ตนบุญครูบาเจ้าศรีวิชัย: นักสันติวิธีคนแรกในประวัติศาสตร์ล้านนา

เรื่อง: พริษฐ์ ชิวารักษ์

ปีนี้เป็นปีที่ 145 นับแต่ชาตกาลของครูบาศรีวิชัย ผู้ได้รับการยกย่องด้วยความเคารพศรัทธาให้เป็น “ตนบุญ” หรือ“นักบุญแห่งล้านนา” และบางท่านก็ขนานนามให้เป็นพระสงฆ์ของประชาชนโดยแท้ อันที่จริง ความเป็นนักบุญและความเป็นคนของประชาชนนั้นมิได้แยกขาดกันในสายตาของคนล้านนายุคก่อนถูกผนวกเป็นดินแดนของสยามและกลายเป็นภาคเหนือตอนบนในปัจจุบัน เพราะแท้จริงแล้ว คำว่าตนบุญหรือนักบุญนั้น มิได้มีความหมายตรงกับ Saint ซึ่งให้นัยว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความหมายว่าเป็นว่าเป็น “ผู้มีบุญญาธิการ” ลงมาเกิด บุญญาธิการที่ว่านี้ก็เป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่มหาชน ตามคติเรื่องพระโพธิสัตว์ของศาสนาพุทธมหายานที่เชื่อว่าพระโพธิสัตว์เป็นผู้มีบุญอย่างยิ่ง จะอวตารมาเกิดเพื่อโปรดสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์อยู่เป็นเนืองนิจ ดังนั้น คำว่าตนบุญจึงหมายถึงพระโพธิสัตว์ที่มาอุบัติในโลกด้วย

เดิมทีสถานะความเป็นตนบุญหรือพระโพธิสัตว์เดินดินนั้นถูกสงวนไว้ยกย่องกษัตริย์เพียงเท่านั้น เพราะแน่นอนว่าในยุคกลาง ผู้ที่จะมีบุญญาธิการยิ่งใหญ่พอที่จะเป็นที่พึ่งให้มหาชนคนทั้งหลายได้นั้นย่อมไม่เป็นผู้อื่นใดได้นอกเสียจากกษัตริย์ ซึ่งเป็นแกนกลางของระบอบศักดินาอุปถัมภ์ และความมีบุญญาธิการเช่นนี้ก็เป็นที่มาแห่งความชอบธรรมในการครองราชบัลลังก์ของกษัตริย์เองด้วย เพราะระบบกษัตริย์ทั่วโลกต่างต้องใช้เรื่องอภินิหารเหนือธรรมชาติเรื่องความเชื่อทางศาสนามายกย่องกษัตริย์ให้เป็นมนุษย์ที่มีสถานะพิเศษขึ้นมาจากมนุษย์คนอื่น ๆ ด้วยกันทั้งนั้น สถานะกษัตริย์ตนบุญดังนี้เรียกเป็นภาษาบาลีอย่างเข้มขลังได้ว่า “มหาธรรมราชา” หรือกษัตริย์ผู้ทรงธรรม คติเรื่องกษัตริย์ตนบุญหรือมหาธรรมราชาเป็นแนวคิดเทวสิทธิ (divine rights) แบบพุทธที่พบทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่กันกับคติเรื่องกษัตริย์เทวดาหรือเทวราชาซึ่งเป็นแนวคิดเทวสิทธิแบบพราหมณ์ที่พบในทางตอนใต้ แต่ไม่ใช้แพร่หลายนักในล้านนา ในกรณีของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ความเป็นธรรมราชาแบบพุทธ (ซึ่งในอัคคัญสูตรเรียกว่า “สมมติราช” หมายถึงผู้ที่มหาชนพร้อมใจยกเป็นกษัตริย์เนื่องจากทรงธรรม) และความเป็นเทวราชาแบบพราหมณ์ได้ผสมผสานกันกลายเป็น “สมมติเทพ” ในปัจจุบัน ความคิดเรื่องกษัตริย์ผู้ทรงธรรมยังคงแทรกอยู่ในรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ไทยต้องเป็นพุทธมามกะและเป็นผู้อุปถัมป์ศาสนาในประเทศด้วยนั่นเอง

ในกรณีของล้านนา แม้ความเป็นองค์อุปถัมภ์ศาสนาของกษัตริย์จะเริ่มปรากฏตั้งแต่สมัยโบราณหรือสมัยหริภุญชัยก่อนการก่อตั้งอาณาจักรล้านนาแล้ว แต่การยกย่องกษัตริย์เป็นตนบุญหรือธรรมราชา ซึ่งถือเป็นพัฒนาการความคิดทางการเมืองขั้นหนึ่งซึ่งนำไปสู่การควบรวมก่อตั้งรัฐขนาดใหญ่ในระดับราชอาณาจักรนั้น คงจะเริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยกลางหรือสมัยราชวงศ์มังราย ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีการบรรยายบุญญาธิการของพญามังรายว่าเป็น “เจ้าตนบุญ” ผู้มีบุญญาธิการสูงส่งจึงสามารถรวบรวมแผ่นดินและสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นข้อความจากเอกสารชั้นหลัง หลักฐานชั้นต้นที่เก่าแก่ที่สุดที่ปรากฏการยกย่องกษัตริย์์เป็นมหาธรรมราชาคือจารึกวัดพระยืน พ.ศ.1913 ซึ่งสรรเสริญพญากือนาเป็น “พญามหาธรรมิกราช” และเป็นผู้ “มีศักดิ์มีบุญฤทธิ์เดชะตบะหนักหนา” กษัตริย์ล้านนาจึงน่าจะมีสถานะเป็นมหาธรรมราชาเจ้าตนบุญไม่ช้าไปกว่านั้น 

ในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว สถานะตนบุญของกษัตริย์ล้านนายังควบแน่นขึ้นอีกด้วยการ “ผูกขาดบุญ” มิให้ขุนนางสร้างวัดหรือทำบุญด้วยการกัลปนาที่นาและผู้คนสำหรับทำนาโดยไม่ได้รับราชานุญาติ นั่นคือห้ามใครทำบุญใหญ่แข่งกับกษัตริย์นั่นเอง อาจเทียบเคียงได้กับกฎหมายที่กำหนดให้การสถาปนาวัดต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน การห้ามขุนนางสั่งสมบุญแข่งกับกษัตริย์เช่นนี้สะท้อนการพยายามรวมศูนย์อำนาจของกษัตริย์ล้านนา และเป็นการรักษาความมั่นคงให้กับสิทธิธรรมเหนือราชบัลลังก์ของกษัตริย์เอง อย่างไรก็ตาม เมื่อสถาบันกษัตริย์ล้านนาถึงแก่การล่มสลายในเวลาต่อมา ความคิดเรื่องกษัตริย์ตนบุญก็สั่นคลอนตามไปด้วย ในช่วงสมัยใหม่ตอนต้นหรือช่วงที่ล้านนาตกเป็นประเทศราชของพม่าและสยามตามลำดับ การเมืองการปกครองของล้านนาเริ่มมีความอ่อนแอจนผู้ปกครองเริ่มไม่สามารถเป็นที่พึ่งใบบุญให้กับคนทั่วไปได้ คนทั่วไปจึงต้องหันมาพึ่งกันเองท่ามกลางสภาวะระส่ำระส่ายทางการเมืองที่เกิดขึ้น ความต้องพึ่งพากันเองเช่นนี้ส่งผลให้เกิดความคิดใหม่เกี่ยวกับเจ้าตนบุญว่าผู้จะเป็นตนบุญให้มหาชนได้พึ่งพานั้น อาจไม่จำเป็นต้องเป็นกษัตริย์ก็ได้

ในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แผ่นดินต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงล้านนาเริ่มพากัน “ว่างแผ่นดิน” หรือบ้านแตกสาแหรกขาดอนู่นั้น เริ่มปรากฏ “ตนบุญ” หลายท่านขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์ล้านนา เช่น ตนบุญเทพสิงห์แห่งเมืองยวม (แม่สะเรียง) ตนบุญนายางแห่งเมืองนครลำปาง และตนบุญสะแข่งหม่องพุงแห่งเมืองป่าซาง หรือกระทั่ง “เจ้าพระฝาง” ในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งตั้ง “ก๊ก” หรือ “ชุมนุม” ขึ้นในช่วงหลังกรุงศรีอยุธยาแตกนั้นก็อาจจัดเป็นตนบุญท่านหนึ่งได้เช่นกัน ตนบุญเหล่านี้สามารถซ่องสุมผู้คนที่กำลังไม่พอใจกับสภาพทางการเมือง ณ ขณะนั้นโดยการแสดงบุญบารมีในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งส่วนมากจะเป็นในทางอิทธิฤทธิปาฏิหารย์ จนมีผู้คนจำนวนมากหนีจาก “นาย” ในระบบบ้านเมืองมาขึ้นกับกับตนบุญแทน การอุบัติขึ้นของตนบุญเหล่านี้เกิดพร้อมกับที่มีการแต่งตำนานประเภทพุทธพยากรณ์ที่ทำนายถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับมนุษยชาติอันเกิดจากความเศร้าหมองของพระศาสนา (ซึ่งก็เกิดจากความละเลยหรือไม่สามารถอุปถัมป์ศาสนาของผู้ปกครอง) และท่ามกลางภัยพิบัติเช่นนี้เอง จะมีมหาธรรมิกราชลงมาอุบัติในโลกเพื่อดับทุกข์รอนเข็ญให้กับมหาชน ทั้งนี้เป็นไปตามคติความเชื่อว่าพระศรีอารย์จะมาโปรดสัตว์เมื่อเกิดกลียุคขึ้นในโลก ตนบุญในที่นี้มักได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้านซึ่งรู้สึกว่าตนกำลังตกทุกข์ได้ยากและไร้ที่พึ่ง จึงมีความเป็น “แกนนำ” ของบรรดาศรัทธาญาติโยมอยู่ในตัว คติตนบุญแบบชาวบ้านซึ่งเป็นความเชื่อทางเลือกใหม่ที่แตกต่างจากคติตนบุญแบบกษัตริย์โพธิสัตว์นั้น เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปสามารถท้าทายอำนาจรัฐได้ผ่านการแข่งบุญแข่งบารมีกับผู้ปกครองรัฐนั่นเอง หากมองอย่างกว้างขวาง การเคลื่อนไหวของตนบุญอาจเทียบได้กับ “ขบวนการโพกผ้าเหลือง” ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ซึ่งเป็นขบวนการที่เกิดขึ้นจากความฟอนเฟะของราชสำนัก ชาวบ้านจึงหันไปเลื่อมใสผู้นำขบวนการซึ่งเป็นผู้วิเศษแทนราชสำนัก

ในส่วนของครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้อุบัติเป็นตนบุญแลมีบทบาทเคลื่อนไหวระหว่างทศวรรษ 1910-1930 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการผนวกล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม ในช่วง 2-3 ทศวรรษก่อนหน้านั้น รัฐสยามได้รุกคืบเข้ามาจัดการปกครองในล้านนาใหม่โดยยกเลิกสถานะประเทศราชซึ่งมีอำนาจอิสระในการบริหารกิจการภายในได้บางส่วน และสถาปนาล้านนาให้เป็น “มณฑลพายัพ” ซึ่งเป็นดินแดนที่สยามมีอำนาจอธิปไตยและอำนาจการปกครองโดยตรงอย่างสมบูรณ์ ในการจัดการปกครองใหม่ รัฐบาลสยามลิดรอนอำนาจของเจ้านายผู้ปกครองนครต่าง ๆ ในล้านนาโดยค่อย ๆ แต่งตั้งขุนนางชาวสยามเข้ามาบริหารราชการแทนที่กลุ่มเจ้านายเดิม พร้อมทั้งนำระบบกฎหมายและการเก็บภาษีแบบใหม่เข้ามาบังคับใช้ในล้านนา การบังคับใช้ระบบกฎหมายและระบบภาษีแบบใหม่ยังความไม่พอใจในหมู่ชาวล้านนาเป็นอันมาก เนื่องจากระบบกฎหมายใหม่ของสยามขัดแย้งกับกฎหมายและจารีตประเพณีเดิมของล้านนา และระบบการเก็บภาษีเป็นตัวเงินนั้นก็ขัดกับวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจของชาวล้านนาที่ยังไม่ได้ใช้เงินตราเป็นปัจจัยจำเป็นในชีวิต และยังนิยมจ่ายภาษีด้วยแรงงานตามระบบไพร่และสิ่งของตามระบบส่วยแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังปรากฏว่าขุนนางชาวสยามที่ถูกส่งมานั้นยังมีทัศนคติดูถูกเหยียดหยามและใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงชาวล้านนา ในช่วงราว 10-20 ปีก่อนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะมีบทบาท จึงเกิดการลุกฮือต่อต้านอำนาจของรัฐสยามอยู่หลายครั้ง เช่น กบฏพญาปราบสงคราม พ.ศ.2432 และกบฏเมืองแพร่ พ.ศ.2445 เป็นต้น กบฏเหล่านี้เป็นการลุกฮือต่อสู้ด้วยอาวุธ ซึ่งไม่อาจเทียบเทียมกับอาวุธของกองทัพรัฐบาลสยามที่ยกมาปราบปรามได้ การกบฏดังกล่าวจึงจบลงด้วยการนองเลือด


ศาลารัฐบาลมณฑลพายัพหรืออาคารหอกลางเวียงในปัจจุบัน แสดงถึงการยึดครองล้านนาโดยสยาม
ภาพ: Chiang Mai News

เมื่อถึงช่วงเวลาของครูบาเจ้าศรีวิชัย รัฐสยามเริ่มสามารถจัดการกับชนชั้นปกครองเดิมได้แล้วจึงให้ความสำคัญกับการควบคุมผู้คนทั่วไปในสังคมล้านนาโดยตรง ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐสยามเริ่มขับเคลื่อนแผนงาน “แปลงลาวให้เป็นไทย” หรือการกลืนชาวล้านนาให้เป็นพลเมืองไทยที่ขึ้นตรงและภักดีต่อรัฐสยามผ่านการบังคับใช้นโยบายสี่ด้านด้วยกัน ด้านแรกคือการบังคับใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารที่เกณฑ์เอาชายฉกรรจ์ชาวล้านนาทุกคนไม่เว้นพระเณรเข้ามารับราชการทหาร การเกณฑ์ทหารดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อให้ชาวล้านนาต้องผ่านกระบวนการฝึกอบรมที่จะสร้างความจงรักภักดีต่อรัฐสยาม และมีหน้าที่ผูกพันต่อรัฐสยามโดยตรง ด้านที่สองคือการเก็บภาษีรัชชูปการหรือภาษีรายหัวประจำปีที่ราษฎรสามัญทุกคนต้องจ่ายในอัตราเท่ากันโดยไม่คำนึงถึงฐานรายได้ หากใครไม่สามารถจ่ายได้จะต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปทำงานโยธาให้กับทางราชการ ในทำนองเดียวกับการเกณฑ์ทหาร การเก็บภาษีดังกล่าวไม่เพียงเป็นแหล่งรายได้ของรัฐแต่ยังเป็นการสร้างพันธะหน้าที่โดยตรงที่ชาวล้านนาจะต้องมีต่อรัฐสยาม ด้านที่สามคือการจัดระบบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งกะเกณฑ์ให้เด็กทุกคนในล้านนาต้องเข้าเรียนในโรงเรียนของภาครัฐหรือ “โรงเรียนไทย” ซึ่งใช้ภาษาและอักษรไทยสยามเป็นภาษาสื่อกลางแทนที่ภาษาและอักษรไทยล้านนา ระบบการศึกษาอย่างใหม่นี้ยังความกังวลต่อพ่อแม่ผู้ปกครองชาวล้านนามากว่าจะทำให้ลูกหลานไม่สามารถอ่านและสืบทอดองค์ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแบบล้านนาได้ ด้านสุดท้ายคือการปฏิรูปศาสนาโดยการพยายามเผยแพร่ศาสนาพุทธเถรวาทนิกายธรรมยุตเข้ามาแทนที่ศาสนาพุทธเถรวาทนิกายดั้งเดิมของล้านนา และการแทนที่ระบบการปกครองสงฆ์แบบหัวหมวดอุโบสถตามจารีตล้านนาด้วยระบบเจ้าคณะซึ่งใช้กันมาถึงปัจจุบัน ในระบบหัวหมวดอุโบสถแบบเดิมนั้น คณะสงฆ์ล้านนามีอำนาจปกครองตัวเองโดยเป็นอิสระจากกรุงเทพ ฯ โดยจะจัดกลุ่มวัดใกล้เคียงกันเป็น “หัวหมวดวัด” โดยมี “ครูบา” หรือพระสงฆ์ที่ได้รับการยอมรับในวิชาความรู้และความประพฤติดำรงตำแหน่งเป็น “เจ้าหัวหมวด” ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์และเป็นพระอุปัชฌาย์ของวัดในหัวหมวดวัดนั้น ๆ ในขณะที่ระบบแบบใหม่นั้นจัดแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็นตำบล แขวง นครหรือจังหวัด ล้อไปกับการจัดระเบียบการปกครองท้องที่ และทางมหาเถรสมาคมที่กรุงเทพจะแต่งตั้งพระสังฆาธิการที่เรียกกันว่า “พวกพระครู” เป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์ล้านนาโดยรับคำสั่งขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคมที่กรุงเทพ โดยการอุปสมบทกุลบุตรเป็นพระภิกษุจะต้องได้กระทำโดยพระครูเหล่านี้เท่านั้น การขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ย่อมสร้างความไม่พอใจในหมู่ชาวล้านนาที่รู้สึกอึดอัดจากการเสียตัวตนและการถูกควบคุมโดยรัฐสมัยใหม่เป็นอย่างมาก ความอึดอัดดังนี้นี่เองที่ขับดันให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยอุบัติขึ้นเป็นตนบุญในความหมายการต่อต้านอำนาจรัฐโดยเอาบุญเข้าสู้ เช่นเดียวกับตนบุญท่านอื่น ๆ ที่ปรากฏขึ้นก่อนหน้านั้น



ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นชาวเมืองลี้ นครลำพูน มีพื้นเพเป็นคนยากจนเชื้อสายกะเหรี่ยงหรือที่ชาวล้านนาเรียกอย่างเหยียดหยันว่า “ยาง” จึงนับว่าเป็นคนชายขอบกลุ่มหนึ่งของสังคมล้านนา เดิมครูบาเจ้าศรีวิชัยคงไม่ได้ตั้งใจจะเป็นตนบุญตั้งแต่แรกเพราะในวัยหนุ่ม ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ไม่ได้คาดว่าจะบวชเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต เพียงแต่มาบวชเรียนให้ได้วิชาความรู้ติดตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของครูบาเจ้าศรีวิชัยเริ่มต้นขึ้นจากการ “ต้องอธิกรณ์”หรือการถูกกล่าวหาเป็นคดีความในคณะสงฆ์ ซึ่งตลอดชีวิตของครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ถึง 6 ครั้งด้วยกัน การต้องอธิกรณ์ครั้งแรกของครูบาศรีวิชัยนั้น เป็นเหตุเนื่องด้วยการปะทะกันระหว่างระเบียบการเป็นพระอุปัชฌาย์แบบล้านนากับแบบสยาม กล่าวคือครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับตามจารีตสงฆ์แบบล้านนาดั้งเดิมให้เป็น “เจ้าหัวหมวด” หรือเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์รวมถึงเป็นพระอุปัชฌาย์ของวัดต่าง ๆ ในหัวหมวดอุโบสถแขวงเมืองลี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลสยามได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและระเบียบการปกครองสงฆ์ของนครลำพูน และแต่งตั้งให้ “มหาอินทร์” หรือ “พระครูมหารัตนากร” ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการศึกษาจากกรุงเทพ ฯ ขึ้นเป็นเจ้าคณะแขวงลี้ ส่งผลให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์ตามจารีตล้านนา ในขณะที่พระครูมหารัตนากรเป็นพระอุปัชฌาย์ตามกฎหมายสยาม ก่อให้เกิดความไม่ลงตัวว่าระหว่างพระสงฆ์สองรูปนี้ว่ารูปใดจะเป็นผู้ที่สามารถอุปสมบทกุลบุตรในแขวงเมืองลี้ได้

กรณีอธิกรณ์เริ่มต้นขึ้นจากการที่มีกุลบุตรมาขออุปสมบทกับครูบาเจ้าศรีวิชัย แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่แน่ใจเรื่องข้อบังคับตามกฎหมายใหม่ จึงได้ทำเรื่องสอบถามไปถึงนายอำเภอลี้และเจ้าคณะแขวงลี้แต่ก็ไม่ได้คำตอบกลับมา จนเวลาล่วงเลยไปจนใกล้เข้าพรรษา ครูบาศรีวิชัยเกรงว่ากุลบุตรจะไม่ได้รับการอุปสมบททันท่วงทีจึงทำพิธีอุปสมบทให้กุลบุตรท่านนั้นไปก่อน กรณีดังกล่าวเป็นผลให้พระครูมหารัตนากรกล่าวหาว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ทำการอุปสมบทให้กุลบุตรโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเชิญตัวครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนในตัวเมืองนครลำพูน จะเห็นได้ว่าครูบาศรีวิชัยไม่ได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมายคณะสงฆ์ของสยามแต่แรก แต่ถูก “เล่นเชิง” โดยพระสงฆ์ที่กำลังไม่ลงรอยกันอยู่ อีกทั้งการใช้กำลังตำรวจเข้ามาจัดการในเรื่องนี้ยังเป็นการกระทำที่รุนแรงเมื่อเทียบกับพฤติการณ์ อธิกรณ์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกกักขังเพื่อสอบสวนเป็นเวลาสามวัน แม้จะไม่นานนักแต่การถูกกลั่นแกล้งกันครั้งนี้น่าจะเป็นชนวนที่บันดาลใจให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยตัดสินใจลุกขึ้นเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจที่ใช้กลั่นแกล้งตน

การเคลื่อนไหวของตนบุญครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นแตกต่างจากการเคลื่อนไหวของตนบุญท่านอื่น ๆ ที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวแต่อย่างใด ในขณะที่ตนบุญรุ่นก่อน ๆ ต่อต้านขัดขืนอำนาจรัฐด้วยการใช้อาวุธ ครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับใช้ศาสนาพุทธซึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของคนล้านนาเป็นอาวุธต่อสู้แทน ครูบาเจ้าศรีวิชัยมีกลยุทธ์การใช้ศาสนาเพื่อปลุกเร้ามวลชนล้านนาลุกขึ้นคัดง้างกับอำนาจรัฐสยามหลายวิธีด้วยกัน ประการแรก ครูบาเจ้าศรีวิชัยประพฤติตนตามพระวินัยและความคาดหวังของสังคมต่อภิกษุสงฆ์อย่างเคร่งครัด เป็นผู้มักน้อย รักสันโดษ และถือธุดงควัตรซึ่งเป็นหลักปฏิบัติทางศาสนาที่เข้มข้นขึ้นพิเศษ ส่งผลให้ญาติโยมมีความเลื่อมใสศรัทธาในตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นอย่างมากจนครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับการขนานนามว่าเป็น “ครูบาศีลธรรม” ความเคร่งครัดสำรวมในการครองตนเช่นนี้ย่อมเป็นที่มาของอิทธิพลบารมีที่ช่วยให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยสามารถควบคุมบริหารขบวนการเคลื่อนไหวได้อย่างรัดกุม 

ประการที่สอง ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้แสดงความปรารถนาพุทธภูมิเป็นประจักษ์ คือได้ปวารณาตนว่าต้องการสั่งสมบุญบารมีเพื่อจะได้สำเร็จเป็นพระศรีอาริยเมตไตรยในภายภาคหน้า อันเป็นการแสดงตนเป็นพระโพธิสัตว์โดยปริยายไปด้วย ดังที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บันทึกความปรารถนาดังกล่าวไว้ในคำอุทิศท้ายคัมภีร์ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยและคณะได้เรียบเรียงหรือคัดลอกขึ้นเพื่อเป็นการทำบุญต่ออายุพระศาสนา หรือดังที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้ยึดเอาคาถาบารมี 30 ทัศซึ่งเป็นคาถาแสดงบารมีของพระโพธิสัตว์เป็นคาถาประจำตัว การปวารณาตนเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของศาสนาพุทธแบบล้านนา (ในยุคนั้น) ที่ถือว่าความต้องการเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตนั้นเป็น “ความฝันใหญ่” ที่ทุกคนมีสิทธิฝัน เพียงแต่จะต้องใช้ความพากเพียรยิ่งในการบรรลุเท่านั้น การปรารถนาพุทธภูมิเช่นนี้เป็นการแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจและเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของครูบาเจ้าศรีวิชัย หรือจะกล่าวว่าเป็นการแสดงความมั่นคงต่ออุดมการณ์อันยิ่งใหญ่และยาวไกลก็ว่าได้



ประการที่สาม ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินกลยุทธ์เข้าหามวลชนด้วยการเดินทางออกบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วล้านนาที่กำลังทรุดโทรมลงท่ามกลางความระส่ำระส่ายทางการเมือง (กระทั่งในปัจจุบันนี้เมืองเชียงใหม่ก็ยังมีวัดร้างอยู่เกือบหนึ่งพันวัดได้) การเดินสายบูรณะของครูบาศรีวิชัยนี้ ในทางความคิดแล้วเป็นการสืบทอดอายุพระศาสนาซึ่งจะเสื่อมลงไปตามกาลเวลาจนสิ้นสูญไปเมื่อพระศาสนาสิ้นอายุขัยห้าพันปี และความเสื่อมของพระศาสนานี้เองเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์เข็ญในโลก ยิ่งช่วงเวลาของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นใกล้ถึงกึ่งพุทธกาลแล้ว ยิ่งทำให้เป็นที่คาดคิดว่าจะเป็นหมุดหมายความเสื่อมโทรมของพระศาสนาครั้งใหญ่ อันจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก ภายใต้วิธีคิดเช่นนี้ การบูรณะปฏิสังขรณ์บำรุงพระศาสนาของครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงเป็นการพยายามยับยั้งความเสื่อมทางโลกและทางธรรม และย่อมขับเน้นบทบาทความเป็นพระโพธิสัตว์ที่อุทิศตนเพื่อมหาชนของครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็นที่เลื่องลือกว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การเดินสายบูรณะของครูบาศรีวิชัยยังเป็นโอกาสที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยและคณะได้พบปะกับมวลชนศรัทธาญาติโยมตามหมู่บ้านต่าง ๆ ช่วยให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สั่งสมชื่อเสียงและฐานมวลชนซึ่งจะได้เป็นผู้สนับสนุนในการเคลื่อนไหวครั้งต่อ ๆ ไป กล่าวกันว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยได้แรงบันดาลใจเรื่องการออกบูรณะเสนาสนะในสถานที่ต่าง ๆ นี้จากการได้อ่านวรรณกรรมล้านนาเรื่อง “พุทธตำนานพระเจ้าเลียบโลก” หรือ “ตำนานพระบาทพระธาตุ” ระหว่างที่ถูกคุมขัง ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยจากการต้องอธิกรณ์ครั้งหนึ่ง วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวได้กล่าวถึงการเสด็จเยือนสถานที่ต่าง ๆ ในล้านนาและดินแดนใกล้เคียงของพระพุทธเจ้า โดยในการเยือนแต่ละครั้ง พระพุทธเจ้าจะได้ทำนายไว้ว่าสถานที่นั้น ๆ จะได้มีผู้มาสถาปนาชุมชนและสร้างศาสนสถานต่าง ๆ ในอนาคต ครูบาเจ้าศรีวิชัยคงจะได้แรงบันดาลใจในการออก “เลียบโลก” เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจากวรรณกรรมเรื่องนี้นี่เอง

ประการที่สี่ ครูบาเจ้าศรีวิชัยพยายามเข้าถึงมวลชนทุกชั้นชนไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย พ่อค้า ชาวบ้าน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคม ดังที่ตัวครูบาศรีวิชัยเองก็เป็นคนชายขอบมาก่อนเช่นกัน ในช่วงแรก ๆ ของการเคลื่อนไหว กลุ่มกะเหรี่ยงแดงซึ่งมักถูก “คนเมือง” มองเป็น “คนดอย” และเป็นคนนอกศาสนาที่ “บ่รู้จักกระทำบุญทาน” เป็นมวลชนกลุ่มแรก ๆ ที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเข้าหาโดยใช้สายสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์เป็นสะพานเชื่อมโยงให้ครูบาเจ้าสามารถเผยแผ่ศาสนาพุทธในหมู่ชาวกะเหรี่ยงแดงได้สำเร็จ กลุ่มกะเหรี่ยงแดงมีความนับถือในตัวครูบาเจ้าเป็นอันมากเนื่องจากกล่าวกันว่าครูบาเจ้าสามารถเรียกฝนและแก้ปัญหาชลประทานให้หมู่บ้านกะเหรี่ยงแดงที่ประสบภัยแล้งเรื้อรังได้ และกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เองเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ยกย่องครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็น “ตนบุญ” ผู้มีอิทธิฤทธิวิเศษ กลุ่มเจ้านายและพ่อค้าชนชั้นกลางในเมืองก็ให้ความยอมรับและปวารณาตนเป็นศรัทธาสนับสนุนทุนทรัพย์ให้กับครูบาเจ้าศรีวิชัยเนื่องจากเห็นว่าครูบาเจ้ามีความสามารถในการบริหารโครงการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่าง ๆ ให้ลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังมีเครือข่ายสหธรรมที่กว้างขวางไปถึงเมืองยองและเมืองเชียงตุงในรัฐฉานของพม่า ดังจะเห็นว่าในการบูรณะวิหารวัดพระเจ้าตนหลวงที่พะเยา ได้มี “สมเด็จอรัญวาสีพระพี่หลวงป่าบง” ซึ่งเป็นตนบุญจากเมืองยองมาร่วมแรงสร้างด้วย ด้วยเหตุนี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงสามารถนั่งอยู๋ในใจและระดมการสนับสนุนได้จากคนล้านนาทุกชั้นชน กล่าวกันว่าผู้ศรัทธาครูบาเจ้าศรีวิชัย ณ ขณะนั้นคิดเป็นถึง 80% ของประชากรล้านนาเลยทีเดียว

ประการสุดท้าย ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เสนอตนเป็นที่พึ่งพาทางเลือกให้กับคนล้านนาที่ไม่พอใจหรือรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพารัฐสยามได้ ในการเข้าหามวลชนระหว่างออกบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะแต่ละครั้ง ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะรับบรรพชาอุปสมบทให้แก่กุลบุตรที่สนใจศึกษาพระศาสนาแบบล้านนาอยู่เป็นนิจ ในหมู่ผู้ที่เข้ามาบวชเป็นพระเณรในอาณัติของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น มีทั้งผู้ที่ไม่ต้องการถูกเกณฑ์ทหารตามระบบแบบใหม่ สอดคล้องกับจารีตดั้งเดิมของล้านนาที่ผู้เป็นภิกษุสามเณรไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานไพร่ และมีทั้งลูกหลานของชาวล้านนาที่ไม่ต้องการส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนไทยแต่ต้องการให้ลูกได้รับการศึกษาแบบล้านนา ความไม่พอใจและต้องการหลบหลีกจากอาณัติของรัฐสยามซึ่งถูกมองเป็นผู้มีอำนาจจากต่างถิ่นขับดันให้มีกุลบุตรเข้ามาบรรพชาอุปสมบทกับครูบาเจ้าศรีวิชัยและเครือข่ายหลักพันรูปเลยทีเดียว แน่นอนว่าการอุปสมบทให้แก่กุลบุตรตามจารีตล้านนาดังกล่าวนี้เป็นการอารยะขัดขืนต่อคำสั่งรัฐบาลสยามที่ให้การอุปสมบทกระทำโดยเจ้าคณะที่คณะสงฆ์สยามแต่งตั้งอยู่ในตัว

ความสำเร็จสูงสุดในการเดินสายบูรณะปฏิสังขณ์ของครูบาศรีวิชัยคือการก่อสร้างถนนขึ้นไปยังวัดพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นพระธาตุที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา โครงการดังกล่าวเป็นความคิดของครูบาเถิ้ม เจ้าอาวาสวัดแสนฝางและวัดพระธาตุดอยสุเทพ ผู้เป็นสหธรรมิกของครูบาเจ้าศรีวิชัย และได้นำเสนอความคิดดังกล่าวแก่รัฐบาลมาก่อนแล้ว แต่รัฐบาลประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณถึง 200,000 บาท และต้องใช้เวลาก่อสร้างกว่าสามปี รัฐบาลจึงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองอย่างไม่เหมาะสมท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในเวลาต่อมารัฐบาลมีความต้องการนำไฟฟ้าขึ้นไปยังตำหนักที่ประทับหลวงบนดอยสุเทพ ญาติโยมชาวเชียงใหม่นำโดยหลวงศรีประกาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ และนายศรีหมื่น วณีสอน นายอำเภอแขวงแมหรือสันป่าตองในปัจจุบันจึงได้นำความไปหารือกับครูบาศรีวิชัย ครูบาเถิ้มน่าจะได้ปรึกษาหารือเรื่องการสร้างถนนกับครูบาเจ้าศรีวิชัยมาก่อน ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงเสนอว่าควรจะสร้างถนนก่อนจะนำไฟฟ้าขึ้นไปยังดอยสุเทพ โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยจะรับ “นั่งหนัก” หรือนั่งเป็นประธานอำนวยการก่อสร้างเอง ผลปรากฏว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยสามารถดำเนินการก่อสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพได้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียงห้าเดือนเศษเท่านั้น โดยอาศัยแรงอาสาและทุนทรัพย์จากการบริจาคของประชาชนเท่านั้น ไม่ได้พึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลแม้เพียงบาทเดียว ในการก่อสร้างถนนครั้งนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัยสามารถระดมญาติโยมมาช่วยกันลงแรงได้กว่าแสนคน จนกล่าวกันว่าต้องมีการจำกัดให้ญาติโยมที่มาร่วมบุญแต่ละคนร่วมแรงขุดถางถนนได้เพียงคนละวาเท่านั้น มิเช่นนั้นจะไม่มีเนื้อที่ถนนมากพอให้ทุกคนที่มาร่วมบุญได้ร่วมแรง เมื่อคำนึงถึงประชากรทั้งหมดในล้านนา ณ ขณะนั้นมีเพียง 1.1 ล้านคนเศษ เท่ากับว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยสามารถระดมมวลชนได้ 10% ของล้านนาเลยทีเดียว การระดมศรัทธาญาติโยมของครูบาศรีวิชัยครั้งนั้น ยังกล่าวกันอีกด้วยว่าเป็นการทดสอบว่าหมู่บ้านไหนมีทัศนคติอย่างไรต่อรัฐบาลสยาม เพราะหากพระสงฆ์หรือกำนันผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านตำบลใดไม่พอใจรัฐบาลสยามก็จะส่งคนมาร่วมกับครูบาศรีวิชัย แต่ถ้าพอใจหรือยำเกรงอำนาจของรัฐบาลสยามก็จะไม่ส่งคนมาร่วม การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพจึงเป็นการแสดงพลังแบบสันติวิธีเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการรวมศูนย์อำนาจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ล้านนา


ครูบาศรีวิชัยเดินทางกลับจากในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ (ภาพจากประวัติย่อและผลงานของครูบาศรีวิชัย : สำนักพิมพ์ช้างเผือก)

ความแหลมคมในการเคลื่อนไหวของครูบาเจ้าศรีวิชัยคือการต่อต้านการขยายตัวของคณะสงฆ์ธรรมยุติพร้อมกับยืนยันอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาให้โดดเด่นท้าทายความพยายามกลืนกินวัฒนธรรมโดยรัฐบาลสยาม ดังจะเห็นได้ว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินสายบูรณะวัดวาอารามในล้านนากว่า 108 วัด หลายวัดเป็นวัดสำคัญตามคติล้านนา เช่น วัดสวนดอกและวัดพระสิงห์ แต่วัดเหล่านั้นไม่มีวัดใดเลยเป็นวัดสังกัดธรรมยุติกนิกาย ด้วยเหตุนี้ ครูบาจึงไม่เข้าไปบูรณะวัดสำคัญบางวัดที่กำลังทรุดโทรม เช่น วัดเจดีย์หลวงและวัดเชียงมั่น เพราะวัดเหล่านี้สังกัดธรรมยุติกนิกายนั่นเอง นอกจากนี้ ครูบาเจ้ายังออก “ใบสุทธิ” หรือเอกสารรับรองความเป็นสงฆ์เป็นภาษาล้านนามอบให้กับพระภิกษุที่อุปสมบทกับครูบาเจ้า แตกต่างจากใบสุทธิที่ออกโดยคณะสงฆ์ส่วนกลางซึ่งเขียนเป็นภาษาไทยสยาม การเดินหมากดังนี้ส่งผลกระเทือนถึงขนาดทำให้พระภิกษุสงฆ์บางรูปที่ยึดมั่นในจารีตล้านนาคืนใบสุทธิฉบับภาษาไทยสยามเพื่อมารับใบสุทธิภาษาล้านนาของครูบาเจ้าศรีวิชัยแทน ยิ่งเมื่อการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพสำเร็จลุล่วงแล้ว ชื่อเสียงและอิทธิพลบารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัยได้แผ่ขจรขจายไปทั่วล้านนาอย่างที่ไม่มีใครเทียบได้ เป็นผลให้วัดวาอารามต่าง ๆ ร่วมร้อยวัดที่ไม่ค่อยพอใจกับการปกครองของคณะสงฆ์ส่วนกลางเริ่มประกาศไม่ขึ้นต่อมหาเถรสมาคม แต่จะมาขึ้นกับครูบาเจ้าศรีวิชัยแทน พร้อมทั้งมีคำร่ำลือเชื่อถือกันในสังคมล้านนา ณ ขณะนั้นว่าอีกไม่นาน “พวกพระครู” จะถูกล่องใต้ลงไปยังกรุงเทพ ฯ พ้นจากแผ่นดินล้านนาไป

การต่อต้านอำนาจของคณะสงฆ์ส่วนกลางดังกล่าวยังความกังวลให้แก่รัฐบาลกรุงเทพ ฯ ซึ่งยังมีอำนาจไม่มั่นคงเนื่องจากเพิ่งผ่านการปฏิวัติ พ.ศ.2475 มา และรัฐบาลกรุงเทพ ฯ ก็ได้หวาดระแวงอยู่ก่อนแล้วว่ากลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือจะคิดแบ่งแยกดินแดนหลังการปฏิวัติหรือไม่ ดังที่รัฐบาลได้เชิญตัวเจ้าแก้วนวรัฐลงมาสอบถามประเด็นดังกล่าวก่อนหน้านั้น แต่เดิมรัฐบาลกรุงเทพ ฯ พยายามผูกมิตรกับครูบาเจ้าศรีวิชัยด้วยการถวายตาลปัตรปักลายคณะราษฎรและร่วมสังเกตการณ์การสร้างถนนขึ้นดอยสุทเพ แต่เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคณะสงฆ์ล้านนาและคณะสงฆ์สยามตึงเครียดขึ้น รัฐบาลกรุงเทพ ฯ จึงตัดสินใจหันมาปราบปรามขบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างจริงจัง ครูบาและพระสงฆ์ในขบวนการจำนวนมากถูกสั่งกักขังหรือให้สึกออกจากผ้าเหลือง ส่วนตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นถูกเชิญตัวลงไปกักขังอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพ ฯ พร้อมทั้ง “ยัดข้อหา” หรือตั้งอธิกรณ์ดำเนินคดีครูบาศรีวิชัยหลายข้อหา เช่น ตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน ขัดขืนคำสั่งคณะสงฆ์ บูรณะโบราณสถานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ขัดขวางการตั้งโรงเรียนไทย ฯลฯ ในท้ายที่สุด หลวงศรีประกาศเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาให้รัฐบาลปล่อยตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สำเร็จ บนเงื่อนไขว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยจะต้องลงนามยอมรับเงื่อนไขว่าจะเชื่อฟังคณะสงฆ์ส่วนกลางและสนับสนุนกิจการของรัฐบาลสยามเพื่อแลกกับอิสรภาพ กล่าวกันว่าการ “ไว้ลาย” ครั้งสุดท้ายของครูบาเจ้าศรีวิชัยคือการลงนามในเอกสารยอมรับเงื่อนไขฉบับนั้นด้วยลายมือชื่อที่ผิดแปลกไปจากที่ใช้ทั่วไป ทำนองว่าเป็นการแสดงความขัดขืนอย่างทะนงในใจอยู่เล็ก ๆ นั่นเอง

หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับไปพำนักอยู่ที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูนซึ่งเป็นภูมิลำเนาของท่านจนมรณภาพลงในปี 2482 เป็นการปิดฉากตำนานการต่อสู้เพื่อรักษาเอกลักษณ์ความเป็นล้านนาของครูบาเจ้าศรีวิชัยลง มีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่าขานได้เล็กน้อยว่าในขณะที่ครูบาเข้าศรีวิชัยอาพาธหนักอยู่นั้น ทางศรัทธาญาติโยมชาวเชียงใหม่ได้ทำเรื่องขอแพทย์พิเศษจากกรุงเทพ ฯ ให้ขึ้นไปช่วยรักษา แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ณ ขณะนั้น คือนายควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ได้ปฏิเสธคำขอดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นเพียงพระธรรมดา ไม่ควรได้อภิสิทธิ์จากรัฐบาลในการจัดหาแพทย์พิเศษไปให้ ไม่เช่นนั้นเมื่อพระครูต่าง ๆ เจ็บป่วยก็จะร้องหาแพทย์พิเศษจากกรุงเทพ ฯ กันทั้งหมด ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงมรณภาพในที่สุด

การต่อสู้ของขบวนการครูบาเจ้าศรีวิชัยคือความพยายามเฮือกสุดท้ายของชาวล้านนาที่จะธำรงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นล้านนาก่อนที่จะถูกรัฐชาติสมัยใหม่กลืนกินจนเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน Katherine Bowie กล่าวว่ารัฐชาติไทยนั้นเพิ่งเริ่มต้นอย่างสมบูรณ์เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยลงนามยอมรับเงื่อนไขของรัฐบาลในปี 2479 หรือเมื่อ 87 ปีมานี้เอง ในปัจจุบัน เรื่องราวของครูบาเจ้าศรีวิชัยถูก “ลบคม” โดยตัดทอนเรื่องการต่อต้านอำนาจรัฐบาลส่วนกลางไปให้เหลือเพียงเรื่องราวอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จนเสมือนเป็นเพียงพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งเท่านั้น ทั้งที่ตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยเองนั้นไม่นิยมปลุกเสกเครื่องรางของขลังให้ใครในระหว่างชีวิตของท่าน แต่การศึกษาประวัติศาสตร์อาจทำให้ชาวล้านนาสามารถจดจำครูบาศรีวิชัยในบทบาทของพระนักต่อสู้แนวสันติวิธี ผู้ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เอกลักษณ์ทางภาษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมของครูบาศรีวิชัยยังดำรงอยู่เด่นชัดมาถึงปัจจุบัน


อ้างอิง

  • ปิยนันท์ จินา, ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ภัยความมั่นคงต่อรัฐชาติสมัยใหม่’ ใน Way Magazine. https://waymagazine.org/khruba-srivichai/ (สืบค้นเมื่อ 26 สิงหาคม 2566)
  • โสภา (ชานะมูล) โคล, ครูบาเจ้าศรีวิชัย ตนบุญล้านนา. เชียงใหม่: มูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย, 2565.
  • สมาคมชาวลำพูน, ครูบาเจ้าศรีวิชัย: สิริชีวประวัติ วัตรปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน และมงคลบารมี. กรุงเทพฯ: พี.พี.เค. การพิมพ์, 2561. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง