ตัดสายแนน และผ่าจ้านผี สองพิธีกรรมจากสองท้องถิ่น การก้าวข้ามความโศกเศร้าจากการสูญเสีย

เรื่อง: สุรยุทธ รุ่งเรือง
ภาพ: thibaan.com

กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินได้มากที่สุดหลังยุคโควิดไปแล้วสำหรับ “สัปเหร่อ” ภาพยนตร์ Spin-off จากไทบ้าน เดอะ ซีรี่ย์ ของผู้กำกับ ต้องเต ธิติ ศรีนวล ที่เพิ่งทำรายได้ทะลุ 500 ล้านบาทภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือนไปหมาดๆ แถมกระแสของภาพยนตร์ก็ยังคงแรงดีไม่มีตก ชวนให้ลุ้นว่าจะเข็นภาคต่อใหม่ๆ ออกมาให้เราได้เห็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอีสานอีกมากมายขนาดไหนในอนาคต



สัปเหร่อ บอกเล่าเรื่องราวการสูญเสียคนรักและความปลงไม่ตกของคนที่ยังมีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตภายในพื้นที่ภาคอีสาน และให้เราได้เห็นหนึ่งในพิธีกรรมจากทางภาคอีสานอย่างพิธีกรรม “ตัดสายแนน” ที่เป็นเสมือนจุดตัดของความอาวรณ์ของคู่รัก เพื่อให้คนเป็นได้ก้าวข้ามความเสียใจ และเพื่อให้คนตายได้เดินทางต่อไปอย่างหมดห่วง โดยในภาษาอีสาน คำว่า “สายแนน” หมายถึงคู่สร้างคู่สม, เนื้อคู่, สายใยในชาติก่อน ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีความน่าสนใจ และคล้ายคลึงกับหนึ่งในพิธีกรรมของทางล้านนา จนเราอยากจะหยิบยกมาพูดถึงในวันนี้ 


ภาพจากภาพยนตร์สัปเหร่อ (https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/entertainment/1094166)

พิธีกรรมตัดสายแนน พิธีกรรมอีสานเพื่อตัดสัมพันธ์ของคู่รัก

พิธีกรรมตัดสายแนนจะถูกประกอบขึ้นเมื่อมีสามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไป โดยจะให้สามีหรือภรรยาที่ยังมีชีวิต หันหลังให้กับร่างของคนรักโดยผูกมือของทั้งสองไว้โดยสายสิญจน์ ก่อนจะมีการตัดสายสิญจน์ให้ขาด จากนั้นสามีหรือภรรยาก็จะเดินจากไปโดยไม่หันหลังกลับมามอง เป็นการบ่งบอกว่าตนได้ตัดสายสัมพันธ์ออกจากความรักครั้งนี้และพร้อมก้าวเดินต่อไป นอกจากนั้นพิธีกรรมตัดสายแนนยังมีความเชื่อว่าเป็นการประกอบพิธีเพื่อไม่ให้สามีหรือภรรยาที่เสียชีวิตมาเอาคนรักของตนไปอยู่ด้วย


ภาพ : https://www.youtube.com/@postmediathaiart2236

พิธีกรรมผ่าจ้านผี พิธีกรรมล้านนาโบราณสำหรับการตัดเวรตัดกรรมของคนสองคน

โดยพิธีกรรมตัดสายแนนจากทางภาคอีสานนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับพิธีกรรม “ผ่าจ้านผี” (พิธีกรรมตัดผัวตัดเมีย) ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณของชาวล้านนา เป็นพิธีตัดอาลัยที่จะประกอบขึ้นเมื่อมีสามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไปเช่นเดียวกัน แต่ก็สามารถประกอบพิธีเพื่อตัดเวรตัดกรรมคู่รักที่เลิกลากันทั่วไปด้วยเช่นกัน โดยถูกเรียกว่า “ผ่านจ้านคนเป็น”

พิธีกรรมผ่าจ้านผีของล้านนา จะมีลักษณะการประกอบวิธีต่างจากที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ สัปเหร่อ เล็กน้อย โดยพิธีผ่าจ้านผีจะถูกประกอบขึ้นโดยการให้ผู้เข้าร่วมพิธียืนข้างร่างคนรักโดยหันหน้าออกจากร่าง หลังจากการร่ายคาถาของผู้ประกอบพิธี จะทำการตัดกรวยใบตองก้านกล้วย ซึ่งภายในมีข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนร้อยเส้นฝ้ายสายสิญจน์ในมือของสามีหรือภรรยาที่เข้าร่วมพิธี ซึ่งเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยา ก่อนจะให้สามีหรือภรรยาเดินออกห่างจากร่างคนรักโดยไม่หันกลับมามอง โดยกรวยชิ้นหนึ่งจะถูกเก็บไว้ทำพิธีต่อไป และอีกชิ้นหนึ่งจะมอบให้สามีหรือภรรยานำไปวางไว้บนหิ้งพระเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะนำไปวางไว้ใต้โคนต้นไม้ หรือในบางพื้นที่ก็นำกรวยไปวางไว้นอกบ้านทันทีที่เสร็จพิธีกรรม

พิธีกรรมผ่าจ้านผี เป็นความเชื่อและเป็นธรรมเนียมนิยมที่คนล้านนาปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีความเชื่อว่าถ้าสามีภรรยาคู่ใดที่ไม่ประกอบพิธีกรรมนี้ ฝ่ายที่มีชีวิตอยู่ก็จะมีแต่ความเศร้าหมอง คิดอาลัยอาวรณ์คู่ของตน และอาจมีอันเป็นไปต้องตายตามกันไปในไม่ช้า

แม้พิธีตัดสายแนน และผ่าจ้านผี จะมีรายละเอียดวิธีการแตกต่างกันเล็กน้อยตามแต่วัฒนธรรมและความเชื่อของแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งที่พิธีกรรมตัดอาลัยจากทั้งสองพื้นที่มีเหมือนกันคือการประกอบรวมความเชื่อเข้ากับความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปของมนุษย์ การใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องรับมือความเศร้าโศกของผู้คนที่สูญเสียคนรักและเดินหน้าต่อไป ยอมรับความเป็นจริงตามหลักศาสนาที่ว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นย่อมดับไป และแม้ว่า 2 พิธีกรรมดังกล่าวจะมาจาก 2 พื้นที่ที่แตกต่างกัน แต่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการจากลาก็อาจจะเป็นภาษาสากล ไม่ต่างจากความรักเลย


อ้างอิง

  • รู้จัก “สายแนน” และ “เสี่ยงสายแนน” พิธีเสี่ยงทายคู่ของอีสาน คติพื้นบ้านที่สูญหายจากสังคม https://www.silpa-mag.com/culture/article_25556#google_vignette

บัณฑิตการพัฒนาระหว่างประเทศช่างฝันที่อยากทำงานเขียน เฝ้าหาโอกาสที่จะสื่อสารส่งผ่านความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของสังคมในทางที่ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง