คนเหนือเดือนตุลา: ปาหนัน-จีรวรรณ โสดาวัฒน์ ‘มังกรน้อย’ เบ้าหลอมเยาวชน

เรียบเรียง: วัชรพล นาคเกษม

ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

“ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คุณพ่อเป็นชาวนาธรรมดา ในอำเภอดอยสะเก็ด ชีวิตของชาวนาทั่วไปในภาคเหนือถูกเอาเปรียบจากเจ้าที่ดิน ถ้ามีเงินไม่พอจ่ายค่าเช่า ไม่พอเลี้ยงครอบครัว ชาวนาก็ต้มเหล้าขายเอาเงินมาเลี้ยงลูกเมีย ก็ถูกเจ้าหน้าที่สรรพสามิตไล่จับ เข้าไปเก็บฝืนในป่าเพื่อนำมาเผาถ่านขายก็ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไล่จับอีก เรื่องเหล่านี้เองชาวนาภาคเหนือจึงเป็นผู้คนที่ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐกับนายทุนอย่างไม่เป็นธรรม”

ปาหนัน-จีรวรรณ โสดาวัฒน์ อดีตกลุ่มมังกรน้อย ลูกหลานชาวนาที่เคลื่อนไหวในนามสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ เล่าประสบการณ์ของตนในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ว่าช่วงนั้นปาหนันอายุเพียง 14 ปี พ่อของตนนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นชาวนาที่ถูกขูดรีดและได้รับความกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่นิสิตนักศึกษาเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิต่างๆ ให้ชาวนาชาวไร่ได้รับรู้ โดยเฉพาะกฎหมายค่าเช่านา

หลังจากชาวนาโดนเอาเปรียบจากเจ้าที่ดินอย่างหนักมาเป็นเวลานาน ภายหลัง เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เกิดการตื่นตัวในเรื่องของประชาธิปไตยในทั่วประเวลา เกิดการรวม “สามประสาน” นักศึกษา ชาวนา กรรมกร นักศึกษาลงสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม

จนกระทั่งเกิดโครงงานชาวนาของศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือขึ้น พร้อมกันกับการเกิดขึ้นของ “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)” ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 พร้อมคำขวัญที่ว่า “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” มีการขับเคลื่อนเพื่อที่จะเรียกร้อง พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา 2517 ให้ประกาศใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ  พร้อมย้ำให้เจ้าของที่ดินต้องปฏิบัติตาม และนำมาสู่การประกาศใช้ครอบคลุมทุกทิศทั่วไทยในช่วงปี 2518 ซึ่งถือเป็นชัยชนะสำคัญที่นักศึกษากับชาวนาร่วมกันต่อสู้ หลังจากที่ชาวนาไทยต้องเผชิญปัญหาทุกข์ยากไม่มีวันจบ โดยเฉพาะในภาคเหนือที่ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2493 ที่ไม่ครอบคลุมถึงภาคเหนือ นี่คืออีกย่างก้าวสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งที่เรียกว่าเป็นชัยชนะที่นักศึกษาและชาวนามีประวัติศาสตร์ร่วมกัน

“เหล่านักศึกษาได้เข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้าน ชาวบ้านจึงตื่นตัวเร็วมากเนื่องจากได้รับความกดดันต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเรื่องสิทธิเสรีภาพ คุณพ่อจึงเรียนรู้และเรียกร้องเรื่องการออกกฎหมายค่าเช่านา และได้เดินสายเผยแพร่ไปยัง 17 จังหวัดในภาคเหนือ เพื่อให้ชาวนาได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2519 ประเด็นที่เผยแพร่ส่วนใหญ่คือการทำความเข้าใจว่าสิทธิของชาวนาเป็นยังไง ชาวนาถูกกดขี่ขูดรีดยังไง จนมีสมาชิกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ถึงหนึ่งแสนกว่าครอบครัว”

นักศึกษาช่วงเวลานั้นก็มีเครดิตมาก เนื่องจากชาวไร่ชาวนามีปัญหาก็จะเข้าหานักศึกษา ไปร้องทุกข์กับนักศึกษา ในสายตาของปาหนันในช่วงเวลานั้นเองก็มีความรู้สึกผูกพันไปด้วย เธอมองตัวเองเป็นเหมือน ‘น้อง’ ของพี่ๆ นักศึกษา ลูกหลานชาวนาหลายคนเองก็มีความเชื่อมั่นในตัวนักศึกษากันมาก

“เด็กๆ ที่เป็นนักเรียนตอนนั้นมีประมาณ 9 คน มาจาก อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอห้างฉัตร(ลำปาง) และก็ค่อยๆ มีกันเยอะขึ้น เหล่าพี่ๆ ได้เข้ามาสร้างกระบวนการเรียนรู้และฝึกเด็กๆ พาไปฟังเพลงเพื่อชีวิตที่อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พาไปติดโปสเตอร์ตอนกลางคืน พาไปฟังเสวนาวิชาการในมหาวิทยาลัย จัดเสวนาให้น้องๆ โดยนำประเด็นจากหนังสือและบทความมาให้อ่าน อาทิ ปรัชญาชาวบ้าน ชีวทัศน์เยาวชน นิยายเรื่องแม่ ของแมกซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky) คนขี่เสือ ของ ภวานี ภัฏฏาจารย์ ความรักของวัลยา ของเสนีย์ เสาวพงศ์ อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แล้วฝึกให้พูดคุยกัน แต่ใช้เวลานานกว่าจะพูดได้ ช่วงปิดภาคเรียนเหล่าพี่ๆ ก็พาไปเข้าค่ายพัฒนาชนบทด้วย ไปเกี่ยวข้าวนั่นแหละ เราเป็นลูกชาวนากันอยู่แล้วแต่ก็ได้เรียนรู้ความคิดใหม่ๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้เติบโต”

อย่างไรก็ตาม ช่วงปี พ.ศ. 2518 – 2519 เป็นช่วงเวลาที่ชาวนาถูกสังหารอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเหนือ อย่างพ่อของปาหนันเองก็เคยถูกลอบยิงแต่ยิงผิดตัว คนถูกยิงก็ตายฟรี เคยถูกปาระเบิดเข้ามาที่บ้าน แต่คนในครอบครัวไม่ได้รับการบาดเจ็บ นักศึกษาในช่วงนั้นเองก็ลำบากเพราะถูกจับตามอง และมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญความรุนแรง ห้วงยามนั้นเอง “กลุ่มมังกรน้อย” จึงก่อกำเนิดขึ้นจากการพูดคุยกับของนักศึกษาในโครงงานชาวนาร่วมกับเยาวชนลูกชาวนา โดยมีภารกิจคือการเป็นหน่วยสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบท คอยส่งข่าว ผ่านวิธีการท่องจำ ให้กับนักศึกษาและชาวนาให้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะถ้าเป็นการเดินเอกสารมีโอกาสถูกจับได้โดยง่าย

“สุดท้าย เราถูกจับช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2519 ที่บ้านของพี่ๆ นักศึกษาโครงงานชาวนาในเมืองเชียงใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพบหนังสือหัวก้าวหน้า และกล่าวหาว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร พี่ๆ ก็ไม่ได้ชักชวนและไม่มีความจำเป็นให้เราเข้าป่า แต่พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เราจึงตัดสินใจเข้าป่าเพราะอยู่ไม่ได้และถูกกดดันจากทุกส่วน”

“เราขอบคุณพี่ๆ นักศึกษา หลายคน ที่ได้มาทุ่มเทช่วยเหลือชาวนาที่มีปัญหา เสียผลประโยชน์ของตนเอง และขอบคุณเหล่าพี่ๆ นักศึกษาที่เข้ามาอบรมบ่มเพาะกลุ่มมังกรน้อย อุดมการณ์ของพวกพี่ๆ ได้ปลูกฝังเรื่องการปลดแอกคนยากคนจน เป็นเบ้าหลอมที่สำคัญที่ทำให้เราสร้างที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรม สุดท้ายขอฝากถึงน้องๆ นักศึกษาในปัจจุบันว่า เราตั้งใจเรียนหนังสือเพื่อผลประโยชน์ของตนเองแล้ว แต่อย่างน้อยเราต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนด้วย”

การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเสวนาในวาระครบรอบ 50 ปี ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 “ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์การต่อสู้กึ่งศตวรรษ เดือนตุลา และการเมืองเรื่องของความทรงจำ” ร่วมบรรยายโดย ดิน บัวแดง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จีรวรรณ โสดาวัฒน์ อดีตกลุ่มมังกรน้อย ลูกหลานชาวนาที่เคลื่อนไหวในนามสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร มาลินี คุ้มสุภา และอาจารย์ ดร วันพัฒน์ ยังมีวิทยา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยลัยเชียงใหม่

บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner สนใจหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน : )

ข่าวที่เกี่ยวข้อง