Lanner เปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่อยากสื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com
เรื่อง: วิชชากร นวลฝั้น
จากประเด็นอันร้อนแรงทางการเมืองที่ นายศิริโรจน์ ธนิกกุล สส.ก้าวไกล ได้หยิบเสื้อไรเดอร์สีเขียวขึ้นมาใส่ในการประชุมสภาฯ อภิปรายแถลงนโยบายรัฐบาล 12 ก.ย. 2566 พร้อมกล่าวว่า ตนไม่ได้มาประกวดชุดแฟนซีหรือแต่งเอาเท่ แต่ตนเคยเป็นไรเดอร์ส่งอาหารมาก่อน จึงมาเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขา ไรเดอร์อาจจะไม่ใช่อาชีพใหม่ในหลายประเทศ ท่านอาจจะรู้จักในชื่อของเด็กส่งของอะไรก็ตาม แต่เมื่อโควิดเกิดขึ้นก็ทำให้อาชีพนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ตอนนี้มีหลายเจ้าที่ทำธุรกิจแข่งขันในตลาด มีจำนวนพนักงานมากถึง 400,000 คน แต่จากหน้าข่าวที่เห็น พี่น้องไรเดอร์ เหล่านี้ต่างก็ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน เช่น ค่ารอบที่ไม่เป็นธรรม ค่าบำรุง ค่าเสื่อมสภาพ พร้อมส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลว่า ทางแก้ที่ดีที่สุดคือแก้กฎหมาย กำหนดนิยามของการจ้างงาน สัญญาจ้างที่เป็นธรรม มีสิทธิ์ในการรวมตัวเป็นสหภาพ มีสิทธิ์เหมาะสมในประกันสังคมมาทั่วหน้าที่ทำให้พี่น้องไรเดอร์ดียิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้มีความพยายามผลักดัน และเรียกร้องจากกลุ่มไรเดอร์อยู่หลายครั้ง
“คิว” เด็กหนุ่มวัยรุ่นไฟแรง จุดเริ่มต้นของการเป็นไรเดอร์ส่งอาหารนั้น เกิดจากการอยากใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงโควิด จึงตัดสินใจสมัครเป็นไรเดอร์ส่งอาหารบริษัท Food Panda ในจังหวัดเชียงใหม่ และทำอาชีพนี้เป็นอาชีพเสริมต่อเนื่องมาจนเข้าปีที่ 4
กลุ่มไรเดอร์ที่คิวสังกัดอยู่นั้นคือ “กลุ่มฉลาม” ซึ่งในอดีตคิวเคยสังกัดอยู่กลุ่มนกเหยี่ยวมาก่อน ก่อนจะย้ายมายังกลุ่มฉลาม คิวได้เล่าว่ากลุ่มใหญ่ของไรเดอร์บริษัท Food Panda มีสมาชิกประมาณ 1,700 คน และกลุ่มย่อยจะมีสมาชิกประมาณ 100 – 120 คน ซึ่งใช้ไลน์กลุ่มในการติดต่อสื่อสาร
กลุ่มย่อยมักจะมีชื่อแทนด้วยสัตว์ เช่น ฉลาม ลิง เหยี่ยว ยูนิคอร์น สมาชิกทุกคนจะได้รับสติ๊กเกอร์และติดไว้บริเวณกล่องเก็บอาหาร กลุ่มย่อยจะมีหัวหน้ากลุ่มคอยดูแลสมาชิก โดยคนในกลุ่มจะเรียกว่า “กัปตัน” หน้าที่ของกัปตันก็คือการติดต่อประสานงานระหว่างไรเดอร์ในกลุ่มของตนกับผู้ดูแลไรเดอร์ของบริษัทโดยตรง แต่ในทางกลับกันกัปตันไม่มีอำนาจใดๆ ที่สามารถสั่งการไรเดอร์คนอื่นได้ เป็นเพียงไรเดอร์คนหนึ่งที่มีหน้าที่ประสานงานต่างๆ ภายในกลุ่มเท่านั้น
การรวมกลุ่มเช่นนี้มีประโยชน์เวลาที่ไรเดอร์คนไหนเกิดปัญหา เช่น หาลูกค้าไม่เจอ อยากยกเลิกออเดอร์ หรือแม้กระทั้งรถเสียก็ขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในกลุ่มให้มาช่วยเหลือได้ อีกทั้งยังได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือการแจ้งปัญหาต่างๆ บางครั้งในช่วงเวลาว่างหลังการทำงานมีการนัดดื่มสังสรรค์ หรือขับรถไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แต่ก็มีไรเดอร์บางคนที่ไม่อยู่สังกัดกลุ่มไหนเลยจะเรียกว่า “บินเดี่ยว”
คิวมองว่าการรวมกลุ่มแบบนี้ไม่มีข้อเสีย มีแต่ข้อดีและเกิดประโยชน์กับไรเดอร์ทุกคน เพื่อให้ประสานงานและได้รับความช่วยเหลือกรณีที่เกิดปัญหาต่างๆ อย่างรวดเร็ว คิวยังมีความคิดเห็นต่ออาชีพไรเดอร์ส่งอาหารว่าในอนาคตอาจจะมีการลดค่ารอบลง จากปกติที่วิ่งงานวันละ 8 ชั่วโมงแล้วยอดถึงเป้า ในอนาคตอาจต้องวิ่งวันงานละ 10 ชั่วโมงถึงจะได้ยอดเท่าเป้าที่เคยวิ่งงาน 8 ชั่วโมงจึงมีความกังวลในเรื่องนี้
อีกด้านในกรุงเทพฯ ไรเดอร์ทางฝั่งตะวันตกมีการตั้งกลุ่มช่วยเหลือกัน เกิดจากการพบปะกันในพื้นที่ทำงาน กลุ่มเกิดจากแรงบันดาลใจของไรเดอร์หญิงคนหนึ่ง ซึ่งประสบอุบัติเหตุและได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากเพื่อนร่วมอาชีพเป็นอย่างดี กลุ่มจัดตั้งขึ้นพร้อมกับกองทุนเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุ มีคณะกรรมการกองทุน กฎระเบียบ การจัดตั้ง “หัวหน้าสาย” ในพื้นที่ต่างๆ ใช้ไลน์กลุ่มเป็นเครื่องมือสื่อสาร ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 2,000 คน เนื่องจากสมาชิกขยายตัวออกไปกว้าง กลุ่มได้จัดทำสติ๊กเกอร์ติดรถ แสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือกัน และทำกิจกรรมร่วมกัน
เช่นเดียวกับกลุ่ม Grab สันทนาการ มีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มไลน์ แต่เมื่อไลน์มีข้อจำกัดว่าไม่สามารถรับสมาชิกจำนวนมากๆ ได้ กลุ่มจึงย้ายไปรวมตัวกันบนเฟซบุ๊ก ปัจจุบันหากนับรวมสมาชิกในกรุ๊ป Grab สันทนาการ และเพจ Grab สันทนาการ Family กลุ่มนี้มีสมาชิกอยู่ประมาณ 30,000 คน สมาชิกมาจากไรเดอร์ที่รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากนโยบายของบริษัท เช่น นโยบายลดค่ารอบ ที่ค่อยๆ ลดลงในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา สมาชิกส่วนใหญ่จึงเป็นไรเดอร์ของ Grab อย่างไรก็ตาม มีไรเดอร์จากบริษัทแพลตฟอร์มอื่นเข้ามาร่วมด้วย เพราะพวกเขาถือว่าผู้ให้บริการต่างๆ ล้วนเป็นพี่น้องกัน
ในต่างประเทศ วัฒนธรรมการรวมกลุ่มของแรงงานยังคงส่งผล โดยแต่ละกลุ่มจะช่วยเหลือกันและกัน โดยอำนาจต่อรองจากฝ่ายสหภาพแรงงานยังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้แต่หน่วยงานรัฐก็ยังให้ความคุ้มครอง โดยทำหน้าที่ฟ้องร้องบริษัทเอกชนหากพบมูลว่ามีการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม เพราะฉะนั้น โอกาสที่บริษัทเอกชนคิดจะเอาเปรียบแรงงานกลุ่มนี้จึงน้อยลง
ปัจจุบันในไทย แม้จะมีการรวมตัวของไรเดอร์เกิดเป็นกลุ่มสหภาพไรเดอร์ขึ้นก็ตาม แต่ยังไม่สามารถจัดตั้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเพราะไม่มีสถานะเป็นลูกจ้าง เนื่องจากตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ระบุว่า “สหภาพแรงงาน หมายถึงองค์กรของลูกจ้างที่จัดตั้งตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานจะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน หรือเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงว่าจะมีนายจ้างกี่คน”
สรุปแล้วการรวมกลุ่มของไรเดอร์มีเป้าหมายเพื่อการพบปะพูดคุย ติดต่อประสานงานในกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นระหว่างการทำงาน เพื่อให้ไรเดอร์คนนั้นได้รับการช่วยเหลือจากสมาชิกไรเดอร์คนอื่นและบริษัท โดยมีกิจกรรมนอกเหนือจากการทำงานที่ทำร่วมกัน และมีอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละกลุ่ม มากไปกว่านั้นยังมีความเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องถึงสวัสดิการ การดูแล และรายได้ที่ควรได้รับอย่างเหมาะสม จึงเกิดการจัดตั้งเป็นสหภาพที่มีเป้าหมายในการเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ
สุดท้ายนี้ หวังว่ารัฐบาลใหม่จะเล็งเห็นปัญหาและได้ยินเสียงเรียกร้องจากกลุ่มไรเดอร์เหล่านี้ เพื่อตรวจสอบบริษัทต้นสังกัด และแก้กฎหมายแรงงานให้ครอบคลุมถึงไรเดอร์ส่งอาหาร รวมทั้งสวัสดิการที่ควรจะได้รับ เนื่องจากเป็นอาชีพที่เสี่ยงภัยบนท้องถนน ควรมีประกันอุบัติเหตุที่ครอบคลุมแม้กระทั้งเวลาไรเดอร์เหล่านี้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลับมาทำงานอีกครั้งและไม่รู้สึกว่าบริษัทได้ทอดทิ้งพวกเขา อีกทั้งรถเกิดการสึกหรออย่างรวดเร็ว รายได้ค่ารอบจึงต้องสัมพันธ์กับต้นทุนเหล่านี้ด้วย เพราะไม่ว่าจะอาชีพไหนก็เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินก้าวไปข้างหน้า
อ้างอิง
- ศิริโรจน์ ธนิกกุล สส.ก้าวไกลใส่ชุดไรเดอร์ ซัดเศรษฐา “นายกส้มหล่น” จาก https://www.springnews.co.th/news/election66/843114
- การรวมกลุ่มของไรเดอร์ส่งอาหาร-การต่อรองกับแพลตฟอร์มข้ามชาติยักษ์ใหญ่ จาก https://decode.plus/20200909/
- เมื่อโรงงานคือท้องถนน 12: อำนาจต่อรองของไรเดอร์ จากกลุ่มช่วยเหลือกันสู่สหภาพแรงงานไม่เป็นทางการ จาก https://prachatai.com/journal/2023/03/103361
- ไรเดอร์ไทย เป็นอยู่ยังไง อยากได้อะไรบ้าง จาก https://rocketmedialab.co/rider/
- เร่งรัฐ “คุ้มครองไรเดอร์” ฐานเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ชีวิตยังเสี่ยง ไร้หลักประกัน จาก https://www.chula.ac.th/highlight/52122/
นักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ผู้ที่สนใจประเด็นทางสังคมรอบตัว และพยายามตามหาคำตอบเพื่ออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาการสื่อสารประเด็นทางสังคมในหลากหลายรูปแบบ เพื่อต้องการให้สังคมเกิดการรับรู้เพิ่มขึ้น