เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
หากใครเคยขับรถผ่านเชิงสะพานเดชาติวงศ์ คงจะสังเกตเห็นป้ายสีเหลืองที่เขียนว่า “สิ้นสุดภาคเหนือตอนล่าง” ราวกับเป็นประตูที่เปิดรับผู้คนเข้าสู่ภาคกลาง และบ่งบอกว่าภาคเหนือได้สิ้นสุดลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม ภาคเหนือตอนล่างยังหมายรวมถึงจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งอยู่เป็นจังหวัดที่ตั้งถัดลงมาจากจังหวัดนครสวรรค์อีกทีหนึ่ง ก่อนจะเข้าสู่จังหวัดชัยนาทที่ถูกกำหนดว่าเป็นภาคกลาง
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ได้กำหนดแนวทางในการจัดกลุ่มจังหวัด โดยภาคเหนือจะประกอบด้วยจังหวัดทั้งสิ้น 17 จังหวัด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ คือ ภาคเหนือตอนบน 1 และ 2 ภาคเหนือตอนล่าง 1 และ 2 เช่นกัน โดยภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วยจังหวัดน่าน พะเยา และแพร่ ภาคเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วยจังหวัดตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ สุดท้ายคือภาคเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วยจังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี เมื่อนำการนิยามภาคเหนือตอนล่างมาประกอบร่วมกับการดูแผนที่ประเทศไทย จะพบว่าภาคเหนือตอนล่างสิ้นสุดลงที่จังหวัดอุทัยธานี เมื่อลงสู่จังหวัดชัยนาทจึงจะถือว่าเป็นภาคกลาง
สำหรับคอลัมน์นี้ เรามิได้จะมาถกเถียงว่าภาคเหนือตอนล่าง “ควร” สิ้นสุดที่จังหวัดใด แต่จะชวนตั้งคำถามว่า ภาคเหนือตอนล่างคืออะไรกันแน่ เงื่อนไขอะไรที่ทำให้เราเรียกจังหวัดหนึ่งว่าคือภาคเหนือตอนล่าง และอีกจังหวัดหนึ่งว่าคือภาคกลาง
ความคลุมเครือของภูมิภาคเหนือตอนล่างเริ่มต้นตั้งแต่ชื่อของภูมิภาคนี้ ที่หมายถึงพื้นที่ระหว่างภาคเหนือกับภาคกลาง ราวกับเป็นพื้นที่ก้ำกึงที่จัดประเภทมิได้ง่ายนัก
มิติด้านภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจสังคม
การแบ่งภูมิภาคของประเทศไทยมีความเหลื่อมซ้อนกันในความเข้าใจของหลายหน่วยงาน สำงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดให้ภาคเหนือประกอบด้วย 17 จังหวัด เหมือนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่คณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติกำหนดให้ภาคเหนือประกอบด้วยจังหวัดเพียง 9 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และพะเยา (จังหวัดตาก คณะกรรมการภูมิศาสตร์นิยามว่าอยู่ในภาคตะวันตก) จะเห็นว่าการนิยามของทั้งสองหน่วยงานมีความแตกกันอยู่ถึง 8 จังหวัด
ความคลุมเครือของภาคเหนือตอนล่างนำมาสู่การศึกษาการกำหนดแนวแบ่งเขตภูมิภาคระหว่างภาคกลางและภาคเหนือโดย สุนีย์ แจ้งแจ่มจิตต์ เมื่อปี 2533 เพื่อสร้างเกณฑ์ที่จะนิยาม 8 จังหวัดที่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดให้เป็นภาคเหนือตอนล่าง ขณะที่คณะกรรมการภูมิศาสตร์แห่งชาติกำหนดให้เป็นภาคกลาง เกณฑ์ดังกล่าวจะนิยามว่าทั้ง 8 จังหวัดควรถูกจัดวางหรือทำความเข้าใจว่าควรเป็นภูมิภาคใด
จากการศึกษาของสุนีย์พบว่า หากกำหนดเกณฑ์การนิยามภาคเหนือในมิติลักษณะทางกายภาค มี 7 จังหวัดไม่ถือว่าเข้าเกณฑ์การนิยามของภาคเหนือตามลักษณะทางกายภาค ได้แก่จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี มีเพียงจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีลักษณะทางกายภาพเข้าเกณฑ์ของการเป็นภาคเหนือ เนื่องจากภาคเหนือตามลักษณะทางกายภาพ จะเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ แต่พื้นที่ทำการเกษตรและชลประทานมีน้อย เพราะพื้นส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่า แต่ทั้ง 7 จังหวัดที่กล่าวไปพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีศักยภาพในการทำการเกษตรและชลประทานสูงกว่าจังหวัดที่เหลือในภาคเหนือ ในมิติทางกายภาพทั้ง 7 จังหวัดจึงมิตรงตามเกณฑ์ของการเป็นภาคเหนือ
ดังนั้นในมิติด้านภูมิศาสตร์ทุกจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างยกเว้นอุตรดิตถ์ถือว่ามิใช่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นมิติที่เห็นได้ชัดเจน เนื่องจากเมื่อกล่าวถึงภาคเหนือ ภาพที่จะตามในความคิดของหลายคนคือการเป็นพื้นที่สูง ภูเขาหรือดอยคือภาพจำของความเป็นภาคเหนือที่อาจแยกจากกันไม่ขาด
ในส่วนของมิติเศรษฐกิจสังคม สุนีย์พบว่า 4 จังหวัดจาก 8 จังหวัด ได้แก่จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และพิจิตร เข้าเกณฑ์การถูกจำแนกให้เป็นภาคเหนือมากกว่ากลาง ในส่วนอีก 4 จังหวัดที่เหลือ คือจังหวัดอุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ถือว่าเข้าเกณฑ์การถูกจำแนกเป็นภาคกลางมากกว่าภาคเหนือ ซึ่งตามเกณฑ์การแบ่งแยกภาคเหนือกับภาคกลางแล้ว ภาคกลางจะมีแรงงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าภาคเหนือ อัตราการเพิ่มของประชากรที่สูงกว่า มีจำนวนครูต่อจำนวนนักเรียนที่สูงกว่า ศักยภาพของโรงพยาบาลในการรับคนไข้ที่เพียงพอกว่า และจำนวนเงินฝากต่อหัวที่สูงกว่า ดังนั้นแล้วหากเปรียบเทียบกันระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง คงมีแต่เพียงภูเขาที่ภาคเหนือจะสูงกว่าภาคกลาง ส่วนมิติด้านเศรษฐกิจสังคมภาคเหนือกลับต่ำกว่าภาคกลางทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในมิติด้านเศรษฐกิจสังคม จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดอุทัยธานีแม้จะใกล้เคียงกับเกณฑ์ของการเป็นภาคกลางมากกว่าภาคเหนือ แต่ก็ถือว่าเศรษฐกิจสังคมของทั้ง 2 จังหวัดห่างไกลจากมาตราฐานของเศรษฐกิจสังคมของภาคกลาง กล่าวคือแม้ทั้ง 2 จังหวัดในมิติด้านเศรษฐกิจสังคมจะใกล้เคียงกับภาคกลางมากกว่าภาคเหนือ แต่ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจสังคมของทั้ง 2 จังหวัดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคกลาง ยังถือว่ามีความเหลื่อมล้ำที่สูงอยู่ อาจเนื่องด้วยทั้ง 2 จังหวัดอาจมีการพัฒนามิติด้านเศรษฐกิจสังคมในหลายด้าน เช่นไรก็ยังมิอาจเท่าการพัฒนาในจังหวัดอื่นของภาคกลางได้
ขณะที่มิติด้านเศรษฐกิจสังคมในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และพิจิตร แม้จะจะใกล้เคียงกับเกณฑ์ของการเป็นภาคเหนือมากกว่าภาคกลาง แต่ถือว่าห่างไกลจากมาตรฐานของเศรษฐกิจสังคมของภาคเหนือ อาจเป็นผลจากทั้ง 4 จังหวัดมีการพัฒนาในมิติด้านเศรษฐกิจสังคมสูงกว่าจังหวัดในภาคเหนือ จากผลการศึกษาของสุนีย์ แจ้งแจ่มจิตต์ เราก็ยังพบว่าการนิยามความเป็นภาคเหนือตอนล่างก็ยังคงคลุมเครืออยู่เช่นเดิม แม้จะมีการจำแนกเกณฑ์การแบ่งแยกภูมิภาคทั้งในมิติด้านกายภาพและเศรษฐกิจสังคมแล้วก็ตาม ไม่ว่าอย่างไรเราก็จะยังพบความคลุมเครือในทั้ง 2 มิติอยู่ดี และเรายังต้องมีข้อคำนึงสำคัญต่อผลการศึกษาของสุนีย์อีกประการหนึ่งคือ งานศึกษาของสุนีย์ขาดมิติด้านวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นมิติหนึ่งที่แสดงความต่างระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางที่ชัดเจน
มิติด้านวัฒนธรรม
มิติด้านวัฒนธรรม อาจกล่าวได้ว่าเป็นเส้นที่แบ่งระหว่างความเป็นภาคเหนือกับภาคกลางได้ชัดเจนที่สุดเส้นหนึ่ง กล่าวให้ชัดเจนคือ “วัฒนธรรมล้านนา” เป็นภาพแทนของความเป็นภาคเหนือที่ชัดเจนมากภาพหนึ่ง โดยวัฒนธรรมล้านนาเป็นวัฒนธรรมหลักและเป็นวัฒนธรรมที่เปรียบเสมือนภาพแทนของผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ครั้งหนึ่งพื้นที่เหล่านี้เคยถูกขนานนามว่าดินแดนล้านนา โดยในปัจจุบันดินแดนล้านนาเดิมครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน อาจมีบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่างที่ได้เอาวัฒนธรรมล้านนาเข้ามาในพื้นที่ แต่ก็มิได้โดดเด่นเหมือนพื้นที่ 8 จังหวัดข้างต้น
วัฒนธรรมล้านนาครอบคลุมหลากหลายมิติในชีวิตของผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือ ครอบคลุมทั้งภาษา เครื่องแต่งกาย มหรสพ พิธีกรรม ดนตรี กระทั่งอาหาร ที่มีลักษณะเฉพาะของตน ซึ่งมีความแตกต่างจากวัฒนธรรมของภาคกลางอย่างชัดเจน นอกจากวัฒนธรรมล้านนาที่ขีดเส้นความแตกต่างระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางแล้ว
วัฒนธรรมล้านนาถูกยกให้ขึ้นมาให้กลายเป็นเส้นแบ่งในมิติด้านวัฒนธรรมระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อรัฐไทยมองว่าเส้นแบ่งนี้ปลอดภัยและขายได้ เนื่องจากในช่วงสงครามเย็นที่รัฐไทยมองเส้นแบ่งหรือความแตกต่างในมิติด้านวัฒนธรรมว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง กล่าวคือความแตกต่างในมิติด้านวัฒนธรรมแฝงฝังมาพร้อมกับภัยคอมมิวนิสต์
แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงสงครามเย็นไป วัฒนธรรมล้านนากลับถูกนำเสนอในรูปแบบของวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นวัฒนธรรมมที่มีลักษณะเฉพาะมิได้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐไทยอีกต่อไป ในทางตรงกันข้ามวัฒนธรรมทั้งสองยังได้ส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดในภาคเหนือ
วัฒนธรรมมล้านนากลายมาเป็นศักยภาพสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ ผ่านเครื่องมืออย่างการท่องเที่ยวและสินค้าทางวัฒนธรรม โดยมีภาครัฐที่คอยสนับสนุนวัฒนธรรมเหล่านี้ จะในรูปแบบที่เป็นคุณหรือโทษจะไม่ขออธิบายในคอลัมน์นี้ หากจะกล่าวเพียงว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างภาคเหนือกับภาคกลางที่เกิดขึ้นในสำนึกของพวกเราหลายคน และมันยังคงดำรงอยู่ได้ เนื่องด้วยความแตกต่างเหล่านั้นถูกกำกับให้ปลอดภัยโดยรัฐไทยมากกว่าจะดำรงอยู่โดยตัวมันเอง จนวัฒนธรรมล้านนากลายมาเป็นเส้นแบ่งภาคเหนือและภาคกลางออกจากกันอย่างชัดเจน
เมื่อกลับมาสำหรับมิติทางวัฒนธรรมในภาคเหนือตอนล่าง หลายคนคงจะตอบได้ยากว่าวัฒนธรรมของภาคเหนือตอนล่างเป็นอย่างไร? และแตกต่างอย่างไรกับวัฒนธรรมของภาคกลาง?
คำตอบของคำถามข้างต้นคงต้องเว้นช่องว่างเอาไว้ก่อน เนื่องด้วยวัฒนธรรมในภาคเหนือตอนล่างมีการกระจายตัวสูงมากจนมิอาจนำเสนอเป็นตัวแทนทางวัฒนธรรมของภูมิภาคได้ กล่าวคือไม่สามารถไม่พบภาพแทนทางวัฒนธรรมของภูมิภาคเหนือล่าง เฉกเช่นที่ภาคเหนือบนมีวัฒนธรรมล้านนาเป็นภาพตัวแทน
ในภาคพื้นเหนือตอนล่าง พื้นที่หนึ่งเราอาจพบวัฒนธรรมของชาวไทดำ แต่เมื่อขยับการสำรวจออกจากพื้นที่ของวัฒนธรรมไทดำมาไม่ไกลนัก เราก็อาจพบวัฒนธรรมของชาวจีนแต้จิ๋วแทน การกระจายตัวของผู้คนและวัฒนธรรมทำให้วัฒนธรรมของภาคเหนือตอนล่างอยู่ภายใต้ร่มของวัฒนธรรมชุมชนมากกว่าที่จะเป็นวัฒนธรรมภูมิภาค
ในภาคพื้นเหนือตอนล่าง พื้นที่หนึ่งเราอาจพบวัฒนธรรมของชาวไทดำ แต่เมื่อขยับการสำรวจออกจากพื้นที่ของวัฒนธรรมไทดำมาไม่ไกลนัก เราก็อาจพบวัฒนธรรมของชาวจีนแต้จิ๋วแทน การกระจายตัวของผู้คนและวัฒนธรรมทำให้วัฒนธรรมของภาคเหนือตอนล่างอยู่ภายใต้ร่มของวัฒนธรรมชุมชนมากกว่าที่จะเป็นวัฒนธรรมภูมิภาค
วัฒนธรรมชุมชน คือการให้นิยามวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดเล็ก มีความจำเพาะอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กที่เรียกว่าชุมชน วัฒนธรรมชุมชนต่างจากวัฒนธรรมภูมิภาค โดยวัฒนธรรมอย่างหลังครอบคลุมพื้นที่และผู้คนเป็นวงกว้างมากกว่าวัฒนธรรมชุมชน ดังที่เรามองวัฒนธรรมล้านนาเป็นวัฒนธรรมภูมิภาคมิใช่วัฒนธรรมชุมชน
นอกจากนี้ วัฒนธรรมยังไม่สามารถแยกขาดออกจากประวัติศาสตร์ ภาคเหนือมีประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่แข็งแรงเพียงพอที่จะแยกขาดวัฒนธรรมของตนออกจากวัฒนธรรมภาคกลาง ซึ่งอยู่ภายใต้ร่มของประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อมองมาที่ประวัติศาสตร์ของจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างจะพบว่า หลายจังหวัดอยู่ภายใต้ร่มของประวัติศาสต์ชาติมากกว่าจะมีประวัติศาสตร์ภูมิภาคเป็นของตนเองเช่นเดียวกับภาคเหนือ จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลกอยู่ภายใต้เส้นเวลาของประวัติศาสต์ชาติไทยอย่างชัดเจน ทั้งประวัติศาสตร์ว่าด้วยอาณาจักรสุโขทัยหรือพระนเรศวร ในจังหวัดที่เหลือกลับมีประวัติศาสตร์ที่กระจดกระจายไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เราไม่สามารถเล่าเรื่องประวัตศาสตร์ของจังหวัดในภาคเหนือล่างได้อย่างชีวิตชีวา เช่นที่เราเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของภาคเหนือ กล่าวคือทั้งวัฒธรรมและประวัติศาสตร์ของภาคเหนือตอนล่างมีความกระจัดกระจายอย่างมาก เราไม่สามารถที่จะสร้างภาพแทนทางวัฒนธรรมไปจนถึงประวัติศาสตร์ของภูมิภคนี้ได้เลย
ความกระจัดกระจายของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกลาย คือเงื่อนไขสำคัญของคลุมเครือทางมิติด้านวัฒนธรรม ที่กลับมาตอกย้ำความคลุมเครือของภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบว่าภาคเหนือตอนล่างคืออะไร
เรายังจำเป็นต้องแบ่งภูมิภาคอยู่อีกหรือไม่
จากที่ผู้เขียนได้เล่าถึงความคลุมเครือของการนิยามภาคเหนือตอนล่างว่าคืออะไร เราก็จะพบกับคำถามที่ยังคงไร้ซึ่งคำตอบ เป็นผลให้ผู้เขียนตั้งคำถามต่อมาว่า “แล้วเรายังจำเป็นต้องแบ่งภูมิภาคอยู่อีกหรือไม่?” เพราะเมื่อมีการจัดแบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็นภูมิภาค สิ่งที่อาจต้องตามมาเป็นเงาตามตัวคือการสร้างภาพแทนแบบเหมารวมให้กับทุกจังหวัดในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือเป็นภาคที่มีภูเขาเยอะและอากาศหนาวเหมาะแก่การท่องเที่ยว เป็นภูมิภาคของวัฒนธรรมล้านนา กระทั่งเป็นภูมิภาคที่คนส่วนใหญ่ผิวขาว แต่หากมองมาที่ภาคเหนือตอนล่างกลับไม่มีภาพตัวแทนแบบเหมารวมเช่นที่เกิดขึ้นกับภาคเหนือ นำมาสู่การไร้ตัวตนและตำแหน่งแห่งที่ในสำนึกของผู้คนทั่วไป
เหตุผลประการหนึ่งที่ภาครัฐอ้างถึงความสำคัญของการจัดประเภทจังหวัดตามภูมิภาคคือ การจัดแบ่งกลุ่มจังหวัดเป็นกลุ่มภูมิภาคก็เพื่อเป็นการกำหนดแนวนโยบายและทิศทางการพัฒนาให้เหมาะสมกับภูมิภาค พร้อมกับเป็นเครื่องมือในการบูรณาการแผนของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากเหตุผลที่ภาครัฐอ้างถึงความจำเป็นในการจัดแบ่งกลุ่มจังหวัดตามภูมิภาคเราจะพบว่า การจัดแบ่งดังกล่าวเป็นรูปแบบการปกครองและเครื่องมือทางการปกครองที่นำมาปรับใช้ เพื่อในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาโดยส่วนกลาง เห็นได้จากการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาตลอดเวลาที่ผ่านมามีการกำหนดแผนนโยบายไล่ระดับตั้งแต่ส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาคและลงสู่ส่วนท้องถิ่นในท้ายที่สุด
เมื่อสุดท้ายการจัดแบ่งกลุ่มจังหวัดตามภูมิภาคอาจเป็นเพียงรูปแบบการปกครองและเครื่องมือทางการปกครองที่นำมาปรับใช้โดยส่วนกลาง เพื่อควบคุมนโยบายและทิศทางการพัฒนา เช่นนี้แล้วการจัดแบ่งกลุ่มจังหวัดตามภูมิภาคยังจำเป็นอยู่หรือไม่? ผู้เขียนอย่าให้เป็นคำถามที่ผู้อ่านช่วยกันตอบ
อ้างอิง
- ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2563). ล้านนาที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์สังคมของดินแดนลุ่มน้ําเจ้าพระยาตอนบน (พ.ศ. 2475 – 2557). วารสารไทยคดีศึกษา. 17(2). 109-144
- วศิน ปัญญาวุธตระกูล. (2560). ประวัติศาสตร์ชุมชนภาคเหนือตอนล่าง. พิษณุโลก : สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร
- สุนีย์ แจ้งแจ่ม. (2533). การกำหนดแนวแบ่งเขตภูมิภาคระหว่างภาคกลาง และภาคเหนือ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...