ต้นไคร้น้ำ แม่น้ำโขงยืนต้นตาย ผลจากระดับน้ำผันผวนฤดูกาลขึ้นลงผิดปกติ

เรื่อง เกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

ภาพ จีระศักดิ์ อินทะยศ กลุ่มรักษ์เชียงของ

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ทางทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้จัดประชุมกลุ่มย่อยวิจัยไทบ้านเรื่องการเปลี่ยนแปลงของพืชอาหารตามธรรมชาติในระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย ณ ศาลาลั้งหาปลา บ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

จากสถานการณ์การพัฒนาที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงในรอบ 20 ปีที่ผ่านที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งในเรื่องระบบนิเวศน์ ปลา เศรษฐกิจ การดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ทางชุมชนจึงได้ทำการศึกษาพืชอาหารในระบบนิเวศริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีความสัมพันธ์และสำคัญต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและชุมชน พืชเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพและสุขภาพของแม่น้ำ เป็นพืชอาหารและสมุนไพรที่คนท้องถิ่นใช้ประโยชน์มายาวนาน การศึกษาเรื่องพืชอาหารมีความสำคัญเนื่องจาก เป็นหลักฐานชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ทำให้เห็นความเชื่อมโยงและผลกระทบต่อชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การหายไปของพืชอาหารจากธรรมชาติกระทบต่ออาหารและรายได้ชาวบ้าน และพืชอาหารยังมีการศึกษาเรื่องนี้น้อย  

จากการระดมรายชื่อพืชอาหารที่มีอยู่ในระบบนิเวศริมฝั่ง ปง หาด ดิน ลำห้วย คก วัง  พบพืชอย่างน้อย 59 ชนิด ส่วนใหญ่เริ่มกลายเป็นพืชหายาก จากอดีตพบได้ทั่วไปในพื้นที่ระบบนิเวศน์ย่อยแม่น้ำโขง

ต้นไคร้พืชที่เป็นเอกลักษณ์เด่นในแม่น้ำโขงตอนบนจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับผลกระทบยืนต้นตายเป็นกลุ่มมองเห็นได้ชัดเจนจากการขึ้นลงของน้ำที่ผิดปกติ ต้นไคร้มี 3 ชนิดที่พบในแม่น้ำโขง ได้แก่ ต้นไคร้น้ำ (Homonoia riparia Lour.) เป็นไม้พุ่มขนาดกลางขึ้นตามริมฝั่ง หาดหิน ดอน คก หลง หาด ต้นไคร้นุ่นหรือไคร้นวล(Salix tetrasperma Roxb.)เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นตามลำห้วย ริมฝั่งสูง และชนิดที่สามต้นไคร้เกิ้ม ขึ้นเกาะยึดเลื้อตามโขดหิน หาดหินและตามก้อนหินผากลางแม่น้ำ

นายวันดี ศรีสุดาวรรณ ผู้รู้บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงต้นไคร้ว่า

“ต้นไคร้บ้านเรามี 3 ชนิด ไคร้น้ำที่เห็นเป็นพุ่ม ยอดมันเอากินกับลาบ กิ่งมันเอาทำฟดล่อกุ้งฝอยให้มาอยู่ สองต้นไคร้เกิ้มเกาะตามหินตามผาคนบ้านเราไม่กิน แต่ลูกสุกสีแดงบางคนก็กิน อีกไคร้คือไคร้นวล เป็นต้นไม้ใหญ่ขึ้นตามฝั่งห้วย เนื้อไม้เอาทำเพลาโบกเรือ ตอนนี้ไคร้น้ำแห้งตายไปมากเหลือไม่กี่จุดเนื่องจากน้ำมันขึ้นๆลงๆ ริมฝั่งมีการสร้างตลิ่งเพิ่มอีกทำให้ต้นไคร้น้ำหายไป สาเหตุหหลักก็เพราะน้ำขึ้นๆลงๆผิดปกติ” 

จากการระดมฤดูกาลขึ้นลงของระดับน้ำแม่น้ำโขง ตามองค์ความรู้ท้องถิ่นของชุมชน แบ่งฤดูการน้ำโขงออกเป็น 4 ฤดูกาล คือ ฤดูน้ำลด อยู่ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม  ฤดูน้ำน้อย อยู่ในช่วงเดือนมกกราคมถึงกลางเดือนเมษายน ฤดูน้ำขึ้น อยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน และฤดูน้ำหลากช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน การขึ้นลงของระดับน้ำปกติฤดูน้ำหลากสูงสุดและฤดูน้ำน้อยจะมีความต่างกันถึงเกือบ 10 เมตร การเพิ่มขึ้นของน้ำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และค่อยๆ ลด แต่หลังจากปี 2539 หลังจากมีการสร้างเขื่อนแห่งแรกในแม่น้ำโขงในประเทศจีน ระดับการขึ้นลงของแม่น้ำโขงชุมชนเริ่มรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลง ส่งผลกกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนในการหาปลา ส่งผลต่อระบบนิเวศน์ย่อยโดยตรง รวมถึงพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง และอาชีพเกษตรริมโขงที่ต้องสูญเสียที่ดินจากตลิ่งพังทลายจากน้ำขึ้นๆลงๆ ผิดปกติ

ด้านนายสาคร สิทธิแก้วชาวประมง นักวิจัยชาวบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงการหายไปของต้นไคร้ว่า

“ต้นไคร้จะโผล่น้ำช่วงเดือนพฤศจิกายน ประมาณเดือนธันวาถึงเดือนมกราคมจะเริ่มออกดอก  พอถึงเดือนกุมภาเดือนมีนาไคร้จะเริ่มออกดอก เมษาเริ่มมีผลสุก ปลายเดือนน้ำก็จะเริ่มท่วม ในรอบปีของมัน แต่ตอนนี้หน้าน้ำลด ไคร้กำลังแตกยอดน้ำมาท่วมใบไคร้เน่า หรือหน้าน้ำท่วมกลับไม่ท่วม ตอนนี้น้ำขึ้นๆลงๆทุก 3 วัน หน้าน้ำหลากน้ำก็น้อย หน้าน้ำลดน้ำไม่ลด มันทำให้ต้นไคร้ตายอีกอันคือถ้าถึงเวลาน้ำท่วมแต่น้ำไม่ท่วม มันจะมีหนอนคล้ายรถด่วนแต่ตัวสีเหลืองเอามาคั่วกินได้แบบรถด่วนเหมือนกัน หนอนจะมาเจาะต้นไคร้น้ำ หนอนคนหาปลาชอบเอามาใส่เบ็ด โดยดูจากกิ่งที่มินเริ่มเหี่ยว หักออกมาจะมีรู ถ้าน้ำไม่ท่วมพวกหนอนก็จะเจาะยืนต้นตาย น้ำท่วมก็เป็นการรักษาลำต้นไคร้ไว้”

การขึ้นลงของน้ำโขงที่ผิดปกติ ชุมชนเริ่มรับรู้ในปีพ.ศ.2539 ซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างเขื่อนม่านวาน เขื่อนแห่งแรกแม่น้ำโขงในประเทศจีน ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน สัตว์น้ำ ระบบนิเวศน์ เรื่อยมาจนถึงขั้นวิกฤติชุมชนในการพึ่งพาแม่น้ำโขงได้ยากขึ้น ในงานวิจัยชาวบ้านได้นับช่วงปีพ.ศ. 2552 เป็นต้นมา คือช่วงวิกฤติการพึ่งพาแม่น้ำโขง ทำให้ชาวประมงจากเรือหาปลา 266 ลำ เหลือคนหาปลาเพียง 165 ลำ จากลังหาปลา 14 ลั้งจากเชียงแสนถึงเวียงแก่น ตอนนี้เหลือลั้งหาปลาเพียง 5 ลั้งเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงลดลง จากปัจจัยหลายสาเหตุ ทั้งจากการขึ้นลงผิดปกติของน้ำจากเขื่อนตอนบน ปัญหาตลิ่งพังจากการขึ้นลงของระดับน้ำ ทำให้มีการทำพนังกั้นตลิงทำให้พื้นที่พืชอาหาร เกษตริมโขงหายไป การปรับตัวจากประมงมาทำอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเข้มข้น

การหายไปของพันธ์ปลา พืชอาหาร ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปากท้องชุมชนริมฝั่งโขง ถึงแม้จะมีการศึกษาปัญหาผลกระทบมากมายแต่การแก้ไขปัญหาผลกระทบเหล่านี้ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชน มีแต่การตั้งรับปรับตัวของคนในชุมชนเองที่ทำตามยถากรรมของตนเอง  ชุมชนริมฝั่งโขงกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติกการพึ่งพาแม่น้ำโขงอยู่อย่างยากลำบาก เมื่อแม่น้ำโขงถูกควบคุม จนแม่น้ำใหญ่ไม่มีปลา

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง