“ติดกับดักนรก การค้ามนุษย์ การเอาคนลงเป็นทาส และการทรมานเยาวชน โดยแก๊งชาวจีน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน หลังการทำรัฐประหาร 2564 ในพม่า” รายงานโดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตัวรายงานมีจุดประสงค์เพื่อเตือนให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่รัฐฉานและเมียนมาให้ทราบถึงความอันตรายในการไปทำงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน เพื่อที่จะสามารถป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการปฏิบัติโดยมิชอบได้
รายงานดังกล่าวเป็นการรวบรวมข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์เหยื่อหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ และการหลอกลวงออนไลน์โดยกลุ่มผู้กระทำชาวจีนในช่วงหลังการทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2564 ที่ผ่านมา โดยผู้สัมภาษณ์เป็น หญิงสาว 3 คนและ ชายหนุ่ม 2 คนซึ่งตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติโดยมิชอบอย่างร้ายแรงโดยแก๊งหลอกลวงออนไลน์ชาวจีนในเขตปกครองโกก้างและว้า โดยมีบริบทแตกต่างกันดังนี้
- ผู้ให้สัมภาษณ์ 3 คน เป็นอดีตนักเรียนต้องออกจากโรงเรียนเป็นผลจากการรัฐประหาร
- ผู้ให้สัมภาษณ์ 1 คน เป็นพยาบาลของกลุ่ม CDM
- ผู้ให้สัมภาษณ์ 1 คน เป็นผู้สมัครใจเข้าทำงานกับคาสิโนออนไลน์ในเมืองเล้าก์ก่าย เมืองหลวงเขตโกก้าง
พื้นที่การเกิดของกระบวนการค้ามนุษย์
รายงานให้ข้อมูลไว้ว่ามีการเรียกเงินจำนวน 30,000 หยวนจากเหยื่อการค้ามนุุษย์ เพื่อแลกกับการปล่อยตัว มีคนหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัวหลังครอบครัวยอมจ่ายเงิน สองคนได้รับการปล่อยตัวหลังจากครอบครัวของเหยื่ออีกคนหนึ่ง ใช้เส้นสายเพื่อเจรจากับทางการว้า อีกคนหนึ่งสามารถหลบหนีออกมาได้ระหว่างที่ถูก ส่งตัวไปอีกที่หนึ่ง ไม่มีกรณีใดที่ผู้กระทำผิดถูกนำตัวมารับโทษ
จากการบอกเล่าของผู้ให้สัมภาษณ์ตามรายงาน เผยว่ากระบวนการหลอกลวงและค้ามนุษย์เกิดขึ้นโดยแก๊งชาวจีนที่ปัฏิบัติงานอยู่ในเมืองภายใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐว้า (United Wa States Army / UWSA) อย่างเมืองป๋างซาง ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดการพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1990 และในปัจจุบัน กองทัพสหรัฐว้าก็ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลให้สามารถขยายเขตเศรษฐกิจและตั้งคาสิโนได้อย่างเสรี และเมืองป้อก ที่มีการพัฒนาโดยทุนจากนักลงทุนชาวจีน ทำให้เมืองที่เคยเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก กลายเป็นเมืองที่มีความทันสมัยและเต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า
และอีกหนึ่งพื้นที่ตามคำให้สัมภาษณ์ คือเมืองเล่าก์ก่าย เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองโกก้าง โดยเมืองเล่าก์ก่ายได้้พััฒนาจนเป็นเมืองคาสิโนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army – MNDAA) หลังมีการหยุุดยิงในปี 2532 ในปี 2552 กองกำลังที่แยกตัวออกมาจาก MNDAA ได้เข้าร่วมกับกองทัพเมียนมาเพื่อขับไล่กองทัพ MNDAA ออกไป และในปัจจุบันได้รวมตัวเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force) ในปัจจุบัน รัฐบาลทหารเมียนมา (SAC) และกองกำลังพิทักษ์ชายแดนโกก้าง (Kokang BGF) ได้ร่วมกันปกครองพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโกก้างอยู่
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์และหลอกลวงออนไลน์
รายงานดังกล่าวชี้ว่าการที่ผู้ให้สัมภาษณ์ต้องออกจากโรงเรียนหรืออาชีพเดิมที่ประกอบอยู่ จนนำไปสู่กระบวนการค้ามนุษย์ เกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ผู้ให้สัมภาษณ์ 3 คนยังเป็นนักเรียนในช่วงเวลาที่เกิดการรัฐประหาร หนึ่งในนั้นได้เข้าร่วมประท้วงต่อต้านและเลือกที่จะไม่กลับไปเรียนต่อ แต่ถูกผู้ปกครองกดดันจนเลือกที่จะออกมาหางานทำจนกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมสื่อลามกออนไลน์ในพื้นที่ว้า และอีก 2 คนเลือกที่จะออกจากระบบการศึกษาเพราะไม่ต้องการเข้ารับการเรียนการสอนภายใต้ระบอบทหาร และเลือกออกจากโรงเรียนเพื่อหางานทำ และกลายเป็นเหยื่อให้กับแก๊งหลอกลวงออนไลน์
เคยทำงานเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐที่ย่างกุ้ง หลังการทำรัฐประหาร เธอเข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน (CDM) และเข้าร่วมประท้วงต่อต้าน รัฐบาลทหาร เมื่อเริ่มมีการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรง เธอจึงย้ายไปอยู่กับญาติทางตอนเหนือในรัฐฉาน แต่ก็ถูกหน่วยงานของรัฐเมียนมาไล่ล่า สุดท้ายจึงหนีไปอยู่กับกลุ่มต่อต้านในป่าเพราะไม่สามารถกลับมาทำอาชีพเดิมได้ เธอจึงหางานทำเป็นพยาบาลในพื้นที่ของว้า และเป็นเหตุให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการเอาคนลงมาเป็นทาสบำเรอกาม
อีกด้านหนึ่ง ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการค้ามนุษย์และการหลอกลวงออนไลน์ต่างๆ ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ คือการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เขตว้า และโกก้าง โดยนอกเหนือจากการอนุญาตให้ปัฏิบัติงานโดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ แก๊งชาวจีนเหล่านี้ยังได้รับแจ้งข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ก่อนจะมีการตรวจค้น ยิ่งไปกว่านั้น อาคารที่แก๊งชาวจีนเหล่านี้ปฎิบัติงานยังถูกคุ้มกันอย่างแน่นหนาจากเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ของกองกำลังทหารบ้านโกก้าง (Kokang Militia Force -KMF) ด้วย
การใช้โครงข่ายมายเทล (MYTEL) เพื่อการหลอกลวงทางออนไลน์
ผู้ให้สัมภาษณ์ที่ถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวงทางออนไลน์ในเมืองป้อกบอกว่า พวกเขาใช้สัญญาณของโครงข่ายมายเทล (Mytel) ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมจากเมียนมาเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการในพื้นที่ของกองทัพสหรัฐว้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ก่อนหน้านั้น ประชาชนที่อยู่ในเมืองป๋างซางและเมืองป้อกต้องใช้สัญญาณมือถือจากประเทศจีน แต่หลังจากมายเทลได้ขยายพื้นที่ให้บริการมาที่นี่เมื่อสี่ปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมาใช้มายเทลแทน ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่างบริษัทเวียดเทล (Viettel) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของเวียดนามกับบริษัทเศรษฐกิจเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มธุุรกิจของกองทัพเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นผู้ควบคุุมโดยตรงต่อมายเทล และศักยภาพในการ สอดแนมข้อมูลอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดคำถาม ว่าเหตุใดพวกเขาจึงไม่ใช้มาตรการอย่างชัดเจนเพื่อปราบปรามการใช้โครงข่ายมือถือของตนอย่างกว้างขวางเพื่อก่ออาชญากรรมไซเบอร์ในพื้นที่ของว้า
นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ ยังได้เสนอข้อเรียกร้องเพื่อการปราบปรามอาชญากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าวให้หมดไป รวมถึงการหาผู้รับผิดชอบแก่เหยื่อในกรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้าดังนี้
– ให้หน่วยงานในพื้นที่ปกครองตนเองโกก้าง และพื้นที่ใต้การควบคุมของกองทัพสหรัฐว้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉานยุติการให้ความร่วมมือและการคุ้มครองแก๊งชาวจีนที่ทำธุุรกิจในพื้นที่ของตน
– ให้้รัฐบาลจีนใช้มาตรการที่เป็นผลมากขึ้น เพื่อไต่สวนหาความรับผิดชอบต่อพลเมืองของตนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในเขตปกครองโกก้าง และว้าของรัฐฉาน
– ให้รัฐบาลเวียดนาม ซึ่งมีรัฐวิสาหกิจชื่อเวียดเทล (Viettel) และ เป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานกับมายเทล (Mytel) ให้สอบสวนการใช้โครงข่ายมายเทล (Mytel) เพื่อก่ออาชญากรรมไซเบอร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน
อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ ติดกับดักนรก : การค้ามนุษย์ การเอาคนลงเป็นทาสและในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉานการทรมานเยาวชน โดยแก๊งชาวจีนหลังการทำรัฐประหาร 2564 ในพม่า
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...