‘เล่งเน่ยยี่’ วัดจีนเชียงใหม่? ความเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนไม่พร้อมรับ พหุวัฒนธรรมหรือภาระท้องถิ่น?

เมื่อไม่นานมานี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่มีความพยายามในการสร้างวัดจีนอย่างวัด ‘เล่งเน่ยยี่’ โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จังหวัดเชียงใหม่ สมาคมนักธุรกิจไทยจีนเชียงใหม่ มูลนิธิสามัคคีการกุศลและคณะกรรมการบริหารสมาคม/ชมรม/มูลนิธิ องค์กรชาวไทยเชื้อสายจีนจ.เชียงใหม่ จำนวน 17 องค์กรบนที่ดิน 116 ไร่ บริเวณถนนวงแหวนรอบที่ 3 ต.สันผีเสื้อ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นของอบจ.เอง มีวัตถุประสงค์เพื่อจรรโลงส่งเสริมพระพุทธศาสนา ส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า​ และส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประชาชนชาวเชียงใหม่

โครงการก่อสร้างดังกล่าวผ่านการประชุมและเปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วหลายครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และแม้จะยืนยันเจตนาที่ดีในการสร้างวัดจีนดังกล่าว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็ยังคงคัดค้า อย่างในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมาที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณ ต.สันผีเสื้อ รวมตัวชูป้ายคัดค้านโครงการ และรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้านเพิ่มเติม เพื่อยื่นต่อเทศบาลตำบลสันผีเสื้อ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลพื้นที่ดังกล่าวด้วย

นี่อาจจะเป็นเรื่องใหม่ ที่ความพยายามของวัฒนธรรมอื่นและหน่วยงานรัฐที่เห็นด้วยจะเข้ามามีบทบาทหรือผลกระทบต่อคนในพื้นที่ แต่วัดเล่งเน่ยยี่ไม่ใช่ชื่อใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของพหุวัฒนธรรมที่จะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่อย่างไม่เต็มใจมากนัก 

วัดเล่งเน่ยยี่ : The Origin แลนด์มาร์คแห่งพหุวัฒนธรรม

ชื่อ ‘เล่งเน่ยยี่’ ไม่ใช่ชื่อที่ถูกตั้งขึ้นใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นวัดที่มีอยู่ และใช้ชื่อเดียวกัน ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ภายในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จ.กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งคือ ‘วัดมังกรกมลาวาส’ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ซึ่งชื่อของวัดนั้นมาจากคำ 3 คำ ได้แก่ คำว่า “เล่ง” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า มังกร, คำว่า “เน่ย” แปลว่า ดอกบัว และ “ยี่” แปลว่า วัด หรือรวมคำแปลที่หลายคนมักคุ้นหูว่า “วัดมังกร” ส่วนชื่อทางการของวัดซึ่งเป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือ “วัดมังกรกมลาวาส”


วัดเล่งเน่ยยี่ (วัดมังกรกมลาวาส) https://mgronline.com/travel/detail/9630000033128

นอกจากนั้นยังมีวัด ‘เล่งเน่ยยี่ 2’ หรือ ‘วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์’ ซึ่งเป็นวัดจีนในสังกัดคณะสงฆ์จีนเดียวกัน โดยตั้งอยู่ใน ต.โสนลอย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในพ.ศ.2539


วัดเล่งเน่ยยี่ 2 (วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์) https://www.wongnai.com/reviews/b69d13ac7d0e418a9c343b7a5121df3b

วัดเล่งเน่ยยี่ทั้ง 2 สาขาเรียกได้ว่าเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญในแง่ของสังคมพหุวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นศาสนสถานจากวัฒนธรรมจีนที่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะวัดเล่งเน่ยยี่แห่งแรก ที่พื้นที่โดยรอบค่อยๆ แปรสภาพจนกลายเป็นสังคมที่รวบรวมคนไทยเชื้อสายจีนเอาไว้จนกลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมจีนที่โดดเด่นอยู่ในเมืองหลวงของประเทศไทย รวมถึงยังเป็นแลนด์มาร์กทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีด้วย โดยเฉพาะในกรณีของวัดเล่งเน่ยยี่สาขา ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเขตเยาวราช ก็ช่วยให้พื้นที่ดังกล่าวมีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นภาพจำของไชน่าทาวน์เมืองไทยไปในที่สุด โดยในปัจจุบันก็ยังคงเป็นศาสนสถานหลักที่ชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งในและนอกพื้นที่มักจะมุ่งหน้าไปประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆ ตามความเชื่อ 

เปิดไทม์ไลน์ที่ดินอบจ.เชียงใหม่ก่อนเกือบจะเป็นเล่งเน่ยยี่ ผ่านอะไรมาแล้วบ้าง?

อันที่จริงแล้วพื้นที่ที่จะถูกใช้ในโครงการก่อสร้างวันเล่งเน่ยยี่ พบว่าถูกซื้อไว้โดยอบจ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ในสมัยของ บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ.2561-2563) โดยมีแผนใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างสำนักงานอบจ.เชียงใหม่ ก่อนโครงการจะถูกพับไป กลายเป็นแผนการสร้างสนามกีฬา แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าเป็นชื้นเป็นอันแต่อย่างใด

สืบเนื่องมาถึงในปัจจุบัน ที่ทางอบจ.เชียงใหม่ในวาระของ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ตัดสินใจมอบที่ดินบางส่วนเพื่อเป็นพื้นที่ในการสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ตามที่เข้าใจ โดยใช้ทุนของทางวัด รวมไปถึงการช่วยเหลือของกลุ่มสมาคมคนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดเชียงใหม่


ภาพ: คนล้านนา

โครงการสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ ถูกยกขึ้นมาเสนอต่อฝ่ายปกครองท้องถิ่นต.สันผีเสื้อตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีนายก อบจ. รองนายก อบจ. สจ.ประจำเขต และนายอำเภอเป็นผู้ชี้แจงโครงการ แต่ทางเทศบาลต.สันผีเสื้อเผยภายหลังว่าไม่ทราบข้อมูลใดๆ ตามที่อบจ.เชียงใหม่กล่าวเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม ด้านอบจ.เชียงใหม่ก็ได้จัดการประชุมรอบที่ 2 โดยเชิญเทศบาลตำบลสันผีเสื้อ, ฝ่ายปกครองท้องถิ่น และอสม.สันผีเสื้อไปร่วม โดยถามผู้เข้าร่วมว่าจะให้ไปต่อหรือให้หยุดโครงการไว้แค่นี้ แต่ถึงอย่างนั้น จากการประชุมทั้ง 2 รอบ ก็ยังไม่ได้มีการทำประชามติของตำบลสันผีเสื้อและผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่โครงการก่อสร้างแต่อย่างใด

เชียงใหม่กับการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมจีน ไชน่าทาวน์แห่งใหม่ของไทย?

ในปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นหมุดหมายที่โดดเด่นที่หนึ่งในสายตาของทั้งนักท่องเที่ยว และนักลงทุนจากจีนนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 เป็นต้นมา จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2553 มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวเชียงใหม่เพียง 40,000 คนเท่านั้น แต่ในปีพ.ศ. 2556 กลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 144,213 คน อีกทั้งเมื่อพิจารณาภาพรวมในช่วงปีพ.ศ. 2555 – 2557 พบว่ามีนักทองเที่ยวจีนเดินทางมาเชียงใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีละไม่ต่ำกว่า 150,000 คน

และแม้ว่าช่วงโควิดที่ผ่านมาจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนลดลง แต่จากนโยบายการท่องเที่ยวของจีนหลังการเปิดประเทศเมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมาก็ทำให้ท่าทีเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในไทยกลับมาตื่นตัวอีกครั้ง เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากจีนถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญสำหรับไทย ไม่เว้นแม้แต่ในจังหวัดเชียงใหม่เองก็เช่นกัน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า ตรุษจีน 2566 นักท่องเที่ยวจีน เดินทางเข้าไทย 29,400 คน คิดเป็นการฟื้นตัว 7% ของจํานวนนักท่องเที่ยวจีนช่วงตรุษจีนปี 2562 และสร้างรายได้ประมาณ 1,013 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีนปี 2562 

แม้จะเป็นจำนวนที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว เชียงใหม่เองที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทยจึงอาจจะหวังให้วัดเล่งเน่ยยี่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนจุดใหม่ในจังหวัด

ผนวกกับการที่จีนผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ภายในประเทศไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการคาดการณ์ไว้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนอาจจะขยายตัวขึ้นกว่า 3 – 4 เท่าจากปีที่ผ่านมา หรือเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยที่ 11 เดือนแรกของปี 2565 ชาวจีนเที่ยวไทยมีจำนวน 219,421 คน จึงคาดได้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนในเชียงใหม่ในปีนี้และปีถัดๆ ไปก็จะเริ่มกลับมาเฟื่องฟูขึ้น เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวจีนเป็นทุนเดิม

เหริน ยี่เซิง อดีตกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปีพ.ศ.2560 ว่าปัญหานักท่องเที่ยวไม่กระจายตัวในไทย เกิดจากปัญหาโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานของไทย อีกทั้งเชียงใหม่ยังเป็นไม่กี่จังหวัดที่รองรับนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากได้ และเชียงใหม่มีสนามบินที่มีสายการบินทั้ง 3 สายที่เปิดไฟลท์บินตรงไทย – จีน ปัจจัยเหล่านี้เองทำให้จังหวัดเชียงใหม่กลายเป็นหัวข้อการสนทนาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศไทย ถูกเล่าไปปากต่อปากในแผ่นดินใหญ่


เหริน ยี่เซิง https://www.chiangmai365days.com/archives/2305

“เมื่อผมไปเยี่ยมผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่ง ท่านพูดคล้ายกันเลยว่า ทำไมจังหวัดของตนไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา รู้สึกอิจฉาเชียงใหม่ ทำให้ทราบถึงปัญหาว่า นักท่องเที่ยวไม่กระจายตัว ปัจจัยสำคัญที่เราพบคือ ระบบโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานของไทย เช่นการจะไปที่แม่ฮ่องสอน มีเส้นทางภูเขา คดเคี้ยวมาก ต้องใช้เวลานานในการขับรถไป ผิดกับจีนที่เรามีการเจาะอุโมงค์เป็นเส้นทางตรง ทำสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้การเดินทางพร้อมรับนักท่องเที่ยว ก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้นักท่องเที่ยวสนใจ” 

นอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว นักลงทุนชาวจีนจำนวนไม่น้อยก็หลั่งไหลเข้ามาประกอบธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชียงใหม่ชี้ว่า ในปี พ.ศ. 2557 มีผู้ประกอบการจีนเข้ามาทำธุรกิจโดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวนถึง 331 ราย รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่พัก และบริการอาหาร และนี่เป็นจำนวนที่ยังไม่นับรวมกับธุรกิจนอมินีทุนจีนอีกจำนวนมากที่ตรวจสอบได้ยากด้วย นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่น่าเป็นกังวลไม่แพ้ผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับ

ประเด็นธุรกิจนอมินีของนักลงทุนชาวจีน หรือถูกเรียกอย่างดำมืดหน่อยว่า ‘ธุรกิจจีนเทา’ ก็ไม่ใช่ประเด็นใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ แต่มีให้เห็นอยู่เนืองๆ อย่างเช่นเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ตำรวจเชียงใหม่ร่วมกับ บก.ตม. 5 เข้ากวาดล้างกลุ่มทุนจีนที่กว้านซื้อที่ดินสร้างหมู่บ้านจัดสรรโครงการใหญ่ใน อ.สันกำแพงให้คนไทยเป็นนอมินีถือหุ้นแทน เตรียมไว้รองรับนักลงทุนจีนเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในไทย ซึ่งในกระบวนการขยายผลยึดทรัพย์ของคดีนี้ พบว่ามีถึง 3 หมู่บ้านโครงการใหญ่ที่ทำนิติกรรมยาวถึง 30 ปี

จากปัจจัย และข้อมูลนักท่องเที่ยวและนายทุนจีนทั้งหมดนี้ก็ทำให้พอคาดการณ์ได้ว่าการสร้างวัดเล่งเน่ยยี่สาขาเชียงใหม่ จะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจตามที่อบจ.เชียงใหม่วาดฝันไว้ แต่เรื่องกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อการก่อสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ไม่ได้ทำให้ทุกฝ่ายมีความสุข และการทำนุบำรุงพุทธศาสนาก็ไม่อาจทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้องทนเรื่องเผชิญกับความเดือดร้อนต่างๆ ได้

ความเดือดร้อนของท้องถิ่น ราคาที่ประชาชนถูกบังคับให้จ่าย

สืบเนื่องจากการรวมตัวกันของประชาชน ต.สันผีเสื้อ ที่ได้ออกมาถือป้ายคัดค้านโครงการก่อสร้างวัดเล่งเน่ยยี่เชียงใหม่ โดยเชื่อว่าการเข้ามาของวัดจะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อยู่อาศัยบริเวณนี้หลายหมู่บ้านรวมแล้วกว่า 3,000 คน ก็ทำให้เราได้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว โครงการก่อสร้างดังกล่าวถูกอนุมัติโดยที่ประชาชนในบริเวณเดียวกันนั้นไม่ทราบข้อมูลใดๆ เลย มีเพียงแค่การเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเท่านั้นที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการก่อสร้างนี้


ภาพ: คนล้านนา

นายกิตติพงศ์ กล่ำกองกูล ตัวแทนชาวบ้านจากหมู่บ้านเลควิว 2 กล่าวว่าสภาพพื้นที่ของวัดเล่งเนยยี่ที่กรุงเทพมหานครและนนทบุรี เป็นกรณีที่วัดสร้างมาก่อนชุมชน แต่ภายหลังชุมชนขยายตัวเข้าไปล้อมวัด แต่พื้นที่โครงการก่อสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่มีชุมชนอยู่มาก่อน หากภายหลังชาวบ้านเดือดร้อนจะทำอย่างไร เพราะเพียงแค่รัศมี 1 กิโลเมตรรอบพื้นที่ก็มีชาวบ้านอาศัยอยู่กว่า 3,000 คนแล้ว รวมถึงยังมีโรงเรียนในพื้นที่ด้วย อีกทั้งกิจกรรมประจำของวัดคือการทำบุญแก้ปีชงที่จะมีการจุดธูปจุดประทัดกันเป็นประจำแทบทุกวัน ต่างกับวัดเดิมในพื้นที่ที่จะมีการจัดกิจกรรมเฉพาะวันสำคัญทางพุทธศาสนา 

ภาวิต บุญชละ รองนายกเทศมนตรีตำบลสันผีเสื้อ บอกว่า โครงการนี้ทางเทศบาลไม่ทราบเรื่องมาก่อน ทั้งที่มาที่ไป วัตถุประสงค์การจัดสร้าง รวมทั้งการประชาคมที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม ที่ผ่านมา จนกระทั่งได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านแจ้งว่าไม่ทราบเรื่องการทำประชาคมที่มีขึ้นและตกใจกับผลการประชาคมที่เป็นเอกฉันท์ โดยพบว่าคนที่ยกมือเห็นด้วยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และมีตัวแทนชาวบ้านเพียงสองสามคนเท่านั้น ทางเทศบาลได้แจ้งให้ทางอำเภอเมืองทราบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รับทราบและห่วงผลกระทบ ทำให้ อบจ.เชียงใหม่ มีการจัดทำประคมอีกครั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม แต่ก็พบว่าหนังสือเชิญประชุมมาแบบกระชั้นชิด ทางเทศบาลได้รับหนังสือวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันหยุด ทางเทศบาลได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบวันที่ 3 สิงหาคม ทำให้ชาวบ้านไม่ทันได้เตรียมตัวและส่วนใหญ่มาประชุมกันไม่ทัน ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนที่เข้าประชุมได้แจ้งข้อกังวลให้กับทาง อบจ.เชียงใหม่ได้ทราบไปแล้ว

นอกจากความเดือดร้อนที่ประชาชนในพื้นที่อาจได้รับ ยังมีประเด็นที่มาที่ไปของที่ดิน 116 ไร่ที่จะใช้สร้างวัดเล่งเน่ยยี่อีกด้วย โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อบจ.เชียงใหม่ใช้งบจากราชการในการจัดซื้อ ซึ่งมีวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ต้น จึงเกิดความกังวลในฝั่งของประชาชนว่าภาษีของพวกเขา จะถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนแค่บางกลุ่มเท่านั้นหรือไม่

ในส่วนนี้ รองนายกเทศมนตรีตำบลสันผีเสื้อ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าที่ดินผืนดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นที่ดินสาธารณะ แม้จะกังวลและไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่สามารถคัดค้านได้ ที่ทำได้ก็คือทำความเห็นเสนอข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ และ หากเกิดความเดือดร้อนขึ้นมาก็จะต้องดำเนินการตามกฏหมายท้องถิ่นที่มีอยู่ แต่มองว่าการป้องกันก่อนปัญหาจะเกิดขึ้นและการรับฟังเสียงของชาวบ้านเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

โดยสถานการณ์ล่าสุด ทางเทศบาลฯ ได้รับหนังสือลงวันที่ 10 ส.ค. 2566 จากอำเภอเมืองเชียงใหม่ แจ้งอีกครั้งให้จัดประชุมสภาฯ เพื่อขอมติเห็นชอบเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าจนถึงเวลานี้ก็ยังมีข้อมูลไม่เพียงพออยู่ดี โดยมองว่าควรเปิดโอกาส และมีเวลามากกว่านี้ให้ชุมชนและคนในพื้นที่ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงได้แสดงความคิดเห็น, ความต้องการและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงของชุมชนและคนในพื้นที่เป็นสำคัญ ก่อนที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป

นอกจากจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่แล้ว ยังมีความเห็นจากสถาปนิกในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มองว่าการสร้างวัดจีนอาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ลงตัวที่สุดของอบจ.เชียงใหม่ โดย โอบเอื้อ กันธิยะ สถาปนิกชุมชนที่ทำงานออกแบบและขับเคลื่อนประเด็นพื้นที่สาธารณะในเมืองเชียงใหม่ มองว่าการจะสรุปว่าพื้นที่ใดๆ ควรจะเป็นอะไร ต้องวิเคราะห์ปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะในพื้นที่สันผีเสื้อที่รายล้อมไปด้วยเขตที่อยู่อาศัย การใช้พื้นที่ขนาด 116 ไร่ย่อมต้องสร้างผลกระทบแก่ชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการจัดการพื้นที่ของตัวเอง ควรตัดสินใจตามการตอบสนองของประชาชนเพื่อผลประโยชน์แก่ส่วนรวม จึงเกิดเป็นคำถามว่าการสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ในเชียงใหม่นั้น ให้อะไรแก่ประชาชน?

“ถ้าคำตอบคือวัดเล่งเน่ยยี่ถูกสร้างเพื่อการตอบสนองด้านการท่องเที่ยว ก็จะเกิดเป็นคำถามต่อว่าใครจะได้ประโยชน์จากการตอบสนองด้านนี้ คนในพื้นที่ หรือหน่วยงานรัฐ และวิธีที่จะคัดคนให้เข้าไปในพื้นที่คืออะไร? เมื่อเกิดผลประโยชน์ขึ้น ความเป็นพื้นที่สาธารณะมันจึงหายไป ทั้งๆ ที่พื้นที่ควรคงความสาธารณะไว้เพื่อให้ผู้คนทุกคนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้”

อีกทั้งในปัจจุบัน เชียงใหม่ยังคงขาดพื้นที่สาธารณะที่ใช้รองรับวิกฤตการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นควัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้ถูกแก้ไขภายใน 1 หรือ 2 วัน แถมยังเป็นปัญหาตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โอบเอื้อ จึงมองว่าพื้นที่ 116 ไร่นี้มีศักยภาพในการสร้างพื้นที่สาธารณะที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และวัดเล่งเน่ยยี่ก็คงไม่ใช่คำตอบอย่างแน่นอน

โอบเอื้อยังเสนออีกหนึ่งตัวเลือกที่จะช่วยให้การตัดสินใจของอบจ.เชียงใหม่ลงตัวยิ่งขึ้น โดยชี้ว่าในทางสถาปัตยกรรมแล้ว การตัดสินใจสร้างอะไรสักอย่างขึ้นในพื้นที่ สามารถใช้การระดมความคิดจากสถาปนิกหลากหลายคนได้ผ่านการประกวด ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวเลือกให้แก่ประชาชนแล้ว ภาครัฐยังสามารถนำไปประยุกต์หรือพัฒนาต่อได้ตามความเหมาะสมด้วย แถมนี่ก็ไม่ใช่กระบวนการที่ผลานงบประมาณอะไรเลย

“การเปิดรับฟังความเห็นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา แต่มันจะให้คำตอบที่ดีและน่าพอใจ และไม่ต้องใช้งบประมาณเยอะเลย สมมติต้องการทำอะไรสักอย่างกับพื้นที่นี้ ในเชิงสถาปัตย์ก็จะมีการประกวดแบบ ทำให้ประชาชนมีตัวเลือก แถมยังไม่ต้องเป็นตัวเลือกสุดท้ายด้วย รัฐสามารถเอาผลประกวดไปพัฒนาต่อยอดได้อีก”

สุดท้ายแล้ว แม้การสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ในจังหวัดเชียงใหม่จะมีจุดขายชัดเจนว่าเป็นความพยายามในการผลักดันเศรษฐกิจประเทศจากกำลังทรัพย์ของนักท่องเที่ยว และนักลงทุนจากจีน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าศาสนสถานดังกล่าวจะสร้างความเดือดร้อนที่ประชาชนในพื้นที่ไม่พร้อมโอบรับ อีกทั้งยังเป็นการกระทำที่อาจก่อความเสียหายต่อวัฒนธรรมภาคเหนือ ที่มีประวัติศาสตร์คู่กับประเทศและประชาชนมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นราคาที่ประชาชนถูกบังคับให้จ่าย รวมถึงนี่ยังเป็นที่ดินที่มาจากภาษีประชาชนที่ควรจะใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์โดยรวมด้วย อุปสรรคทั้งหมดนี้อาจเป็นสัญญาณที่เด่นชัดแก่อบจ.เชียงใหม่ และผู้เกี่ยวข้อง ว่าควรพิจารณาในการค้นหา หรือสรรสร้างแลนด์มาร์คทางการท่องเที่ยวชิ้นใหม่สำหรับคลื่นความสนใจจากจีนแผ่นดินใหญ่หรือไม่ 


อ้างอิง

  • ชาวบ้านรวมตัวค้าน อบจ.สร้างวัดเล่งเน่ยยี่ เชียงใหม่, https://www.chiangmainews.co.th/news/3044515/
  • นักลงทุนและนักท่องเที่ยวจีนในเชียงใหม่, https://researchcafe.tsri.or.th/china/
  • ประชาคมสร้างวัดเล่าเน่ยยี่(วัดจีน) บนที่ดินอบจ.เชียงใหม่, https://www.chiangmainews.co.th/news/3035345/
  • ประชาคมสร้างวัดเล่งเน่ยยี่ บนที่ดิน​ อบจ.เชียงใหม่, https://www.chiangmainews.co.th/news/3017933/
  • [จีนมองเหนือ] สัมภาษณ์พิเศษ เหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่, https://thecitizen.plus/node/20819

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง