“เพลงคำเมือง” วัฒนธรรมป๊อปล้านนาและความรับรู้

เรียบเรียง: ธันยชนก อินทะรังษี

การสนทนาเรื่อง “เพลงคำเมือง” พัฒนาการและการรับรู้ของ “คนเมือง” ในบริบทสังคมล้านนาร่วมสมัย ร่วมสนทนา โดย ชุติพงศ์ คงสันเทียะ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, ธนพงษ์ หมื่นแสน นักวิชาการอิสระ, จิตร์ กาวี สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, ทรงพล เลิศกอบกุล สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และสงกรานต์ สมจันทร์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

หากกล่าวถึงเพลงคำเมือง เพลงแรกที่วิ่งเข้ามาในความคิดคุณ คือเพลงอะไร แน่นอนว่าเพลงคำเมือง หรือภาษาเหนือนั้น ได้สร้างภาพจำให้คุณเกี่ยวกับบริบทความเป็นล้านนาไม่มากก็น้อย 

หากคุณฟังจรัล มโนเพ็ชร คุณคงอาจจะคิดถึงความงาม โรแมนติกด้านภาษา ดนตรีโฟล์คคำเมือง อย่างเพลงที่ร้องได้ทั่วบ้านทั่วเมือง “ปี๋สาวครับ ตอนนี้ผมเป๋นหนุ่มแล้วครับ”

หรือคุณอาจจะร้องพร้อมกับเต้น “เพลงเปิดใจสาวแต” ของกระแต อาร์สยาม ตั้งแต่เป็นเด็กประถมถักเปีย แต่ปัจจุบันก็กลับมาเป็นกระแส จากร้านเหล้าชื่อดังย่านเชียงใหม่

หรือคุณเป็นสายฟังเพลงแร็ป อย่างปู่จ๋าน ลองไมค์ ศิลปินตีนดอยหาความฝันอย่าง Snoopking สองศิลปินดินแดนเหนือสุดสยามนามเชียงราย

หรือสายอินดี้ อย่างดวงดาวเดียวดาย เบื้อก ธาดา เขียนไขและวานิช
“แก้มน้องนางนั่นแดงกว่าใคร ใจพี่จมแทบพสุธา”

ไม่ว่าคุณจะฟังปากแดง ๆ จะไว้ใจได้ก๋า หรือเพลงไหน ไม่ว่าจะดนตรีลูกทุ่ง ลูกกรุง ดิสโก้ ร็อค แต่หากเพลงได้รับการนำเสนอผ่านภาษาเหนือ คุณลองมาอ่านเรื่องราวพัฒนาการของเพลง “คำเมือง” และบริบทล้านนาร่วมสมัย เพื่อให้ได้สัมผัสกับความงดงามของบทเพลงที่ขีดเขียน และร่วมขับร้องจากศิลปินในอดีตจนถึงกาลปัจจุบัน

เพลงกำเมือง เท่ากับ Pop Culture



สงกรานต์ สมจันทร์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  ผู้เริ่มวงสนทนาประเด็นว่าด้วยเพลงคำเมืองผ่านหัวข้อพัฒนาการของเพลงคำเมือง เขากล่าวว่า ในความคิดใครหลายคน อาจจะมองว่าเพลงคำเมืองนั้น เป็นเพลงลูกทุ่ง เพลงโฟล์คซอง หรือเป็นเพลงอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเพลงคําเมืองที่เราจะพูดกันในวันนี้ ผมมองมันในฐานะวัฒนธรรมประชานิยม (Pop Culture) ที่มีการใช้คําเมืองในบทขับร้องซึ่งมีลักษณะหลายรูปแบบที่เปลี่ยนไปตามสภาพสังคมพลวัต ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ในยุคแรกที่มีการใช้สะล้อ ซอ ซึงเข้ามาผสมผสาน อย่างเช่นกรณีของ วงอํานวยโชว์ซึ่งเดิมทีนั้นยังไม่มีการผสมเครื่องดนตรีตะวันตก โดยอาจกล่าวได้ว่ายังคงดำเนินแผนแบบขนบอยู่พอสมควร

ด้านเพลงไทยสากลที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ แน่นอนว่าย่อมมีอิทธิพลต่อภูมิภาคอื่น จึงปรากฎเพลงที่เกี่ยวข้องกับเชียงใหม่ อย่างเพลงนครเชียงใหม่ จากละครมหาเทวีของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ และเพลงเชียงใหม่ของ นริศ อารีย์ ซึ่งเป็นนักร้องกรมประชาสัมพันธ์ หรือว่าสุนทราภรณ์นั่นเอง ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2496 เราจะเห็นว่ามีการใช้คําเมืองเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นเหนือ รวมถึงนิราศเวียงพิงค์ของ ทูล ทองใจ เช่นกัน

หลังจากนี้ จึงได้มีพัฒนาการสําคัญคือ ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมบันเทิงใหม่ โดยเฉพาะสื่อวิทยุ วิทยุได้เข้ามาช่วงสงครามเย็น เป็นเครื่องมือนึงในการสื่อสารของรัฐที่ทรงประสิทธิภาพมาก ทั้งในแง่ของการแจ้งข้อมูลข่าวสาร การให้ประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลประชาธิปไตย

ช่วงระยะเวลาดังกล่าว แน่นอนว่าสื่อวิทยุจะขาดเพลงไปไม่ได้เลย จึงมีทุนท้องถิ่นพยายามจะสนับสนุน การอัดเสียงบันทึกเทปต่าง ๆ ที่ต้องเดินทางลงไปกรุงเทพ นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2495 เป็นต้นมา เชียงใหม่จึงมีห้างบันทึกเสียงในท้องถิ่นอย่างเช่น ห้างนครพานิช ก็เป็นจุดเริ่มของวงชื่อดัง เช่น ลูกระมิงค์ วงซีเอ็ม และวงศรีสมเพชร เป็นต้น



ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ดนตรี เพลงที่พูดภาษาเหนือ หรือเพลงคําเมืองเพลงแรก คือ เพลงรำวงหมู่เฮา ที่จัดทําโดยสมาคมชาวเหนือใน ปี พ.ศ.2503 ชรินทร์ นันทนาคร หรือชรินทร์ งามเมือง คนเชียงใหม่ แต่ไม่เคยร้องเพลงคําเมืองเลยสักครั้ง ยกเว้นเพลงนี้เพลงเดียว แล้วก็นํามาสู่ยุคของนักร้องท้องถิ่นที่พยายามขับร้องในสไตล์เพลงลูกกรุง กล่าวคือมีความงดงามของภาษา อย่างเพลงจะต๋ายอ้ายตึงบ่ลืม ของพ่อครูสุริยา ยศถาวร จะเห็นว่าทํานองดนตรีค่อนข้างจะได้รับอิทธิพลมาจากกรุงเทพมากเลยทีเดียว

พ.ศ.2504 เป็นช่วงที่เกิดคําว่าเพลงลูกทุ่ง เราก็จะเห็นพัฒนาการมาเรื่อย ๆ จากที่เป็นวงดนตรีพื้นเมืองประยุกต์ มาจนมาเป็นวงแบนด์(Band) หลังจากนั้นมีการเกิดของวงศรีสมเพชร ซึ่งเป็นวงดังมาก ๆ ในขณะนั้น เรียกได้ว่าเป็นวงที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเพลงในภาคเหนือนี้พอสมควร เพราะว่าได้มีการออกวิทยุ ทําเทปขาย ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างขึ้น

ได้เป๋นนางงาม ก่อถูกทาบทาม เป๋นดาราหนัง

เราจะสังเกตว่าในยุคหลัง ความนิยมเพลงพูด ไม่ว่าจะเป็นของวิฑูรย์ ใจพรหม, เทพธารา ปัญญามานะ หรือวงการันตี ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในขณะนั้น ราวปี พ.ศ. 2510 เพลงได้เข้ามามีบทบาทที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสารทางการเมือง การแสดงถึงความคิดถึงบ้าน หรือว่าการที่ต้องพลัดพรากหรือแม้แต่คนที่ลืมตัวอย่างวงดนตรีศรีสมเพชร เพลงที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงเป็นชุดแรกคือ เพลงนางสาวเย็นฤดี จึงขอยกตัวอย่างเนื้อเพลงมาบางส่วน ดังนี้

“โฆษก: สวัสดีครับคุณเย็นฤดี 

เย็นฤดี: สวัสดีค่ะ เรียกเดี๊ยนว่า เชอร์รี่ ก็ได้ค่ะ 

โฆษก: อ๋อครับ คุณเย็นมีชื่อเล่นว่าเชอร์รี่ ผมอยากทราบว่าคุณเชอร์รี่ เป็นคนที่ไหนครับ 

เย็นฤดี: เป็นคนกรุงเทพฯ ค่ะ เดี๋ยนไม่ใช่คนบ้านนอกนะคะ 

โฆษก: คุณเย็นฤดีอยู่บ้านเลขที่เท่าไหร่ครับ

เย็นฤดี: อยู่บ้านเลขที่ DDT 71 

โฆษก: ถนนอะไรครับ 

เย็นฤดี: ถนนยางมะตอยค่ะ 

โฆษก: ซอยอะไรครับ 

เย็นฤดี: ซอยหยวก 

โฆษก: แล้วของหวานคุณเย็นฤดีชอบทานอะไรครับ 

เย็นฤดี: อ๋อ เย็นตาโฟค่ะ”

สงกรานต์ สมจันทร์ ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ผมว่าทักษะดนตรีเชียงใหม่ตอนนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ช่วงสงครามเย็น การเข้ามาของฝรั่งก็มีคนที่เริ่มสนใจดนตรีตะวันตกเพิ่มขึ้น  มีเพลงที่เรายืมฝรั่งมา แล้วมาแปลงเป็นเพลงคําเมือง อย่างเพลงลาบจิ้นควายดํา 

หวนกำเมืองให้โด่งดังถึงลูกหลาน

ทศวรรษ 2520 ผมว่ามองว่ามันเป็นหมุดหมายสําคัญ เพลงโฟล์คซองคําเมืองเกิดขึ้น การกระจายตัวของทุนท้องถิ่นที่เขาทําค่ายเพลง ทําร้านขายเทปเอง แล้วก็บันทึกเสียงเอง ไม่ว่าจะเป็นของร้าน 20 (ซาวด์) ท่าแพ ของเฮียไพโรจน์ เหลืองอาภาพงศ์ แม้แต่คุณมานิต อัชวงศ์ ผู้จัดการของคุณจรัล มโนเพ็ชร ก็เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลานี้

ในขณะเดียวกัน ขุนพลล้านนาตะวันออก และบัญเย็น แก้วเสียงทอง ก็เริ่มสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา ในช่วงทศวรรษนี้ ผมจําได้ว่ามีวงศรีสมเพชร เขาทําแม้กระทั่งโฟล์คซองคําเมือง คือการเอาซึงมาบรรเลงกับกีตาร์ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มันเกิดโฟล์คซองคําเมืองขึ้น บางทีอาจจะมีรู้สึกว่าเป็นเพลงสำหรับคนชั้นสูงหรือเปล่า แต่จริง ๆ แล้วชาวบ้านเขาก็ฟังเหมือนกัน นอกเหนือไปจากนั้น ศักราชใหม่เปิดขึ้นมาในปีพ.ศ.2525 เรามีศิลปินคนหนึ่งคือ พ่อครูบุญศรี รัตนัง ศิลปินแห่งชาติ บุญศรีได้นิยามเพลงของตัวเองว่า “เป็นเพลงลูกทุ่งคําเมือง”

นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทศวรรษ 2520 มีความหลากหลายเต็มไปหมด แนวเพลงแบบตะวันตก ที่เรียกว่าดิสโก้เข้ามา ถ้าพูดถึงสไตล์ดนตรี จะมีช่วงของอิเล็กโทน (Electone) ตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ (electronics) มันส่งผลต่อชีวิตของคนเมืองในแต่ละปี ก็คือช่วงปีใหม่เมืองนั่นเอง เราจะรู้สึกว่ามันเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ถ้าเราไม่ได้ฟังเพลงของอบเชย เวียงพิงค์ เราก็ต้องฟังเพลงเสียงอิเล็กโทน แล้วก็เสียงร้องของคุณอบเชย เหมือนกับว่าเวลาปีใหม่ ในภาคเช้าเป็นภาควัฒนธรรม ภาคบ่ายเป็นภาคของความบันเทิง ม่วนจอย

อ้ายเป็นนักฮ้องติดดอยไปตามกาลเวลา

ปี พ.ศ.2535 – 2537 จะหนีเพลงของคนนี้ไปไม่ได้เลย นั่นคือเพลงของอ๊อด ไพศาล (ไพศาล ปัญโญ) อย่างเพลง “บ่เกย” ที่มีเนื้อร้องว่า “น้ำใจแม่ญิง เหมือนน้ำปิงไหลวนเจี่ยวปื้น” ก็ตัวอย่างหนึ่งของเพลงในช่วงปีใหม่ หรือเทศกาลสงกรานต์ โดยเราจะเห็นได้ว่ายุคหลัง ๆ มีพัฒนาการสูง ด้วยปัจจัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยุคเทป มาเปลี่ยนเป็นยุคซีดี มาเป็นยุคเอ็มพีสาม จนถึงยุคปัจจุบันที่เป็นสตรีมมิ่ง

พัฒนาการในช่วงปีพ.ศ. 2547 กับการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชน ซึ่งเป็นแรงผลักเกิดที่ทางของศิลปินพื้นเมือง เช่น เสมา เมืองเม็งราย, ตู่ ดารณี, คำ ปันเกย, แก้ว ลอดฟ้า เพลงที่เปิดทุกปีที่ต้องรู้จากแน่ ๆ ปอยหลวงวังสะแกงของเอ็ดดี้ ตลาดแตก (ว่ากันว่าต้นฉบับมีหลายเวอร์ชั่นทั้งชินชัย แก้วเรือนและตู่ ดารณี) แม้แต่เพลงของครูแอ๊ด ภานุทัต (ภาณุทัต อภิชนาธง) ก็ดี ในช่วงระยะเวลานี้ก็นํามาสู่ยุคดิจิทัลที่มีทั้งปู่จ๋าน ลองไมค์ ในปัจจุบันยังคงมีหลายศิลปิน พยายามสร้างสรรค์ผลงานเพลงคำเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

หลังจากอาจารย์สงกรานต์ ได้รับบทนักจัดรายการวิทยุจำเป็น เปิดเพลงกำเมืองมายกตัวอย่างให้เห็นถึงพัฒนาการเพลงกำเมืองแล้ว เขาได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เพลงกำเมือง คือ Pop Culture เราไม่สามารถที่จะยึดโยงหรือใช้ดนตรีลักษณะใด ประเภทใดประเภทหนึ่ง ในการที่จะไปบอกว่า “นี่เป็นเพลงคําเมือง หรือเพลงลูกทุ่งคําเมือง หรือเพลงโฟล์คซองคําเมือง” แต่ทั้งหมดทั้งมวล ผมเรียกสิ่งนี้ว่า “เพลงคําเมือง” 

เพลงคำเมือง คือเพลงที่เป็นกำเมือง

ชุติพงศ์ คงสันเทียะ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้แสดงทัศนะเพลงคำเมือง ในแง่ของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาว่า ในฐานะคนฟัง ผมมองว่าเพลงคําเมือง มันคือเพลงที่เป็นกําเมือง อธิบายโดยง่ายคือเพลงที่เป็นภาษาเหนือ ต่อให้จะเป็นแนวดนตรี rock and roll ลูกทุ่ง หรือลูกกรุง สุดท้าย นั่นคือเพลงคําเมือง อย่างเช่นเพลงลาว ต่อให้ลาวที่มันไม่ใช่หมอลํา หรือว่าลาวที่มันเป็นลาวร่วมสมัย ยังไงมันก็คือเพลงลาว หากเราใช้ตรรกะวิธีเชื่อมโยงเดียวกัน 

“ในฐานะคนฟัง ต่อให้แนวดนตรีจะเป็นแบบไหนก็ตาม แต่คําร้องเป็นภาษากําเมือง เพลงนั้นก็จะเป็นกําเมือง”

เสมือนกะลามังใบใหญ่ใบหนึ่ง เป็นกะลามังแห่งวัฒนธรรม พอเวลายุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ก็จะเก็บเอาตัวเงื่อนไขทางสังคม เงื่อนไขทางวัฒนธรรม สไตล์เพลง ที่เขามองว่าเป็นความนิยม เหมือนกันเก็บกาลเวลาเอาไว้ในตัวของพัฒนาการของเพลง 

ผมมาสังเกตในช่วงหลังว่าในท้องถิ่นเชียงรายบ้านเกิดของผมเอง มีนักร้องคำเมือง ที่เป็นนักร้องอาจจะไม่ได้อัดแผ่นเสียงขาย หรืออาจจะไม่ได้ดังเหมือนลุงเสมา เมืองเม็งราย ส่วนใหญ่จะเป็นรําวง แถวบ้านผมจะมีคณะหงษ์ทอง ซึ่งพวกนี้ ผมว่าน่าจะมีอิทธิพลอย่างมาก แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว วงที่เป็นวงคําเมืองแบบอิเล็กโทน จะมีแค่วงดนตรีที่เป็นแห่ตามงานศพ เป็นจุดหนึ่งที่ทําให้เพลงเหนือส่วนหนึ่ง ที่เป็นเพลงตลาดกลายเป็นเพลงงานศพไป 

ตระกูลของเพลงคําเมืองที่ผันเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมสมัยนิยม เว้นเสียจากว่า มีคนไปสร้างตีกรอบจารีต จากผลึกความคิดของผมในวิทยานิพนธ์ (ชุติพงศ์ คงสันเทียะ. (2556). ซอล่องน่าน : พลวัตการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมของเพลงพื้นบ้านไทยภาคเหนือ.วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การพัฒนาสังคม). เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.) ถ้าลองสังเกตดูดี ๆ พอเราไปขีดคําว่าจารีต กับตระกูลเพลงใดเพลงหนึ่ง รู้สึกว่าพัฒนาการที่จะรับใช้สังคม เป็นความบันเทิงร่วมสมัย ย่อมหายไป ไม่กล้าพูดถึงในอนาคต กลุ่มคนฟังเหล่านั้น ไม่ได้เป็นเหมือนกะละมังที่คอยรอรับน้ำฝน หรือความเห็นใจจากผู้มีแหล่งทรัพยากร มนุษย์มีสิทธิ์ที่เลือกฟังเพลงโดยไม่ได้ยึดติดกับสิ่งดั้งเดิม เพราะทุกอย่างล้วนต้องเปลี่ยนแปลง

คนเมืองในบริบทล้านนาร่วมสมัย

“เอ๊ะ! ตกลงเราทําไมเรียกว่าคําเมือง แล้วถ้าไม่ใช่คําเมือง มันคืออะไร?”

ธนพงษ์ หมื่นแสน นักวิชาการอิสระ ได้ยกระดับประเด็นที่หลาย ๆ คนพูดขึ้นมาในอีกมิติหนึ่ง เพื่อให้เห็นถึงแง่มุมของเพลงคําเมือง 5 ประเด็น ได้แก่ 

ประเด็นที่ 1 : คำเมืองในฐานะภาษาแม่หรือภาษาถิ่นของผู้คนในถิ่นล้านนา : แน่นอนว่าคําเมืองก็ต้องคู่กับคนเมือง แต่อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดมานานมากแล้วว่าตกลงคนเมือง เท่ากับคนยวนหรือเปล่า หรือคนเมืองคือแกงโฮะ ที่เป็นส่วนผสมระหว่างอื่น ๆ อีกมากมาย แล้วได้นิยามตัวเองใหม่ ผ่านอัตลักษณ์ของความเป็นคนเมือง อันนี้เป็นประเด็นแรก ๆ ที่ผมตั้งข้อสงสัย 

แน่นอนว่าคําเมืองและคนเมือง เวลาไปไหนมาไหน อาจจะดูมีความเป็นอื่นกับความเป็นไทย เราไปไหนเราอาจจะรู้สึกว่าแปลกแย่ ถึงขนาดที่เราอาจจะปกปิด บางอัตลักษณ์ บางลักษณะความเป็นคนเมือง เพลงที่ปรากฏผ่านภาษาท้องถิ่นในยุคสมัยแรก 

รากฐานในทางที่มาที่ไปของเพลง แน่นอนว่ามันก็อาจจะมีรากฐาน เหมือนกับที่ไปทางเดียวกันกับพื้นที่อื่น อาจจะมาจากบทสวดคําร้อง แน่นอนว่าเพลงพวกนี้ ก็มาจากเพลงพื้นบ้าน เพลงการละเล่น เพลงกล่อมเด็ก หรือบทซอ คําถามคือที่มาที่ไปรากฐานเพลงเหล่านี้ แตกต่างจากเพลงลูกทุ่ง หรือเพลงหมอลํา หรือเพลงในอีสาน ที่อื่น ๆ หรือไม่ ผมคิดว่าไม่ แต่ความต่างเหล่านี้ อย่างเพลงสมัยใหม่ (Modern music) เข้ามาสู่สังคมไทย พร้อม ๆ กับสังคมล้านนา พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือเทคโนโลยีวิทยุ แผ่นเสียง หรือซอ คนเหนือหรือคนล้านนา เรารับรู้และเข้าถึงสิ่งนี้ พอ ๆ กับคนกรุงเทพ อีกนัยหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าการคลี่คลายในเชิงประวัติศาสตร์ที่กํากับโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทย ผ่านเพลงหรือสื่อสมัยนิยมระหว่างคนกรุงเทพกับคนล้านนามันเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

ประเด็นที่ 2 : “เพลงคำเมือง” สิ่งสื่อสารผ่านภาษาของผู้คนที่ “อู้กำเมือง” : เพลงคําเมือง ก็คือ เพลงคำเมือง ที่ร้องและนําเสนอผ่าน ภาษาคำเมือง ส่วนจะ Represent ผ่านแนวดนตรี หรือ ฌอง (Genre)  ใด ๆ ในระบบดนตรีโลก เป็นเรื่องที่ศิลปินเพลงจะ Represent ตัวเองไปเกาะเกี่ยวเอง เพลงคำเมืองจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเพลงลูกทุ่ง ที่เรียกว่าลูกทุ่งคำเมือง ที่จะต้องเป็นเพลงลักษณะตลกขบขัน ความเป็นบ้านนอก คอกตื้อสะดือกลวง หรือ Represent เฉพาะกลิ่นเอื้องเสียงซึง กลิ่นโคลนสาปควาย ซึ่แน่นอนว่ากลิ่นที่เหม็นสาปกันในที่ราบลุ่มภาคกลาง อาจจะเหม็นสาปคนละกลิ่นแถวท้องนาย่านสันป่าตอง) 

“แต่เพลงคำเมืองสามารถ Represent  ต่อทุก ๆ ความเป็นไปได้ที่มีอยู่ใน สารระบบดนตรีโลก”

ประเด็นที่ 3 : สนทนากับงานวิทยานิพนธ์ของพรพรรณ วรรณา : ขอบฟ้าความรู้ที่สำคัญของเพลงคำเมืองเมื่อสองทศวรรษผ่านมา จัดแบ่งประเภทเพลงคำเมือง 4 รูปแบบ 

– เพลงลูกทุ่งคำเมือง 
– เพลงโฟล์คซองคำเมือง 
– เพลงสตริงคำเมือง 
– เพลงเมดเลย์คำเมือง

ประเด็นที่ 4 : การเกิดขึ้นของพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพลงและดนตรีรูปลักษณ์ใหม่ ในสังคมล้านนา : ประเด็นที่ผมต้องการนําเสนอ การเกิดขึ้นมาของดนตรีคำเมืองรูปแบบใหม่ อย่าง กอล์ฟ F.hero แล้วแร็ปเปอร์ (Rapper) ที่ใช้ภาษาเมือง ถูกจัดวางไว้ตรงไหนของเพลงคำเมือง ปู่จ๋านลองไมค์ เรานับเขาอยู่ในเพลงคำเมืองไหม ถ้าจะเขียนประวัติศาสตร์ดนตรีล้านนา อย่างเพลงศิลปินตีนดอย ของ Snoopking จากจังหวัดเชียงราย ที่มียอดชมถึง 100 ล้านวิว  เราจัดวางเขาไว้ตรงไหน ในนิยามหรือความหมายของเพลงคําเมือง 

ยุคหนึ่งมันเคลื่อนตัวมาสู่เพลงเพื่อชีวิตคําเมือง จะเพื่อชีวิตในแง่มุมวงก๊อปปี้โชว์อย่าง วงคาลาไมน์ หรือเพื่อชีวิตอคูสติกอย่างวงไม้เมืองนั้น ผมมีความรู้สึกว่า มีความเป็นเพื่อชีวิตมาก เนื่องด้วยความละเมียดละไมในทางภาษาของวงไม้เมืองนั้นมันช่างอัดแน่นไปด้วยความเป็นเพื่อชีวิตในความคิดของผม 

ประเด็นที่ 5 : พื้นที่ที่สาม (Third Space) ของสังคมร่วมสมัย : การจัดประเภทหรือแนวดนตรีเป็นคําเมืองมีลักษณะที่ซับซ้อนมันหาเส้นแบ่งไม่ได้ และแน่นอนตั้งแต่ยุคที่โซเชียลมีเดียทำให้เพลงคำเมืองสามารถรับชมได้โดยง่ายในการค้นหาบนอินเตอร์เน็ต หรือกลุ่มพูดคุยกันในกลุ่มคนชอบเพลงคำเมืองเหมือน ๆ กัน ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องรอที่จากส่วนกลาง แต่ยุคสื่อออนไลน์ ทำให้ภาษาซึ่งเป็นรหัสทางวัฒนธรรมสําคัญกระจายตัว เป็นคอนเทนต์เต็มโลกออนไลน์ ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความซับซ้อนของประเทศและแนวดนตรีมากขึ้น

การเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นก็ดี หรือพ.ร.บ.การศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ก็ดี นับว่าเป็นการดึงคนนอกจังหวัดรอบนอกอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่รวมของสถาบันการอุดมศึกษาขนาดใหญ่หลายแห่ง ทําให้ทุนทางวัฒนธรรมของพวกเรา มีการสั่งสมและเติบโต เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างไพศาล ทั้งมีอิทธิพลแนวดนตรี แนวทดลองของศิลปินหน้าใหม่ ทั้งที่ใช้ภาษาคําเมือง และไม่ใช้ภาษาคําเมือง มันมีการเกิดขึ้นของดนตรี อาจจะไม่ นิยามแนวดนตรีของมีเพลงคําเมือง แต่เขาใช้ภาษาคําเมืองมีการร้อง 

“เราไม่ได้ฟังเพลงคําเมือง เพราะว่าเราอยากจะอนุรักษ์เพลงคําเมือง แต่เราฟังเพลงคําเมือง เพราะว่ามันม่วนจอย”

ธนพงษ์อธิบายประโยคดังกล่าวว่า ผมไม่ต้องการเห็น คนฟังทั้งเพลงคำเมืองหรือฟังจ๊อยฟังซอ ด้วยเหตุผลว่านี่คือการอนุรักษ์ แต่อยากให้ฟังเพราะด้วยความรู้สึกที่ว่ามันสนุก มันฟังแล้วมันเข้าถึง ฟังด้วยความเข้าใจ การเรียนรู้วิชาดนตรีในสถานศึกษาก็ไม่ควรจะสร้างแค่นักดนตรี แต่ควรจะสร้างความเข้าใจหรือมุมมองแบบวิชาการ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ ตลอดจนผลิตวัฒนธรรมในการรับชมรับฟังดนตรีให้มีและเกิดพลังมากขึ้น

บทสนทนาของเราในวันนี้ ผมว่าอย่างน้อยการพยายามในการจัดวางตําแหน่งหรือขยายขอบเขตเพลงคําเมือง นับรวมไปถึงงานที่มันเกิดขึ้นใหม่ ๆ ดังนั้น พื้นที่ที่สามของคําเมือง เราอาจจะต้องมาแสวงหาแพลตฟอร์ม การใช้เพลงคำเมือง อย่างเช่น ติ๊กต็อก (TikTok) เพื่อให้ตอบโจทย์กับสังคม ให้เกิดฟังก์ชัน

เพลงคำเมืองโกอินเตอร์

ธนพงษ์ หมื่นแสน นักวิชาการอิสระ ยังกล่าวย้อนกลับไปในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองว่าเพลงในพื้นที่ภาคเหนือได้แพร่กระจายออกไปยังประเทศข้าง ๆ ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ อย่างเช่น ที่มาที่ไปของเพลงรําวงในเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่าซึ่งถ้ากลับไปสืบสาวดูดี ๆ จะพบว่ามันคือรําวงในยุคจอมพลป. ที่เผยแพร่ไปที่นั่นจึงเป็นที่มาของวัฒนธรรมการรําวงในเชียงตุง พัฒนาต่อไปเป็นเพลงรําวงสามพี่น้องไต”

ด้านอาจารย์ชุติพงศ์ คงสันเทียะได้กล่าวเสริม เรื่องของอิทธิพลของโลกาภิวัฒน์ ไม่ว่าจะเพลงคำเมือง หรือเพลงอื่น ๆ ในอดีต เราก็จะเห็นได้ว่ามีการผลิตซ้ำ หรือเกิดความนิยมขึ้นมาอีกครั้งในยุคปัจจุบัน อย่างเพลงภาษาไทยเก่า ๆ  ที่ร้องว่า มองนาน ๆ คนสวยต้องทองนาน ๆ นี่เป็นเพลงผมที่เต้นวันเด็ก แต่ยังวนกลับมาอีกรอบหนึ่ง เพราะการมี turning point อะไรบางอย่างที่เพลงคำเมืองกลับไปสู่กรุงเทพ 

ผมรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่มันทําให้ผมเข้าใจว่าคนกรุงเทพเองก็ตาม หรือว่าคนส่วนใหญ่ในภาคกลางเขาจินตนาการถึงภาคเหนือที่เขาเห็นมาตั้งแต่เพลงของจรัญ มโนเพ็ชร สร้างภาพจำไปอีกรอบหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2547 เพลงปากแดง ๆ ก็ไว้ใจก๋า ของลานนา คัมมินท์ เป็นการย้ำภาพเดิมเลยที่คนกรุงเทพเคยคุ้นเคย  หลังจากนี้ก็เข้าสู่ยุค streaming ทุกอย่างที่มันเป็นค่ายเพลงใหญ่ ๆ มันถูกรื้อและพังทลายลงไป”     

บาดแผลที่เกิดขึ้นในบทเพลง

ชุติพงศ์ คงสันเทียะ  กล่าวเพิ่มเติมว่า หากเปรียบเทียบให้เห็นได้ชัด เพลงของไมค์ ภิรมย์พร มีกลุ่มเป้าหมาย (Target Audience) คือ ขวัญใจคนจน คนรากหญ้า มาเนิ่นนานตั้งแต่อดีต โดยเนื้อหามักพูดถึงการอพยพเข้าเมืองหลวงไปใช้ชีวิต จนลําบากตรากตรํา เพื่อส่งเงินให้พ่อแม่ อย่างนักดนตรี หรือนักร้องที่ร้องเพลงคําเมือง ป้อนตลาดคนที่อยู่ในท้องถิ่น เขาก็จะพูดถึงเรื่อง เมียหลวง เมียน้อย เรื่องในชีวิตประจํา แต่ในสังคมปัจจุบัน มุมมองต่อโลก ทำให้ใจความของเพลงได้เปลี่ยนไป “วัยรุ่นสมัยนี้” ส่วนใหญ่ไม่คิดการที่จะโตโดยตัวเองจะต้องลําบาก ตรากตรําเหมือนแต่เดิม ไม่คิดว่าการไปอยู่กรุงเทพ น่าจะต้องไปใช้ชีวิตแบบนี้  เป็นเบี้ยล่าง โดนกดขี่ โดนขูดรีด ทำนองนี้ เป็นต้น 

สงกรานต์ สมจันทร์ กล่าวว่า เรื่องของบาดแผลที่เกิดขึ้นในบทเพลง จะเห็นว่าในอดีตผู้หญิงเหนือต้องขายตัว มองดาร์กไปหมดเลย คือในแง่หนึ่ง คือเพลงมันไม่ได้มีเฉพาะมุมมองที่พูดถึงประเด็นการเมืองหรือสะท้อนภาพความลําบาก บางทีมันแต่งมาสนุกสนุกเฉย ๆ วัตถุประสงค์หลักของเพลงคือ ความบันเทิง เวลาไปพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องถึงการตีความเนื้อเพลงของนักวิชาการ จนชาวบ้านต้องตอบกลับมาว่า “มันขนาดนั้นเลยเหรอครับ” 

ทรงพล เลิศกอบกุล กล่าวเสริม ตัวอย่างเพลงครูลำดวน ของรุ่งเพชร แหลมสิงห์  เนื้อเพลงคร่าว ๆ ครูลําดวนโดนฆ่าในตอนสุดท้าย คนละคนตายทั้งคน เราก็ยังไปเต้นอยู่บนเวทีรำวง ในเนื้อหาบางครั้ง อาจจะสื่อความอย่างงั้น แต่ตัวทํานองเคลื่อนไปตามตามบริบท ตามสถานที่ ให้ความหมายของเพลงต่างในอีกมิติ อีกมุมมองหนึ่ง 

 สําหรับคนที่เขาไม่ได้อยู่ร่วมเหตุการณ์ ถึงตัวเนื้อหาบางครั้ง ไม่ได้มีสํานึกร่วมในเหตุการณ์เดียวกัน มันอาจจะไม่ได้สัมผัสตรงนั้นอย่างเต็มที่ แล้วมันทําให้ตัวเพลง ตัวดนตรีมันสื่อความหมาย ดนตรีมันสร้างบรรยากาศขึ้นมาใหม่ขึ้น แม้ว่าเนื้อหามันจะยังชี้ไปในทางเดิม

ในทางกลับกัน ธนพงษ์ หมื่นแสน นักวิชาการอิสระ มีประเด็นที่แอบต่างไปว่า นั่นไม่ได้หมายความว่า การวิเคราะห์เนื้อหาของเพลง ต้องมาควบคู่กับการลดทอนความเป็นการเมืองลงแต่เป็นการวิเคราะห์เพื่อสืบสาวค้นหาที่มาที่ไปหรือเจตนารมณ์ของตัวเนื้อเพลงหรือตัวผู้ประพันธ์เพลงนั้นก็เป็นเรื่องสําคัญ เพลงบางเพลง วรรณกรรมพื้นบ้านบางอย่าง ศิลปินกลัวคนเข้าใจผิดเพราะฉะนั้นการตีความตัวบท มันเกินเลยบางสิ่งบางสิ่งบางอย่างไป ก็ต้องมาดูเงื่อนไขแวดล้อมหลาย ๆ อย่างให้ครอบคลุม รวมถึงคนที่ใช้มุมมองแบบจารีต มุมมองทางสังคมศาสตร์ เหล่านี้ล้วนเป็นหมุดหมายที่ดีที่จะมีส่วนสําคัญที่เราจะขับเคลื่อนมุมมองทางด้านดนตรีของเราต่อไป 

ท่วงทำนองคำเมือง ที่หมู่เฮาร่วมกันขับขาน 

บทสุดท้ายของหน้ากระดาษ จิตร์ กาวี สาขาวิชาดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้กล่าวสรุปไว้ว่า จากที่อาจารย์สงกรานต์ สมจันทร์ ที่เริ่มเล่าเกี่ยวกับวิวัฒนาการมา คือเส้นที่มันขนานมากับดนตรีของทางฝั่งศูนย์กลาง ซึ่งอาจจะมีบางเส้นที่ยึดโยง เชื่อมต่อกัน แล้วก็ทําให้เกิดปรากฏการณ์ปะทะกันบางอย่าง เกิดเป็นสิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นของชาติเราเองหรือว่าชาติใด ๆ  ดังนั้น คิดว่าไม่จําเป็นเลย ที่จะต้องมาสถาปนาแบ่งแยกอะไรขนาดนั้น ทุกท่วงทำนองล้วนเป็นเครือญาติ

“เพราะดนตรีทุกอย่างในโลกมันล้วนหยิบยืมกันอยู่แล้ว”

สุดท้ายประเด็นสำคัญเรื่องของแพลตฟอร์ม ปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาท สื่อสารกับคน ส่งให้เพลงคําเมือง หรือเพลงอื่น ๆ  แพร่หลายต่างกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อดีที่ในอดีตยุคเทป ยุควิทยุ อาจจะเป็นเพียงการสื่อสารทางเดียว แต่ในขณะนี้ หากนำเพลงเก่า ๆ ไปลงสื่อออนไลน์ คนฟังก็จะสามารถตอบกลับเป็นการสื่อสารทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสาร เพื่อเกิดการพัฒนาด้านดนตรีได้ดียิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง