เรื่องและภาพ: พีรดนย์ กตัญญู
เชื่อกันว่าในวัยเด็กของใครหลายๆ คน ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งอาชีพที่เป็นอาชีพในฝัน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหมอที่ดูแลรักษาคนไข้ อาชีพครูที่สอนหนังสือให้กับนักเรียน อาชีพทหารที่ถือปืนป้องกันประเทศ แต่อาชีพในฝันของใครบางคนก็อาจจะเป็นอาชีพที่ใช้ความสามารถพิเศษในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งอาชีพ “นักดนตรี” ก็เป็นหนึ่งในนั้น
อาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานและมีบทบาทต่อทุกชนชั้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นวงดุริยางค์ที่มีบทบาทในการบรรเลงเพลงราชพิธี หรือแม้กระทั่งวงดนตรีท้องถิ่นที่คนท้องที่สามารถหาฟังได้ง่าย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า อาชีพนักดนตรีก็เป็นอาชีพที่คลุกคลีกับผู้คนในสังคมอย่างไม่ขาดสาย
“ดนตรีพวกนี้มันอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดจนตาย ลองคิดดูว่าเกิดมาเราก็ร้องเพลง Happy Birthday โตมาอีกหน่อยมีปัญหาชีวิต เศร้า เราก็ไปฟังเพลงเพื่อชีวิต เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง จนกระทั่งตอนตายก็ยังใช้เพลงธรณีกรรแสง บทเพลงมันจรรโลงมนุษย์ทุกคน และอยู่ในทุกช่วงชีวิตที่มีอยู่” เก่ง – ปาฏิหารย์ ธรรมนุ หรือ “Kalio” หนุ่มนักดนตรีประจำบาร์แจ๊สแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ กล่าวถึงตัวตนของดนตรีที่อยู่ในทุกช่วงของชีวิต
อย่างไรก็ตาม สังคมไทยในอดีตมักมีภาพจำเกี่ยวกับอาชีพนักดนตรีว่าเป็นอาชีพ “เต้นกินรำกิน” ถึงแม้ในปัจจุบันค่านิยมดังกล่าวจะเลือนลางกันไปเกือบหมดแล้ว แต่ในปัจจุบัน ผู้คนที่ประกอบอาชีพนักดนตรีก็ยังได้รับผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะปัญหาค่าแรงรายได้ที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงการถูกทอดทิ้งจากสังคมเมื่อเกิดปัญหากับกลุ่มอาชีพนี้
หนึ่งคืนของคนดนตรี
จุดเริ่มต้นการเป็นนักดนตรีของใครหลายๆ คน มักเริ่มมาจากความรักความหลงไหลในเสียงดนตรี จนนำไปสู่การนำทักษะทางดนตรีที่ตัวเองฝึกฝนไปหารายได้เสริม โดยเฉพาะการหารายได้จากร้านอาหาร ผับ บาร์ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่ผู้คนจะออกมาหาความพักผ่อนหย่อนใจ
“จุดเปลี่ยนที่ทำให้สนใจมาเล่นดนตรีก็ตอนช่วงประมาณปิดเทอมใหญ่ของมหา’ลัย เรากลับไปบ้านเกิดแล้วมันไม่มีอะไรทำ ก็เลยชวนเพื่อนคนหนึ่งมาลองทำเพลงกัน มันก็ไม่ได้ดีหรอก แต่เราก็เริ่มสังเกตตัวเองว่าเวลาเราอยู่กับการทำเพลงแล้วเราอยู่ได้นานและมีความสุข ก็เลยดรอปเรียนไว้ละก็ลาออกมาทำเพลงกับเล่นดนตรี ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง เพราะเราสนใจในด้านดนตรีมากกว่า” เก่งกล่าวถึงจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้ตัวเองเข้าสู่วงการนักดนตรีตั้งแต่วัยเยาว์
“ตอนนั้นคือพี่ชอบดนตรีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าจะเอามันมาเป็นอาชีพ เพราะพี่เองก็เรียนวิศวะ ก็เลยเล่นดนตรีกันกับเพื่อนๆ แค่ในมหาวิทยาลัย แล้วคราวนี้ประมาณปี 2543-2545 เทรนด์ของร้านเหล้ามันเริ่มเฟื่องฟูในประเทศไทย ร้านเหล้าขนาดเล็กๆ มันเกิดขึ้นเยอะ มันก็เลยทำให้นักศึกษาที่ชื่นชอบในดนตรีหาที่เล่นดนตรีได้ พี่กับเพื่อนๆ ก็เลยลองไปเล่นหารายได้นิดๆ หน่อยๆ คราวนี้มันมารู้ตัวอีกที มันก็เล่นมาตลอด” ชา – สุพิชา เทศดรุณ ฟรอนต์แมนวงดนตรี “คณะสุเทพการบันเทิง” กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัวเองได้ทำงานดนตรีมานานกว่ายี่สิบปี
เมื่อรายได้ไม่เพียงพอกับสิ่งที่รัก
อาชีพนักดนตรีนั้นเป็นอาชีพที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าฝึกฝนเล่าเรียน (กรณีเรียนกับครูสอนดนตรี) ค่าอุปกรณ์ราคาหลักร้อยจนไปถึงหลักแสน หรือถ้าใครต้องการซ้อมวงก็อาจจะต้องหารเงินกับเพื่อนๆ ในการเช่าห้องฝึกซ้อม ดังนั้นนอกจากการฝึกฝนทักษะทางดนตรีแล้ว นักดนตรียังต้องหารายได้มาจุนเจือให้ตัวเองได้ทำอาชีพที่ตัวเองรัก
“ค่าตัวก็จะอยู่ที่ประมาณ 400 บาทต่อชั่วโมง เล่นวันละ 3-4 ที่ แล้วก็เล่นทุกวัน อย่างน้อยค่าตัวของนักดนตรีมันก็สูง แต่ในอีกด้านหนึ่งเราเป็นนักดนตรี มันต้องมีการลงทุนเรื่องอุปกรณ์การฟังเพลง อุปกรณ์เครื่องดนตรีต่างๆ ก็ถือว่าใช้เงินเยอะเหมือนกัน” สุพิชากล่าวถึงรายได้ของนักดนตรีที่รับเป็นงานๆ และรายจ่ายที่ต้องนำไปลงทุนกับหน้าที่การงาน
“นักดนตรีหลายๆ คนต้องมีอาชีพเสริม ต้องมีมากกว่าการออกไปเล่นดนตรีได้ เราเลยต้องไปทำอาชีพอย่างอื่นต่อเพื่อที่จะดำรงชีวิต บางคนก็ต้องไปเป็นครูสอนดนตรี ทำกาแฟ ขับ Grab โดยส่วนตัวผมเองก็ทำบาร์เทนเดอร์ ถ้าผมรวยผมก็อยากทำแค่ดนตรีเหมือนกัน” เก่งพูดถึงการหารายได้เสริมจากงานอื่นๆ เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา นักดนตรีส่วนใหญ่มักจะประสบพบเจอกับภาวะทางการเงินบ่อยครั้ง เนื่องจากอาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับค่าตัวและการจ้างงาน กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่สถานบันเทิงส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลงตามมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลทำให้นักดนตรีจำนวนมากถูกเลิกจ้างและต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อหารายได้มาประทังชีวิต
ค่ายเพลงต่างจังหวัด บ้านของนักดนตรีท้องถิ่น
การที่นักดนตรีจะสามารถเติบโตได้ในวงการ “ค่ายเพลง” ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากค่ายเพลงเป็นบริษัทที่มีหน้าที่ลงทุนส่งเสริมนักดนตรีให้โด่งดังมากขึ้น เช่น การทำ Music Video โปรโมทศิลปิน การผลิตสินค้าของวงศิลปินนั้นๆ รวมไปถึงการเก็บรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เพลง อย่างไรก็ตาม ค่ายเพลงส่วนมากมักมีที่ตั้งอยู่ที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ แต่อาจไม่ใช่กับกรณีของค่ายเพลง “Minimal Records” ที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดเชียงใหม่
“เพื่อนๆ ทุกคนมีความใฝ่ฝันคืออยากทำซีดี อยากมีซีดีเป็นของตัวเอง แล้วเราก็มองว่าทำไมตอนที่มันทำซีดีมันยุ่งยากจัง ยุ่งยากในที่นี้คือไม่มีเงิน ต้องไปขอเงิน ไปขอสปอนเซอร์ ไปขอจากร้านเพื่อนพันนึง ไปขอร้านโน้นสองพัน ถ้าเรามีกองทุนตรงกลางให้เขาเอาไปใช้ แล้วก็ค่อยรีเทิร์นกลับ ขายซีดีได้แล้วก็ค่อยรีเทิร์นกลับ มันก็น่าจะดี” เมธ – สุเมธ ยอดแก้ว เจ้าของค่ายเพลง Minimal Records เล่าถึงจุดเริ่มต้นของค่ายเพลงที่มีที่มาจากการซัพพอร์ตเพื่อนๆ นักดนตรี
เมธเล่าให้ฟังว่า กรุงเทพฯ เป็นสถานที่แจ้งเกิดของนักดนตรีหลายๆ คน เนื่องจากกรุงเทพฯ นั้นเป็นเมืองที่มีงานอีเวนท์ต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ทำให้นักดนตรีมีโอกาสที่จะได้โปรโมทผลงานของตัวเองมากขึ้น ส่งผลทำให้เป้าหมายของใครหลายๆ คนคือการเข้าไปเติบโตและสร้างชื่อเสียงที่กรุงเทพฯ แต่ในทางกลับกัน ต่างจังหวัดกลับกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครสนับสนุน มีงานให้แสดงค่อนข้างน้อย ดังนั้นเมธจึงตัดสินใจก่อตั้งค่ายเพลงในจังหวัดของตัวเองเพื่อสนับสนุนนักดนตรีท้องถิ่นด้วยกัน
“ทำไมเราทำค่ายที่เชียงใหม่ ก็คือตอบแบบง่ายๆ เท่ๆ เลย ก็คือทำไมเราต้องไปอยู่กรุงเทพครับ ทั้งๆ ที่เราก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ และอีกอย่างเรามองว่าบ้านเรามีศิลปินเยอะนะ มันก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ตั้งค่าย Minimal ก็คือทำธุรกิจดนตรีที่มันครบวงจรที่นี่ให้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปกรุงเทพ” เมธกล่าวถึงเหตุผลที่ก่อตั้งค่ายเพลงในต่างจังหวัดที่ตัวเองอาศัยอยู่
นักดนตรีก็ไม่อยากไกลบ้าน
นักดนตรีทุกคนล้วนมีภูมิลำเนาเป็นของตัวเอง ต่างมีความผูกพันกับบ้านเกิดของตัวเองไม่มากก็น้อย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการหารายได้ในบ้านเกิด จึงทำให้นักดนตรีจำนวนมากต้องเข้ามาทำงานในเมืองหลวง แต่อาจไม่ใช่กับสุพิชา ที่ยืนหยัดจะเล่นดนตรีในจังหวัดที่ตัวเองอาศัยอยู่ด้วยการสร้างกลุ่มคอมมูนิตี้นักดนตรีเชียงใหม่ “Chiang Mai Original” ซึ่งค่อยๆ เป็นที่รู้จักกับเทศกาลดนตรีที่รวมศิลปินเชียงใหม่ ที่เล่นเพลงของตัวเองมากที่สุดอย่าง “เชียงใหม่โฮะ!” ในปีที่ผ่านมา
“จริงๆ มันเริ่มจากการที่เป็นแค่พี่กับกลุ่มเพื่อนๆ นักดนตรีที่ไม่อยากจะไปอยู่กรุงเทพ ที่ผ่านมาเราก็คือเหมือนเป็นตัวกลางในการเข้าไปคุยกับคนนั้นคนนี้ พยายามจัดให้มีงานเทศกาลดนตรี แล้วก็เอาศิลปินเชียงใหม่ที่อยากเล่นมารวมตัวกันโดยที่ไม่ได้จำกัดแนวเพลง ดนตรีโฟล์ค เพลงคำเมือง เพลงลูกทุ่ง เพลงชาติพันธุ์ บลูส์ แจ๊ส ร็อค แนวไหนก็เล่นได้หมด ซึ่งนักดนตรีที่อยู่ที่นี่ต้องมีรายได้เพียงพอ มีงานเล่นสม่ำเสมอ มีงานดนตรี มีคนซื้อบัตรมาดู เพลงของตัวเองต้องถูกเปิดฟังมากขึ้น” สุพิชาบอกถึงเหตุผลที่ตนเองจัดตั้งกลุ่ม Chiang Mai Original ขึ้นมา
สุพิชากล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วในต่างจังหวัดเองก็มีศักยภาพในการส่งออกนักดนตรีเป็นจำนวนมาก มีวงดนตรีระดับท็อปของประเทศหลายวงที่มาจากต่างจังหวัด ถึงแม้ค่าแรงในต่างจังหวัดจะไม่สามารถสู้ค่าแรงที่กรุงเทพฯได้ แต่ก็มีบางคนเลือกทำดนตรีอยู่ที่ต่างจังหวัดต่อ เนื่องจากรู้สึกสุขใจเหมือนอยู่บ้านมากกว่า สุพิชาจึงสร้างไลฟ์เฮาส์ชื่อ “Chiang Mai OriginaLive” ขึ้นมา เพื่อเอาไว้ให้พี่น้องศิลปินในเชียงใหม่หรือที่อื่นๆ ได้ใช้พื้นที่ในการนำเสนอผลงานของตัวเอง
“เหตุผลหลักๆ ที่ไม่อยากไปกรุงเทพ ก็เพราะไม่ชอบแค่นั้นเลย คือเพื่อนหลายๆ คนที่ยังทำดนตรีอยู่เชียงใหม่ ก็เพราะเขารู้สึกว่าเชียงใหม่มันเป็นบ้าน แล้วความวุ่นวายมันน้อยกว่ากรุงเทพ พี่เลยชอบเชียงใหม่มากกว่า ก็แค่ตรงนี้แหละที่มันไม่อยากให้เราไปกรุงเทพ ต่อให้มันจะเจริญแค่ไหน” สุพิชาบอกถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกทำดนตรีอยู่ที่บ้านของตัวเองต่อไป
เพลงที่อยากให้คนที่บ้านได้ฟัง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมดนตรีของไทยจัดได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ระดับประเทศ โดยในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา มูลค่าอุตสาหกรรมดนตรีของไทยเติบโตอยู่ที่ประมาณ 1.4 พันล้านบาท ซึ่งจุดแข็งของอุตสาหกรรมดนตรีในไทย คือมีแนวเพลงที่หลากหลาย
แต่ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมดนตรีในไทยยังคงมีข้อบกพร่องอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของนักดนตรีที่ไม่สามารถเติบโตไปมากกว่านี้ได้ เช่น ค่าแรงรายได้ที่ไม่เพียงพอจนทำให้นักดนตรีจำนวนมากต้องเข้ามาทำงานในเมืองกรุง การขาดสถานที่สาธารณะในการเล่นดนตรีอย่างห้องฝึกซ้อม คอนเสิร์ตฮอลล์ รวมไปถึงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพอย่างเวลาเปิด-ปิดของสถานบันเทิง หรือกรณีตัวอย่างจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้นักดนตรีจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ว่างงานอยู่แรมปี และได้รับความช่วยเหลือแค่เพียงเงินเยียวยา 5,000 บาท
“สังคมใช้พวกเราเล่นดนตรีจรรโลงสร้างความสุข ส่วนพวกเราก็ต้องการการสนับสนุนจากสังคมเหมือนกัน” เก่งพูดขอความเห็นใจจากผู้คนในสังคมแทนพี่น้องชาวดนตรี
การช่วยเหลือสนับสนุนให้นักดนตรีเหล่านี้ได้กลับไปทำงานที่ตนเองรัก ในบ้านที่ตนเองรัก ก็อาจทำให้อุตสาหกรรมดนตรีของประเทศนี้พัฒนาไปสู่ระดับที่ดีขึ้น และทำให้คุณมีโอกาสได้ฟังเพลงดีๆ มากขึ้นเช่นเดียวกัน
ขอขอบคุณ :
- North Gate Jazz Co-Op
- Mahoree City Of Music
- Minimal Bar
- Chiang Mai OriginaLive
อ้างอิง :
1. Plus seven team. (2564). การเฝ้ารออย่างไร้ความหวังของนักดนตรี ในยุคโควิด-19. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://thematter.co/social/thai-musician-in-covid-era/150799 [สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566].
2. ประชาไท. (2563). กลุ่มนักร้อง นักดนตรีเรียกร้อง ศบค. ปลดล็อคอาชีพ หลังมีรายได้ 0 บาท มา 3 เดือนแล้ว. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://prachatai.com/journal/2020/06/88201 [สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2566].
3. MONTGOMERRY. (2566). ค่ายเพลง, ห้องอัด, และ Music Production แตกต่างกันอย่างไร. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://verycatsound.com/blog-studio-different/ [สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2566].
4. ชยพล ทองสวัสดิ์. (2564). เก้าปีของ ‘Minimal Records’ ค่ายเพลงอินดี้เชียงใหม่ที่เชื่อว่าไม่ต้องไปทำเพลงที่กรุงเทพฯ ก็ดังได้!. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://themomentum.co/theframe-minimalrecords/ [สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2566].
5. Pawinee Nongnual. (2564). เล่าเรื่องดนตรีแบบเชียงใหม่ ผ่าน Chiangmai Original. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://www.exoticquixotic.com/stories/chiangmai-original [สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2566].
6. Kulthida Supalerth. (2564). T-POP ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก้าวต่อไปของ CEA ในการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรี. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://workpointtoday.com/t-pop-cea/ [สืบค้นเมื่อ 12 กันยายน 2566].