คนเหนือเดือนตุลา: 6 ตุลา 19 ในเชียงใหม่

ภาพจำของโศกนาฏกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่เจ้าหน้าที่รัฐร่วมมือกับกลุ่มฝ่ายชาตินิยมขวาจัดร่วมมือกันสังหารเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดเหี้ยมกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นภาพจำที่ฝั่งลึกแต่ก็ถูกหลงลืมในหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลักของการเมืองไทย

แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 นั้นไม่ได้ปักหลักความโหดร้ายไว้เพียงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่เพียงแห่งเดียว ซึ่งสั่นสะเทือนไปทั่วประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่ก็มีการประท้วงเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม จนถึงช่วงสายของวันที่ 6 ตุลาคม บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ (อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในปัจจุบัน) นักศึกษา ประชาชน และชาวนา หลายร้อยคนรวมตัวกัน ซึ่งเป็นการจัดชุมนุมคู่ขนานไปกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีจุดประสงค์เดียวกันคือขับไล่ ถนอม กิตติขจร ที่กลับมาเข้ามาประเทศไทยในวันที่ 19 กันยายน 2519 ให้ออกนอกประเทศ

ชีรชัย มฤคพิทักษ์

ชีรชัย มฤคพิทักษ์ แกนนำนักศึกษาในภาคเหนือในขณะนั้น เล่าว่า ถ้าเทียบจำนวนของผู้ชุมนุมในขณะ เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ในจังหวัดเชียงใหม่ นั้นมีผู้มาเข้าร่วมชุมนุมจำนวนน้อยกว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา 19 เป็นอย่างมากเนื่องจากมีกระแสการปราบปรามที่รุนแรงมาก

เหตุการณ์การชุมนุมที่จังหวัดเชียงใหม่มีผลมาจากกรุงเทพฯ มีการจัดเวทีคู่ขนานตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2519 ที่ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคนที่เป็นกำลังหลักสำคัญอยู่บนเวทีปราศรัย 3 คน ได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง, นเรศ สุมาลี และตัวเขาเอง มีการประเมินว่าสถานการณ์ตอนนั้นมันใกล้จุดวิกฤติมาก อาจจะมีการปราบและนำมาสู่การรัฐประหาร ช่วงที่ผ่านมานั้นชาวนาที่ร่วมเคลื่อนไหวกับสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือนั้นถูกลอบสังหารล้มตายไปเยอะมาก นักศึกษาก็โดนลอบวางระเบิด การต่อสู้มันเข้าสู่สภาวะของความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ความรุนแรงที่อาจจะคล้ายกับที่ธรรมศาสตร์ก็มีอันเกือบจะเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ภายหลังจากมีการรายงานข่าวการประท้วงของนักศึกษาบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2519 ผ่านทางสถานีวิทยุของรัฐ  ในวันที่ 5 ตุลาคม 2519 กลุ่มฝ่ายชาตินิยมขวาจัดนับพันคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้านก็ออกมาชุมนุมที่วัดเจดีย์หลวง ไม่ห่างจากสถานที่ชุมนุมประมาณ 350 เมตร ซึ่งถือเป็นระยะในการเผชิญหน้าที่เสี่ยงเกิดความรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง

ความตึงเครียดเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อความหวาดกลัวแก่ นักศึกษา ประชาชนและชาวนาที่ชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมาก และท้ายที่สุดกลุ่มฝ่ายชาตินิยมขวาจัดที่รวมตัวกันที่วัดเจดีย์หลวงพร้อมประกาศว่าจะใช้วิธีการขั้นเด็ดขาดในการสลายการชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

จนกระทั้งในเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลา 10.00 น. กลุ่มลูกเสือชาวบ้านส่งตัวแทน 10 คนมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยขีดเส้นตายให้เวลาต้องยุติการชุมนุมก่อน 12.00 น. ถ้าไม่ทำทำตามที่บอกก็จะเข้าสลายการชุมนุมด้วยกำลังที่มี ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนั้นกลุ่มผู้นำนักศึกษาก็เกรงว่าจะเกิดความรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ จาตุรนต์ ฉายแสง 1 ใน 3 แกนนำปราศรัยในขณะนั้นจึงตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 10.45 น. เป็นการปิดฉากความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนที่ธรรมศาสตร์ โดยหลังจากยุติการชุมนุมในวันนั้นเอง นักศึกษาและชาวนาหลายคนต้องหลบหนีเข้าเขตป่าเขาไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เพราะเกรงว่าภยันตรายจะย่างกรายมาถึง ก่อนที่ในช่วงค่ำ 18.00 น. คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จะทำการรัฐประหาร โดยอ้างว่าไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้

อ้างอิง

  • สัมภาษณ์ ชีรชัย มฤคพิทักษ์ วันที่ 4 ตุลาคม 2566 
  • หนังสือ การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน ชาวนา นักศึกษา กฎหมายและความรุนแรงในภาคเหนือของไทย โดย ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น​

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง