Lanner เปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่อยากสื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com
เรื่อง: สิรินันท์ แตงปั้น,ปวีณา บุหร่า
บทความชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาเปรียบเทียบวิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อในปี 2565-2566 กับวิถีชีวิตที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเก่าวัดท่าฬ่อ จังหวัดพิจิตรปี 2462 จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทั้งการสัมภาษณ์ รวบรวมภาพเก่าของคนในชุมชน และสำรวจวิถีชีวิตอดีตที่ยังคงหลงเหลือ พบว่าจากเดิมที่เคยนุ่ง โจงกระเบน ห่มผ้าสไบ ปลูกเรือนด้วยไม้ ประกอบอาชีพค้าขายทางเรือ ใช้วัว ควาย เทียบเกวียนเป็นพาหนะ
ในการเดินทางและ ทำการเกษตร เครื่องมือเครื่องใช้ส่วนมากมักทำขึ้นในครัวเรือน แต่ปัจจุบันผู้คนต่าง สวมเสื้อผ้าตามแฟชั่น สร้างบ้านเรือนด้วยปูน อาชีพค้าขายที่เคยรุ่งเรืองซบเซาลง การทำเกษตรกรรมและเครื่องมือเครื่องใช้ ต่าง ๆ เปลี่ยนเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยไม่ได้ใช้วัวควาย หรือ ทำขึ้นเองเช่นในอดีต
จากการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงหลัง ปี 2500 โดยมีผลมาจากการเกิดขึ้นของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา สะพานข้ามแม่น้ำ ประกอบกับการสนับสนุนนโยบายของรัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมและภาคบริการ ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อมีการเปลี่ยนแปลงไป
จิตรกรรมฝาผนัง นอกจากสร้างความสวยงามแก่สถานที่และให้คติสอนใจต่อผู้คน ยังมีความสำคัญในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน จากการเป็นแหล่งบันทึกเรื่องราวในช่วงเวลาขณะนั้น ซึ่งการเขียน ภาพจิตรกรรมฝาผนังไทย นอกจากจะดำเนินตามเนื้อเรื่องหลักอย่างเช่น เรื่องราวพุทธประวัติหรือทศชาติแล้ว ช่างยังได้สอดแทรกความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ที่มีการสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้อีกด้วย
วัดท่าฬ่อ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีการสอดแทรกวิถีชีวิตผู้คนในชุมชนท่าฬ่อผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น การแต่งกาย การเดินทาง รวมทั้งสภาพบ้านเรือน แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้
ได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมอยู่มาก อีกทั้งงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อส่วนใหญ่ มีรายละเอียดน้อย เป็นเพียงการบอกถึงลักษณะโดยรวมของภาพจิตรกรรมที่ปรากฏเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้ผู้วิจัย จึงต้องการศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในชุมชนท่าฬ่อ จากการเปรียบเทียบระหว่างวิถีชีวิตผู้คนในอดีต กับปัจจุบัน ผ่านงานจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อเพื่อสะท้อนให้เห็นบริบทการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในชุมชน
ประวัติชุมชนท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
ท่าฬ่อเป็นชุมชนเก่าแก่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน ผู้คนในชุมชนมีทั้งคนจีนและคนไทยอาศัยอยู่ร่วมกัน ที่มาของชื่อชุมชนมาจากแต่เดิมเขตชุมชนท่าฬ่อทำการค้าขายและขนสินค้าต่าง ๆ โดยใช้ล้อเกวียนเป็นพาหนะในการเดินทาง ผู้คนส่วนใหญ่ จึงเรียกกันว่า “ ท่าล้อ” เพื่อจะได้เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งและเป็นที่รู้กันของผู้คนที่เดินทางมาทำ การค้าขาย แต่ต่อมาเมื่อมีผู้คนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการออกเสียงของคนจีนในชุมชนที่ไม่สามารถออกเสียงไทยชัด ดังนั้นการสื่อสารก็ค่อย ๆ เพี้ยนกันเรื่อยมากลายเป็น“ ท่าฬ่อ” จนถึงปัจจุบันนี้
ชุมชนท่าฬ่อถือได้ว่ามีความเจริญทางด้านการค้าขาย ทั้งภายในเขตชุมชนและเขตชุมชนข้างเคียง เนื่องจากตำบลท่าฬ่อเป็นทางผ่านของหลายเขตพื้นที่ รวมถึงเป็นจุดศูนย์รวมที่ค่อนข้างใหญ่ในการทำเศรษฐกิจค้าขาย
ซึ่งกิจการที่คนในชุมชนมักประกอบอาชีพ ได้แก่ การค้าขายยาสมุนไพรจีน เสื้อผ้า ของใช้ในครัวเรือน อาหารสดอาหารแห้ง รวมถึงหมากพลู ฉะนั้นตำบลท่าฬ่อจึงมีลักษณะที่คล้ายกับตลาดการค้าขายแบบหนึ่ง อีกทั้งยังมีเรือรับจ้างในการเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ เพราะสมัยก่อนจะมีแต่ทางเดินที่เป็นล้อเกวียนและทางน้ำเท่านั้นที่สามารถเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้นเรือรับจ้างจึงเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของตำบลท่าฬ่อ
นอกจากนี้ ชุมชนท่าฬ่อยังมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำไหลผ่าน ดังนั้นชุมชนท่าฬ่อจึงมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำไร่ ทำนา วิถีชีวิตจึงมีทั้งสังคมเกษตรกรรมและสังคมการค้า ผู้คนมีการอยู่อาศัยรวมกันเป็นชุมชนในระดับครอบครัว เป็นครอบครัวขยายที่มีคนหลายรุ่นอาศัยอยู่รวมกัน มีศูนย์กลางของชุมชน คือ วัดท่าฬ่อ ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลท่าฬ่อ จังหวัดพิจิตร ถูกสร้างขึ้นประมาณปี 2410 มีจุดเด่นสำคัญ คือภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาพที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดพิจิตร โดยปรากฏอยู่ภายในวิหารเก่าแก่ของวัด
อ่านชีวิตผ่านจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร
จิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อ ถูกสร้างขึ้นในปี 2462 ภายในวิหารเก่าของวัด ผู้เขียนภาพคือ พระกลิมกับช่างฝีมือคนอื่น ๆ ตามการจดบันทึกในจารึกข้างฝาผนังทางเข้าวิหาร ซึ่งแต่ละภาพล้วนกล่าวถึงองค์พระสัมมา สัมพุทธเจ้า โดยเรื่องราวในภาพจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้ ได้นำเสนอเรื่องราวพุทธประวัติเป็นหลัก และมีพระอุปคุตปราบมารพร้อมด้วยฉากพระเวสสันดรฉากเล็ก ๆ สอดแทรกไว้ระหว่างเนื้อหาหลัก
เรื่องราวพุทธประวัติที่มีการนำเสนอ เป็นการเล่าเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนประสูติจนถึงปรินิพพาน ซึ่งสามารถไล่ภาพได้ตั้งแต่มุมซ้ายล่างทางเข้าวิหารและบรรจบเรื่องราวที่ตรงกลางด้านล่างขวาทางเข้าประตู ในส่วนของฉาก พระเวสสันดร เรื่องราวที่กล่าวถึงเป็นการคาบเกี่ยวระหว่างกัณฑ์กุมารกับกัณฑ์มหาราช โดยภาพดังกล่าวแทรกอยู่บริเวณด้านซ้ายล่างของวิหาร ส่วนภาพพระอุปคุตปราบมารอยู่บริเวณด้านล่างขวาของผนังวิหาร เรื่องราวเล่าถึงพระอุปคุตช่วยปราบมารที่คอยขัดขวางการสร้างเจดีย์ของพระเจ้าศรีธรรมมาโศกราช
ความน่าสนใจของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อ นอกเหนือจากเรื่องราวและความสวยงาม คือ การสอดแทรกวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงเวลานั้นไว้ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การเดินทาง สภาพบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ รวมทั้งการประกอบอาชีพ ซึ่งวิถีชีวิตเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน แต่เนื่องจากมีประเด็นของช่างรับจ้างวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ดังนั้นภาพวิถีชีวิตที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อ จึงอาจไม่ได้ใส่วิถีชีวิตของชุมชน ท่าฬ่อจริง ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงตรวจสอบความน่าเชื่อถือของภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยการเปรียบเทียบกับภาพถ่ายเก่าของคนในชุมชน การสัมภาษณ์ และการลงพื้นที่สำรวจวิถีชีวิตที่ยังคงหลงเหลือภายในชุมชนท่าฬ่อ โดยจะแสดงให้เห็นในหัวข้อถัดไป
วิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อ: ภาพสะท้อนจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง
วิถีชีวิตของผู้คนชุมชนท่าฬ่อที่สะท้อนผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อ มีการแสดงออกถึงวิถีชีวิตของคนชุมชนในแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านการแต่งกาย การแต่งกายชาวบ้านที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อ แบ่งอออกได้ ดังนี้
ลักษณะการแต่งกายของผู้หญิง ไม่สวมเสื้อแต่ห่มสไบเฉียงบ่า บ้างก็พันผ้าคาดอกเหน็บริมผ้าข้างบนซุกลงไปกับส่วนที่คาดอก ซึ่งมีทั้งผ้าพื้นและผ้าที่มีลวดลาย นุ่งโจงกระเบนเป็นส่วนมาก ทรงผมมีทั้งทรงผมปีกและทรงดอกกระทุ่ม รองเท้าไม่สวมใส่
ลักษณะการแต่งกายของผู้ชาย ส่วนมากมักไม่สวมเสื้อ บางคนมีเพียงผ้าคาดพาดเฉียงบ่า นุ่งโจงกระเบนเช่นเดียวกันผู้หญิงแต่มีผ้ารัดเอวอีกชิ้นหนึ่งเป็นลายทางยาว และไม่สวมรองเท้า
ลักษณะการแต่งกายของเด็ก เด็กเล็กมักเปลือยกาย เกล้าผมจุกกลางกระหม่อม แต่โกนผมโดยรอบศีรษะ หากเป็นเด็กโตมีการสวมโจงกระเบนเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ยังคงไว้ผมจุกเช่นเดิม
ลักษณะการแต่งกายของชาวจีน นุ่งกางเกงขาก๊วยยาว สวมรองเท้าหุ้มส้นสไตล์จีน
จากการศึกษาภาพการแต่งกายของชาวบ้านที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนัง พบว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับ การแต่งกายของชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อในอดีต ซึ่งนางประกอบ เดชเดชาคนในพื้นที่ท่าฬ่อที่ได้เล่าว่า “…คนเมื่อก่อนเขาไม่ค่อยใส่เสื้อเหมือนคนสมัยนี้ ถ้าเป็นคนแก่เขาจะนุ่งโจงกระเบน ตัดผมทรงดอกกระทุ่ม แต่งแบบนี้มันจะเป็นสมัยของยายของป้า แต่สมัยป้าไม่ทันแล้ว ส่วนพวกเด็กน้อย ๆ ก็จะแก้ผ้า ไว้จุกกัน…” ในส่วนการแต่งกายของชาวจีนในชุมชนท่าฬ่อนางมณฑิชา ยิ่งยง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “…คนจีนเมื่อก่อนเขาจะนุ่งกางเกงขาก๊วยกัน…” นอกจากคำสัมภาษณ์ ที่ได้รับจากคนในพื้นที่ การแต่งกายที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับภาพเก่าของคนในชุมชนท่าฬ่อพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างมาก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ภาพวิถีชีวิตด้านการแต่งกายที่พบบนจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อได้สะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของผู้คนในชุมชนจริง
ปัจจุบันการแต่งกายของผู้คนในชุมชนท่าฬ่อต่างไปจากเดิมทั้งชายและหญิง การนุ่งโจงกระเบน ในชีวิตประจำวันของผู้คนไม่ได้ปรากฏให้เห็นแล้วในชุมชน รวมทั้งการใช้ผ้าคาดหน้าอกและการห่มสไบเฉียงบ่า ปัจจุบันคนในชุมชนต่างแต่งตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป มีการสวมเสื้อผ้าแฟชั่นตามความต้องการส่วนตัวและ ความสะดวกในการใช้ชีวิต ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการเข้าถึงแหล่งเสื้อผ้าแฟชั่นได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าในอดีต การเข้าตัวเมืองเพื่อเลือกซื้อสินค้ามีความสะดวกกว่าแต่ก่อนจากการมีถนนตัดผ่านและมีรถส่วนตัว รวมทั้งการเข้ามาของไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีทันสมัย เช่น โทรทัศน์ โทรศัพท์ ทำให้ผู้คนสามารถรับรู้ข่าวสารแฟชั่นต่าง ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นการแต่งกายของผู้คนจึงมีเปลี่ยนแปลงไป
อีกทั้ง สะท้อนการคมนาคมของชาวบ้านที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อ มีทั้งการเดินทางด้วยเท้า การใช้เรือและเกวียนเป็นพาหนะในการเดินทาง โดยเรือที่ปรากฏมีลักษณะเป็นเรือขุดท้องกลม เสริมกราบหัวท้าย หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เรือหมู ส่วนมากมักทำขึ้นจากไม้สักหรือไม้ตะเคียน หัวท้ายเรียวงอนเล็กน้อย พื้นหัวและท้ายเรือมีแคร่ปิดเปิดได้ ส่วนกลางลำเป็นแคร่โป่งแบบลูกระนาด[7] ในส่วนของเกวียนปรากฏภาพสัตว์ที่ใช้เทียมสองชนิดคือ วัวและตัวล่อ ซึ่งตัวล่อดังกล่าวในระยะหลังได้ถูกนำมาอ้างว่าสัมพันธ์กับความเป็นมาของชื่อชุมชนจนเกิดเป็นข้อถกเถียงกันในปัจจุบัน
จากลงพื้นที่สัมภาษณ์และสำรวจตามในชุมชนพบว่า การคมนาคมที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังตรงกับวิถีชีวิตในอดีตของชุมชนท่าฬ่อ โดยการให้สัมภาษณ์ของนางประกอบ เดชเดชาได้กล่าวว่า “…ถ้าจะเข้าเมือง ก็จะใช้เรือ ถนนยังไม่มีเลยมันจะมีเรือโดยสาร เรือที่ใช้ข้ามฝั่งจะเป็นเรือหมู…” ในส่วนของการใช้เกวียนตามคำสัมภาษณ์ของคุณป้าปิยรัตน์เฟื่องสัทธรรมได้เล่าว่า “…สัตว์เทียมเกวียนเขาจะใช้วัว คนเฒ่าคนแก่เขาเล่าให้ฟังว่า ที่นี่มีคนมาต่อเกวียนที่หน้าสถานีเป็นพวกลำปาง เขามาทำเกวียนขายที่หน้าสถานี มาต่อล้อต่อเกวียนขาย คนค้าขายก็ใช้เกวียน หากมีเรือข้าวขึ้นมา ถ้าจะมาเอาข้าวเอาอะไรก็ต้องเอาขึ้นเกวียนกลับ ใช้ล้อเกวียนกันทั้งนั้นแหละ จนเรียกกันว่า ท่าล้อ แล้วก็มาเปลี่ยนเป็นท่าฬ่อ” นอกจากนี้ยังมีบางบ้านที่ยังคงเก็บรักษาเรือ ซึ่งเป็นพาหนะเดินทางในอดีตไว้ เมื่อนำพิจารณาร่วมกับลักษณะภูมิศาสตร์ของท่าฬ่อที่มีแม่น้ำน่านไหลผ่านชุมชนจึงเป็นยืนยันได้ว่า ชุมชนท่าฬ่อได้มีการใช้เรือและเกวียนเดินทางตามที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังได้บันทึกไว้
ปัจจุบันการคมนาคมในชุมชนท่าฬ่อต่างไปจากเดิมอยู่มาก คนในชุมชนส่วนมากล้วนมีรถส่วนตัวใช้ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ ทั้งนี้จากการเกิดขึ้นของระบบสาธารณูปโภคอย่างลิฟต์ข้ามแม่น้ำ สะพานและถนน ความสะดวกสบายในการเดินทางของผู้คนมีมากขึ้นการใช้เกวียนและเรือเป็นพาหนะจึงหมดความสำคัญลง โดยนางมณฑิชา ยิ่งยง ได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของการเดินทางในชุมชนไว้ว่า “…พอมีลิฟท์เรือก็เริ่มไม่ค่อยวิ่ง ถนนจะมีก่อนลิฟท์นะ ถนนมีตั้งแต่ดั่งเดิมสมัยก่อน สมัยก่อนมันจะเป็นดิน หลวงพ่อเมธีเป็นคนตัดถนนสายนี้ เข้าไปในวัดแล้วออกไปด้านหลัง ไปวัดดาน วัดหาด ไปพิจิตร ไปบางกระทุ่ม หลวงพ่อเอาที่ของตัวเองตัดให้ ประมาณ 30-40 ปีได้ล่ะ ต่อมาปี 2520 พ่อของป้า ตอนที่เป็น สข.(สุขาภิบาล) มาสร้างถนนให้ ส่วนลิฟท์น่าจะมีประมาณ 25 ปี แต่พอมีสะพานเกิดขึ้น ลิฟท์ก็เลิกไป…” โดยบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำทางฝั่งตลาดเหนือได้ปรากฏปีการสร้าง คือ 2547 และต่อมาปี 2550 สะพานทางฝั่งตลาดใต้จึงเกิดขึ้น
รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัย ที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนัง มีลักษณะเป็นบ้านเรือนไทยที่สร้างด้วยไม้ ยกพื้นสูง มีชานหน้าบ้านเพื่อใช้ทำกิจกรรม ซึ่งมีลักษะเป็นเรือนเครื่องสับ ที่สร้างด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง ฝาเรือนมีหลายแบบเช่น ฝาปะกน ฝาสำหรวด เป็นต้น หลังคามุงด้วยกระเบื้องหรือด้วยวัสดุอื่น มีลักษณะเสาที่เบนเข้าหาตัวเรือน เพื่อความมั่นคงแข็งแรง และเหตุที่เรียกว่า เครื่องเรือนสับนั้นมาจากกรรมวิธีการกลึง กากพื้น เจาะรูเข้าลิ่ม ใส่สลัก ดังนั้นจึงเรียกว่า เรือนเครื่องสับ ส่วนใหญ่มักเป็นที่พักของผู้ที่มีฐานะดี
ทั้งยังปรากฏภาพบ้านเรือนผูก เป็นเรือนไม้ที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่เกือบทั้งหลัง หรืออาจเป็นวัสดุที่หาได้ตามท้องถิ่น บางทีอาจมีบางส่วนใช้ไม้เนื้อแข็งและใช้หวายสำหรับผูกมัดส่วนต่าง ๆ ของตัวเรือนหรือหากต้องการ ความแน่นหนาก็จะเข้าลิ่มโดยตอกด้วยสลัก หรือ ลูกประสักหลังคานิยมมุงด้วยแฝก บ้านเรือนเครื่องผูกมักจะมีอายุ การใช้งานไม่นานนัก จึงจัดเป็นเรือนพักชั่วคราวซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่พักอาศัยของชาวบ้านทั่วไป
นอกจากนี้ยังพบ กระท่อม ซึ่งเป็นเรือนหลังขนาดเล็ก ใช้ไม้ไผ่ขัดกันเป็นฝาบ้านมุงหลังคาด้วยหญ้าคา และยุ้งฉางข้าวที่ทำจากไม้ไผ่ทั้งหลัง มุงหลังคาด้วยหญ้าคาเช่นเดียวกันปรากฏอยู่ข้าง ๆ กระท่อม ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากหาไม้ไผ่ได้ง่ายและมีราคาถูกกว่าไม้สักมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถใช้งานได้ยาวนานนัก เพราะไม้ไผ่เก่าและผุได้ง่าย
จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์คนในชุมชนท่าฬ่อและการสำรวจบ้านเรือนเก่าแก่ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ พบว่า สภาพบ้านเรือนที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นไปตามวิถีชีวิตของชุมชนท่าฬ่อ โดยนางประกอบ เดชเดชา ได้เล่าถึงสภาพบ้านเรือนในอดีตของชุมชนท่าฬ่อไว้ว่า “…บ้านเมื่อก่อนจะปลูกเป็นทรงไทยยกพื้นสูง แล้วเขาก็จะขอแรงกันมาปลูก ที่นี้เขาจะปลูกบ้านมีนอกกระชาน ขึ้นบันไดก็จะเข้าถึงบ้านใหญ่เลย บ้านที่ทำเขาใช้ไม้จริงเลย เขาไปลากกันมา แล้วเอามาเลื่อยกันเองถ้าเป็นคนมีตัง บางบ้านจนหน่อยก็จะใช้ไม้ไผ่เขาเรียกกันว่า ขี้ฝากเอามาทำบ้าน ส่วนหลังคาส่วนมากจะทำด้วยแฝกหรือหญ้าคา บ้านคนรวยจะเป็นสังกะสีไม่ก็กระเบื้อง แล้วก็มียุ้งฉางจะใช้หญ้าแฝกมาทำ เอาไว้ใส่ข้าว บางเจ้าที่เขามีตังก็จะมุงสังกะสี…”
ปัจจุบันบ้านเรือนของคนในชุมชนท่าฬ่อมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ผู้คนนิยมสร้างบ้านด้วยปูน ชั้นเดียวกันมากขึ้น บางบ้านมีการต่อเติมด้วยการก่อปูนด้านล่างใต้ถุนเพิ่ม กลายเป็นบ้านปูนและไม้สองชั้นผสมกัน หรือบางบ้านที่ยังคงสภาพบ้านเก่าไว้ แต่มีการนำไม้มากั้นตรงชานบ้านเก่าปิดล้อมไว้ ไม่เปิดโล่งเช่นอดีต โดยจากการสัมภาษณ์นางบรรเจิด ธงค์สิริ ได้ให้เหตุผลของการล้อมปิดชานบ้านไว้ว่า“…เมื่อก่อนจะเป็นนอกชาน แต่เดี๋ยวนี้กั้นแล้ว กลัวขโมยขโจร…” อีกทั้งการที่คนในชุมชนเปลี่ยนมาเป็นบ้านปูน ก็เนื่องมาจากราคาไม้แพงมากขึ้น ไม้ที่เคยหาได้ตามชุมชนมีน้อยลง ทั้งยังไม่สามารถตัดไม้ได้ตามสะดวกเช่นแต่ก่อนจากการกำหนดกฎหมายป่าสงวนและวนอุทยานขึ้น ดังนั้นการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ด้วยเหตุนี้ผู้คนในชุมชนจึงเปลี่ยนเป็นการสร้างบ้านด้วยปูนแทน เพราะสะดวกและมีราคาถูกมากกว่า ซึ่งเป็นไปตามคำสัมภาษณ์ของนางประกอบ เดชเดชาที่ได้เล่าว่า “…สมัยตอนป้าสาว ๆ คนก็เริ่มเปลี่ยนเป็นบ้านปูนบ้างแล้ว แล้วเขาก็ว่าบ้านไม้มันจะแพง บ้านปูนจะถูก เขาว่าใครอยู่บ้านไม้เป็นคนรวย ไม้ตอนแรกมันก็ยังพอหาได้ แต่ต่อมาไม้เริ่มหายาก เมื่อก่อนจะไปลากกันตามไร่ เดี๋ยวนี้ตัดไม้ไม่ได้เหมือนก่อนแล้ว…”
พลวัตอาชีพและชีวิตของชาวบ้านท่าฬ่อ
คนในชุมชนท่าฬ่อมักประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติ อันสมบูรณ์ และมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม จากการที่ได้ศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อสะท้อนให้เห็นอาชีพทำนา ผ่านภาพเกี่ยวกับพิธีแรกนาขวัญ
พิธีแรกนาขวัญ เป็นราชพิธีที่ใช้ยึดถือกันมายาวนาน ถือว่าเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจ เพื่อเป็นสิริมงคล แก่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยกำหนดการทำพิธีในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นต้นฤดูฝนหรือ ฤดูทำนา จากการลงพื้นที่เข้าไปสัมภาษณ์ในชุมชนได้ข้อมูลยืนยันจากชาวบ้านว่า ชุมชนท่าฬ่อแห่งนี้ประกอบอาชีพการทำนามาอย่างยาวนาน ในอดีตชาวนาชุมชนท่าฬ่อจะทำนาปีละ 1 ครั้งโดยใช้ข้าวพันธุ์ขาวชะรอ และมีควาย เป็นเครื่องมือในการช่วยไถนา ตามบทสัมภาษณ์ของนางประกอบ เดชเดชาที่กล่าวไว้ว่า “…เมื่อก่อนข้าวที่ปลูก จะเป็นข้าวขาวชะรอ เป็นข้าวขึ้นน้ำ น้ำสูงเท่าไรมันก็จะไม่ท่วม มันหนีน้ำได้ เมื่อก่อนจะทำนาปี ทำแค่หนเดียว พอเดือนหกก็เตรียมตัวกันไปดะกันแล้ว เอาควายดะ ควายที่ใช้ก็เป็นควายของป้าเองนี้ล่ะ มันออกลูกออกหลาน เมื่อก่อนถ้าจะขายก็ไม่แพงเหมือนสมัยนี้ เมื่อก่อนเท่าไรเอง พันสองพัน…”
ปัจจุบันถึงแม้ว่า คนชุมชนท่าฬ่อยังคงประกอบอาชีพทำนาเช่นเดิม แต่วิธีการและพันธุ์ข้าวได้มีการเปลี่ยนแปลงต่างจากอดีต ตามคำสัมภาษณ์ของนางประกอบ เดชเดชาได้เล่าว่า “…เมื่อก่อนน้ำลึกแค่ไหนข้าวก็สูงหนีน้ำได้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มีแต่ทำนาปรัง ข้าวต้นเตี้ย ๆ…” โดยนางประกอบ เดชเดชาได้ให้สาเหตุของการเปลี่ยนวิธีการทำนาและพันธุ์ข้าวไว้ว่า “…ข้าวนาปรังมันทำได้หลายครั้งมากกว่า…” ในส่วนของวิธีการไถ่นาจากเดิมที่ใช้ควายและกำลังคน ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น รถไถนา รถดำนา ดังที่นางประกอบ เดชเดชาได้เล่าว่า “…เขาเลิกใช้ควายกันนานแล้ว ตอนป้าอายุ 20 ปีก็ใช้รถไถ่ล่ะ แต่ตอน 14-15 ยังไถ่ควาย พออายุ 20 ก็มาใช้รถ คนมีฐานะหน่อยก็จะซื้อดันเลี้ยวกัน เวลาดำนาเมื่อก่อนเขาจะใช้คน เอาไม้กระทุ้งแล้วใส่กล้าไปในรู พอฝนตกก็ยังได้กินเลย แต่เดี๋ยวนี้ใช้รถดำกัน ไม่ค่อยได้กินหรอก…” ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึง ความทันสมัยของเทคโนโลยีได้เข้ามาชุมชนเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาของประเทศที่ต้องการเพิ่มผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงระบบทุนนิยมที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรกรรมจนส่งผลให้วิธีการและพันธุ์ข้าวต่างไปจากอดีต
นอกเหนือจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อาชีพอีกอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคืออาชีพค้าขาย โดยปรากฏเป็นภาพคนจีนกำลังฆ่าหมู ซึ่งเมื่อลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนได้รับการยืนยันว่า อาชีพค้าขายถือเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของชุมชนแห่งนี้ โดยคนจีนส่วนมากจะทำการค้าหมู หรือค้าขายสิ่งอื่น ๆ เป็นหลัก ส่วนชาวบ้านคนไทย มักมีการนำเอาผลผลิตการเกษตรหรือของป่ามาขายที่บริเวณตลาดของชุมชน ตามคำสัมภาษณ์ของป้ามณฑิชา ยิ่งยงที่ได้กล่าวว่า “…ท่าฬ่อเมื่อก่อนเจริญมาก ตลาดเหนือเนี้ยเขามีค้าหมู เขาเลี้ยงหมูกัน มีร้านขายหมูสามสี่เจ้า คนขายหมูจะเป็นคนจีนไหหล่ำซะส่วนใหญ่ ร้านทอง โรงสีข้าว โรงไม้ โรงเลื่อยก็มักเป็นคนจีนไหหล่ำ นอกจากขายหมู ชาวบ้านก็เอาผัก ผลไม้ มัน ถั่วที่ขุดมาขายกัน…” ประกอบกับการสัมภาษณ์นานางบรรเจิด ธงค์สิริ ได้เล่าถึงการประกอบอาชีพค้าขายของตนในชุมชนไว้ว่า “…เมื่อก่อนยายจะขายขนม เอาไปขายที่ในตลาดฝั่งสถานีรถไฟ คนมันเยอะ” ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าในอดีตผู้คนท่าฬ่อมีการประกอบอาชีพค้าขาย
วิถีชีวิตของคนท่าฬ่อปัจจุบันมีการประกอบอาชีพค้าขายภายในชุมชน แต่ความคึกคักของผู้คนที่เดินทางเข้ามาซื้อขายสินค้าในตลาดลดลงไปจากอดีตเป็นอย่างมาก กิจการบางอย่างได้ปิดตัวลง เช่น ร้านทอง ร้านชา และ
ร้านอื่น ๆ ที่เคยรุ่งเรืองสมัยอดีต โดยปัจจุบันร้านขายของที่ยังหลงเหลือมักเป็นร้านขายของชำ ร้านขายก๋วยเตี๋ยว หลายร้านได้ปิดตัวลง เนื่องจากไม่มีคนสืบต่อกิจการ โดยความรุ่งเรืองของตลาดท่าฬ่อเริ่มลดลง จากการปิดตัว
ของโรงเลื่อย โรงสีภายในชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้คนเริ่มเบาบาง อีกทั้งความเจริญและความทันสมัยเข้ามาในชุมชนนับตั้งแต่การใช้นโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ได้ส่งผลให้ลูกหลานเดินทางไปทำงานในพื้นที่อุตสาหกรรมหรือเมืองขนาดใหญ่มากขึ้น ดังนั้นชุมชนจึงเหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ที่ยังคงประกอบอาชีพค้าขายภายในชุมชน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปคนเหล่านี้ได้ค่อย ๆ เสียชีวิตลง กิจการไม่มีผู้สืบต่อจึงต้องปิดตัวลง ความรุ่งเรืองของการค้าขายในตลาดชุมชนท่าฬ่อเช่นอดีตจึงหายไป
นอกจากนี้ในภาพจิตรกรรมยังสะท้อน เครื่องใช้ไม้สอบสิ่งของ ที่มีลักษณะเรียบง่ายทำขึ้นเองในครัวเรือน เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องจักรสานในการจับปลา เช่น ดักลอบ เบ็ดที่ใช้ตกปลา ซึ่งจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์พบว่า สิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้มีการถูกใช้ภายในชุมชนท่าฬ่ออย่างแพร่หลาย ทั้งนี้เนื่องมาจากชุมชนท่าฬ่อมีพื้นที่ ที่น้ำมักท่วมอยู่เสมอ ดังนั้นจึงทำให้กระแสน้ำพัดพาเอาปลาหลากหลายชนิด เข้ามายังพื้นที่แห่งนี้ ดังนั้นเมื่อถึง
ฤดูน้ำหลากผู้คนจึงมักออกไปหาปลาเพื่อนำมาทำกินในครัวเรือน ตามการให้คำสัมภาษณ์ของนางประกอบ เดชเดชา ที่ได้กล่าวว่า “…ที่นี่หาปลาง่าย หาได้เยอะได้มา ก็เอามาแกง ปลาที่ได้ก็พวกปลาดุก ลูกปลาหมอเอามาแกงส้มฟักเนอะ ไม่ก็เอาทำปลาร้าไว้กิน ไม่รู้จะกินอะไร ก็หลนปลาร้ากินกันแล้ว เขาจะไปจับตามหนองตามนา เอาพวกสุ่มไปจับกัน ริมท่าปลาก็ชุม ว่ายให้เห็นเลย เมื่อก่อนเขื่อน ยังไม่ค่อยมี น้ำมันจะท่วมปลาที่ได้ก็พวกไอ้ขาว ไอ้โดอะไร พวกนี้…”
ปัจจุบันเครื่องมือเครื่องใช้ที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น เครื่องจักรสานจับปลา ไม่ค่อยพบเห็น มากนักในชุมชน ทั้งนี้ก็เนื่องจากจำนวนปลามีน้อยลงและผู้คนเริ่มเปลี่ยนมาใช้เครื่องช็อตกันมากขึ้น จากการสัมภาษณ์ของนางประกอบ เดชเดชาได้กล่าวถึงสาเหตุของปลามีจำนวนน้อยลงกว่าอดีตและการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือใช้ในการจับปลาไว้ว่า “…เขื่อนเมื่อก่อนจะมีแถวตาก แถวพิษณุโลกยังไม่มีเลย น้ำมาที ก็ท่วมเต็มเลย ปลาเต็มไปหมด ปลาดุก ปลาหมอ ปลาอะไรบ้างก็ไม่รู้ เยอะ พอสร้างเขื่อนก็ไม่ค่อยท่วมล่ะ นาน ๆ จะท่วม พอน้ำไม่ท่วม ปลาก็น้อยลง เลยไม่ค่อยใช้สุ่มจับปลากันแล้ว เดี๋ยวนี้จี้กินกันหมด ตัวเล็กตัวน้อยกินหมด ไม่ทันวางไข่…” ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐในการเร่งพัฒนาประเทศให้ทันสมัย เพื่อผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมากขึ้น การสร้างเขื่อนจึงมีปรากฏให้เห็นในหลาย แห่งและได้ส่งผลต่อระบบนิเวศจนมากระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน
บริบทการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อ จังหวัดพิจิตร
วิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังปี 2462 กับวิถีชีวิตปัจจุบัน ปี 2565-2566 พบว่ามีสภาพวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การเดินทาง ลักษณะบ้านเรือน การประกอบอาชีพ และเครื่องมือเครื่องใช้ โดยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อเป็นผลมาจากการเกิดขึ้น ของระบบสาธารณูปโภคอย่างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา และสะพานข้ามแม่น้ำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงหลังปี 2500 ตามคำสัมภาษณ์นางมณฑิชา ยิ่งยงชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อว่า “…ปี 2520 พ่อของป้าตอนที่เป็น สข.(สุขาภิบาล) มาสร้างถนนให้…” ส่วนปีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำทั้งบริเวณตลาดเหนือและตลาดใต้ของชุมชนท่าฬ่อได้มีการจดบันทึกไว้บริเวณราวสะพานว่า สร้างขึ้นในปี 2547 และปี 2550 ในส่วนของน้ำประปา ไฟฟ้า มีในช่วงประมาณ ปี 2524 ตามคำสัมภาษณ์ของ นางพิษณุ อุนานันถ์ ได้กล่าวว่า “…ตอนป้าจบป.6 ก็เริ่มมีไฟฟ้า และน้ำปะปาเข้ามา…”
การเข้ามาของระบบสาธารณูปโภคช่วงหลังปี 2500 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศที่มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ นับจากการกำหนดนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ที่มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมประเทศให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ปัจจัยภายนอกที่มาพร้อมกับระบบทุนนิยมจากการสนับสนุนของรัฐเพื่อให้เกิดการกระจายสินค้าอุตสาหกรรมและสะดวกแก่การขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเช่น ถนน สินค้าอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงเข้ามาภายในชุมชน อีกทั้งเนื่องด้วยรัฐให้ความสำคัญ ต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นอย่างมากจากการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งตอบสนองระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ชุมชนจึงมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในภาคการเกษตร เพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร เช่น รถเกี่ยวข้าว รถสีข้าว รถไถนาเดิมตาม ประกอบกับโรงเลื่อยซึ่งเป็นแหล่งหลายได้หลักของชุมชนได้ปิดตัวลง จึงทำให้มีคนหนุ่มสาวจากชุมชนเริ่มหันออกไปทำงานนอกพื้นที่กันมากขึ้นได้ ส่งผลให้การค้าขายในชุนชนซบเซาลงรวมทั้งแรงงานในภาคการเกษตรลดลง ชาวบ้านภายในชุมชนที่ยังคงประกอบอาชีพเกษตร จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรกรรมด้วยการลงทุนสำหรับการซื้อหรือจ้างเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ทดแทนแรงงานคนที่ขาดแคลนไป
การเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังปี 2500 ยังส่งผลให้ความคิดและค่านิยมตะวันตกได้เข้ามาเผยแผ่ภายในชุมชน อีกด้วยจากการเข้าถึงเทคโนโลยี การสื่อสารทันสมัยอย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน จากการพยายามพัฒนาประเทศของรัฐ ให้ตอบสนองต่อระบบทุนนิยมและความทันสมัยที่ขยายตัว รวมทั้งการที่คนหนุ่มสาวออกไปทำงานนอกพื้นที่ ในเขตเมืองกันมากขึ้น เมื่อกลับถิ่นฐานเดิมจึงได้รับเอาวัฒนธรรมและค่านิยมใหม่ ๆ กลับมาเผยแผ่ในชุมชน ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของบ้านเรือนที่จากเดิมเป็นบ้านเรือนไทยสร้างด้วยไม้ยกสูง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นการสร้างบ้านแบบตะวันตกด้วยปูน ชั้นเดียวกันมากขึ้น นอกจากนี้เพื่อช่วยให้เกิดความสะดวกแก่การผลิตและการประกอบการในภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมจึงได้มีการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า อย่างเช่น เขื่อนนเรศวรขึ้นมา โดยเขื่อนดังกล่าวถูกสร้างขึ้นในจังหวัดพิษณุโลกเมื่อปี 2518 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2525 และได้ส่งผลให้ระบบนิเวศในน้ำไม่เป็นเช่นอดีตนิเวศจนมากระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน สิ่งเหล่านี้ที่ได้กล่าวไปข้างต้นล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้วิถีชีวิตรูปแบบเดิมที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อแตกต่างไปจากวิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อในปัจจุบัน
วิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อในปี 2565-2566 กับวิถีชีวิตที่ปรากฏบนภาพ จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเก่าวัดท่าฬ่อ จังหวัดพิจิตรปี 2462 พบว่า ช่วงเวลาประมาณ 100 ปี วิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อ มีความแตกต่าง จากปัจจุบันอย่างมาก จากเดิมที่เคยนุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบ ปลูกเรือนด้วยไม้ยกสูงมีชานบ้านไว้ทำกิจกรรม ประกอบอาชีพค้าขายในชุมชน ใช้เรือ วัว และควายเทียบเกวียนเป็นพาหนะในการเดินทางและทำการเกษตร เครื่องมือเครื่องใช้ส่วนมากมักทำขึ้นในครัวเรือน แต่ปัจจุบันผู้คนต่างสวมเสื้อผ้าแฟชั่น แต่งตัวตามความชอบส่วนบุคคลและ ความเหมาะสมของสถานที่ สร้างบ้านเรือนด้วยปูนชั้นเดียว อาชีพค้าขายที่เคยรุ่งเรืองในชุมชนซบเซาลง การทำเกษตรกรรมและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เปลี่ยนเป็นเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยไม่ได้ ใช้วัวควาย หรือทำขึ้นเองเช่นในอดีต
การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวบ้านชุมชนท่าฬ่อจากศึกษาพบว่า เป็นผลมากจากการเกิดขึ้นของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา สะพานข้ามแม่น้ำ โดยการเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฏให้เห็น อย่างชัดเจนในช่วงหลังปี 2500 นับตั้งแต่การใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 และเนื่องจากจุดหมายของนโยบายดังกล่าวต้องการมุ่งเน้นเร่งพัฒนาความเจริญจึงทำให้รัฐบาลพยายามเข้าไปส่งเสริมการขยายตัวการประกอบการในเชิงพาณิชย์ โดยมีทั้งส่งเสริมจากทางตรงและทางอ้อมเพื่อผลผลิตเข้าสู่ตลาด เช่นส่งเสริม การบุกเบิกที่ดิน การเปลี่ยนพันธุ์ข้าว และมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยให้การผลิตและการระบายสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การผลิตและการประกอบการในภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมจึงได้มีการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นโยบายการสร้างถนนก็เช่นเดียวกัน ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อกระจายสินค้าอุตสาหกรรมไปตามพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีการเพิ่มอำนาจการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น ออกกฎป่าสงวนและวนอุทยาน จึงทำให้ชาวบ้านและชุมชนหมดอำนาจในการจัดการป่า การนำไม้มาใช้ประโยชน์เช่น การสร้างบ้านจึงเป็นเรื่องยุ่งยาก การพัฒนาของรัฐจากการกำหนดนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้ปัจจัยภายนอกที่มาพร้อมกับระบบทุนนิยม อย่างเช่น ถนน สินค้าอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาภายในชุมชน ดังนั้นผู้คนจึงเข้าถึงแหล่งสินค้าและข้อมูลข่าวสารจากสื่อโฆษณา สื่อบันเทิงได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคสินค้า และรับวัฒนธรรม รวมทั้งแนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ในชีวิต เช่น การแต่งกายตามแฟชั่น การสร้างบ้านเรือนแบบตะวันตก หรือการใช้สินค้าทันสมัย เป็นต้น
โดยสามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องมือในการจับปลา เนื่องจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยีในการป้องกันน้ำท่วมอย่าง เขื่อนกักเก็บน้ำได้ถูกสร้างขึ้นในจังหวัดพิษณุโลก ได้ส่งผลให้จำนวนปลา ในชุมชนท่าฬ่อ ซึ่งมีแม่น้ำจากจังหวัดพิษณุโลกไหลผ่านลดน้อยลงในฤดูน้ำหลาก การจับปลามาทำกินหรือขายจึงไม่ค่อยมีการใช้เครื่องมือจักรสานอย่าง ดักลอบ เหมือนเช่นอดีต เพราะไม่สามารถจับปลาได้จำนวนมากเหมือนกับอุปกรณ์ทันสมัยเช่น เครื่องช็อต
การเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังปี 2500 ยังส่งผลให้คนหนุ่มสาวออกไปทำงานนอกพื้นที่อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องมาจากรัฐให้ความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นอย่างมาก ประกอบกับโรงเลื่อย ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของชุมชนได้ปิดตัวลง จึงทำให้ผู้คนในชุมชนเริ่มหันออกไปทำงานตามแหล่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ กันมากขึ้น โดยเมื่อคนเหล่านี้กลับถิ่นฐานเดิมจึงมีการรับเอาวัฒนธรรมและค่านิยมใหม่ ๆ กลับมาเผยแผ่ในชุมชน ยกตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงลักษณะของบ้านเรือนที่จากเดิมเป็นบ้านเรือนไทยสร้างด้วยไม้ยกสูง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นการสร้างบ้านแบบตะวันตกด้วยปูนชั้นเดียวกันมากขึ้น
นอกจากนี้การที่ผู้คนเดินทางออกไปทำงานกันนอกพื้นจำนวนมากยังส่งผลให้การค้าขายในชุนชนซบเซาลง รวมทั้งแรงงานในภาคการเกษตรลดลง ชาวบ้านภายในชุมชนที่ยังคงประกอบอาชีพเกษตร จึงจำเป็นต้องมี การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรกรรมด้วยการลงทุนสำหรับการซื้อหรือจ้างเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย ลดระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร ทดแทนแรงงานคนที่ขาดแคลนไปและเพื่อเพิ่มการผลิตให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดตามระบบทุนนิยมที่เข้ามา
จากที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นแสดงให้เห็นว่าคนในชุมชนท่าฬ่อปัจจุบันสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ องค์ความรู้ และเทคโนโลยี เช่น การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ การเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตตลอดจนการมีโอกาสและทางเลือกมากขึ้นในการประกอบอาชีพที่นอกเหนือไปจากการทำไร่ทำนา ดังนั้นวิถีชีวิต รูปแบบเดิมที่ปรากฏบนภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดท่าฬ่อจึงมีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากวิถีชีวิตชาวบ้านชุมชน ท่าฬ่อในปัจจุบัน
บรรณานุกรม
หนังสือ
- ประทีม มาลากุล.พัฒนาการบ้านของคนไทยภาคกลาง.กรุงเทพฯ:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2530.
- ประชิด สกุณะพัฒน์.วิถีไทย.กรุงเทพฯ : พิมพ์แสงดาว,2548.
- เสนอ นิลเดช.เรือนเครื่องผูก.กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ,2547.
รายงานวิจัย
- จิรวัฒน์ พิระสันต์.วัฒนธรรมของชาวไทยที่ปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนังไทยภาคเหนือตอนล่าง.รายงานวิจัย,ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร,2540.
วิทยานิพนธ์
- จิรวัฒน์ แสงทอง.ชีวิตประจำวันของชาวสยามในกรุงเทพฯ ปี 2426-2475.วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2546.
- พัชรินทร์ ศุขประมูล.ชีวิตชาวบ้านในจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสระบุรี.วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.2529.
วารสาร
- ฉัตรชัย ชินะโยริน.” พัฒนาการของประวัติศาสตร์ชุมชนที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต : กรณีศึกษาชุมชนบ้านโคกมั่งงอย ตำบลโคกมั่งงอย อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ.”วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง,10,30(กันยายน,2564).
การสัมภาษณ์
- บรรเจิด ธงค์สิริ.สัมภาษณ์, 25 เมษายน 2566.
- ปิยรัตน์ เฟื่องสัทธรรม.สัมภาษณ์, 26 เมษายน 2566.
- ประกอบ เดชเดชา.สัมภาษณ์, 4 มีนาคม 2566.
- พิษณุ อุนานันถ์.สัมภาษณ์, 10 กรกฎาคม 2565
- มณฑิชา ยิ่งยง.สัมภาษณ์, 16 พฤศจิกายน 2565.
เว็บไซต์
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.วัดท่าฬ่อ(ภาพจิตรกรรมฝาผนัง).สืบค้นจาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/2620. เข้าถึงวันที่ 5 มีนาคม 2566.
- เขื่อนนเรศวรพระอัจฉริยภาพร.9แก้น้ำท่วมทุ่งสาน.โพสต์ทูเดย์,สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/politics/462058. เข้าถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2566.
- นิธิ เอียวศรีวงศ์,หัวข้อที่ 24 การพัฒนาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์,สืบค้นจาก http://www.human.cmu.ac.th/courseonline/huge/050103/pdf/patthana.pdf .เข้าถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2566.
- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม.เรือหมู.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี.สืบค้นจาก http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/panitnavi/index. เข้าถึงวันที่ 24 เม.ย. 2566.
- องค์การส่วนตำบลท่าฬ่อ.ประวัติตำบล.สืบค้นจาก https://www.thalo.go.th/condition.php.เข้าถึงวันที่ 5 มีนาคม 2566.