เรื่องและภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว
‘มะเขือเทศ’ เราอาจจะนิยามไม่ได้ว่าเป็นผักหรือผลไม้ แต่พืชชนิดนี้เป็นพืชที่คนกะเบอะดิน หมู่บ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ท่ามกลางหุบเขา ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ทำการเพาะปลูกและส่งออกไปทั่วจังหวัดเชียงใหม่หรือทั่วประเทศไทย ไม่แน่ซอสมะเขือเทศที่เราทุกคนเคยกินอาจจะเป็นรสชาติกะเบอะดินก็ได้
มะเขือเทศ หรือที่ชาวกะเบอะดินเรียกว่า ย่าง ชาย พืชเศรษฐกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมามากกว่า 20 ปี ทั้งยังสืบทอดรุ่นสู่รุ่น ส่งออกไปยังหลายจังหวัดไม่ว่าจะเป็น จังหวัดปทุมธานี จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งยังถูกส่งไปยังโรงงานปลากระป๋องในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไปทำเป็นซอสมะเขือเทศอีกด้วย
‘ย่าง ชาย’ ทรัพย์ในดินแดนมหัศจรรย์
“เราปลูกมา 10-20 ปีแล้ว เมื่อก่อนคนลั๊วะมาลงทุนให้ เอาเมล็ดมะเขือ และเราก็ต้องเอาผลผลิตให้เขา” แม่แหวง-วีรวรรณ มุตติภัย ชาวกะเบอะดินวัย 40 ต้นๆ เล่าให้ฟังถึงการเดินทางเข้ามาของมะเขือเทศก่อนที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน. นครปฐม โดย กรุง สีตะธนี ระบุว่ามะเขือเทศเป็นพืชที่ต้องการอากาศค่อนข้างเย็นในการติดผล หากมาปลูกแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ซึ่งมีอากาศค่อนข้างร้อนเกือบตลอดปี ไม่สามารถปลูกได้ดีปัญหาที่สําคัญคือ ดอกร่วงไม่ติดผลเนื่องจากอุณหภูมิสูงเกินไป และศัตรูพืชระบาดรุนแรง แต่ปัญหานี้ไม่เคยเกิดที่กะเบอะดินเนื่องจากกะเบอะดินสามารถปลูกมะเขือเทศได้เกือบทั้งปีแม้กระทั้งฤดูที่อุณหภูมิสูงอย่างฤดูร้อน
“มะเขือเทศจะปลูก 2 ช่วงในฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูร้อนจะปลูกช่วงเดือนมีนาคมกับเมษายน จะปลูกในนาข้าวเพราะไม่สามารถปลูกข้าวได้ ส่วนฤดูฝนจะปลูกช่วงกันยาถึงปลายตุลา จะปลูกบนเขา” รุ่ง-รุ่งรัตน์ พนาสุขสันติ ชาวสวนมะเขือเทศเล่าให้เราฟังถึงฤดูกาลในการปลูกมะเขือเทศ
ด้วยสภาพอากาศที่อุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบตลอดทั้งปี เนื่องจากอยู่บนภูเขาสูง บวกกับแม่น้ำ 2 สายพาดผ่านหมู่บ้านกะเบอะดินทำให้มะเขือเทศในพื้นที่แห่งนี้สามารถปลูกได้แม้ในฤดูร้อน
“เราจะใช้น้ำห้วยผาขาวและน้ำห้วยอ่างขางในการทำเกษตร เป็นแม่น้ำในหมู่บ้าน ถ้าฝนไม่ตกเราจะใช้น้ำในห้วยผาขาวและน้ำห้วยอ่างขาง เราจะตักและรดน้ำ ซึ่งน้ำเป็นทรัพยากรหลักในการทำไร่” รุ่ง เล่าต่อ
น้ำจากลำห้วยผาขาวและน้ำห้วยอ่างขาง เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่คอยหล่อเลี้ยงชาวกะเบอะดินที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และใช้ในการทำเกษตรกรรม แต่วิถีชีวิตเหล่านี้ของชาวกะเบอะดินอาจจะหายไปเมื่อการคืบคลานเข้ามาของบริษัทเหมืองแร่
เหมืองแร่ถ่านหินคืบคลาน
“ชาวบ้านไม่มีที่อยู่แล้ว ถ้าเหมืองเข้ามา เราอยู่ไม่ได้แล้ว ตกใจ ตกใจมากๆ เลย กลัวพืชผักมันหายหมดเลย มันจะมีสารพิษ กลัวสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำและอากาศ จุดตั้งเหมืองแร่อยู่กลางน้ำเลย ปลูกมะเขือเทศก็ไม่ได้ เอาไปขายก็ไม่ได้ตลาดไม่รับ” แม่ทราย-สาธิต วุฒิศิราวะ ชาวกะเบอะดินเล่าหลังจากที่ตนรับรู้ถึงการเข้ามาของเหมือง
‘ถ่านหินซับบิทูมินัส’ คือแร่ถ่านหินที่ในโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยที่มีการข้อยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ในปี 2543 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 284 ไร่ 30 ตารางวา ระยะเวลาในการขอสัมปทานทั้งหมด 10 ปี ที่มีบริษัทแห่งหนึ่งเป็นเจ้าของโครงการ โดยบริเวณที่จะสร้างเหมืองของโครงการดังกล่าว ตั้งอยู่ใจกลางหมู่บ้านกะเบอะดิน อยู่บริเวณลำน้ำและบริเวณพื้นที่ทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน
ข้อมูลจาก Greenpeace ชี้ว่า สถานการณ์น้ำทั่วโลกที่อยู่ในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีถ่านหินเป็นหนึ่งในสาเหตุ Greenpeace เผยว่า กระบวนการทำเหมืองแร่ถ่านหิน มีการชะล้างและเผาไหม้ จะปล่อยสารเคมีและโลหะหนักสู่สิ่งแวดล้อม การขุดหินทุก 1 ตัน จะส่งผลให้น้ำในใต้ดินราว 2.5 ลูกบาศก์เมตรไม่สามารถนำไปใช้อุปโภคและบริโภคได้เลย Greenpeace ยังเผยอีกว่าหลังจากการปิดเหมืองถ่านหินไปแล้ว ยังคงมีการรั่วไหลของกรดที่ปนเปื้อนด้วยโลหะหนักที่เป็นพิษทั้ง แคดเมียมและโคบอลต์ ซึ่งสารพิษเหล่านี้จะสะสมอยู่ในร่างกายของสัตว์ที่ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเหล่านี้เข้าไป ยังมีการปนเปื้อนในพืชผ่านน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีที่รั่วไหลในน้ำใต้ดินและลำธารหรือการพัดพาของลม ซึ่งหากเกิดเหมืองแร่ถ่านหินขึ้นแน่นอนว่ามะเขือเทศที่เป็นพืชเศรษฐกิจของกะเบอะดินจะได้รับผลกระทบแน่นอน
“นายทุนเห็นว่ามีแร่ถ่านหินเขาก็เลยมาลงทุนมีการสัมปทานในการสำรวจประมาณ 20 ปีก่อน ซึ่งในขณะนั้นก็มีการล่อซื้อที่ดินของชาวบ้าน ด้วยการขมขู่ ทำให้ชาวบ้านจำใจต้องขาย” ธนกฤต โต้งฟ้า ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายปกป้องอมก๋อยจากถ่านหิน เล่าย้อนอดีตของการเข้ามาของบริษัทเหมืองแร่
หลังจากที่มีพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ชุดใหม่ออกมาระบุว่าต้องมีการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือ EIA ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการสร้างเหมืองได้ จึงทำให้ใน เดือนเมษา ปี 2562 บริษัทดังกล่าวจึงมีการแจ้งไปที่อำเภออมก๋อยเพื่อที่จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อสามารถดำเนินการสร้างเหมืองแร่ถ่านหิน
“ชาวบ้านในพื้นที่กะเบอะดินไม่ทราบเรื่อง แต่คนที่เห็นคือคนในตัวอำเภออมก๋อยก็เลยแจ้งข่าวให้กับชาวบ้าน ชาวบ้านจึงรวมตัวกัน ว่าเราจะต้องปกป้องพื้นที่ของเรา เราจะไม่ยอมให้เหมืองเกิดขึ้น ก็เลยเกิดการรวมกลุ่มกันครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่อำเภออมก๋อย หลายร้อยคนที่ไปอยู่ ณ จุดนั้น” ธนกฤต เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ของชาวกะเบอะดิน
กะเบอะดินแมแฮแบ
บริษัทเจ้าของโครงการเหมืองแร่ถ่านหินยังเดินหน้าในการที่จะจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อไปเพื่อที่จะสามารถสร้างเหมืองในพื้นที่กะเบอะดินได้ แต่การจัดเวทีในครั้งนี้กลับถูกล้มไม่เป็นท่า ในวันที่ 28 กันยายน 2562 บริษัทก็ได้มีการเดินหน้าจัดเวที EIA ต่อ ซึ่งสามารถจัดเวทีขึ้นได้ที่ โรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น เมื่อชาวบ้าน เครือข่ายฯ รวมไปถึงชุมชนในระแวกอมก๋อยแสดงจุดยืนต่อต้านเหมืองแร่โดยการกว่า 2,000 ชีวิต ทำให้คณะกรรมการสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเดินทางเข้าพื้นที่ได้ทำให้เวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนั้นถูกล้มไป ซึ่งนับไปชัยชนะของชาวบ้าน
หลังจากเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนั้นถูกล้มเลิกไป ชาวกะเบอะดินได้เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นมา มีเครือข่ายภาคีปกป้องอมก๋อยเข้าไปทำงานในพื้นที่ มีการเสริมศักยภาพให้กับชุมชน มีการอบรมเรื่องสิทธิ กฎหมาย การฟ้องคดีปกครอง และยังมีการออกไปแลกเปลี่ยนกับชุมชนที่มีการต่อสู้ในกรณีใกล้เคียงกัน มีการสร้างแกนนำและเครือข่าย
“ชาวบ้านมั่นใจกล้าที่จะลุกออกมาคัดค้านเหมืองแร่ ชาวบ้านรู้เรื่องสิทธิของตัวเองมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านเข้าใจเรื่องของการต่อสู้มากขึ้น เราเห็นภาพว่าเราสามารถต่อสู้ได้ถ้าหากว่าถ้าเราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เราช่วยกัน เราไม่กลัวหน่วยงานรัฐหรือผู้มีอิทธิพล เหมืองจะมาหรือไม่มาก็ขึ้นอยู่กับชาวบ้าน ที่สำคัญก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทางชุมชนกะเบอะดินไม่โดดเดี่ยวคือชุมชนทางผ่าน หมู่บ้านอื่นๆ เข้ามาช่วย เข้ามาซักถาม เวลามีการรวมตัวกันก็จะเข้ามาช่วย” พรชิตา ฟ้าประทานไพร แกนนำเยาวชนกะเบอะดิน เล่าถึงการรวมกลุ่มของชุมชนของเธอ
ธนกฤตเล่าว่า หลังจากมีการเสริมสร้างศักยภาพภายในชุมชน มีการจัดทำหนังสือโดยชุมชนพร้อมกับภาคีปกป้องอมก๋อย เพื่อเป็นฐานข้อมูลชุมชนหรือที่เรียกว่า CHIA เริ่มต้นเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2562 ใช้เวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งเหตุผลที่ทางเครือข่ายฯต้องมีการเก็บข้อมูล CHIA เพราะมีการวางแผนที่จะฟ้องคดี ซึ่งเหตุผลสำคัญที่จะต้องฟ้องคดีเพราะ EIA ที่ไม่ชอบธรรมมีความผิดปกติไม่ว่าจะเป็นการสวมสิทธิ์เข้าชื่อ รวมไปถึงมีลายมือชื่อของชาวบ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็น และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นการยืนหยัดต่อศาลในเรื่อง บริบทและข้อมูลในพื้นที่เป็นยังไง
อ่านรายงาน CHIA ฉบับเต็มได้ที่ https://www.greenpeace.org/static/planet4-thailand-stateless/2022/03/4a161fc8-kabuedin-chia-final-version.pdf
หลังจากที่ชุมชนกะเบอะดินมีการจัดทำ CHIA ก็นำมาสู่การฟ้องให้มีการเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 ชาวบ้าน 50 คน ร่วมกับผู้สนับสนุนอีก 600 คน เดินขบวนรณรงค์ที่จังหวัดเชียงใหม่ยื่นฟ้อง คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่
จนกระทั่งในวันที่ 30 กันยายน 2565 ชาวบ้านก็ได้รับหนังสือจากศาลปกครองเชียงใหม่ ลงวันที่ 23 กันยายน 2565 มีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวกรณีการทำเหมืองแร่อมก๋อยจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ส่งผลให้บริษัทเจ้าของโครงการรวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ระหว่างการพิจารณาคดี นับเป็นชัยชนะอีกครั้งหนึ่งของชาวกะเบอะดิน
“ชุมชนบอกตัวเองว่าเราชนะมาโดยตลอด ตราบใดที่เหมืองยังไม่เกิดยังไงชาวบ้านก็ชนะ ชาวบ้านต้องยืนหยัดให้ได้ว่าไม่ต้องการเหมือง เป้าหมายของเราก็คือการยุติเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย” พรชิตา กล่าว
4 ปี มะเขือเทศไม่เคยยอม
มะเขือเทศถูกตระเตรียมใส่ตระกร้าบนกระบะรถโฟวิลตั้งแต่เช้าค่ำของวันที่ 28 กันยายน 2566 พร้อมกับขบวนปราศรัยที่มีธงสีเขียวลายมะเขือเทศโบกสะบัดท่ามกลางฝนโปรยปราย เดินทางจากหมู่บ้านกะเบอะดินพาดผ่านเส้นทางที่เหมืองแร่จะเข้ามา มะเขือเทศพร้อมกับขบวนรถโฟวิลเรียงกันเป็นแถวยาวกันที่บริเวณหน้าหมู่บ้านหนองกระทิง เตรียมเคลื่อนขบวนไปยังตัวอำเภออมก๋อย
ณ หอประชุมอำเภออมก๋อย ที่ว่าการอำเภออมก๋อย มีการจัดงาน “ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้” 4 ปีแห่งการไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นเหมืองถ่านหิน เพื่อทบทวนเส้นทางการต่อสู้คัดค้าน “เหมืองแร่ถ่านหิน” ตลอด 4 ปีของชาวบ้านกะเบอะดินและชาวอมก๋อย เพื่อปกป้องวิถีชีวิตที่มีมาอย่างยาวนาน
อ่านข่าว ชาวบ้าน-นักวิชาการ-ภาคประชาสังคม-พิธา ผนึกกำลังอมก๋อยต้านเหมืองแร่ถ่านหิน 4 ปีแห่งการไม่สยบยอม https://www.lannernews.com/28092566-02/
มีการเดินขบวนรณรงค์จากสนามกีฬาเทศบาลอำเภออมก๋อยไปยังหอประชุมอำเภออมก๋อย มีการจัดงานเสวนาพูดคุยถึงผลกระทบของการมีเหมืองแร่ พร้อมกับดนตรีมาขับกล่อมให้การต่อสู้ในครั้งนี้ไม่เดียวดาย แน่นอนว่า ย่าง ชาย หรือ มะเขือเทศก็เป็นหนึ่งใน Movement สำคัญของงานในครั้งนี้
“ปกป้อง มะเขือเทศ ลำห้วย” ป้ายรณรงค์ที่สื่ออย่างเข้าใจง่าย แต่ตรงไปตรงมา
มะเขือเทศสดๆ จากหมู่บ้าน ถูกหั่นออกเป็นชิ้นพอดีคำผสมกับน้ำปลาร้า น้ำปลา จนเป็น เกี่ย อาง ย่าง ชาย หรือ ยำมะเขือเทศ ถูกจัดใส่จานใบไม้กระจายไปทั่วทั้งงานให้ผู้เข้าร่วมได้ลิ้มลองรสชาติความสดของมะเขือเทศ สื่อความหมายว่าชาวกะเบอะดินต้องการปกป้องผืนแผ่นดินตลอด 4 ปี พร้อมกับยืนยันว่าไม่ต้องการคัดค้านการเกิดขึ้นของเหมืองแร่ที่จะพรากเอา วิถีชีวิต ทรัพยากร และชีวิต
แน่นอนว่ามะเขือเทศอาจจะไม่ใช่เพียงพืชเศรษฐกินที่ขับเคลื่อนแค่ปากท้อง แต่คือขบวนการเคลื่อนไหว ขบวนการมะเขือเทศ
“โอ้ ที้ง แฌ แซ ที้ง
อาง ฆ้า อาง บาง แฌ แซท แช่
อาง มี้ แฌ แซ ไช้ะ
ไช้ะ ซึ้ เกท เฌิ่ง ทค้า ลู่ง ทอาง อเกว้
กินน้ำรักษาน้ำ
กินเห็ดกินหน่อรักษาป่า
กินข้าวรักษานา
ไร่หมุนเวียนคือความมั่นคงทางอาหาร”
“ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน”
4 ปีวันแห่งชัยชนะของประชาชน
อ้างอิง
- สภาพแวดล้อมและการปลูกมะเขือเทศในฤดูกาลต่างๆ
- “มะเขือเทศ” จากกะเบอะดินสู่เมืองใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค
- ถ่านหินกำลังทำลายแหล่งน้ำทั่วโลก
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ