เรื่อง: กมลชนก เรือนคำ
จังหวัดพะเยา โดยเฉพาะอำเภอเชียงคำและอำเภอภูซาง มีคนไทยเชื้อสายไทลื้ออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มชนเหล่านี้มีวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นมาช้านาน
‘งานสืบสานตำนานไทลื้อ’ ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัตลักษณ์ด้านประเพณีที่สำคัญของจังหวัดพะเยา ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกปี 2538 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความผูกพันระหว่างเยาวชนรุ่นหลังกับบรรพชนไทลื้อ รวมทั้งฟื้นฟู สืบสาน และอนุรักษ์วัฒนธรรมไทลื้อ และเป็นการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมไทลื้อให้คนทั่วไปได้รู้จักกันมากขึ้น
สำหรับในปี 2566 งานสืบสานตำนานไทลื้อ ได้จัดเป็นครั้งที่ 20 ซึ่งจังหวัดพะเยาโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2566 ณ วัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โดยใช้ชื่อว่างานว่า ‘โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ’ โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย ขบวนแห่ชาติพันธุ์ไทลื้อ 7 จังหวัดภาคเหนือ (พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ น่าน) และการแสดงศิลปวัฒนธรรม เที่ยวชิมอาหารพื้นถิ่น และอาหารชาติพันธุ์ไทลื้อ ช้อปผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้า ของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์ CPOT – OTOP
ทั้งนี้ก่อนจะมาเป็นงานสืบสานตำนานไทลื้อ ผู้เขียนขอชวนย้อนดูการรื้อฟื้นสำนึกทางประวัติศาสตร์ไทลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ซึ่งชาวไทลื้อหรือคนพะเยารุ่นใหม่ๆ อาจจะยังไม่ทราบถึงความเป็นมานี้ ผ่านงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่ผู้เขียนเพิ่งได้อ่านมาและเห็นว่ามีความน่าสนใจมาก จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง
เปิดงานศึกษา ‘กระบวนการรื้อฟื้นสำนึกทางประวัติศาสตร์ไทลื้อชุมชนเชียงคำ’
จากงานศึกษาเรื่อง ‘กระบวนการรื้อฟื้นสำนึกทางประวัติศาสตร์และการจัดตั้งวัฒนธรรมไทยลื้อชุมชนเชียงคำ จังหวัดพะเยา ช่วงทศวรรษ 2520-2550’ โดย ณกานต์ อนุกูลวรรธกะ, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2554) ระบุว่าไทลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ที่กระจายตัวตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน ในอดีตถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวไทลื้อ อาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนนา ทางตอนใต้ของมณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ต่อมาได้เคลื่อนย้ายมาสู่ดินแดนทางภาคเหนือของประเทศไทย ภาคเหนือของสหภาพเมียนมา รวมทั้งภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยกระจายตัวอยู่ในเขตที่ราบ ระหว่างหุบเขา ชาวไทลื้อ เป็นชนชาติ พูดภาษาตระกูลไท ที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ภาษา, การแต่งกาย, ตลอดจนมีประเพณี และพิธีกรรมบางอย่าง ที่เป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ แตกต่างออกไปในแต่ละชุมชน ลักษณะโดยรวมแล้ววัฒนธรรมของชาวไทลื้อ มีความใกล้เคียงกับคน “ไทยวน” หรือ “คนเมือง” และที่สำคัญชาวไทลื้อยังเก็บรักษาสำนึกทางชาติพันธุ์ของตนเอาไว้ ซึ่งปัจจุบันชาวไทลื้อได้พยายามหยิบยกสำนึกของการมีตัวตนทางชาติพันธุ์ของคนขึ้นมาอีกครั้ง และส่งต่อสำนึกดังกล่าวไปยังเครือข่ายชาวไทลื้อในพื้นที่อื่นๆ นำมาสู่กระบวนการรื้อฟื้นสำนึกทางประวัติศาสตร์ ของชุมชนทางวัฒนธรรมไทลื้อ โดยเฉพาะในชุมชนไทลื้อในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
จากยุคการอพยพสู่ ‘เชียงคำ’ จนถึงยุคการขยายตัวของรัฐสยามที่ ‘ความเป็นลื้อ’ ค่อยๆ เลือนหาย
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าชาวไทลื้อได้อพยพเคลื่อนย้ายเข้าสู่หัวเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือ ด้วยเหตุผลทางการเมืองในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ด้วยการนำของ พระเจ้ากาวิละ (2325 – 2358) ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการอพยพกวาดต้อนผู้คนครั้งใหญ่เข้าสู่ล้านนา อีกทั้งยังเป็นการตัดกำลังของข้าศึก และป้องกันไม่ให้ต่างชาติกลับไปเกณฑ์กำลังคนในสิบสองพันนา เพื่อการวกกลับมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนืออีก จะสังเกตได้ว่าในยุคที่มีการกวาดต้อนนั้น กำลังคนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูบ้านเมืองหลังจากภาวะสงคราม และหลังจากนี้ยังพบว่ามีชาวไทลื้ออพยพเข้ามาอีกหลายครั้ง
มีเอกสารในท้องถิ่นที่กล่าวถึงการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไทลื้อ ในอำเภอเชียงคำ ในยุคสมัยของ เจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช (ประมาณปี 2399) พระองค์ทำการศึกที่เมืองเชียงตุง ได้พบเห็นชนกลุ่มชาวไทลื้อ ที่มีวิถีชีวิตที่รักสงบ, ขยันขันแข็ง, อดทน แต่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของจีนฮ่อ จึงอพยพกวาดต้อนมาอยู่ใน เขตอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ต่อมาทรงเกรงว่าชาวไทลื้อจะกลับยังถิ่นฐานเดิมอีก จึงได้อพยพเคลื่อนย้ายอีกครั้งไปที่ อำเภอเชียงม่วน เมื่อปี 2416 แต่เนื่องด้วยอำเภอเชียงม่วน มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์น้อย อีกทั้งยังมีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนมากแล้ว หัวหน้าชาวไทลื้อจึงได้ไปขออนุญาตเจ้าเมืองน่านเพื่อออกสำรวจหาถิ่นที่อยู่ใหม่ จนได้มาพบพื้นที่อันกว้างขวาง และมีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนมีแม่น้ำ 3 สายไหลผ่านนั่นคือท้องที่ อำเภอเชียงคำ จึงได้พากันอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังพื้นที่แห่งนี้เมื่อปี 2436
ทั้งนี้การอพยพเคลื่อนย้ายของชาวไทลื้อนั้นยกมาทั้งระบบของสังคม ซึ่งยังมีสำนึกทางประวัติศาสตร์และความเป็นลื้ออยู่ โดยแสดงออกผ่านความทรงจำและการโหยหาอดีต พบว่ามีการตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อจากบ้านเกิดเมืองนอนเดิม และยังคงรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิม ของตนที่ติดตัวมาจากสิบสองพันนา ซึ่งสามารถแสดงออกสำนึกดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ เช่น ภาษา การแต่งกาย คัมภีร์ พิธีกรรม การขับต่างๆ ที่ยังสามารถรับรู้ได้จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในปัจจุบัน เนื่องจากการแสดงตัวตนทางชาติพันธุ์ไม่ได้ขัดแย้งหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงในสมัยนั้น อัตลักษณ์และความทรงจำของกลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะรัฐจารีตล้านนาเดิม ไม่มีนโยบายเบียดขับหรือแทรกแซงความเป็นลื้อ
แต่หลังจากการขยายตัวเข้ามาของรัฐสยาม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ดำเนินการปฏิรูป การปกครองให้เป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยการส่งราชวงศ์จากส่วนกลางเข้ามาปกครองท้องถิ่น ในรูปแบบของการตั้ง อำเภอ จังหวัด อีกทั้งการเข้ามาของการศึกษาแบบตะวันตก ที่ส่งผลต่อสำนึกทางอัตลักษณ์ของความเป็นลื้อที่ค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นไทยมากขึ้น โดยชาวไทลื้ออำเภอเชียงคำ เริ่มปรับตัวเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ และพยายามมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับท้องถิ่น มาตั้งแต่สมัยการก่อตั้ง อำเภอเชียงคำ เมื่อประมาณปี 2447 จะเห็นได้จากกรณีครั้งเมื่อมีการวางแผนเพื่อตัดถนนภายในอำเภอเชียงคำ ดำเนินการโดยพระยาพิศาลคีรี นายอำเภอคนแรกของเชียงคำ ได้ร่วมกับเจ้าพญาชัยสิทธิ ซึ่งเป็นกำนันและผู้นำกลุ่มชาวไทลื้อ ได้ดำเนินการร่วมกันเพื่อวางแผนผังและตัดถนนภายในอำเภอเชียงคำ จึงเป็นที่มาของถนนสายหลัก 2 สายในอำเภอเชียงคำ ได้แก่ ถนนพิศาล และถนนสิทธิประชาราษฎร์
จากการปรับตัวของชาวไทลื้อ ส่งผลให้ความเป็นลื้อ เริ่มลดน้อยลงไปตามกาลเวลา ล่วงมาถึงช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 โดยเฉพาะเมื่อสยามดำเนินนโยบายการสร้างชาติ และชาตินิยมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้ความเป็นลื้อได้ถูกผันแปรเป็นลื้อแบบไทย โดยชาวลื้อแปรเปลี่ยนมาแสดงความเป็นไทยมากขึ้น ถึงแม้สำนึกของความเป็นมื้อจะเจือจางลง แต่ก็ยังคงดำรงอยู่และถูกเก็บซ่อนเอาไว้ นอกจากนี้ชาวไทลื้อได้ปรับตัวเพื่อสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสังคมไทย โดยชาวไทลื้อฝันตัวเองจากการทำการเกษตรแบบยังชีพ มาเป็นการทำการเกษตรแบบเข้มข้น ซึ่งพบว่าชาวไทลื้อออกมาขยายพื้นที่ทางการเกษตรนอกหมู่บ้าน โดยเฉพาะทำนาข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนชาวไทลื้อ
นอกจากนี้ การพัฒนาและการขยายตัวของระบบการศึกษา ที่เข้ามาพร้อมกับการพัฒนาประเทศ หลังปี 2500 ส่งผลให้ชาวไทลื้อส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือได้ว่าโรงเรียนสามารถปลูกฝัง “ความเป็นไทย” ได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ “ความเป็นลื้อ” กลับกลายเป็นสิ่งที่ น่าอับอาย และล้าหลัง ส่งผลให้ความเป็นชาติพันธุ์ไทลื้อได้ถูกกดทับและเก็บซ่อน ตัวตนเอาไว้ อีกทั้งทางด้านปัญหาความมั่นคง ที่หวาดหวั่นต่อภัยของคอมมิวนิสต์ ภายในอำเภอเชียงคำ ช่วงปีได้ส่งผลต่อการแสดงตัวตนและอัตลักษณ์ของชาวไทลื้อ ซึ่งความเป็นชาติพันธุ์และ “ความเป็นลื้อ” คงดำรงอยู่และฝังตัวในสภาพ “ต้นทุนทางวัฒนธรรม”
จากกระแสโลกาภิวัตน์สู่กระบวนรื้อฟื้นสำนึกทางประวัติศาสตร์ และการจัดงาน “สืบสานตำนานไทลื้อ”
ต่อมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ยืนยันให้เห็นชุมชนในจินตนาการรูปแบบใหม่ ที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน อัตลักษณ์และความมีตัวตนเริ่มถูกนิยามใหม่บนฐานของการมีเชื้อชาติและวัฒนธรรมเดียวกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วทั้งโลก มีขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ล้วนเป็นประจักษ์พยายามยืนยันให้เห็นชุมชนใน จินตนาการแบบใหม่ ที่วางอยู่บนฐานของความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน อัตลักษณ์และความมีตัวตนเริ่มถูกนิยามใหม่บนฐานของการมีเชื้อชาติและวัฒนธรรมเดียวกัน
ในกรณีของกลุ่มไทลื้ออำเภอเชียงคำ ประมาณปี 2520 พบว่าเริ่มเกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้รู้ในท้องถิ่น โดยได้ร่วมกันสืบค้นและบันทึกประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ โดยอาศัยจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ แนวคิดดังกล่าวเกิดจากกลุ่มปัญญาชนในท้องถิ่น ที่ต้องการให้มีประวัติศาสตร์ของตนเองที่เป็นลายลักษณ์อักษร อีกทั้งการเข้ามาของนักวิชาการ ที่ทำการศึกษาวิจัยกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ ด้านหนึ่งกลับเป็นแรงกระตุ้น ให้คนในชุมชนเริ่มหันมาสนใจในความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง ลักษณะดังกล่าวพอเป็นเค้ารางให้เห็นการเริ่มต้น ของกระบวนรื้อฟื้นสำนึกทางประวัติศาสตร์โดยปัญญาชนในท้องถิ่น ซึ่งล้วนเป็นผลผลิตของระบบ การศึกษาและระบบราชการ ประกอบกับในช่วงเวลานั้นกระแสของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยขยายตัว และปรากฏการณ์การโหยหาอดีตของคนกลุ่มต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการหันมาสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
จนเมื่อประมาณปี 2537 กระแสท้องถิ่นนิยมลื้อได้ถูกปลุกมาอีกอย่างรวดเร็วและรุนแรงโดยกลไกภายในของชุมชุมที่เริ่มปรับเปลี่ยนกลายเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น ได้ร่วมมือกันระหว่าง ชาวบ้าน พระสงฆ์ ผู้รู้ในท้องถิ่น ผู้นำทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ พบว่าเป็นการรวมกลุ่ม ทางชาติพันธุ์ เพื่อจัดงาน “สืบสานตำนานไทลื้อ” ขึ้นในปี 2538 หากมองรูปแบบในการจัดงาน พบว่ากิจกรรมภายในงานไม่ว่าจะเป็น การจัดรูปแบบของขบวนแห่ กิจกรรมการแสดงบนเวที ส่วนของงานนิทรรศการ กิจกรรมสาธิต การจัดอาหารในรูปแบบขันโตกดินเนอร์ ล้วนตอบสนอง “ความเป็นลื้อแบบสมัยใหม่” ซึ่งเป็นการประดิษฐ์กิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชนไทลื้อเชียงคำ โดยผลของการจัดงานได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากความมีสำนึก ของการเป็นเจ้าของทางวัฒนธรรม จนมีผลิตซ้ำกระบวนการดังกล่าวทุกๆ ปี กระบวนการรื้อฟื้นและผลิตซ้ำวัฒนธรรมไทลื้อนั้น ส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางชุมชนไทลื้อทั้งในและนอกพื้นที่ชุมชนเชียงคำ ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงชุมชนไทลื้อเชียงคำพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางของ ไทลื้อ โดยมีสิทธิธรรมเหนือชาวไทลื้อในท้องที่อื่นๆ จนพัฒนากลายมาเป็น “สมาคมไทลื้อแห่ง ประเทศไทย” ผลของการกระบวนการที่ผลิตซ้ำทุกปี ตลอดจนการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐ ได้ทำให้วัฒนธรรมของชาวไทลื้อเป็นวัฒนธรรมที่ขายได้ ส่งผลต่อการผลิตสินค้าทาง วัฒนธรรมของคนในชุมชนเพื่อตอบสนองกับกระแสท้องถิ่นนิยมและกระแสของทุนนิยม
จนนำมาสู่การจัดตั้งทางวัฒนธรรมของคนในชุมชนไทลื้อเชียงคำ ที่เป็นแบบแผนปฏิบัติในกระบวนการรื้อฟื้นจิตสำนึกทางชาติพันธุ์ไทลื้อในท้องที่อื่นๆ โดยยึดถือหลักการและรูปแบบจากชุมชนไทลื้อเชียงคำ ซึ่งผลสำเร็จของกระบวนการรื้อฟื้นสำนึกทางประวัติศาสตร์ นำมาสู่งาน “สืบสานตำนานไทลื้อโลก” ที่มีลักษณะเป็นการจัดตั้งทางวัฒนธรรม ที่ดำเนินการโดยกลุ่มนักการเมืองและปัญญาชน เข้ามาเป็นผู้จัดการ ซึ่งไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับคนในชุมชนของการมีส่วนร่วมในการจัดงาน จนอาจกล่าวได้ว่าชาวบ้านไม่สามารถที่เข้าถึง “ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์” ได้
การแย่งชิงพื้นที่ของ “ความเป็นลื้อ” จากนักการเมือง นำไปสู่ตอบโต้และการต่อรองจากชาวบ้าน คือ การก่อตั้งชมรมลื้อเล็กๆ ที่มีความรู้เฉพาะทาง เช่น ขับลื้อ การเลี้ยงผี การฟ้อน กลุ่ม พ่อบ้าน กลุ่มแม่บ้าน ฯลฯ ซึ่งภูมิปัญญาดังกล่าวกลุ่มปัญญาชนหรือนักการเมือง ไม่สามารถที่จะเข้าถึง หรือแย่งชิงได้พื้นที่นั้นได้ ส่งผลให้กลุ่มนักการเมืองและปัญญาชน จำเป็นที่จะต้องอาศัยกลุ่มต่างๆ ของชาวบ้านเหล่านี้เพื่อการดำรงซึ่งการจัดตั้งทางวัฒนธรรมไทลื้อเอาไว้
กระบวนการรื้อฟื้นสํานึกทางประวัติศาสตร์และการจัดตั้งวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นในชุมชนไทลื้อเชียงคำ เป็นกระบวนการที่ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ หากแต่มีความสลับซับซ้อนเกิดการสร้าง ความหมาย แย่งชิง ต่อรอง ผลิตซ้ำ เพื่อที่จะนิยามตัวตนของตนเองขึ้นมาเป็น “ลื้อใหม่” ตลอดจนพัฒนาขยายพรมแดนความเป็นลื้อออกไปในระดับโลก ภาพรวมของกระบวนการรื้อฟื้นสำนึกทางประวัติศาสตร์และจัดตั้งวัฒนธรรมไทลื้อ จึงเต็มไปด้วยประดิษฐ์กรรมทางวัฒนธรรมของ กระบวนการสร้างและรื้อฟื้น ตลอดจนการเข้ามาจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจของนักการเมือง คนชั้นกลาง ชาวบ้าน คนกลุ่มต่างๆ เพื่อร่วมกันนิยามตัวตนของ “ความเป็นลื้อ” และแสวงหา “พื้นที่, ผลประโยชน์” ภายใต้ทรัพยากรทางชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นทุนวัฒนธรรมร่วมกันของชุมชน.
อ้างอิง
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เริ่มสนใจงานเขียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นทั้งนักเขียน นักเรียน นักดนตรี และนักรัก