เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การขอตำแหน่งศาสตราจารย์ที่นานเกิน 8 ปี ผ่านทางเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โดยมีเนื้อหาดังนี้
“เดือนตุลาคม 2566 จะครบเวลา 8 ปี ที่ผมได้ยื่นขอตำแหน่ง ศ. ไปตั้งแต่เมื่อตุลาคม 2558 ตอนแรกก็คิดว่าอาจจะไม่ได้รวดเร็วสักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเนิ่นนานขนาดนี้ ไม่น่าเชื่อนะครับ มาจนจะครบ 8 ปี แต่กระบวนการนี้ก็ยังไม่จบไม่สิ้นเสียที
ปัญหาสำคัญมีหลายปัญหา แต่เรื่องหนึ่งก็คือ การที่ มช. กลับมาขอเอกสารหลายชิ้นภายหลังจากที่ผ่านไปห้าหกปี ทั้งที่ในตอนยื่นเอกสาร ทางหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบก็ได้ตรวจสอบและไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ กระทั่งผ่านความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิและสภามหาวิทยาลัยก็ได้อนุมัติตำแหน่ง ศ. ไปหลายปีแล้ว
ที่ผ่านมา ผมก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ทั้งในด้านของการค้นหาหลักฐานเท่าที่มีอยู่ รวมถึงการแสดงให้เห็นถึงการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ทั้งไปเจรจากับเจ้าหน้าที่และผู้บริหารหลายคน แต่ก็เหมือนเยี่ยวรดหัวเป็ด กล่าวคือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หลายคนที่ไปเจรจาก็กลายเป็น ศ. ปฏิบัติ ไปอย่างรวดเร็ว (แต่บังเอิญผมไม่ได้สนใจจะขอ ศ. ปฏิบัติ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร สะท้อนความรู้ทางวิชาการมากมายขนาดไหน)
วันนี้ ได้รับข่าวมาว่าทางมหาวิทยาลัยขอให้ทางคณะแก้ไขเอกสารอะไรบางอย่าง (ที่ผมไม่สนใจจะรับรู้แล้ว และยืนยันว่าจะไม่ดำเนินการอะไรอีกแล้ว แต่ทางคณะได้เป็นธุระดำเนินการให้แทน) ก็ได้แต่สะท้อนใจว่าความผิดพลาดครั้งหนึ่งในชีวิตก็คือ เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน มีคนชักชวนให้กลับไปอยู่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ด้วยความเบาปัญญาส่วนตัวนั่นแหละ จึงเลือกตัดสินใจจะอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ด้วยความเชื่อว่าคุณธรรมและความโปร่งใสของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งคงไม่ต่างกันมากเท่าไหร่
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จริง ๆ อันหนึ่งที่ผมจะแก้ไขก็คือ การย้ายไปอยู่ที่อื่น ๆ ที่เขาให้ความสำคัญและส่งเสริมความก้าวหน้าของบุคลากรมากกว่าแค่คำพูด
ไหน ๆ ก็พูดแล้ว ผมสามารถทวงบุญคุณที่สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยได้หลายอย่าง งานวิจัย 3 ชิ้นใน 5 ปีหลัง ได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ ที่ทำให้ผู้บริหารได้ไปยืนถ่ายรูปยิ้มแย้มกับผลงานของบุคลากรก็เป็นอันหนึ่งในอีกหลาย ๆ เรื่องที่ผมได้กระทำ
ต้องขอโทษหากที่เขียนมาอาจจะหยาบคายไปบ้าง แต่ผมก็คิดว่าสิ่งนี้ไม่ได้หยาบคายมากไปกว่าที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติต่อผม เอาง่าย ๆ ว่าถ้าผู้บริหาร บรรดาผู้ช่วย รอง หรือแม้กระทั่งอธิการบดี ขอตำแหน่งแล้วใช้เวลานานขนาดนี้ พวกท่านก็จะยิ้มแย้มสบาย ๆ กันอยู่ใช่หรือไม่
ผมไม่รู้หรอกว่าอธิการบดีจะได้อ่านจดหมายนี้หรือไม่ รบกวน IO ของมหาวิทยาลัยที่ชอบมาส่องเพจนี้ช่วยแจ้งหรือส่งต่อไปให้หน่อยก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง”
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล บรรจุเข้าเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2541 และมีผลงานทางวิชาการทั้งในรูปแบบงานวิจัยและหนังสือในช่วงปีพ.ศ.2543 – 2561 มากมาย แบ่งเป็นงานวิจัย 11 หัวข้อ และหนังสืออีก 9 เล่ม
งานวิจัยวิชาการ
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2546 โครงการทบทวนองค์ความรู้ระบบความ ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม.
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2547 บทสำรวจ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษา คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535: สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข. กรุงเทพฯ: อุษาการพิมพ์.
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2551 เพศวิถีในคำพิพากษา. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยระพีพัฒนศักดิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ CIDA และโครงการ UNIFEM CEDAW SEAP ประเทศไทย
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2551 การติดตามและประเมินผลโครงการจัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงาน ป.ป.ช. ประจ าจังหวัด (ภาคเหนือ) โครงการน าร่องจังหวัดล าพูนและสุโขทัย. 2551.
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2556 บุคคลเพศหลากหลายในระบบกฎหมาย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
- Somchai Preechasinlapakun. 2013 (2556) Dynamics and Institutionalization of Coups in the Thai Constitution. Japan: Institute of Developing Economies.
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล และคณะ. 2557 การศึกษาพัฒนาการการรับรอง และคุ้มครองสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล และคณะ. 2557 เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธตามบทบัญญัติของกฎหมาย.
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2558 ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – 2550
- นิฐิณี ทองแท้ และสมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2559 กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญชื่อ “ป๋วย” ใน ประจักษ์ ก้องกีรติ และปกป้อง จันวิทย์ บรรณาธิการ ป๋วยกับสังคมไทยในวิกฤตเปลี่ยนผ่าน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิ โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล (2561). โครงการการเมืองเชิงตุลาการและศาลรัฐธรรมนูญไทย: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
หนังสือ / ตำรา / เอกสารคำสอน
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2543 สิทธิการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย. กรุงเทพฯ: สถาบันพัฒนาการเมือง
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2546 ความยอกย้อนในประวัติศาสตร์ของบิดาแห่งกฎหมายไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2546 นิติปรัชญาทางเลือก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2548 นิติศาสตร์นอกคอก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2548 นิติศาสตร์ชายขอบ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2549 นิติศาสตร์ไทยเชิงวิพากษ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2550 อภิรัฐธรรมนูญไทย ปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2550 วัน อาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน 2550 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2552 ระบบกฎหมายไทยและสภาวะแม่เลี้ยงเดี่ยว ใน โสภิดา วีรกุล เทวัญ บรรณาธิการ. เป็นพ่อแม่หลังชีวิตคู่แยกทาง: มุมมองด้านกฎหมาย, มิติหญิงชายและวาท กรรม. เชียงใหม่: วนิดาการพิมพ์
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล. 2558 การวิจัยกฎหมายทางเลือก: แนวคิดและพรมแดนความรู้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน
ในส่วนของหลักเกณฑ์ที่จะถูกใช้ในการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ถูกเขียนไว้ในส่วนที่ 3 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพิจาณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย
ข้อ 27 ผู้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ต้องดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์และปฏิบัติหน้าที่มาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี
ข้อ 28 ผู้ขอกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ต้องมีชั่วโมงสอนประจำวิชาใดวิชาหนึ่งที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข้อ 29 งานวิจัย อย่างน้อย 2 เรื่อง ต้องได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติหรือระดับชาติ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด หรือ งานวิจัย อย่างน้อย 1 เรื่อง ต้องได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล ระดับนานาชาติหรือระดับชาติตามที่ ก.พ.อ. กำหนด และผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น รวมกันทั้งหมด อย่างน้อย 2 เรื่อง และ ตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย 2 เล่ม โดยที่ผลงานตาม (1) – (2) อย่างน้อย 2 เรื่อง ผู้ขอต้องเป็นผู้ประพันธ์อันดับแรก (First author) หรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ (Corresponding author) และตำราหรือหนังสือ อย่างน้อย 1 เล่ม ผู้ขอต้องเป็น ผู้ประพันธ์อันดับแรก (First author)
จะเห็นได้ว่าเอกสารต่างๆ ของ รศ.สมชาย ที่ได้ส่งให้ทางมหาวิทยาลัยนั้นได้รับการอนุมัติไปแล้วตั้งแต่แรกก่อนจะมีการขอเอกสารใหม่ในภายหลัง รวมถึงรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับงานวิจัยและหนังสือของ รศ.สมชาย ก็เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ดังนั้นหลักเกณฑ์ต่างๆ ในจุดนี้จึงไม่มีปัญหาอย่างไม่ต้องสงสัย
ดังนั้น ปัจจัยเดียวที่หลงเหลืออยู่ที่อาจทำให้การยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์ของ รศ.สมชาย กินเวลานานถึง 8 ปี จึงเหลือแค่กระบวนการการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเท่านั้น ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ก็ถูกเผยแพร่เอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยกองบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำแผนภาพกระบวนการการยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการเอาไว้โดยมีรายละเอียดขั้นตอนดังนี้
- อาจารย์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ยื่นข้อเสนอ
- ส่วนงานตรวจสอบคุณสมบัติ /คุณสมบัติครบถ้วน คณะยื่นข้อเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการ (ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน)
- มหาวิทยาลัยรับเรื่องในระบบเสนอท่านรอง แต่งตั้งประธานตรวจสอบคุณสมบัติตามข้อบังคับ (ใช้เวลา 3 วันทำการ)
- แต่งตั้งประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ใช้เวลา 3 วันทำการ)
- ส่งเอกสารสรุป และ กพอ 03 ให้ประธานพิจารณารายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ
- ทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิ
- ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงาน (ระยะเวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน)
- พิจารณาผลประเมิน นัดประชุมในกรณีที่มีปัญหา /ในระดับ รศ./ศ.
- มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการกำหนดวันประชุม คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และประชุมเพื่อสรุปผลประเมิน (ประชุมคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่ง 6 สัปดาห์ต่อครั้ง)
- ถ้าสภาวิชาการเห็นชอบการประเมิน จะส่งเรื่องต่อให้สภามหาวิทยาลัย
- แจ้งส่วนงาน/ ออกคำสั่งแต่งตั้ง และส่งผลงาน/คำสั่งไปที่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อขอเงินประจำตำแหน่ง
- แจ้งผลการพิจารณาตำแหน่งแก่ผู้เสนอขอตำแหน่ง
- ผู้เสนอขอรับทราบผลการเสนอขอ
แม้นี่จะเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนและต้องใช้เวลานาน แต่สำรวจดูยังไง ระยะเวลาทั้งหมดที่จะถูกใช้ไปในกระบวนการทั้งหมดก็ไม่น่าจะกินเวลาถึง 8 ปีได้ นี่จึงกลายเป็นปริศนาชวนฉงนว่าเหตุใดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงปล่อยให้คำขอตำแหน่งศาสตราจารย์ของบุคคลากรที่มีคุณภาพอย่าง รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล กินเวลาล่วงเลยมานานขนาดนี้ ไม่สำนึกบุญคุณที่ รศ.สมชาย ได้ทำให้ผู้บริหารได้ไปยืนถ่ายรูปยิ้มแย้มกับผลงานของบุคลากรตามที่เขียนไว้ในจดหมาย และไม่แน่ว่าท้ายที่สุด เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นความผิดพลาดของ รศ.สมชาย เองด้วยก็ได้ที่เข้ามาเป็นบุคคลากรในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นี้
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...