รายงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้โครงการ Journalism that Builds Bridges
นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2557 ที่หวังเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศไทย ทว่ากลับเพิ่มความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐบาลมากขึ้นแทน โดย 8 ปีหลังรัฐประหาร 2557 มีจำนวนคดีไม่น้อยกว่า 46,000 คดี ที่เกี่ยวข้องกับกรณี “ทวงคืนผืนป่า” ส่งผลให้ชาวบ้านหลายร้อยคนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าและถูกรัฐประกาศทับที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินไป
พชร คำชำนาญ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวนำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า “แผนแม่บทป่าไม้” ซึ่งกำหนดว่าประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่าจำนวน 40% เป็นป่าอนุรักษ์ 25% ป่าเศรษฐกิจ 15% ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ 31% ต้องการอีก 9% จึงจำเป็นต้องดำเนินการทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น
“คุณมีธงมาแล้วว่าคุณจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% เพราะฉะนั้นคดีแทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับการบุกรุกป่ามันจึงมักจะถูกตัดสินไปตามนโยบายที่จะเพิ่มพื้นที่ป่า มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะให้ความเป็นธรรมอย่างเช่นกรณีพี่แสงเดือน…ฉะนั้นโอกาสชนะของชาวบ้านในคดีแบบนี้มันจึงเป็นศูนย์เปอร์เซ็น” พชร กล่าว
โดนคดี หย่าร้าง เร่ร่อน ไร้ที่ทำกิน เป็นซึมเศร้า
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ แสงเดือน ตินยอด หรือ นางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หญิงวัย 53 ปี ชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ในปี 2561 และต้องสูญเสียที่ดินทำกินแม้มีหลักฐานว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นก่อนรัฐจะประกาศทับที่เป็นพื้นที่ป่าสงวน
“มันไม่มีความยุติธรรมเลย มันทำร้ายกันได้ลงคอ เราไม่ได้ไปค้ายาบ้าหรือทำร้ายใครเลย เราทำมาหากินของเราไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร ไม่ได้ไปสร้างปัญหาให้กับรัฐมีแต่รัฐที่มาทำร้ายเรา มันทำให้เราล้มละลายแล้วไม่มีที่ดินทำกิน” แสงเดือน กล่าว
“ป่า” พื้นที่ความมั่นคงของรัฐจาก รสช.สู่ คสช.
สุมิตรชัย หัตถสาร นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า หากสังเกตทุกครั้งที่มีการรัฐประหารมักจะยกประเด็นเรื่องพื้นที่ป่าขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นยุค คสช. หรือ รสช. มักจะมีนโยบายพิเศษเรื่องป่าไม้ที่ดิน ซึ่งในช่วง รสช. สมัยสุจินดา หรือสุนทร คงสมพงษ์ ก็มีนโยบายเรื่องการเอาคนออกจากป่า และมีนโยบายคู่มา 2 เรื่อง เช่น การจัดที่ดินที่เรียกว่าโครงการ คจก. (โครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม) แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการเอาคนออกจากป่า และเมื่อไปดูแนวคิดของโครงการ คจก. ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่เหมือนกันกับในยุค คสช.
ดังนั้นพื้นที่ป่าจึงกลายเป็นพื้นที่ทางความมั่นคงของรัฐ ซึ่งนิยามเรื่องป่าหรือเรื่องความมั่นคงมันกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายอำนาจนิยมใช้เป็นเครื่องมือมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อฝ่ายอำนาจนิยมขึ้นมามีอำนาจอย่าง คสช. ก็จะเอาประเด็นนี้ขึ้นมาดำเนินการกับคนที่อยู่ในป่าต่อ เสมือนว่าสิ่งที่มันค้างคามันยังทำไม่จบก็จะกลับมาทำอีก เพราะฉะนั้นมาตราการที่ใช้กับคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าจึงมีกลิ่นอายของการเป็นแนวคิดแบบทหาร คือใช้อำนาจทหารเข้ามาจัดการ
ทบทวนกฎหมาย-ยกเลิกแนวคิดล่าอาณานิคม-มองมิติชนชั้น
สุมิตรชัย กล่าวเสนอว่า ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องมองปัญหาเรื่องป่าไม้ที่ดินเป็นเรื่องปัญหาสังคมไม่ใช่ความมั่นคง และควรทบทวนกฎหมายป่าไม้ทั้งหมดและควรมองกฎหมายเป็นเรื่องการจัดการทรัพยากร การจัดการเรื่องป่า เรื่องระบบนิเวศต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องเอาหลักการสากลเหล่านี้มาประกอบเป็นฐานคิดในการออกกฎหมายมากกว่าที่จะเอาหลักคิดแบบยุคอาณานิคมมาเป็นฐานคิดอย่างในปัจจุบัน
“กฎหมายป่าไม้ยุครากเหง้ามาจากยุคล่าอาณานิคมมันควรจะเอาออกไปได้แล้วเพราะไม่มีใครเขาใช้แบบนี้กันในโลกแล้ว เอาเรื่องการมีส่วนร่วม การทำงานร่วมกับชุมชน การรักษาป่า ซึ่งประเทศในแทบเอเชียก็เปลี่ยนวิธีคิดหมดแล้ว เขามอบป่าให้ชุมชนมอบป่าให้ท้องถิ่นดูแลให้ประชาชนดูแล… เพราะทุกคนเป็นเจ้าของร่วมไง ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ก็เป็นเจ้าของก็ต้องดูแล แต่สิ่งที่รัฐไทยทำคือรวบอำนาจไว้ที่ตัวเองแล้วทุกคนเป็นศัตรูหมด แล้วมันจะแก้ปัญหาได้อย่างไร” สุมิตรชัย กล่าว
ขณะที่ พชร คำชำนาญ เสนอทางออกว่า จำเป็นต้องกลับมาคุยกันอย่างจริงจังถึงเรื่องนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่า การปลูกป่า หรือเรื่องคาร์บอนเครดิต พร้อมไปกับการมองปัญหามิติเรื่องชนชั้นของสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงควบคู่ไปด้วย เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายดังกล่าวไม่สามารถเอาผิดกับกลุ่มทุนได้ ในขณะที่คนจนหรือคนตัวเล็กตัวน้อยกลับต้องเป็นเหยื่อของนโยบายดังกล่าวเสมอไป
“ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่จะต้องกลับมาทบทวนแนวคิดเรื่องกรีน และต้องสังคายนาเรื่องแนวคิดกรีนและแนวคิดการจัดการทรัพยากรทั้งหมด กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดที่ดินป่าไม้ทั้งหมดจะต้องถูกสังคายนา และทำให้แนวคิดกรีนมันพิจารณาไปถึงเรื่องของการกดขี่เรื่องของชนชั้นในสังคมให้มากกว่านี้” พชร กล่าว
จับตา-วิเคราะห์ปัญหาที่ดินในยุค “เศรษฐา”
พชร กล่าวว่า รัฐบาลเศรษฐาจะสานต่อนโยบายเกี่ยวกับป้าไม้ของ คสช. เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆ ของพลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ นั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต่อ ซึ่งทำให้นโยบายหลายๆ นโยบายในยุค คสช.ยังคงดำเนินการต่อไป เช่น นโยบายเรื่องคาร์บอนเครดิต นโยบายเรื่องการปลูกป่า นโยบายเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% เป็นต้น
ดังนั้นนโยบายทั้งหมดจะถูกสานต่อในรัฐบาล ครม.เศรษฐา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกลับมาคิดทบทวนโดยเฉพาะเรื่องนโยบายคาร์บอนเครดิต เนื่องจากพื้นที่ของคุณแสงเดือนที่จะถูกนำไปใช้กับแนวคิดเรื่องคาร์บอนเครดิต หมายความว่าหลังจากนี้พื้นที่เหล่านี้ชาวบ้านจะไม่ไม่สิทธิ์ได้ที่ดินเหล่านี้กลับคืนมาทำกินหากไม่กลับมาคิดทบทวนและล้มเลิกนโยบายเหล่านี้และคืนความเป็นธรรมให้กับชาวบ้าน
“ฝากถึงรัฐบาลเศรษฐาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อำนาจที่คุณมีคุณจะใช้มันเพื่อสานต่อ คสช. กดขี่แย่งยึดที่ดินภาคประชาชน แย่งยึดที่ดินของชาติพันธ์ ยัดคดีให้คนจนต่อไป…หรือจะสร้างสังคมความเป็นธรรมและคืนสิทธิ์ให้ประชาชน อันนี้เป็นคำถามใหญ่ที่ภาคประชาสังคมจะจับตารัฐบาลนี้รวมถึงตรวจสอบการทำงานหลังจากนี้ต่อไป” พชรกล่าว
ขณะที่สุมิตรชัย วิเคราะห์สถานการณ์การแก้ไขปัญหาเรื่องคดีความด้านป่าไม้ที่ดินในยุครัฐบาลเศรษฐาว่า การที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้รับภารกิจเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทยเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากพรรคเพื่อไทยสมัยยิ่งลักษณ์ก็เคยแถลงนโยบายเกี่ยวกับปัญหาที่ดินไว้ ดังนั้นหากเกิดกระบวนการเจรจาและรื้อฟื้นความสัมพันธ์เก่า ก็อาจสัญญาณที่ดีในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวได้ และถือเป็นการนำสิ่งที่เคยทำอยู่แล้วมาต่อยอดต่อ
แต่กระทรวงทรัพย์ฯ ไม่แน่ใจ เนื่องจากได้พัชรวาท วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นน้องชายของประวิทย์ มานั่งตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงทรัพย์ฯ ก็มีความเป็นอนุรักษ์นิยมที่แข็งตัวอยู่เสมอในการกำหนดวาระแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินผ่านนโยบายต่างๆ
“รัฐบาลรอบนี้ไม่ว่ามันจะข้ามขั้วอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่ามันอยู่ภายใต้สายตาการตรวจสอบของประชาชนอย่างเข้มข้นมากกว่าเดิมแน่ อำนาจ Hard Power แบบเดิมแบบประยุทธ์ เศรษฐาไม่สามารถทำแบบนั้นได้” สุมิตรชัย กล่าว
“หลักคิดแบบนี้ (การแก้ปัญหาโดยประนีประนอมของเพื่อไทย) คุณก็ต้องมองปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐเป็นเรื่องที่คุณต้องแก้ไขด้วยวิธีการละมุนละม่อมด้วยความนุ่มนวล นั่นหมายถึงคุณก็ต้องลดคดีความและแก้ไขปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นก็คือนิรโทษกรรมคดีป่าไม้ที่ดินทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายของการแก้ไขปัญหา… และเอาพี่น้องที่มีปัญหาขัดแย้งกับรัฐทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วม” สุมิตรชัย กล่าว
อ้างอิงข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 ปี ทวงคืนผืนป่า กว่า 46,000 คดีชาวบ้านในเขตป่า
- ศาลฎีกาสั่งรอลงอาญา 2 ปี ‘แสงเดือน’ คดีทวงคืนผืนป่า รอดคุก แต่เสียที่ดิน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...