เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 พรรคก้าวไกลจังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรม ‘ก้าวกรีน Day : PM2.5’ ณ ลานจรัญ ตั้งแต่เวลา 16.00 นำเสนอนโยบายและวิธีแก้ไขปัญหาPM2.5 ที่เป็นปัญหาต่อเนื่องในจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างยาวนาน ให้แก่รัฐบาล รวมไปถึงการทำงานในฐานะฝ่ายค้านแบบเชิงรุก
ภายในกิจกรรมมีการจัดเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และปัญหา PM2.5 นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการจาก Pm2.5 aqi thailand และบูธกิจกรรมสิ่งแวดล้อมพรรคก้าวไกล และ พันธมิตรภาคีเพื่อสิ่งแวดล้อม
มีการเปิดตัว สส.คณะทำงานปีกสิ่งแวดล้อมพรรคก้าวไกล #ก้าวกรีน ดังนี้ กฤต ศิลปชัย พรรคก้าวไกลระยอง เขต 2 ,กมนทรรศ กิตติสุนทรสกุล พรรคก้าวไกลระยอง เขต 1 ,บุญเลิศ แสงพันธุ์ พรรคก้าวไกลสมุทธปราการ เขต 7 ,สรพัช ศรีปราชญ์ พรรคก้าวไกลสระบุรี เขต 1 และสส.แบบบัญชีรายชื่อได้แก่ พูนศักดิ์ จันทร์จำปี ,ดร.ศนิวาร บัวบาน และ นิติพล ผิวเหมาะ ทั้งนี้หลังจากการเปิดตัว สส.ปีกสิ่งแวดล้อมพรรคก้าวไกล มีเวทีเสวนา “นโยบายสิ่งแวดล้อมก้าวไกล” ที่พูดถึง การทำงานของปีกสิ่งแวดล้อมว่าจะก้าวต่อไปยังไงในฐานะฝ่ายค้านในการผลักดัน ร่างพ.ร.บ.Climate Change และร่างพ.ร.บ.PRTR พร้อมทำงานเพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม การจัดการขยะ การผลักดันเกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยง
”เรามีนโยบายเกือบ 50 นโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เราพยายามจะทำนโยบายที่เป็นจริงขึ้นมา พัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อที่คนรุ่นต่อไปจะไม่ได้รับผมกระทบ“ พูนศักดิ์ จันทร์จำปี กล่าว
นอกจากนี้ยังมีเสวนาที่ให้ สส.พรรคก้าวไกลในจังหวัดเชียงใหม่ ออกมาพูดคุยในเสวนา “สส.เชียงใหม่ พูดคุยกับประชาชน ในการขับเคลื่อนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม” ผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้ เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู พรรคก้าวไกลเชียงใหม่ เขต 1 ,ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล พรรคก้าวไกลเชียงใหม่ เขต 3 ,การณิก จันทดา พรรคก้าวไกลเชียงใหม่ เขต 2 ,พุธิตา ชัยอนันต์ พรรคก้าวไกลเชียงใหม่ เขต 4 ,อรพรรณ จันตาเรือง พรรคก้าวไกลเชียงใหม่ เขต 6 และ สมดุลย์ อุตเจริญ พรรคก้าวไกลเชียงใหม่ เขต 7 โดยบนเวทเสวนา สส.แต่ละท่านได้เล่าถึงการทำงานในพื้นที่ทำงานในเขตของตนรวมไปถึงการทำงานในฐานะกรรมาธิการในแต่ละประเด็นที่สอดคล้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อม ดังนี้ การกระจายอำนาจ ,การท่องเที่ยว ,สวัสดิการคนทำงานภาคบริการที่ต้องเผชิญฝุ่นควัน ,ประสบการณ์ในการลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ,ความขัดแย้งของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ กับประชาชน ที่อยู่ในเขตป่า
”การผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อม เราต้องทำงานกับประชาชนและภาคประชาชน รวมไปถึงการกดดันรัฐบาลเห็นคุณค่าและรีบแก้ไขปัญหานี้ ทั้งระยะสั้นยาว“ พุธิตา ชัยอนันท์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา การขับเคลื่อนแก้ปัญหา PM2.5 จากภาคประชาสังคมเชียงใหม่ โดย เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ,วิทยา ครองทรัพย์ ประธานสภาลมหายใจ และชนกนันทน์ นันตะวัน สม-ดุล เชียงใหม่ เป็นการพูดคุยถึงการทำงานในส่วนของภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหา PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง มีการพูดถึงบริบทและปัญหาของการเผาในพื้นที่ภาคเหนือว่ามีต้นตอสาเหตุมาจากไหนบ้าง อาทิ การเผาในพื้นที่ป่าของรัฐ รวมไปถึงการทำงานของรัฐที่ทำงานแบบไม่ได้มองแบบองค์รวม
”การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการผลักดันนโยบายที่เข้าใจสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการที่มีเจ้าหน้าที่หรือคนทำงานในประเด็นนี้ จะเป็นผลดีต่อตัวเราและประชาชนทุกคน“ ชนกนันท์ กล่าว
เสวนา “แนวทางการแก้ปัญหา PM2.5” ผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ,เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต และ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ พรรคก้าวไกลเชียงใหม่ เขต 8 มีการพูดถึงปัญหาควันฝุ่นข้ามแดน รวมไปถึงสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น Climate Change การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการยื่นกฏหมายเอาผิดผู้ประกิบการไทยในประเทศเพื่อนบ้านที่ทำการเกษตรโดยขาดความรับผิดชอบจนเกิดมลพิษ
“ในฐานะนักสื่อสารเราอยากให้เรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคม อยากเห็นคนทะเลาะกันมากกว่านี้ เราจะทะเลาะในประเด็นที่ว่าเราจะทำยังไงดี แก้ไขยังไงดี ก่อนจะเคลื่อนไปถึงการลงมือทำ ให้กว้างกว่าที่เป็นอยู่” วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กล่าว
สุดท้ายมีการบรรยายพิเศษ ขับเคลื่อนฝ่ายค้านเชิงรุก ปักธงสิ่งแวดล้อมก้าวหน้าโดย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีการพูดถึงการทำงานในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุกที่ทำให้เห็นว่าพรรคก้าวไกลเป็นพื้นที่ให้ประชาชนร่วมออกแบบนโยบายเพื่อยื่นต่อรัฐสภา การจับตานโยบายของรัฐบาลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร และใช้งบประมาณเท่าไหร่ในการแก้ปัญหา รวมไปถึงการเตรียมพร้อมนโยบายสำหรับการเลือกตั้งในครั้งถัดไป
“พรรคก้าวไกลอยากเห็น คือการที่พรรคก้าวไกลเป็นพื้นที่และกลไกให้ประชาชนและพรรคการเมืองมาออกแบบและผลักดันนโยบายสาธารณะร่วมกันได้ตลอดเวลา สส.และกลไกของพรรคทั้งหมดจะทำงานร่วมกันกับประชาชนนำไปสู่การแก้ปัญหาของประชาชน พื้นที่นี้เป็นการ Empower ประชาชน มีรูปธรรมในการทำงานชัดเจน วัดผลได้ ติดตามได้” ชัยธวัช ตุลาธน กล่าว
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...