Texas Era In Lampang Province: “ลำปางในยุคเท็กซัส”

เรื่องและภาพ: พินิจ ทองคำ



“ยุคเท็กซัสของลำปาง” จุดเริ่มต้นของความสงสัยของผู้มีสถานะเป็นคนนอกที่มาอาศัย ณ​ จังหวัดแห่งนี้ จากการเดินทาง      สู่พิพิธภัณฑ์หอปูมละกอนที่อยู่ภายใต้ความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อมูลเพียงน้อยนิดที่ไม่สามารถอธิบายที่มา ที่ไปอย่างเข้าใจอย่างแจ่่มแจ้ง ได้สร้างความแรงปราถนาของการค้นหาชุดข้อมูลดังกล่าวมาเพื่อบอกเล่าและบันทึกเอาไว้อย่างท้าทาย ในความเป็นจริงยุคประวัติศาสตร์ของทุกเมืองบนโลก ย่อมมียุคมืดหรือยุคที่ไม่อยากกล่าวถึง บางกรณีกลายเป็นการถูกทำให้ลืมหรือไร้การบันทึก หรือกลายเป็นเพียงความหลังของคนที่อยู่ร่วมสมัย แม้แต่มิติการเก็บข้อมูลของรัฐ เช่น กรณีของรัฐไทยที่ไม่เอื้อต่อการค้นคว้าข้อมูลของหน่วยงานราชการในอดีตที่ล่วงเลยมาอย่างยาวนาน นับว่าเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ข้อมูลบางอย่างเริ่มเลือนหายไป หรือเหนือขั้นไปกว่านั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกลับไม่มีการพูดถึง รับรู้ และหายไปอย่างเงียบงันตลอดกาล

หนึ่งในข้อมูลที่มีการบอกเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้รับรู้ว่าครั้งหนึ่งที่ ยุคเท็กซัสเกิดขึ้นที่ลำปาง จากการบันทึกผ่านหนังสือพ่วง สุวรรณรัฐ ข้าหลวงประจำจังหวัดลำปางและผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2494 – 1 กรกฎาคม 2495 (ตำแหน่งสุดท้ายเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงไทย ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร และยุคคุณสัญญา      ธรรมศักดิ์) ข้อความที่บันทึกไว้ใน ความว่า “ระหว่างนั้นมีงานฤดูหนาวประจำปีของจังหวัด 3 วันแล้ว ยิงกันตายในงานทุกคืน และมีพ่อเลี้ยงผู้หนึ่งถูกยิงหน้าเวทีประกวด เป็นข่าวใหญ่มาก”  ในความตอนหนึ่งคุณพ่วง สุวรรณรัตน์ ประมวลความทรงจำผ่านการบันทึกไว้ว่า พระเพชรคีรี (หมายถึง พระเพชรคีรีศรีราชสงคราม – เจ้าแก้วเมืองไท ณ ลำปาง) มหาดเล็กรัชกาลที่ 6 , เจ้าคุณราชวรัยยการ (หมายถึง อำมาตย์เอก พระยาราชวรัยยการ – บู่ กันตะบุตร), คุณน้อย คมสัน และขุนสุวรรณรัตนราช  มาเตือนให้ระมัดระวังการปฎิบัติราชการ “บ้านเมือง อยู่ในระยะอันตรายอย่างนี้อย่างนั้น และคนทั้งเมืองทราบเป็นนัยกันอยู่แล้วว่า ข้าหลวงคนใหม่นี้ กระทรวงส่งไปเพื่อจัดการให้บ้านเมืองมีขื่อมีแปจริงจังยิ่งขึ้น จึงเป็นการถูกเพ่งเล็งทุกฝีก้าว” เหตุการณ์ต้อนรับภายหลังจากจากการดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดลำปาง บันทึกไว้ว่า “มีเหตุฆ่าคนขายเนื้อในตลาดสด… เมื่อพบตัวผู้ถูกยิงที่โรงพยาบาลสอบถามเท่าไร ๆ ก็ไม่ยอมบอกว่าใครเป็นคนยิง แกรู้แต่ไม่ยอมบอก ได้แต่พูดกระซิบว่าเพียงไม่ตายก็ดีแล้วครับ ถ้าบอกไปก็ตายแน่… วันรุ่งขึ้นได้ไปให้จับตัวคนร้ายซึ่งอยู่ในเมืองนี้เองมาขังไว้ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้องปล่อย เพราะ เจ้าทุกข์ไม่ยอมเอาเรื่อง ต่อมามีเหตุฆ่ากันเรื่อย ๆ ” 

เหตุแห่งความสงสัย ทำไมเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวถึงเกิดขึ้น หนังสือพ่วง สุวรรณรัตน์ บันทึกไว้ว่า “ความรู้สึกร่วมกับนายตำรวจผู้ใหญ่ว่า การฆ่ากันเป็นผลแห่งการค้าฝิ่นส่วนมาก ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนบริเวณนี้เอง ผ่านระยะเวลาสงครามมา ระยะนั้นย่อมผูกพันอยู่กับการค้าฝิ่นจากเชียงตุงมาด้วยกัน” หลังจากนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบุคคลากรของตำรวจใหม่ทั้งจังหวัด ออกนอกเขตของผู้มีอิทธิพลในขณะนั้น



เมื่อครั้งที่คุณพ่วง สุวรรณรัฐ เดินทางไปยังกระทรวง ได้มีการทำบันทึกคำสั่งกำชับผู้กำกับการตำรวจไว้ว่านักโทษจะมีการหลบหนี ด้วยการช่วยเหลือของบุคคลภายนอก ให้วางกำลังป้องกัน แต่เมื่อคุณพ่วง สุวรรณรัฐ เดินทางถึงกระทรวงก็พบว่านักโทษได้หนีไปแล้ว สะท้อนถึงความหละหลวมบกพร่องของเรือนจำ หนึ่งในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เมื่อคุณพ่วง สุวรรณรัฐ เดินทางไปดูมวยในสนามหน้าเมือง มีความรู้สึกเคยชินหน้าของนักมวยและพี่เลี้ยง ปรากฎว่า ผู้คุมเรือนจำเป็นพี่เลี้ยงของนักมวย ซึ่งนักมวย คือ นักโทษคดีค้าฝิ่น หรือที่เรื่องที่เหนือความคาดคิดมากกว่านั้น นักโทษออกจากเรือนจำไปเที่ยงานสงกรานต์เชียงใหม่หรือกลับไปอยู่กับภรรยาที่อำเภอเกาะคา สะท้อนให้เห็นว่าอิทธิพลเถื่อนอยู่เหนือข้าราชการประจำอย่างชัดเจน มิเช่นนั้นคงไม่เอื้ออำนวยความสะดวกต่อกันมากขนาดนี้

ทำความรู้จักฝิ่น ที่มาของเรื่องราวแห่งยุคสมัย

ฝิ่น หรือ Opium มีแหล่งปลูกสำคัญอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเมียนมาร์และประเทศลาว จากการค้นคว้าเพิ่มเติมพบข้อมูลที่น่าสนใจ เมื่อปี 2505 เกิดการสำรวจพื้นที่ปลูกฝิ่นในจังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงรายมีปริมาณฝิ่นที่ผลิต 1 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ ในขณะที่ช่วงปี 2501 ประชาชนทั่วประเทศมีการลงทะเบียนสูบฝิ่น 70,980 คน เป็นคนจีน 43,658 คน คนไทย 27,517 คน หากแต่ปี 2499 Mr.G.E. Yates ผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ เข้ามาสำรวจประเทศไทยช่วงปี 2499 คาดการณ์จำนวนผู้สูบฝิ่นกว่า 100,000 – 120,000 คน เส้นทางการค้าฝิ่นเพื่อนำไปสู่ประเทศต่าง ๆ เช่น จากสามเหลี่ยมทองคำเข้าไปย่างกุ้ง ส่่งต่อเรือผ่านไปยุโรป, ผ่านพื้นที่ภาคเหนือของไทย ด้วย รถไฟ รถยนต์ หรือเครื่องบินลงสู่กรุงเทพ เพื่อส่งต่อไปไซง่อน สิงคโปร์ หรือฮ่องกง, สามเหลี่ยมทองคำสู่เวียงจันทร์โดยตรง หรือในเรื่องระหว่างประเทศที่ร่วมสมัย พบว่า ปี 2493 – 2502 สหรัฐอเมริกา พยายามจำกัดการแพร่กระจายของคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อให้พรรคก๊กมินตั๋งถอยร่นมาอยู่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เกิดการชักชวนชาวเกษตรกรปลูกฝิ่น เพื่อเป็นทุนต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ปริมาณฝิ่นจากพื้นที่แถบนี้จึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว



เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อผู้สูบฝิ่น เริ่มมีความตระหนักถึงปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้น นำมาสู่การประกาศใช้ประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 37 กำหนดให้ยกเลิกการเสพและจำหน่ายฝิ่่นทั่วราชอาณาจักร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2502 เป็นต้นไป (ข้อ 5 นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2502 เป็นต้นไป ผู้ใดเสพฝิ่นหรือมูลฝิ่น นอกจากมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยฝิ่นแล้ว เมื่อพ้นโทษ ให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจส่งตัวผู้นั้นเข้าทำการรักษาพยาบาลและพักฟื้น) ลงนามโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฎิวัติ  เนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว คือ ให้เลิกการเสพฝิ่นและการจำหน่ายฝิ่นทั่วราชอาณาจักร รวมถึงสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทยจัดให้มีสถานพยาบาลและสถานพักฟื้นสำหรับผู้เสพติดฝิ่นมารักษาพยาบาลและพักฟื้น ขณะที่สหรัฐ ฯ มีความพยายามในการสกัดกั้นการลักลอบการค้ายาเสพติด มีการจัดตั้งสำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกา (U.S. DEA) มาเปิดสำนักงานที่กรุงเทพในปี 2506 และเชียงใหม่ในปี 2514 ทำหน้าที่สนับสนุนงานการสืบสวน ทุนดำเนินการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองและความรู้ด้านเทคนิคให้แก่การปราบปรามยาเสพติดในไทย

ปัจจุบันสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) เปิดเผยข้อมูลว่า เมื่อปี 2561 ตลาดยาเสพติดทั่วโลกกำลังขยายตัวจากการผลิตฝิ่นที่เพิ่มสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมา สารที่มาจากดอกฝิ่น มีชื่อเรียกว่า “โอปิออยด์ (Opioid)” มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายทนต่อความเจ็บปวดได้ดีมากขึ้น เกิดอาการสงบผ่อนคลาย แต่หากใช้ครั้งละมาก ๆ เป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดอาการเสพติด รวมทั้งมีความเสี่ยงที่หากใช้เกินขนาด ส่งผลให้เสียชีวิตได้ ถือเป็นหนึ่งในยาเสพติดประเภทที่อันตรายต่อสุขภาพมากที่สุดด้วย

ยุติปัญหาด้วยความเอาจริงและแสวงหาการพัฒนาเมือง

เมื่อพบว่าคุณพ่วง สุวรรณรัฐ ข้าหลวงประจำจังหวัดลำปาง/ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีการดำเนินคดีและจริงจังต่อการจับกุมผู้กระทำความผิด เหตุการณ์จึงเบาบางลง ส่งผลให้เกิดกระบวนการพัฒนาจังหวัดลำปาง ในมิติต่าง ๆ เช่น การดึงกิจการโรงพยาบาลจากเทศบาลมาอยู่กับกรมการแพทย์, การพัฒนาถนนเส้นอำเภอแจ้ห่มและเส้นทางรองที่สามารถเดินทางสู่อำเภอห้างฉัตร หลังจากนั้นเหตุหารณ์ต่าง ๆ เริ่มกลับคืนสู่ความสงบ จน Mr. Robert Anderson เลขานุการสถานทูตอเมริกาประจำกรุงเทพ ฯ (หัวหน้าสถานกงศุลสหรัฐ ฯ ประจำเชียงใหม่คนแรก) มาขอพบ เนื่องจากรับรู้ว่า เห็นทำงานหนักมาจนได้ผล จนท้ายที่สุดมีการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด ถือเป็นการจบภารกิจของการปราบปรามของคุณพ่วง สุวรรณรัฐ ในฐานะของข้าหลวงประจำจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง (ช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2495 ตามมาตรา 34 บัญญัติไว้ว่า “ในจังหวัดหนึ่งให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดและรับผิดชอบงานบริหารราชการของจังหวัดและอำเภอ… บรรดาอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับราชการซึ่งข้าหลวงประจำจังหวัดหรือกรมการจังหวัดมีอยู่ ให้โอนไปเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด” )

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ มีการเรียบเรียงข้อมูลในหนังสือน้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่ ไว้ว่า “เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบสิ้น ธุรกิจสีเทากลับฟูเฟื่อง การค้าฝิ่นได้เป็นช่องทางสั่งสมความมั่นคั่งของข้าราชการและคหบดีในจังหวัดลำปาง  บางส่วนได้รับอานิสงส์มาจากศักยภาพเส้นทางขนส่งลำปาง – เชียงราย – เชียงตุง ที่คึกคักมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 การค้าฝิ่นตั้งอยู่บนฐานของสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่แข็งแกร่ง  พึงเข้าใจว่าการค้าฝิ่นแม้จะเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย กว่าจะมีการยกเลิกอย่างเด็ดขาดก็ต้องรอถึงปี 2502 กระบวนการขนส่ง คือ จะมีการส่งคนไปลักลอบขนฝิ่นแอบแฝงไปกับสินค้าต่าง ๆ ทางเรือ รถไฟ รถยนต์ หรือการเดินเท้านั่น ทำให้ลำปางเป็นเมืองมีอาชญากรรมที่เกิดจากธุรกิจค้าฝิ่น”

ด้วยเหตุที่ไม่สามารถค้นหาข้อมูลหรือข้อมูลเชิงสถิติของเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมาเผยแพร่เป็นข้อเท็จจริงให้เกิดการรับรู้อย่างเป็นสาธารณะได้ แต่หากศึกษาจากบันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัย นับว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยต่อการรับรู้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่นับว่าเป็นยุคเท็กซัสของลำปาง “เมืองรถม้าที่มีอาชญากรรมอันมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าฝิ่นเกิดขึ้น” จนเป็นที่มาของยุคสมัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญทางกายภาพของจังหวัดลำปาง สภาพเมืองที่เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมหรือการเป็นจุดเชื่อมประสานของภูมิภาค ตลอดถึงการแลกเปลี่ยนติดต่อกับกรุงเทพฯ หรือเมืองอื่น ๆ ที่มีความสำคัญ แต่สิ่งเหล่านั้นมิอาจอยู่อย่างนิรันดร์ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 


อ้างอิง

  • พิพิธภัณฑ์หอปูมละกอน เทศบาลนครลำปาง
  • หนังสือพ่วง สุวรรณรัตน์
  • หนังสือน้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่

ห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากบทบาทการเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองสู่การเป็นผู้ค้นคว้าพัฒนาการของเมือง ชวนตั้งคำถามจากเรื่องราวปกติที่พบเจอ สู่การค้นหาคำตอบของสิ่งนั้น พร้อมกับการค้นพบใหม่ของเรื่องราวที่หลายคนยังไม่เคยรับรู้ บทบาท “นักชวนสงสัย” ฝั่งรากมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อเจริญเติบโตขึ้นความเป็นนักชวนสงสัย จึงได้ขยายกลายเป็น “นักค้นหาเรื่องราว” ที่พร้อมจะท้าทายทุกเรื่องด้วยความจริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง