“ใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ: อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับภาควิชาประวัติศาสตร์ มช.”

เรียบเรียง: ธันยชนก อินทะรังษี

เนื้อหาจากกิจกรรม ‘ใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ: นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับภาควิชาประวัติศาสตร์ มช.’ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ณ ห้อง 5200 อาคาร HB5 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณาจารย์อาวุโส ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงประสบการณ์ทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกล่าวรำลึกถึงอาจารย์ในประเด็นอื่น ๆ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช, ศาสตราจารยืเกียรติคุณสายชล สัตยานุรักษ์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

การทำงานร่วมกับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในภาควิชาประวัติศาสตร์ มช. โดย ‘เกรียงศักดิ์ เชษฐวัฒนวนิช’ บอกเล่าประสบการณ์ในมุมมองของตัวเองว่า ถ้าเอาเข้าจริง ๆ สิ่งที่ผมได้รับจากอาจารย์นิธิตลอดเวลา ที่เข้ามาสังกัดในภาควิชาประวัติศาสตร์นี้ ประเด็นที่ต้องการอยากจะพูดคือ ผมได้รับความคิดในทางวิชาการ ความคิดในเชิงสังคมที่กว้างขวางลึกซึ้งจากท่าน และไม่รู้ว่าตัวเองได้รับความรู้ ความคิด ทางวิชาการ หรือสังคมได้ดีแค่ไหน การที่ผมมาพูดประสบการณ์เกี่ยวกับอาจารย์นิธิ ผมหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการศึกษา มีอาจารย์คณะแมสคอมที่เคยเขียนด้านการสื่อสารมวลชนของอาจารย์นิธิ แต่ผมคิดว่าน่าจะต้องมีวิจัยด้านวิชาการเพิ่มมากขึ้น ในมุมมองหลาย ๆ ด้าน

(เกรียงศักดิ์ เชษฐวัฒนวนิช)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

“การศึกษาตามระบบ เป็นการศึกษาที่ถูกจำกัดไว้ด้วยกรอบของวิธีคิดแบบทุนนิยม และระบบข้าราชการ”

ผมเริ่มต้นความคิดเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งผมได้รับจากการที่อาจารย์นิธิได้ดึงผมไปเข้าร่วมในมหาลัยเที่ยงคืน ชื่อนี้ก็เป็นอีกชื่อที่หลายคนเคยได้รับประสบการณ์ในการเข้าร่วม ‘มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน’ สำหรับผมคือการสะท้อนความคิดเกี่ยวกับการศึกษาในความคิดท่านว่าการศึกษาของรัฐ ที่ทำอย่างเป็นทางการ ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย มันไม่ใช่การศึกษาที่แท้จริง ซึ่งในทัศนะของท่าน มันไม่สามารถให้คำตอบเกี่ยวกับคำถามอันนำไปสู่การเกิดสติปัญญาขึ้นมาได้ 

การศึกษาที่ผลิตคนขึ้นมา เพื่อเอาเด็ก ๆ ผู้เยาว์ในสังคมมาหล่อหลอมในการศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย และผลักพวกนี้เขา ไปเสียบกับระบบข้าราชการ ระบบอุตสาหกรรม โดยราชการในที่นี้ รวมไปถึงการบริหารงาน เพราะสภาพแวดล้อมในยุคสมัยใหม่คือ โลกของอุตสาหกรรมและราชการ เพราะฉะนั้นการศึกษาแบบนี้ มันผลิตคนให้เป็น Mass Production ที่เหมือน ๆ กัน เข้าไปสู่ระบบเดียวกัน แต่การศึกษาในระบบของมหาลัยเที่ยงคืนคือการตั้งคำถาม ปล่อยอิสระให้กับผู้ศึกษาคิดและถกเถียงในคำถามนั้น และลงท้ายคือว่า ใครจะได้ข้อสรุปหรือได้คำตอบในคำถามนั้นแบบไหน จะเห็นพ้องต้องกัน หรือคำตอบแบบปัจเจกบุคคล มันคือสิ่งที่สติปัญญามันจะเกิดขึ้นตรงนี้

หนังสือที่วางไว้ในกอง 

จากการถกเถียง พูดคุย อภิปรายกันอย่างอิสระ ในประเด็นหรือในคําถามที่ตั้งขึ้นมา ทั้งประสบการณ์ทางความคิดต่อมาที่ผมได้รับจากอาจารย์นิธิในภาควิชาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ.2520 เป็นช่วงที่มันมีการถกเถียงในสังคมไทยกันอย่างลึกซึ้ง ในช่วงนั้นอาจารย์ก็บอกว่า “ภาคประวัติศาสตร์ มช. มีตําแหน่งนะ คุณลองไปสอบดู” ซึ่งผมก็ลองมาสอบ

ตอนที่ผมเข้ามาใหม่ ๆ ภาควิชามอบหมายให้ผมสอนเรื่องประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตก ยุคใหม่ ท่านหยิบหนังสือเล่มหนึ่งจากกองหนังสือของท่านคือเรื่อง The Western intellectual tradition : from Leonard to Hegel ของคุณ Bronowski หนังสืออีกเล่มนึง คือเรื่อง The Triple Revolution ที่ท่านตั้งใจให้ผมนำมาสอนในวิชาสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นเป็นวิชาหนึ่ง แต่ว่าเป็นที่น่าเสียใจผมไม่สามารถถอดมันออกมาเป็นวิชาได้นะครับ

กล่าวในแง่ของหนังสืออย่าง The Western intellectual tradition ผมได้นํามาปรับเป็นเนื้อหาทางวิชาประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตก หรือเป็น Paradigm คือกระบวนทัศน์หลักโลกทางภูมิปัญญาของโลกสมัยใหม่ ซึ่งเป็นความคิดหรือภูมิปัญญา ในแบบวิทยาศาสตร์ที่แบ่งแยกออกเป็นโลกธรรมชาติและโลกทางสังคม 

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ คำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ จากหนังสือเล่มนี้ ในความคิดของท่านอาจารย์นิธิคือ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่สัจธรรมแต่มันเป็นภูมิปัญญาหนึ่ง คือสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อใช้มันในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโลกทางกายภาพหรือโลกทางสังคมแบบหนึ่ง โดยหนังสือกล่าวถึงกระบวนการที่เกิดขึ้นของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของโลกทางกายภาพและโลกทางสังคม มันเป็นดูเหมือนจะเป็นอิสระและไม่สัมพันธ์กันเลย เช่น กฎของแรงดึงดูด ซึ่งเป็นกฏที่เป็นนามธรรมที่สามารถควบคุมปรากฏการณ์ของการเคลื่อนไหวของโลกทางวัตถุนะ ทั่วทั้งจักรวาล หรืออีกนัยยะหนึ่งก็คือว่าการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของวัตถุมันถูกกํากับด้วยกฎเดียวกัน ซึ่งการประเมินเช่นนี้ สามารถนำมาใช้ปรับใช้กับโลกทางสังคมด้วย 

“การโยงปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของวัตถุ ที่ดูเหมือนเป็นอิสระจากกัน แท้จริงแล้วมนุษย์เราไม่สามารถมองเห็นแรงดึงดูดหรือปรากฏการณ์ในการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งได้ แต่เรามองเห็นมันได้จากภาษาจินตนาการเท่านั้น” 

จากคำกล่าวของอาจารย์นิธิข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นี่คือการประสบความสําเร็จของกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ โดยวิชามนุษย์กับโลกสมัยใหม่ และวิชาสังคมวัฒนธรรมไทย ก็เป็นวิชาที่เอามาแทนวิชาอารยธรรมตะวันตก และวิชาอารยธรรมไทยที่วิชาที่พื้นฐานของนักศึกษาปีที่หนึ่ง 

พันธนาการของสิ่งที่เรียกว่าเป็นการ “รักชาติ”

มนุษย์และสังคมสมัยใหม่ เป็นวิชาเรียนที่เกี่ยวกับทุนและรัฐร่วมมือกันสร้างสังคมแบบใหม่ นั่นก็คือ ‘รักชาติ’ สังคมอุตสาหกรรมที่ทําให้การกระจายอํานาจ และความเป็นอิสระในการผลิตในแบบสังคมมันหมดลง ทําให้มนุษย์สมัยใหม่ ต้องกลายเป็นคน ในสังคมเมือง ซึ่งในในในวิชานี้จะนําไปสู่การเช่นปัญหา เช่น ลดการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือปัญหาเรื่องโลกร้อน ซึ่งโลกร้อนก็เป็นปัญหาที่พูดมา สามสิบสี่สิบปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์ยังคงสัมพันธ์อยู่กับธรรมชาติในแบบที่เอารัดเอาเปรียบธรรมชาติ ควรนําไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องแก้ไข ให้ไม่แตกสลายไป

สังคมอุตสาหกรรม ได้เข้ามาทําลายความสามารถในการพึ่งพิงตัวเอง ฝ่ายสังคมประชาชนในแบบดั้งเดิม มีการสถาปนาโครงสร้างทางการผลิต ในแบบอุตสาหกรรม และโครงสร้างทางการเมืองในแบบรักชาติ ที่ครอบงําและลดความเข้มแข็งของสังคมลงไป มันก็จะก่อให้เกิดปัญหา ๆ บนโลกใบนี้ โดยผมสันนิษฐานเอาเองว่า อาจารย์นิธิมองว่า สังคมก่อนอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตก มีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง ที่สามารถจะต่อรองกับรัฐส่วนกลางได้ แต่สังคมสมัยใหม่ มันได้ทําให้ความสามารถอันนั้นมันหมดลง ความสามารถในการพึ่งพิงตัวเองคนในสังคม ทุกอย่างมันต้องไปขึ้นอยู่กับรัฐและนายทุน นี่คือสิ่งที่มันเป็นความสัมพันธ์กันของรัฐและสังคม

เช่นเดียวกัน ในวิชาสังคมวัฒนธรรมไทย แทนที่จะเรียนวัฒนธรรมของชนชั้นนําอารยธรรมไทยหลัก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า วัฒนธรรมของรัฐ วิชาวัฒนธรรม สังคมวัฒนธรรมไทย ควรศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับความคิด และวัฒนธรรมของชาวบ้าน ที่อยู่นอกรัฐ หรือในรัฐดั้งเดิมของสังคม วัฒนธรรมของชาวบ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบศีลธรรม เช่น การนับถือผี หรือการนับถือพุทธในแบบของชาวบ้าน อันเป็นระบบศีลศีลธรรมที่ทําให้สังคมและชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกันได้ สามารถร่วมมือกัน ในการทําการผลิต อีกทั้งสามารถดํารงอยู่ได้เป็นอิสระนะในระดับหนึ่งจากรัฐ แต่ก่อนยุคสมัยใหม่ในแง่ของสังคมไทย ก็มีวัฒนธรรมในแบบของชาวบ้าน รัฐไม่เกี่ยว 

จากที่กล่าวข้างต้นจึงสรุปได้ว่า  ความคิดหนึ่งที่สําคัญของอาจารย์นิธิ ที่ผมได้รับมา คือการหันกลับมาสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชาวบ้าน มันอาจนําไปสู่ความสามารถสร้างภูมิปัญญาในฝ่ายสังคมขึ้นมา แทนที่เราจะไปเรียนความคิดในแบบของรัฐหรือในแบบของชนชั้นนํา หากเรากลับมาศึกษาความคิด วัฒนธรรมของชาวบ้านเดิมที่ร่วมมา ผมหวังว่าในโลกสมัยใหม่ ฝ่ายสังคมจะสามารถสร้างระบบวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็งขึ้นมา เพื่อต่อรองกับอํานาจหลักของรัฐได้

ตาข่ายแห่งความทรงจําใหม่

(สายชล สัตยานุรักษ์ ที่มาภาพ: www.cmu.ac.th)

“อาจารย์นิธิ ก้าวจากสามัญชนคนเล็ก ๆ คนหนึ่ง มาสู่การเป็นปัญญาชนสาธารณะที่ยิ่งใหญ่ เป็นนักประวัติศาสตร์ที่สําคัญที่สุดของยุคสมัย”

ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักประวัติศาสตร์ ‘สายชล สัตยานุรักษ์’ กล่าวว่า สิ่งสําคัญที่อาจารย์นิธิทํา คือการเปลี่ยนตาข่ายแห่งความทรงจําของคนไทย ทั้งตาข่ายที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมสร้างไว้ ตาข่ายของฝ่ายซ้าย รวมไปถึงตาข่ายที่ประวัติศาสตร์แบบวัฒนธรรมชุมชนสร้างเอาไว้ อาจารย์นิธิได้เข้าไปถกเถียง ต่อสู้ และสร้างตาข่ายแห่งความทรงจําใหม่ไว้มากมาย เป็นพื้นฐานในการเขียนงานอื่น ๆ ของอาจารย์ ที่สร้างความหมายใหม่แก่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันแวดล้อมชีวิตคนไทย ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความรู้ความเข้าใจใหม่ ความหมายใหม่เหล่านี้  ในพ.ศ.2510-2520 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ทั้งหมดล้วนสําคัญมากสําหรับการปรับตัวของผู้คน

สิ่งสําคัญอย่างหนึ่งที่อาจารย์นิธิให้กับภาควิชาประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่เรียกว่า ความเชื่อมั่นในตัวเอง การที่เรามีความสามารถที่จะสร้างความหมายใหม่ จากความรู้ใหม่ อาจารย์ได้มอบทั้งเครื่องมือ วิธีคิด แนวทางให้แก่เรา เพื่อสร้างความรู้ใหม่ เชื่อมั่นว่าเราสามารถสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาได้ จากสิ่งที่อาจารย์สอน งานเขียน วาทกรรมต่าง ๆ อาจารย์ทําให้เรารู้ว่า การสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์ หรือความรู้เกี่ยวกับอะไรก็ตาม มันไม่ใช่สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นอย่างง่ายง่าย ตัวอาจารย์เองได้สั่งสมความรู้อย่างต่อเนื่อง อาจารย์ต้องหาความรู้กว้างขวางมาก ทั้งในแง่ของเนื้อหาความรู้ ทั้งในแง่ของปรัชญา และวิถีวิทยา และอาจารย์จึงจะถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นให้แก่เรา ผ่านการทํางานหนักตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้แต่หนังสือเรียนชั้นมัธยม อาจารย์เองก็ได้เขียนหนังสือหลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย สําหรับนักเรียน ม. ปลาย ที่จะรู้จักวิชาประวัติศาสตร์ รู้ว่าหลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทยมันมีอะไรบ้าง จะใช้หลักฐานนั้นได้อย่างไร เพื่อที่เด็กมัธยมก็สามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ นี่คือความเชื่อมั่นที่อาจารย์ให้แก่เราว่า “เราทําได้”

นิธิ ประวัติศาสตร์ ความหมาย

สายชล สัตยานุรักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทัศนะของอาจารย์นิธิ ประวัติศาสตร์มันเป็นทั้งศาสตร์ เป็นทั้งศิลป์ มันไม่ได้เป็นเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจารย์มองมนุษย์ต่างกับนักมนุษย์ศาสตร์ทั่วไป กล่าวคือ อาจารย์ไม่ได้เห็นมนุษย์ที่เป็นสากล แต่อาจารย์ให้ความสําคัญกับลักษณะเฉพาะของมนุษย์ ที่มันมีความเปลี่ยนแปลง ตัวดิฉันเองเคยได้รับเอกสารชิ้นหนึ่งที่อาจารย์เขียนแนวคิดของอาจารย์ว่า คณะมนุษยศาสตร์ ควรจะสอนวิชาที่เกี่ยวกับมนุษย์ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ที่จะมีความสําคัญสําหรับคนไทย สําหรับเด็กไทย 

“ยิ่งรู้กว้างเท่าไร ก็ยิ่งสามารถตั้งคําถามที่ดีได้เท่านั้น”

อาจารย์นิธิมองสังคมศาสตร์ ในฐานะความรู้ ที่จะช่วยให้เราตั้งคําถามได้ดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อเป็นคําตอบ สิ่งสําคัญที่อาจารย์นิธิเน้นมากก็คือ ต้องตั้งคําถามที่ดีให้ได้ก่อน เพราะคําถามที่ดี เท่ากับว่าเราได้คําตอบที่ดีไปแล้วครึ่งหนึ่ง ถ้าคําถามที่ไม่ดี ต่อให้ทํางานหนักเพียงไหน คําตอบก็ไม่มีทางจะดีไปได้ โดยอาจารย์นิธิคิดว่า คําถามที่ดีไม่ได้มาจากทฤษฎีสังคมศาสตร์อย่างเดียว แต่มาจากความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่กว้างขวางที่สุดด้วย

ถ้าเรามองภาพรวมของอาจารย์นิธิ ล้วนเป็นงานที่ก่อสร้างจากวิญญาณแบบวัฒนธรรมศึกษา การเมืองวัฒนธรรม อาจารย์ศึกษาวัฒนธรรมมวลชนเอาไว้มากยกตัวอย่าง อาจารย์ศึกษาการต่อสู้ทางการเมืองในปริมณฑลทางวัฒนธรรม อาจารย์ได่วิเคราะห์ความหมายชาติไทย ความเป็นไทย ในแบบเรียนว่าในที่สุดแล้ว มันครอบงําคนไทยได้อย่างไร ซึ่งทําให้คนในระดับรัฐมนตรี ก็คิดได้ไม่ต่างกับนักเรียนชั้นประถม เพราะมาจากกรอบเดียวกัน

งานเขียนทางประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิ แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้น ความหลากหลายชาติพันธุ์ ความหลากหลายทางเพศเพศ ทั้งหมดเข้ามามีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ 

ทุกเรื่องล้วนเป็นประวัติศาสตร์

งานของอาจารย์นิธิแต่ละเรื่อง ในวัฒนธรรมกระฎุมพี มีหลากหลายชนชั้น ชนชั้นสูงรับอิทธิพลของวัฒนธรรมไพร่ ซึ่งทําให้วัฒนธรรมของชนชั้นมีพลัง มีชีวิตชีวา เป็นการปรับตัวที่สําคัญ เพราะสามารถเรียนรู้จากวัฒนธรรม ไพร่รับอิทธิพลวัฒนธรรมบางส่วนจากวัฒนธรรมจีน แต่อาจารย์บอกว่าเป็นจีนระดับล่าง ซึ่ง ให้ทั้ง ผลประโยชน์แก่ชนชั้นสูง แต่ก็คลายพิษบางอย่างให้กับชนชั้นสูงด้วย รายละเอียดลองไปหาอ่านดูได้

สรุปคือ งานแต่ละชิ้นของอาจารย์นิธิ มันไม่ใช่เรื่องของคนไม่กี่คน ที่เข้ามามีความสัมพันธ์กัน แท้จริงแล้วอาจารย์ไม่ปฏิเสธ หรือมองข้ามความสําคัญของรัฐเลย ต่อให้อาจารย์พูดถึงวัฒนธรรมชุมชน ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมชุมชน บางช่วงแต่แนวคิดนี้ ไม่ใช่ชุมชนที่หยุดนิ่ง แต่เป็นชุมชนที่มีพลวัฒน์และมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐ ทุก ๆ เรื่อง แม้ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง หรือวัฒนธรรม ล้วนมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์ทั้งหมด เป็น Total History เสมอในงานของอาจารย์ 

บางคนบอกว่า อาจารย์เป็นพวกบริบทนิยม แต่จริง ๆ อาจารย์นิธิให้ความสําคัญกับบทบาทของบุคคลในประวัติศาสตร์มาก และบุคคลในประวัติศาสตร์มีความเป็นมนุษย์มากด้วย เพราะมีความหวัง ความกลัว ความไว้วางใจ ความสิ้นหวัง มีอะไรต่าง ๆ ของมนุษย์ เป็นส่วนในการกําหนดพฤติกรรมทางสังคมของเขา แต่แน่นอนว่าไม่ใช่มนุษย์ที่มีลักษณะเป็นสากล เพราะมนุษย์มีความเป็นปัจเจกบุคล ขึ้นอยู่กับภูมิหลังของเขา ซึ่งไม่เหมือนคนอื่น และขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละช่วงเวลาด้วย 

อาจารย์สอนให้เรามองต่างมุม ทําให้เราเห็นในสิ่งที่เราอาจจะมองไม่เห็น หรือมองข้าม หรือไม่เคยคิดถึงมันมาก่อน อย่างเวลาเราพูดว่าหนังไทยมันน้ําเน่า อาจารย์ก็จะบอกเราว่า มันชี้ให้เห็นความล้ําลึกบางอย่างคือ รากฐานทางวัฒนธรรม และสิ่งนี้มีความหมายบางอย่างแก่ผู้คน ที่สร้างมัน ที่เสพมัน อย่างแห่นางแมวเราก็รู้สึกตลกว่า “เออ ชาวบ้านเนี้ย เอาแมวมาแห่ เอาน้ําสาดมันแล้วฝนจะตก” แต่อาจารย์ทําให้เห็นว่าฝนไม่ตก ฝนแล้ง เป็นวิกฤตในสังคมชาวนา และพิธีกรรมแห่นางแมว เป็นการลดความสนใจของสังคม ในภาวะวิกฤต นํามาสู่การที่ทุกคนสํานึกในความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน การร่วมมือกันเพื่อจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งหมดคือความสําคัญของงานอาจารย์นิธิ ที่มอบให้กับสังคมและให้กับพวกเรา ที่ได้ทํางานภายใต้แนวทางที่อาจารย์เสนอไว้ 

เก็บเรื่องราวอดีตไว้ในลิ้นชัก

ตอนนี้เล่าถึงเรื่องอาจารย์นิธิกับภาควิชาประวัติศาสตร์โดยตรงสักนิดหนึ่งนะคะ อาจารย์มาทํางานปี พ.ศ.2509 ก็คือยุคกลางกลางของรัฐบาลจอมพลถนอม หลังจากจบปริญญาโท ในช่วงแรกอาจารย์มีความสัมพันธ์กับนักศึกษามาก เวลาจัดอภิปราย ทําหนังสืออะไรต่างๆ เช่น หนังสือรับน้อง ก็ขอให้อาจารย์มาช่วยเขียนบทความ หรือเวลาทําหนังสือรวมเรื่องสั้น ก็จะขอให้อาจารย์เป็นคนมาเขียนคํานํา อาจารย์จะเป็นแรงบันดาลใจที่สําคัญของนักศึกษาในช่วงนั้นเลย 

ในช่วงก่อนจะ 14 ตุลา  แนวคิดสําคัญของอาจารย์ เราเห็นได้ตั้งแต่ตอนอาจารย์ยังไม่จบปริญญาตรี อาจารย์เขียนเรื่องสั้นที่สะท้อนถึงการต่อต้านชาตินิยม สะท้อนถึงการให้ความหมายแก่มนุษยชาติโดยรวม และความสําคัญกับความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ด้วย โดยส่วนตัวดิฉันคิดว่าอาจารย์เป็นนักมนุษยนิยมเสรีนิยม ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ไม่ใช่แค่เผด็จการทหาร อาจารย์จึงไม่เป็นฝ่ายซ้าย ไม่เคยเป็นมาร์กซิส หรือไม่เคยเลื่อมใสพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย 

เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงต่อต้านอุดมการณ์และวัฒนธรรมทั้งหลาย ที่มันไม่เปิดโอกาสให้เราไม่มีเสรีภาพ อาจารย์จึงรื้อถอนตาข่ายแห่งความทรงจําของทุกฝ่าย เพื่อให้แต่ละคนเป็นอิสระจากการครอบงํา สามารถคิดเองเป็นจากการเรียนรู้ หลากหลายมุมมอง และมาวิเคราะห์คิดด้วยตนเอง 

อาจารย์บอกว่า “เวลาเราอ่านอะไร เราเอามาใส่ลิ้นชัก” ตอนอาจารย์เกษียณ อาจารย์ ให้ลิ้นชักหรือให้มาอันหนึ่ง มีอะไรที่อาจารย์โน๊ตไว้ในนั้น สิ่งใหม่เราก็เอามาวิพากษ์สิ่งเก่าที่เรามีอยู่ และสิ่งเก่าที่เรามีอยู่ เราก็เอาไปวิพากษ์สิ่งใหม่ อะไรที่เรารู้สึกที่ค่อนข้างจะลงตัวแล้วเราก็ใส่ลิ้นชักเอาไว้ กลายเป็นความรู้ที่เราสั่งสม แต่เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนมันอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะคิดต่อไปได้บนฐานของความรู้ บนฐานของข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ อาจารย์ให้ความสําคัญมากกับการอ่านหลักฐาน และต้องตีความหลักฐานอย่างไม่เกินเลยที่หลักฐานกําหนด ที่หลักฐานบอกเอาไว้

 เนื่องจากอาจารย์เชื่อว่าเราสร้างความรู้ใหม่ได้ อจึงวางหลักสูตรเพื่อสอนให้นักศึกษาสร้างความรู้ใหม่ได้ เราจะเห็นได้ว่าวิชาขอให้มีในหลักสูตร จะมีตั้งแต่วิชาปรัชญาและวิธีการทางประวัติศาสตร์ ให้เราคิดกับมันว่าประวัติศาสตร์คืออะไร วิชาหลักฐานประวัติศาสตร์ วิชาสัมมนา วิชาภาคนิพนธ์ ในระดับปริญญาตรี ส่วนวิชาเนื้อหา อาจารย์บอกว่าเนื้อหาเป็นแค่เครื่องมือ เป็นแค่ตัวอย่างสําหรับเราที่จะฝึกทำวิจัย การจําเนื้อหาไม่ได้มีความหมายอะไรเลย 

ความทรงจำระหว่างอาจารย์นิธิต่อภาควิชาประวัติศาสตร์ มช. คือการสร้างความรู้ใหม่ และความรู้ใหม่นั้นไม่ใช่ว่าคุณจะเอาอะไรมาก็ได้ แต่คุณต้องทดลองฝึก เอาเครื่องมือที่ได้จากวิชานี้เอาไปใช้ โดยที่คุณจะต้องไปตั้งคําถามก่อน แล้วไปเก็บข้อมูล แล้วดูซิว่าคุณจะใช้หัวข้ออะไร หรือหลาย ๆ หัวข้อที่คุณเรียนไปอธิบายแล้วคุณต้องเขียนออกมา อันนี้ก็คือสิ่งที่อาจารย์นิธิให้กับเรา 

กระชากพรมออกจากเท้าผู้คน

(อรรถจักร สัตยานุรักษ์)

บุคคลสุดท้ายในการเสวนาร้อยเรียงเรื่องราวถึงนิธิ เอียวศรีวงศ์ คือ ‘อรรถจักร สัตยานุรักษ์’ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ โดยเริ่มต้นมุ่งพูดคุยประเด็นหลัก  อาจารย์นิธิเป็นครอบครัวจีนแต้จิ๋ว พ่อเป็นพ่อค้า นักธุรกิจระดับยี่ปั๊วหรือผู้ค้าส่งในกรุงเทพ ฯ ส่งสินค้าขายทั่วประเทศ ในช่วงที่ท่านรุ่งเรือง ก็มีพ่อครัวอยู่ในบ้าน เพราะฉะนั้นท่านไม่ใช่คนจนนะครับ ถึงส่งลูกคนโตไปเรียนที่เมืองจีนได้

ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2490 – 2500 คุณพ่ออาจารย์นิธิเริ่มได้รับผลกระทบ จากการที่มียี่ปั๊วเพิ่มมากขึ้น อาจารย์นิธิพูดว่า “คุณพ่อบ่นว่าจริยธรรมของการค้าแบบเดิมมันหายไป” อาจารย์นิธิจึงได้ไปเรียนโรงเรียนประจําอัสสัมศรีราชา แต่อาจารย์นิธิไม่มีช่วงชีวิตของม. ปลาย ท่านสอบเทียบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอานะครับ ในช่วงตอนเรียนจุฬาฯ เรียกได้ว่า ท่านเรียนเอกฟุตบอล โทปิงปองก็ว่าได้ ท่านเคยคุยกับผมว่า ท่านสามารถเตะฟุตบอลเข้ารูเล็ก ๆ ได้ ผมก็คิดในใจว่าคงเตะได้สักครั้งสองครั้ง คงไม่ใช่ทุกครั้งหรอกกระมัง

“ท่านมีสํานึกของคนนอก แต่สัมพันธ์อยู่กับสังคมไทย และท่านยังมีความรู้สึกพิเศษ ต่อคนที่มีความสัตย์ซื่อสูงมาก”

อรรถจักรเริ่มกล่าวประเด็น ความซื่อสัตย์  อย่างภราดาเทโอฟาน หรือชิน บุณยานันทน์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมศรีราชา ช่วงตอนสงครามโลกโรงเรียนทั้งหลาย มูลนิธิของอัสสัมมอบที่ดินให้ท่านชินถือไว้คนเดียวหมดทุกแห่งเลย พอสงครามจบก็คืนกลับไปเช่นเดิม “ถ้าถามพวกเราว่าจะคืนไหม สมมุติว่าเราได้ที่ดินขนาดนั้น เราอาจจะไม่คืนนะ ผมอาจจะคืนบางที่”

ผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมล้ำค่า

อาจารย์นิธิเป็นคนที่อ่านวรรณกรรมเยอะมาก และมีความรู้สึกที่หงุดหงิดต้องการต่อต้านอํานาจเสมอ อาจารย์นิธิจะชอบอ่านมาลัย ชูพินิจ อ่านกุหลาบ สายประดิษฐ์ ท่านเล่าให้ฟังว่าเวลาปั่นจักรยานหนีไปเที่ยวศรีราชา  ท่านจะเอาจักรยานหันหัวออก เพื่อให้เหมือนกับเสือใบเสือดํา ที่เอาม้าหันหัวออก อาจารย์นิธิมองเห็นความสัมพันธ์ของคนกับสรรพสิ่งมานาน ความรู้ ศาสนาและอื่น ๆ ท่านสามารถเชื่อมโยงได้อย่างมากทีเดียวครับ 

“ถ้าใครสนใจ ก็ประมูลซื้อได้ให้ภาควิชาประวัติศาสตร์ ” อรรถจักรได้เปิดรูปถ่ายบางส่วนของหนังสือที่บรรจงขีดเขียนโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์  เขากล่าวอธิบายยกตัวอย่างว่า ตอนอาจารย์นิธิเป็นบรรณาธิการ ท่านก็เขียนเรื่องนี้อีกเล่มนึง ข้อคิดเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์ จดหมายถึงคนหนุ่ม  อย่างตอนปี พ.ศ.2510 ท่านเริ่มรู้สึกว่าเบื่อประเทศ เบื่อคนเบื่อไปหมดเลย เบื่อทุกอย่าง เหงามาก ก็เลยเขียนถึงคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี 

“คุณสุชาติ ทุกอย่างมันน่าเบื่อ สิ่งที่ผมเคยจะคิดจะเขียน คือเรื่องปัญญาชนของเรา ในสองปีข้างหน้าจะถูกซึมเข้าไปในวงบริหาร จนเสียจนทรยศต่ออาชีพตนเอง” 

อาจารย์นิธิได้ตั้งคําถามว่า บทบาทมหาลัยในฐานะผู้ผลิตปัญญาชนจะเป็นยังไง สิ่งที่ท่านกลัว ไม่ใช่อํานาจ แต่คือการเซ็นเซอร์ตัวเอง อย่างคํานําที่ท่านเขียน บอกเลยว่าไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อแบบพุทธศาสนาที่ก่อให้เกิดความรําคาญ อรรถจักรเปลี่ยนบทสนทนาเป็นภาษาถิ่นไปครู่หนึ่ง “เขาเรียกว่านักธรรมตรี นักธรรมอะไรนั่น แล้วก็มีตุ๊เจ้ามาบอกข้อสอบ แล้วเรียนไปหาป้อหยังวะ” คือน่าเบื่อมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วนะครับ

อาจารย์นิธิเขียนปี พ.ศ. 2564 ท่านก็กระแนะกระแหนมหาลัยไว้ว่า ประจบศาสนาด้วยการบรรจุวิชานี้ไปทั้งมหาลัย และเรื่องที่นำมายกตัวอย่างสุดท้าย เป็นงานเขียนบูชาคุณแม่ที่ล่วงลับไป เพื่อขอบคุณที่ได้ทําให้ชีวิตมีค่า ควรแก่ชีวิตมนุษย์ ด้วยการศึกษาความรัก และด้วยธรรม เป็นต้น

มีครั้งนึงที่ผมและอาจารย์สมเกียรติ วัณฑนะนะ ดื่มน้ำเมาร่วมกัน สมเกียรติ บอกว่า “ถ้านิธิล้มไปข้างหน้าก็ถึงสุโขทัย ล้มไปข้างหลังถึงปัจจุบัน หรือหากตอนนี้ ถ้านับล้มไปข้างหน้าถึงโซเมีย ล้มมาข้างหลังถึงปัจจุบัน” กล่าวคือ นิธิเสมือนผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

การเสียชีวิตของอาจารย์นิธิ ทําให้ผมทั้งแปลกใจและดีใจ แปลกใจในแง่ที่ว่ามีการพูดถึงอาจารย์นิธิอย่างมากมายในสังคมไทย ซึ่งในไลฟ์จะมีคนแสดงความคิดเห็นตั้งแต่อายุ 13 ไปจนถึงเกือบ ๆ 80 ปี คือทั้งแปลกใจ และก็ดีใจ

ใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ

“ถ้าไม่สุภาพ คือกระชากผมออกจากตีนผู้คน”

ผมคิดว่าพลังของวิธีคิด และการนําเสนอของนิธิ ผมใช้คําว่ากระชากพรมออกจากเท้า ทันทีที่กระชากเสร็จมันจะทําให้คุณเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างที่อาจารย์สายชลพูดถึงเรื่องแห่นางแมว หรืออื่น ๆ อีกสารพัด หรือแค่คําถามว่า “ทหารมีไว้ทําไม” คนไม่ได้คิดถึงทหารมีไว้ทําไม กล่าวคือนิธิทําให้ไอ้สิ่งที่มัน มันมองไม่เห็นได้ วิธีคิดธรรมชาติของอาจารย์นิธิจริง ๆ ง่ายมาก มีวิธีคิดสองอันแค่นั้นเอง หนึ่ง ทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรเป็นอกาลิโก (ไม่มีเรื่องเวลามาเกี่ยวข้อง) สอง ความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างอยู่ในบริบท มีเพียงสองข้อเท่านั้น

ผมได้อ่านคําประณาม คําเกริ่นเริ่มต้นของของวรรณกรรม แล้วพบว่ามันไม่เหมือนเดิมว่ะ นี่คือการเห็นเปลี่ยนของคําอาจารย์นิธิดูโฆษณา ถอดคําโฆษณามาเป็นภาษาชุดหนึ่งกลายเป็นภาษาอิเล็กทรอนิกส์ โขน คาราบาว น้ําเน่า และหนังไทย อันนี้คือหัวใจแรก การหยิบภาษาชุดภาษาวางอยู่ในบริบทต่าง ๆ อันที่สองคือ การเชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงของการใช้คําให้เข้ากับบริบทให้ได้ 

คําว่ากาลเทศะ คนรุ่นผมคิดอีกแบบหนึ่ง คนรุ่นคุณรู้สึกแปลว่าอะไร จดหมายที่พวกคุณเขียนถึงผม ถ้าวัดจากคนรุ่นผมจะรู้สึกว่า มึงไม่มีกาลเทศะเลย “อาจารย์ หนูมีธุระ อาจารย์ช่วยติดต่อหนูด้วย เบอร์โทรนี้ แล้วลงชื่อ” รุ่นผมคือต้องกราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ นี่คือชุดของคํา และความหมายของการใช้ ถ้าเราจับได้ และเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงได้ เราจะเริ่มต้นเข้าใจคําถามแล้ว

หากเราวางสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ในบริบทเดิม คําตอบแบบเดิม สิ่งที่ซับซ้อนกันอาจารย์นิธิสร้างบริบทใหม่ขึ้น ต้นรัตนโกสินทร์นึกถึงปลายอยุธยา ทุกเรื่องบริบทของแกใหม่หมดนะครับ ผมสงสัยว่าแกเชื่อมได้ยังไง ผมเลยคิดว่าอาจารย์นิธิอ่านสังคมศาสตร์เยอะมาก และใช้สังคมศาสตร์นั้นมาจัดเชื่อมข้อมูลปลีกปลีกนะครับ 

พร้อมกันนั้นเอง อาจารย์นิธิก็จะมองเชื่อมอดีตกับสังคมอื่น มีช่วงนึงอาจารย์นิธิไปอยู่เกียวโตหกเดือน อาจารย์ไปเห็นรองเท้าแตะ ที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนในแต่ละแห่ง ถ้าเราเห็นเราก็ไม่ว่าอะไร แต่อาจารย์นิธิเปรียบเทียบว่าบ้านเรามันไม่มีดีกว่า มีรองเท้าแตะใส่คู่เดียว วิธีการเชื่อมโยงอดีตกับสังคมอื่น กับปัจจุบัน กับอดีต และกับสังคมอื่น มองญี่ปุ่นจากสายตาวัฒนธรรมไทย สิ่งที่เราพูดถึงใต้ชะเงื้อมดอยสุเทพ คือเคยมีการรณรงค์กระเช้าขึ้นดอยสุเทพ เราก็บอกดอยสุเทพเป็นสีเป็นสง่าอะไรก็ว่ากันไป อาจารย์นิธิอธิบายว่าภูเขา เป็นความศักดิ์สิทธิ์ในแง่มันมีวัดอยู่ห้าวัด เปรียบเทียบขั้นของการเดินไปจนกระทั่งวัดสุดท้ายคืออรหันต์ นี่คือวิธีคิดที่มันทําให้เกิดคําถาม เกิดการเปรียบเทียบที่ชัดเจนมากขึ้น

สิ่งที่อาจารย์นิธิโยนลงมาให้กับสังคมไทยชัด ๆ ก็คือกรอบความเข้าใจทางด้านวัฒนธรรม อาจารย์นิธิเป็นคนแรก ๆ ในสังคมไทยที่สู้กับความเชื่อหรือ ความคิดที่ว่า วัฒนธรรมคือสิ่งที่ดีงามตามที่ราชบัณฑิตทั้งหลายนิยาม ปรากฏให้เห็นชัด ๆ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆ ในวิถีชีวิตทั้งหมด อาจารย์นิธิพยามจะอธิบาย ปัจเจกชนที่อยู่ภายใต้โครงสร้าง ท้ายสุดแล้ว ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมภายใต้สังคมที่ถูกยึดรั้งด้วยอํานาจหลากมิติ นิธิเองมองเสมอว่าคนยังมีช่องทางในการที่จะสู้หรือแสวงหาทางเดินสู่เสรีชนได้ 

ถ้าสรุปตรงนี้ก็คือว่า นิธิเอียร์ศรีวงศ์เป็นปัญญาชนที่ทํางานทางความคิด ความรู้สึก เพื่อผู้ที่ถูกกดทับมาตลอด ให้ได้ลุกขึ้นเยี่ยงเสรีชนบนฐานของความเสมอภาค ผมคงต้องกล่าวแทนพวกเราทุกคน ก็คือกราบขอบพระคุณในแรงกาย แรงใจ ที่ท่านได้อุทิศให้กับสังคมไทย อรรถจักรกล่าวปิด

บทเรียนจากนิธิ เอียวศรีวงศ์

สุดท้ายนี้ ในช่วงชีวิตของการทํางานของอาจารย์นิธิ ได้สร้างอิทธิพลทางความคิดของทําให้เราเห็นว่า ในแง่ของประวัติศาสตร์ในเชิงเนื้อหา วิธีการคิดที่ตั้งคําถามกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า ทัศนะ ยกตัวอย่าง วิชาสังคมและวัฒนธรรมไทย เรื่องของวิทยาศาสตร์ กฎเกณฑ์ต่างต่างที่ดูมีความสมบูรณ์ในตัวเอง อาจารย์นิธิก็ได้ตั้งคําถามกับกฎเกณฑ์เหล่านั้น ขณะเดียวกันก็ขยายคําถามไปสู่ทัศนะครอบงําในเรื่องอื่น ๆ อย่างเช่น ความเป็นชาติ บางอย่างที่เกิดจากจินตนาการ ซึ่งการทํางานไม่ว่าจะในมหาวิทยาลัยเที่ยงวันห หรือมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ล้วนต้องอาศัยจินตนาการอย่างมาก ในการวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งต่าง ๆ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจการเมือง สังคม วัฒนธรรม ก็เป็นสิ่งที่เป็นคุณูปการอันหนึ่ง เราเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าอิทธิพลทางความคิดของอาจารย์นิธิได้มีพลังอย่างมากกับการคิดแบบเป็นประวัติศาสตร์

“ทําไมเราต้องรู้บริบทเยอะแยะมากมาย 

ทําไมเราต้องรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ทําไมเราต้องรู้เรื่องพวกนี้ด้วย”

ก็เพราะว่าประวัติศาสตร์มันไม่ได้เป็นเรื่องที่มีหัวใจอยู่แค่สถาบันใดสถาบันหนึ่งไม่ได้เป็นแค่เรื่องราวของกษัตริย์ แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นประวัติศาสตร์ของผู้คนที่มีความหลากหลาย หลายกลุ่ม หลายชนชั้น หลายชาติพันธุ์ หลายพื้นที่ ดังนั้นเราถึงจะต้องมองบริบท ความเปลี่ยนแปลง เพื่ออธิบายว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของผู้คน เป็นเรื่องของความหลากหลาย ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง