเรียนปริญญาเอกผมยอมรับว่าผมอยู่ภายใต้ชุดความคิดในกรอบวิชาที่เรียกว่า Transitology หรือ เปลี่ยนผ่านวิทยา ใครที่พบเห็นบทสัมภาษณ์ผม ข้อเขียนผม ผมยังใช้คำว่า Political Transition หรือการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง อาทิ หากเชื่อว่าเรานำทหารออกจากการเมืองได้แล้วสังคมประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นได้ โดยกรอบของเปลี่ยนผ่านวิทยามีนัยยะว่าเราจะเห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Democratic Consolidation หรือการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การต่อสู้ทางการเมืองทั้งหมดมันจะถูกผลักให้อยู่ในกรอบเดียวกันคือประชาธิปไตยจะเป็นกติกาของการแข่งขันทางการเมือง ถ้าถึงจุดนั้นกองทัพกับการรัฐประหารจะไม่ใช่โจทย์ แต่ปัญหาก็คือพอเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มีตัวแบบที่สำคัญอย่าง ประเทศอย่างในรัสเซีย ประเทศตุรกี ประเทศกัมพูชา มีการเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้น แต่มันไม่เดินไปสู่จุดหมายปบายทางที่เป็น Democratic Consolidation มันหยุดครึ่งๆกลางๆ ที่ค่อนไปในทางอำนาจนิยม เผด็จการ และกลายเป็นระบอบเผด็จการครึ่งใบ หยุดค่อนไปทางประชาธิปไตยมันก็เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ เหมือนกับสิ่งที่เราเรียกว่า Hybrid Regime สังเกตว่า หลังการเลือกตั้งของประเทศไทยในปีพ.ศ. 2562 การเมืองไทยผมคิดว่ามันคือ Hybrid Regime เหมือนกับปรากฏการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2512 รัฐบาลจอมพลถนอม เพราะรัฐบาลทหารยอม transit ออกจากระบอบทหาร แต่คุมการเมืองก็ไม่สามารถพาเดินไปสู่จุดหมายปลายทาง คำถามคือในประเทศไทยหลังการเลือกตั้งปีพ.ศ. 2566 ถ้าการเมืองยังเดินไปเรื่อยๆ ไม่มีการรัฐประหารสะดุด ผมคิดว่ากระบวนการสร้างประชาธิปไตยหรือ Democratization จะเกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดขึ้น ข้อสังเกตผมคือจะไม่ใช่ข้อถกเถียงว่าพรรคไหนเป็นประชาธิปไตยหรือพรรคไหนไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไจยจะเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายแม้กระทั่งพรรคอนุรักษ์นิยม ประชาธิปไตยไม่ได้ปฏิเสธ 2 เรื่องนะครับ ย้ำ Modern Democracy ไม่ได้ปฏิเสธการดำรงอยู่ของกองทัพ เพราะกองทัพจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐในนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง เพราะฉะนั้นถ้าตอบด้วยความฝันว่าถ้าเราประสบความสำเร็จในการสร้างประชาธิปไตยทหารทำอะไร ทหารจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐ แต่ถ้าไม่สำเร็จเราก็จะเห็นอย่างที่โจทย์ที่เคยเกิดขึ้นไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เคยเกิดขึ้นทั่วโลกคือทหารกลายเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างสังคมเสรี

อีกส่วนหนึ่ง ถ้าประชาธิปไตย Modern Democracy เปิดรับแม้กระทั่งฝ่ายที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตย อาทิ พรรคอนุรักษ์นิยม ผมคิดว่าระบอบประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกต้องการให้มีพรรคอนุรักษ์นิยม เพื่อให้เกิดการคานทางความคิดในสังคม เพื่อไม่ให้พรรคบางพรรคสวิงไปสุด ในขณะเดียวกัน พรรคอนุรักษ์นิยมก็จะต้องไม่สวิงสุดไปเป็นเช่นปัจจุบันเรามีภาษาที่เกิดในวงวิชาการและในวงสื่อตะวันตกมาอีกคำหนึ่ง และเป็นคำที่รัฐศาสตร์ไทยผมคิดว่ายังไม่หยิบขึ้นมาคือ Right Wing Populism เราเห็นตัวแบบของทรัมป์ เราเห็นตัวแบบของพรรคปีกขวาในยุโรป อาทิ Alternative für Deutschland (AfD) หรือพรรค National Front ของ Marine Le Pen ในฝรั่งเศส ซึ่งถ้าวันนี้เราเปิดดูการเมืองยุโรปความน่าสนใจคือพรรคปีกขวาก็เล่นอยู่ภายใต้กรอบของระบอบประชาธิปไตยของรัฐยุโรป ผมคิดว่าถ้าสมมติรัฐประหารไม่พาการเมืองไทยสุดในอนาคต ผมคิดว่าการเมืองจะไม่แบ่งเป็นสองซีก เราอาจจะต้องยุติชุดความคิดที่เห็นการเมืองเป็นสองซีกคือประชาธิปไตยกับเผด็จการ หรือเราเชื่อว่าประชาธิปไตยแบบไทยจะเป็นสองซีกภายใต้ชุดความคิดแบบอเมริกันคือ Democrat – Republican ผมว่าไม่ใช่ และก็ไม่ใช่ Labour – Conservative แบบอังกฤษ ผมคิดว่าเราอยู่ภายใต้ระบบรัฐสภาแบบหลายพรรค Multi-Party System

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องคิดต่อในทางรัฐศาสตร์คือการออกแบบพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ข้อเสนอผมคือการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยในอนาคตจะมี 4 พื้นที่ ซ้ายสุด ซ้ายกลาง ขวาสุด และขวากลาง ส่วนพรรคไหนจะอยู่ตรงไหนในอนาคต ตัวนโยบายของแต่ละพรรคจะจัดตัวเขาเอง

ในระบอบประชาธิปไตยที่ผมนำเสนอว่าถ้าเราสามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การมีประชาธิปไตยเป็นกติกาของการแข่งขันเดียวในการเมืองไทย สิ่งที่จะเป็นโจทย์ใหญ่ เป็นภาษารัฐศาสตร์ซึ่งปัจจุบันผมเชื่อว่าไม่ค่อยมีการหยิบยกขึ้นมาถกคือการจัดความสัมพันธ์พลเรือนกับทหาร Civil-Military Relations คำนี้ไม่ได้เกิดในงาน Huntington 1957 แต่มันถกในยุโรปตั้งแต่ยุคเก่าเพียงแต่ภาษาที่ใช้อาจจะไม่ใช่คำนี้โดยตรง แต่หลัง ค.ศ.1957 คำนี้เป็นหนึ่งใน keywords ที่ใช้คำว่า Civil-Military Relations ผมขออนุญาตเติมคำนำหน้าเข้าไปตัวหนึ่ง Democratic Civil-Military Relations มันคือการจัดความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่เป็นประชาธิปไตย แปลว่าวันนี้อาจจะต้องคิดในบริบทของการเมืองไทยว่า ถ้าต้องคิดถึงความสัมพนธ์พลเรือน-ทหารในกรอบที่จะสร้างประชาธิปไตยจะจัดอย่างไร ผมคิดว่าโจทย์อันนี้เป็นทั้งโจทย์ทฤษฎีและโจทย์ปฏิบัติ แล้วสำคัญที่สุดผมเข้าใจว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ มันไม่มีคำตอบที่เป็นคำตอบชุดเดียว แต่เป็นคำตอบที่ต้องค้นหา ด้านหนึ่งคือการปฏิรูปกองทัพ แต่มิได้บอกว่าการปฏิรูปกองทัพเป็น Keywords ทั้งหมด เพราะมันมีการปฏิรูป 2 part 1.การปฏิรูปกองทัพในมิติทางการทหาร และ 2.การปฏิรูปกองทัพในมิติทางการเมืองซึ่งอาจจะต้องคิดต่อ แต่นัยยะใหญ่คือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีรัฐมนตรีกลาโหมกับกองทัพจะจัดกันอย่างไร ผมคิดว่าตัวแบบในลาตินอเมริกาหลัง Political Transition ที่เราเห็นหลังวิกฤตหนี้ใหญ่ในลาตินอเมริกาในทศวรรษที่ 1980 ก็อาจจะเป็นบทเรียน ตัวแบบของการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลในสเปนหลังการสิ้นสุดของระบอบฟรังโกก็อาจจะเป็นแบบที่สำคัญ 

สุดท้าย การศึกษาเรื่องทหารกับการเมืองไทย ผมคิดว่ามันกำลังแบ่งเป็น 3 ยุค ผมอยากจะขออนุญาตนิดหนึ่งเพื่อเอ่ยถึงบรรดาครูบาอาจารย์ที่ทำงานพวกนี้มาก่อน ผมคิดว่ายุคแรกปฏิเสธไม่ได้ เป็นยุคที่นักเรียนไทยได้รับการศึกษาจากอเมริกันเดินทางกลับหลังจากจบปรัญญาโท ปริญญาเอก คนเหล่านี้เริ่มเอาชุดความคิดที่เรียนในสหรัฐเข้ามา แล้วหนึ่งในนั้นในสาขารัฐศาสตร์คือชุดความคิดของการศึกษาเรื่องการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาแล้วก็มีทหารเป็นตัวแสดงหลัก อาจารย์กลุ่มนี้ขออนุญาตเอ่ยชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์สุจิต บุญบงการ อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร ผมคิดว่านี่เป็น 1st Generation ของคนที่ทำเรื่องทหารกับการเมือง ยุคที่ 2 ผมคิดว่าเราไม่ค่อยคุ้นแต่มีงานอยู่พอสมควร แล้วก็อาจจะมีบางส่วนแทรกเข้ามามีงานแต่ไม่เป็นทหารกับการเมืองโดยตรง เช่น งานของอาจารย์สุขุมพันธ์ ถ้าถามผม ผมเป็นยุคที่ 2 ยุคที่ 3 เป็นแต่เพียงถ้าสังเกตคนที่ทำงานใน gen 1 gen 2 ทั้งหลายของวงวิชาการไทยเรื่องทหารกับการเมืองอยู่ภาคปกครองหมดเลย ผมเนี่ยความประหลาดผมไม่ได้อยู่ภาคปกครองแต่ผมเป็นนักเรียนที่จบภาคปกครองจริง ในงานผมมีทั้ง part ที่เป็นทหารกับการเมืองและ part ที่เป็นเรื่องยุทธศาสตร์ทหาร เรื่องนักต่างประเทศ ผมคิดว่าในอนาคตมันคงมีงาน gen 4

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีกฎหมายห้ามให้ทหารยุ่งกับการเมือง ?

คำเหล่าแบบนี้มีคนถามเยอะ แต่หากตอบในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหากมีการทำรัฐประหารพอทำเสร็จก็สามารถ นิรโทษกรรม เฉพาะนั้นไม่สามารถตอบบนพื้นฐานเฉพาะหน้าไม่ได้

ทรัพยากรที่ทหารถือนั้นเหมือนกับเป็น Back Up ให้กับทหารยุ่งกับการเมือง หรืออีกมุมนึงนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ ในเมื่อประเทศโลกที่ 3 นั้น Political Culture นั้นมีความอ่อนแอ ในความอ่อนแอของวัฒนธรรมทางการเมืองนั้นทำให้ตัวสถาบันทางการเมืองของภาคพลเรือนและหลายภาคส่วนก็อ่อนด้วย การห้ามทหารยุ่งกับการเมืองเอาเข้าจริงแล้ว ไม่สามารถอ้างได้ แต่ในทางกลับกัน โจทย์ใหญ่คือเราจะคุมทหารให้อยู่ในระบบที่เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร ? คำถามนั้นกลับมาสู่สังคมหรือภาคประชาสังคม (Civil Society) เป็นไปได้หรือไม่ว่า เราจะสร้างภาคประชาสังคมให้เข็มแข็ง เงื่อนไขในทางรัฐศาสตร์นั้นตอบชัดอีกอย่างหนึ่งคือ การทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratization) ไม่สามารถเดินต่อได้ หากภาคประชาสังคมไม่แข็งแรง และอ่อนแอไปในตัวทำให้ผลลัพธ์ที่มีผลรวมเป็นศูนย์ กล่าวคือ อีกฝั่งหนึ่งอ่อนแอกองทัพก็จะเข็มแข็งไปโดยปริยาย คำถามชุดนี้จะตอบในมุมกว้างว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างอำนาจของภาคประชาสังคม และจัดความสำคัญของพลเรือน ทหาร ให้ลงตัวหรือทำให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น และรัฐบาลผลักดันทั้ง 3 ประเด็นในเกิดขึ้นจริง

Dr.Paul Chambers คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ชม Live เสวนา “ทหารกับการเมืองไทย” https://www.facebook.com/lanner2022/videos/991260055479398

อ่าน ทหารมีไว้ทำไม | นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ที่ https://www.matichonweekly.com/column/article_552528

เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง