เรื่องและภาพ: The Isaan Record
ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยหัวข้อ “เครือข่ายองค์กรสื่อชายขอบ จะเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อไทยได้อย่างไร” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดยมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสื่อภาคประชาชนในโครงการ Journalism that Builds Bridges (JBB): วารสารศาสตร์ที่สร้างสะพาน เสียงของคนชายขอบเพื่อเชื่อมสัมพันธ์สื่อนอกกระแส
ปัจจุบันภูมิทัศน์สื่อมีผู้เล่น ผู้แสดงเพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากการเข้าถึงและความนิยมในการใช้สื่อดิจิทัล องค์กรสื่อระดับประเทศที่มักจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวมถึงองค์กรสื่อระดับท้องถิ่นที่เป็นเชิงพาณิชย์ หันมาใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการนำเสนอเนื้อหามากขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันทางสังคม การเมือง ภาคเอกชน ภาคเอกชน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ปกติจะใช้งบในการซื้อพื้นที่สื่อเพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ก็มีช่องทางออนไลน์ของตัวเองเพิ่มขึ้น เพื่อผลิตเนื้อหาและสื่อสารไปยังสาธารณะ นอกจากนี้ก็มีองค์กรภาคประชาสังคม มีผู้ผลิตอิสระ ทั้งอินฟลูเอ็นเซอร์ ผู้นำทางความคิดอีกมากมายเกิดขึ้นและมีเครือข่ายหรือกลุ่มประชาชนที่ผลิตเนื้อหาในเชิงเฉพาะทางด้วย
ในภูมิทัศน์สื่อแบบนี้ เราจะเห็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างข้อมูลต่างๆ แม้ว่าผู้ผลิตรายใหญ่และคนที่มีทรัพยากรมากยังสามารถกำหนดวาระข่าวสารในสังคมได้อยู่เป็นหลัก เพราะสามารถเข้าถึงพื้นที่สื่อไม่ว่าจะเป็นของตัวเองและประชาชนในวงกว้างได้ง่าย แต่ก็มีบางโอกาสที่เราจะเห็นว่าสื่อเล็กๆ จากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมทั่วไปสามารถที่จะโต้ตอบหรือผลักดันเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อสารได้บ้าง แม้ว่าการเกิดขึ้นของผู้ผลิตสื่อทางพื้นที่ออนไลน์ที่มีมากขึ้น อาจทำให้นิเวศน์สื่อและข่าวสารอาจจะดูโกลาหลสับสนวุ่นวาย เพราะว่าบางทีก็ทำให้เกิดภาวะที่ข่าวสารท่วมท้นล้นเกินด้วยเหมือนกัน
“แต่ว่าในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่สื่อมวลชนกระแสหลักมักจะถูกปิดกั้นหรือปิดกั้นตัวเอง การเพิ่มขึ้นของผู้ผลิตรายย่อยก็ถือว่า เป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสื่อสารเรื่องราวที่เคยถูกละเลยจากสื่อกระแสหลักและองค์การสื่อพาณิชย์ในท้องถิ่นที่ครอบครองภูมิทัศน์สื่ออยู่เดิมมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการกระจายอำนาจการเข้าถึงการเข้าถึงสื่อมายังภาคเอกชนที่ไม่ใช่กลุ่มทุนใหญ่และประชาชนมากขึ้นด้วย”
นิยามของสื่อภาคประชาชน คือ เป็นการดำเนินงานสื่อโดยกลุ่มคนหรือปัจเจกที่ไม่ได้มุ่งเป้าแสวงกำไร แต่ว่าให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของผู้ผลิตหรือกองบรรณาธิการ จากอิทธิพลของรัฐหรือกลุ่มทุนในการนำเสนอเรื่องราวหรือแง่มุมที่มักจะถูกละเลยจากสื่อกระแสหลัก อย่างไรก็ตามการไม่แสวงกำไรไม่ใช่ไม่ต้องการเงิน แต่หมายถึงไม่ได้มุ่งหารายได้เป็นหลักเหมือนองค์กรสื่อเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้การกำหนดนิยามคำว่าสื่อภาคประชาชนไม่ได้หมายถึงการผลิตสื่อหรือการสื่อสารเรื่องใดๆ สู่สาธารณะโดยประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่พิจารณาถึงสาระและแนวทางของการสื่อสารที่วิพากษ์หรือท้าทายสถาบันและค่านิยมหลักในสังคม รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมด้วย ทั้งนี้งานวิจัยจำแนกสื่อภาคประชาชนออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สื่อทางเลือก สื่อภาคประชาสังคม สื่อชุมชน และสื่อพลเมือง
บทบาทสื่อภาคประชาชน
ส่วนบทบาทของสื่อภาคประชาชนในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น สื่อภาคประชาชนมีบทบาทประการแรก คือ การเติมเต็มข้อมูลข่าวสารที่ถูกละเลยโดยสื่อกระแสหลักและสื่อท้องถิ่นที่ทำงานในเชิงพาณิชย์ รวมถึงต่อรองหรือโต้แย้งการกำหนดวาระโดยรัฐหรือกลุ่มทุนที่นำเสนอผ่านการสื่อสารในแนวดิ่งจากองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเกาะติดสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของผู้ชุมนุมที่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่ไม่ได้ลงในรายละเอียดมากนักหรือบางทีมีการให้ความหมายในเชิงลบต่อการเคลื่อนไหวด้วยซ้ำ รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงและการปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้งที่ไม่เป็นธรรม ยกตัวอย่าง สิ่งที่วาร์ตานี หรือเดอะอีสานเรคคอร์ดทำ ตลอดจนประเด็นผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนที่เกิดจากโครงการของรัฐและกลุ่มทุน รวมถึงการอธิบายประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ที่มักจะถูกกีดกันให้เป็นชายขอบ เป็นต้น
สื่อภาคประชาชนยังพยายามสร้างพื้นที่ให้เกิดการอภิปรายถกเถียงในเรื่องที่สังคมถกเถียงกันอยู่ เช่น เรื่องของสังคมนิยมประชาธิปไตย กระบวนการสันติภาพ มายาคติต่อวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น บางคนก็มีวิธีการเล่าเรื่องที่สร้างสรรค์ สนุกสนาน ไม่ได้ยึดติดกับขนบการเล่าเรื่องแบบสื่อกระแสหลักแบบเดิมๆ ด้วย ทั้งนี้สื่อภาคประชาชนมักจะให้ความสำคัญกับการประสานเครือข่าย ประสานงานกับองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิชาการที่ขับเคลื่อนเรื่องของกระบวนการประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน เนื่องจากมีจุดร่วมกันในการสื่อสารประเด็นเหล่านี้สู่สาธารณะอยู่แล้ว ดังนั้นอีกนัยหนึ่งก็คือสื่อภาคประชาชนถือเป็นกลไกหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ร่วมกับภาคประชาสังคมด้วย
“ข้อวิพากษ์ในเรื่องความไม่เป็นกลางไม่ได้ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อภาคประชาชน โดยเฉพาะในกรณีของสื่อทางเลือกและสื่อพลเมือง เพราะว่าผู้ผลิตเหล่านี้เขาจะมีแนวปฏิบัติที่จะรับประกันว่าได้สื่อสารเรื่องความขัดแย้งต่อสาธารณะด้วยข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือนคลาดเคลื่อนและมาจากหลายแหล่งเท่าที่เขาจะเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็ให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกล่าวหาถึง แม้ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากงานที่ตัวเองทำ ซึ่งจุดยืนและแนวปฏิบัติเช่นนี้ก็จะทำให้สังคมไว้วางใจและให้ความชอบธรรมต่อสื่อภาคประชาชน”
วาร์ตานีมีโมเดลเพื่ออยู่รอด
ที่น่าสนใจ คือ การได้ทดลองพัฒนาโมเดลการดำเนินการงานในการหารายได้ที่ไม่แสวงหากำไรรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้คงความเป็นอิสระอยู่และลดการแทรกแซงจากหน่วยงานราชการและกลุ่มทุนใหญ่ ถือเป็นรายได้สำคัญของสื่อเชิงพาณิชย์ ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าท้าย ยกตัวอย่าง สำนักข่าววาร์ตานีโมเดลที่มีความแหวกแนวและเข้าถึงชุมชนมาก มีการจับมือกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อหารายได้และการรับผลิตสื่อ เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความเป็นเจ้าของสื่อร่วมกับชุมชน
ส่วนปัญหาและอุปสรรคของสื่อภาคประชาชน คือการทำงานไม่ค่อยสอดคล้อง เข้ากับวิถีคิดและขนบเดิมของสื่อมวลชนไทยและสื่อเชิงพาณิชย์เท่าไร จึงมักถูกมองจากสื่อกระแสหลักว่า “ไม่เป็นมืออาชีพ” โดยเฉพาะในกรณีของสื่อชุมชนและสื่อพลเมืองที่เป็นชาวบ้านเป็นคนธรรมดา ทำให้ไม่ได้รับการรับรองสิทธิและเสรีภาพทั้งในฐานะประชาชนและในฐานะสื่อมวลชนด้วย แต่ในทางกลับกันประชาชนผู้รับสารอาจไม่ได้ใส่ใจกับความเป็นมืออาชีพตามความหมายของสื่อกระแสหลักมากเท่ากับการเป็นสื่อที่อยู่เคียงข้างและตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งสื่อประชาชนจะได้รับความชอบธรรมจากประชาชนมากกว่าสื่อกระแสหลักที่อ้างความเป็นมืออาชีพ ความเป็นกลาง จริยธรรมวิชาชีพ แต่ไม่ได้แสดงบทบาทในการต่อรองกับอำนาจรัฐร่วมกับประชาชนเท่าไรโดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหาร 2557
สื่อไร้สังกัดมักถูกคุกคาม
เมื่อไม่ได้รับการรับรองจากสมาคมวิชาชีพและสถาบันหลักทางสังคม จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทั้งจากภาครัฐและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีของสื่อพลเมืองที่ไม่มีสังกัด เช่น ในกรณีการรายงานข่าวการชุมชุมนุม เป็นต้น อีกประเด็นที่เป็นเรื่องความท้าทาย คือ การขาดแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินงานและยังไม่มีโมเดลการหารายได้ที่หลากหลายมากนัก จึงเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาต่อว่าจะพัฒนาแนวทางการหารายได้เพื่อให้ทำงานได้อย่างอิสระต่อไปอย่างไร อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการด้านบุคลากรที่มีอยู่จำกัด เนื่องจากขาดงบประมาณ จึงเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาวงการของสื่อภาคประชาชนต่อไปได้อย่างยั่งยืน และอาจไม่ค่อยเป็นธรรมกับคนทำงานนัก จึงต้องมองหาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อรักษาสิทธิแรงงานของคนทำงานด้วย
สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานสื่อภาคประชาชนในไทย มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.การพัฒนาการดำเนินงานและบริหารจัดการที่เป็นระบบมีโครงสร้างที่โปร่งใส เป็นแนวระนาบ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย สร้างความยั่งยืนและเป็นแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ และทำให้ประชาชนเห็นว่าความเป็นมืออาชีพของสื่อภาคประชาชนกับสื่อกระแสหลักแตกต่างและสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยอย่างไร และ2.ต้องมีการสร้างภาคีเครือข่ายกับสื่อภาคประชาชนอื่นๆ ภาคประชาสังคม ชุมชน และผู้รับสาร เพื่อผนึกกำลังในการต่อรองอำนาจกับภาครัฐและกลุ่มผลประโยชน์เพื่อป้องกันการข่มขู่คุกคามและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่าการดำเนินงานเป็นไปเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะและสังคมประชาธิปไตยได้
อ่าน โครงการวิจัยภูมิทัศน์สื่อไทย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...