เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย
การโยกย้ายเพื่อหาไปตามหาโอกาสดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เราทุกคนพอจะเข้าใจได้เสมอ ก็ในเมื่ออยู่ที่เดิม/อยู่แบบเดิมมันไม่มีโอกาส การโยกย้ายไปหาโอกาสในที่ใหม่ๆ คงเป็นปกติวิสัยที่เราทุกคนเลือกจะทำ
สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร ในปี 2565 โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.2565 จากผลการสำรวจพบว่า จำนวนผู้ย้ายถิ่นในปี 65 มีจำนวนกว่า 8 แสนคน คิดเป็นอัตราการย้ายถิ่นร้อยละ 1.2 ของประชากรทั้งประเทศที่จำนวน 69 ล้านคน ซึ่งเงื่อนไขอันดับหนึ่งที่ผลักดันให้คนย้ายถิ่นฐานคือ “เงื่อนไขด้านการงาน”
การย้ายถิ่นฐานด้วยเงื่อนไขด้านการงานคงเป็นสิ่งที่เราพอจะเดาได้ไม่ยาก ด้วยความที่ “โอกาสของผู้คนในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน” ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า ผู้คนย้ายถิ่นกว่าร้อยละ 34.8 ต้องย้ายถิ่นด้วยเงื่อนไขด้านการงาน ทั้งการย้ายถิ่นเพื่อหางานทำกว่าร้อยละ 18 ย้ายถิ่นด้วยเหตุของหน้าที่การงานรองลงมาที่ร้อยละ 10 ที่เหลือร้อยละ 4.6 และ 1.1 คือการย้ายถิ่นเพื่อเปลี่ยนงานและหารายได้เพิ่มตามลำดับ และที่น่าสนใจคือผู้ย้ายถิ่นมากกว่า 3 แสนคนมีสถานะเป็นลูกจ้างเอกชน
เราจะเห็นว่าเงื่อนไขด้านการงานโดยเฉพาะการหางาน ผลักดันให้คนต้องย้ายถิ่นมากมายขนาดไหน เนื่องด้วยพื้นที่แห่งโอกาสในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565 เพียงกรุงเทพมหานครจังหวัดเดียวก็มีผู้ย้ายเข้าแล้วมากกว่า 5 หมื่นคน และในภาคเหนือมีการย้ายถิ่นภายในภาคเหนือเองมากกว่า 7 หมื่นคน ประกอบด้วยการย้ายภายในจังหวัดที่ประมาณ 5 หมื่นคน และย้ายข้ามจังหวัดกว่า 2 หมื่นคน โดยผู้ที่ย้ายถิ่นยังคงมีสถานะเป็นลูกจ้างเสียส่วนมาก
“ให้อยู่บ้านจะทำงานอะไรได้ ทำนาหรอ? ขนาดทำนากันมาตั้งแต่รุ่นยาย บ้านยังเป็นหนี้อยู่เลย มันก็ต้องไปทำงานในกรุงเทพอยู่แล้วป่ะ” (สัมภาษณ์นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารฯ มหาวิทยาลัยนเรศวร)
จากรายงาน ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย’ ที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ.2562 ระบุว่า ประเทศนี้มี ‘ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เชิงพื้นที่’ ชัดเจนมาก การเติบโตส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร แม้จะมีแนวโน้มความเหลื่อมล้ำที่ลดลงมาบ้างในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา แต่การกระจายรายได้ต่อหัวประชากร (GPP per capital) ในแต่ละจังหวัดยังคงคล้ายเดิม โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลครองอันดับ 1 และ 2 ในการกระจายรายได้ต่อหัว
ภาคเหนืออยู่ในลำดับที่ 4 ของการกระจายรายได้ต่อหัว แม้จะมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่สูงก็ตาม กล่าวคือในภาคเหนือแม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีสูง แต่การกระจายได้สู่ผู้คนในจังหวัดยังถือว่าน้อยกว่ากรุงเทพมหานครมาก โอกาสในของผู้คนที่จะได้ทำงานที่รายได้สูงจึงน้อยกว่ากรุงเทพตามมา
จากรายงานฉบับเดียวกันของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า กรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล และจังหวัดในกลุ่ม EEC (ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา) มีค่าการเติบโตของรายได้ที่รวดเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ อันเป็นผลจาก “การเคลื่อนย้ายของผู้คนจากต่างจังหวัดเข้ามาสู่จังหวัดเหล่านี้” ซึ่งเป็นจังหวัดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ จากการย้ายถิ่นเข้ามาในจังหวัดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจยิ่งเป็นเงื่อนไขที่ผลักดันให้เกิดความเป็นเมืองที่สูงขึ้นในจังหวัดเหล่านี้ เป็นผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ยิ่งถ่างขยายออกไปอีก
เงื่อนไขของความเหลื่อมล้ำเหล่านี้สะท้อนออกมาในรูปของ “โอกาส” ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่/จังหวัด จากผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรในปี 2560 ชี้ให้เห็นว่า คนทำงานในอาชีพเดียวกันในแต่ละภูมิภาค กลับมีโอกาสการสร้างรายได้ที่แตกต่างกันค่อนข้างมากในแต่ละพื้นที่ หรือก็คือทำงานที่เดียวกันเพียงแต่ย้ายจังหวัดทำงาน โอกาสที่รายได้จะสูงขึ้นก็มีมากขึ้น
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เชิงพื้นที่ส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการสร้างรายได้ในแต่ละพื้นที่ และมีความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ในมิติอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะด้านสังคมและการศึกษา ฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่จึงมิใช่เพียงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เพียงอย่างเดียว แต่คือ “ความเหลื่อมล้ำของโอกาส” เพราะหากไร้ซึ่งโอกาส อนาคตก็เป็นสิ่งที่เลือนลางจนหาความแน่นอนไม่ได้
ครอบครัวที่แตกกระจาย และชนบทที่เริ่มกลายเป็นบ้านร้าง
“กรุงเทพก็คงเหมือนอเมริกา มันดูเป็นเมืองแห่งโอกาส” (สัมภาษณ์พนักงานบริษัทเอกชนด้านการสื่อสารแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ)
โอกาส คือเงื่อนไขสำคัญที่ผู้คนคำนึงถึงเสมอ เมื่อจำต้องอาศัย ทำงาน กระทั่งมีชีวิตอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้ ฉะนั้นที่แห่งใดที่ปราศจากโอกาส คงเป็นที่ที่คนจะจากมา
ดัชนีวัดความก้าวหน้าของคนในแต่ละภูมิภาค ที่จัดทำโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี พ.ศ.2560 ชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าของผู้คนด้านรายได้และการจ้างงานในกรุงเทพมหานครสูงกว่าทุกภูมิภาคในประเทศไทย ยิ่งเป็นหลักฐานที่ย้ำเตือนความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสเข้าไปอีก
โอกาสในการหางานและสร้างรายได้ที่สูงกว่ากระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจอย่างกรุงเทพ รวมไปถึงปริมณฑลและจังหวัดกลุ่ม EEC นำไปสู่การเคลื่อนย้ายของผู้เข้าสู่จังหวัดเหล่านั้น ยิ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ทั้งทางสังคมและการศึกษาสูงขึ้นไปอีก ดัชนีความก้าวหน้าของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และการศึกษา รวมไปถึงด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพและการคมนาคมด้วยเช่นกัน
การศึกษาครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือที่ผู้คนเชื่อว่าจะยกระดับสถานะภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้ การทุ่มเทเพื่อการศึกษาจึงเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งของการย้ายถิ่นฐาน เราจะพบเห็นผู้ปกครองที่ต้องการส่งลูกหลานไปเรียนในพื้นที่/จังหวัดที่มีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เนื่องจากเห็นว่าบ้านของตนเองนั้น หาโอกาสทางการศึกษาที่ดีเทียบเท่าไม่ได้
“พ่อแม่อยากให้มาเรียนที่นครสวรรค์ เพราะเห็นว่าโรงเรียนนี้สอบติดหมอเยอะกว่าโรงเรียนในอุทัยมาก เขาก็เลยส่งมาเรียนที่นี่ จะได้มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ มีอนาคตดีๆ” (สัมภาษณ์อดีตนักเรียนโรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ที่ต้องย้ายจากจังหวัดอุทัยธานี)
บทสัมภาษณ์ของอดีตนักเรียนที่ต้องย้ายออกจากจังหวัดอุทัยธานีมาเรียนที่โรงเรียนในจังหวัดนครสวรรค์ สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ยังเผยให้เห็นการย้ายถิ่นตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการย้ายถิ่นฐานที่ไม่รู้จบ เนื่องจากปัจจุบันอดีตนักเรียนคนนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และคาดว่าเมื่อเรียนจบก็จะไปทำงานที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากไม่เห็นโอกาสว่าจะทำงานที่รายได้สูงได้ในจังหวัดอุทัยธานี โดยให้สัมภาษณ์ดังนี้
“ไม่ได้นึกเลยว่าต้องทำงานที่บ้าน เพราะไม่ได้อยู่ในสมองเลยว่าจะทำงานอะไรที่บ้าน คือคิดข้ามไปเลยว่าจะทำงานอะไรดี บริษัทไหนดีในกรุงเทพ”
การย้ายถิ่นด้วยเงื่อนไขด้านการศึกษาก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง ที่ผลักดันให้คนย้ายถิ่นฐานและอาจเป็นเงื่อนไขเริ่มต้นของการย้ายถิ่นต่อไปในพื้นที่/จังหวัดอื่นๆ ต่อมา กล่าวคือผู้คนเริ่มย้ายถิ่นตั้งอยู่ในวัยเรียน ครอบครัวและบ้านก็ขาดหายสมาชิกไปแล้วตั้งแต่พวกเขาเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษา
หากเราลองย้อนกลับมามองที่กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เราจะเห็นปรากฎการณ์ “ครอบครัวแหว่งกลาง” คือปรากฎการณ์ทางสังคม ที่พ่อแม่มิอาจอยู่กลับลูกของตนเองได้ ต้องฝากลูกไว้กับตายาย/ปู่ย่า เกิดเป็นครอบครัวข้ามรุ่น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ในภาคเหนือเช่นกัน
เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า พ่อแม่ของเด็กในครอบครัวแหว่งกลางนั้น คือกลุ่มคนที่มีอายุอยู่ในช่วงของการเป็นแรงงาน แต่พวกมิอาจอยู่ร่วมกับครอบครัวในพื้นที่บ้านเกิดได้ เนื่องจากในพื้นที่บ้านเกิดของพวกเขาโอกาสในด้านการทำงานและรายได้มีต่ำ จึงจำเป็นต้องย้ายออกไปทำงานในพื้นที่/จังหวัดอื่น แล้วส่งเงินกลับมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวของปู่ย่า/ตายายและลูกของพวกเขา
สภาพครอบครัวแหว่งกลางพบได้ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท แต่จะพบมากกว่าในชนบท เนื่องด้วยโอกาสในด้านการงานและรายได้ ที่เหลื่อมล้ำในแต่ละพื้นที่/จังหวัด และจากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ. 2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน พบว่า ในเวลาไม่ถึง 30 ปี ประเทศไทยมีครอบครัวแหว่งกลางมากกว่า 400,000 ครอบครัว หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว
เรามักพบเห็นครอบครัวแหว่งกลางได้ในชนบท กระทั่งรายการโทรทัศน์ที่มักฉายภาพครอบครัวที่ปู่ย่า/ตายายต้องเลี้ยงหลานของตนอย่างยากลำบาก อาศัยรายได้จากลูก (พ่อแม่ของเด็ก) ที่ไปทำงานในพื้นที่อื่นและส่งเงินกลับมาให้ และ/หรือประกอบกับการหารายได้เล็กๆ น้อยๆ ที่พอหาได้ในพื้นที่บ้านของตน
การย้ายถิ่นเพื่อโอกาสได้การทำงานและการสร้างรายได้เพื่อส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวพบเห็นได้ทั่วไป สำนักงานสถิติแห่งชาติก็ยืนยันปรากฏการณ์นี้ โดยพบว่าผู้ย้ายถิ่นฐานส่งเงินเพียงอย่างเดียวกลับไปยังบ้าน (ภูมิลำเนา) มากกว่าร้อยละ 81 โดยเฉพาะผู้ที่ย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครที่มีการส่งเงินกลับไปบ้านมากที่สุด และผู้รับเงินที่ส่งมาจากผู้ย้ายถิ่นกว่าร้อยละ 87 คือบิดามารดาของผู้ย้ายถิ่น กล่าวคือบ้านที่ครอบครัวแหว่งกลาง ผู้เป็นพ่อแม่จะส่งเงินกลับมาให้ปู่ย่า/ตายายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
ปรากฏการณ์ครอบครัวที่แหว่งกลาง คือภาพสะท้อนของบ้านที่แตกกระจาย ครอบครัวที่มิได้อยู่ร่วมกัน อีกภาพสะท้อนหนึ่งที่เราอาจพบเห็นได้เมื่อเราได้ไปยื่นพื้นที่ชนบท เราอาจพบเห็นบ้านที่ผู้สูงอายุต้องคอยเลี้ยงหลานอายุน้อย ๆ
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยลงไปเยี่ยมเยียนพื้นที่อำเภอวังทองในจังหวัดพิษณุโลก พบว่าผู้เขียนไม่พบกลุ่มผู้ใหญ่ในวัยใช้แรงงานเลย พบเพียงผู้สูงอายุที่อยู่บ้านกันเพียงลำพัง เมื่อถามว่ามีใครอยู่บ้านอีกไหม ได้รับคำตอบว่า
“ก็ตายายอยุ่กับหลานนี่แหละ พ่อแม่พวกนี้ไปทำงานโรงงานกันหมดแล้ว” (บทสนทนากับผู้สูงอายุท่านหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก)
ปรากฏการณ์ครอบครัวที่แหว่งกลาง ช่วยฉายภาพให้เราเห็นว่าชนบทเริ่มจะปลอดคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการส่งออกผู้คนที่อยู่ในวัยแรงงานไปสู่พื้นเศรษฐกิจนอกบ้าน (พื้นที่/จังหวัดภูมิลำเนา) มากขึ้นเรื่อยๆ บ้านที่แหว่งกลางอาจกลายเป็น “บ้านร้าง” เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่อัตราการเกิดน้อยลงและผู้คนส่วนใหญ่เริ่มก้าวเข้ามาสู่วัยผู้สูงอายุ
จากรายงานผลการสำรวจผลกระทบของปัจจัยประชากรต่อสถาบันครอบครัวและชุมชนในชนบท พบว่า การพึ่งพิงวัยทำงานในชนบทมีสูงกว่าในเมืองมาก กล่าวคือมีกลุ่มคนที่อาศัยในชนบทที่ต้องพึ่งรายได้จากวัยทำงานสูงกว่ากลุ่มที่อาศัยในเมือง และจากรายงานฉบับเดียวกันพบว่า อัตราการเกิดที่ต่ำลงและการเข้าสู่วัยสูงอายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อประกอบกับช่วงเวลาที่เด็กจะเติบโตเข้าสู่วัยทำงานที่มากขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะที่ผู้สูงอายุในชนบทจะต้องอยู่ตามลำพังและอาศัยรายได้จากการส่งเงินกลับมาของลูกหลาน ที่ก้าวออกไปทำงานนอกบ้าน (ภูมิลำเนา) จนอาจนำไปสู่ความเบาบางของผู้คนในชนบทมากขึ้นไปอีก
ชนบทอาจกำลังกลายเป็นบ้านร้าง คือข้อสันนิทานที่อาจเป็นไปได้ เนื่องจากการย้ายออกจากบ้านมีสูงกว่าการย้ายกลับเข้าบ้าน สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยให้เห็นอัตราการย้ายกลับภูมิลำเนามีต่ำกว่าอัตราการย้ายถิ่นด้วยเงื่อนไขอื่นๆ มาก และเป็นเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ที่อยู่ในวัยเด็กกกำลังก้าวเข้าสู่วัยทำงานมากขึ้นเรื่อย แต่อัตราการเกิดกลับน้อยลง ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้ที่ยังคงอยู่ในชนบทอาจเหลือเพียงผู้สุงอายุ
ภาพสัดส่วนของวัยเด็ก วัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ และภาพอัตราส่วนการพึ่งพิงแยกตามพื้นที่จากรายงานผลการสำรวจผลกระทบของปัจจัยประชากรต่อสถาบันครอบครัวและชุมชนในชนบท จะช่วยยืนยันว่าปรากฎการณ์ชนบทที่เริ่มกลายเป็นบ้านร้าง กราฟทางขวามือของภาพสัดส่วนวัยเด็ก วัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ คือพื้นที่ชนบท ซึ่งเราจะเห็นว่าจำนวนผู้สูงอายุ (เส้นสีเขียว) มีสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทางกลับกันจำนวนของเด็ก (เส้นสีน้ำเงิน) กลับน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับจำนวนเด็กที่เติบโตเข้าสู่วัยทำงาน (เส้นสีแดง) ที่สูงขึ้นตลอด ซึ่งหากเชื่อมโยงกับอัตราการย้ายถิ่นเราอาจอนุมานได้ว่า เด็กที่เติบโตเข้าสู่วัยทำงานในพื้นชนบทก็จำต้องย้ายออกจากชนบทไปทำงานในพื้นอื่นเป็นเงาตามตัว และจากภาพอัตราส่วนการพึ่งพิงแยกตามพื้นที่จะเห็นว่า ชนบทจะเป็นเพียงพื้นที่ของผู้สูงอายุที่ต้องการพึ่งพิงมากขึ้นเรื่อยๆ
การย้ายกลับมามาสู่บ้านในชนบทก็ดูเป็นความหวังอันเลือนลางมากขึ้นไปอีก เห็นได้จากอัตราการย้ายถิ่นเพื่อกลับภูมิลำเนาของตนมีอัตราเพียงร้อยละ 12.4 กล่าวคือจาก 100 คนที่ต้องย้ายถิ่น มีคนทั้งสิ้นเกือบ 84 คนที่ต้องย้ายออกจากบ้าน และมีเพียง 12 คนที่จะได้กลับมาอยู่บ้านของตน
บ้านที่หวังว่าจะได้กลับ
การย้ายถิ่น โดยเฉพาะผู้คนในชนบทที่ต้องย้ายออกไปตามหาโอกาสทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม จากที่ผมได้กล่าวมาก่อนหน้าเราจะเห็นว่าด้วยโอกาสที่ต่างคนต่างวิ่งออกจากบ้านไปหาโอกาสเหล่านั้น โอกาสที่มิอาจหาได้จากพื้นที่/จังหวัดที่เรียกว่าบ้าน จนชนบทในเวลาไม่นานต่อจากนี้อาจกลายเป็นบ้านร้างที่ปลอดผู้คน
อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายออกไปตามหาโอกาสในพื้นที่/จังหวัดอื่น ก็ใช่ว่าจำเป็นที่จะต้องละทิ้งพื้นที่เก่าไป การยังคงมีพันธะผูกพันธ์ต่อพื้นที่เก่าที่เราย้ายออกมา ดูจะเป็นเรื่องปกติวิสัยเช่นเดียวกับการย้ายออกไปหาโอกาส ในเมื่อเรายังมีสถานที่ให้กลับ หรือยังมีคนที่เราห่วงหารออยู่ที่นั่น สถานที่ที่เราเอ่ยได้ว่าเป็น “บ้าน”
“ลูก 2 ไปอยู่บางแค อีก 2 คนอยู่รังสิต-ปทุม 2 คนอยู่ในพิษณุโลก” คือคำพูดของตาปอย (นามสมมติ) ในตำบลนาบัว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ที่ลูกของเขากว่า 4 คนต้องย้ายออกจากบ้านไปทำงานในจังหวัดอื่น ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคม
แต่จากการสอบถามและสังเกตบริเวณบ้านของตาปอย ภายในบริเวณบ้านมีการสร้างบ้านกว่า 3 หลังอยู่ภายในรั้วบ้านของตาปอย จากการสอบถามจึงรับรู้ว่าบ้านหลังหนึ่งคือ บ้านที่ตาปอยอาศัยอยู่กับภรรยาย บ้านหลังที่ 2 คือบ้านที่ปลูกไว้ให้ลูกหลานที่ยังอาศัยอยู่ร่วมกับตน ส่วนบ้านหลังสุดท้ายคือ บ้านที่ลูกสาวที่ไปทำงานอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีสร้างเอาไว้เมื่อจะกลับมาอยู่บ้าน
จากบ้านที่สร้างทิ้งไว้เพื่อกลับมาอยู่ของลูกสาวตาปอยหลังนี้อาจช่วยทำให้เราเห็นว่า การย้ายถิ่นฐานออกไปจากบ้านมิใช่การจากไปอย่างถาวร แต่อาจสามารถจำแนกการย้ายถิ่นออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) การย้ายไปแบบ “ชั่วคราว” รอความหวังที่ครั้งหนึ่งจะกลับมาอยู่บ้าน หรืออาจเป็น 2) การย้ายถิ่นแบบถาวร แต่ยังคงรักษาความเป็น “บ้าน” และ “ครอบครัว”
ผมอยากชวนมาลองทำความเข้าใจการย้ายถิ่นแบบชั่วคราว และย้ายถิ่นแบบยังคงรักษาความเป็นบ้านและครอบครัวเอาไว้ เพื่อที่จะนำไปสู่ข้อเสนอของงานเขียนชิ้นนี้ที่ออาจโอบรับการย้ายถิ่นทั้ง 2 รูปแบบ โดยไม่ทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง
การย้ายถิ่นแบบแรกคือ การย้ายถิ่นแบบ “ชั่วคราว” สำหรับการย้ายถิ่นในรูปแบบนี้ เราอาจพบเห็นได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามผู้คนที่ย้ายถิ่นรอบตัวเรา กระทั่งรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ย้ายถิ่น ด้วยเงื่อนไขของการย้ายถิ่นคือความจำเป็นเชิงโครงสร้าง หรือก็คือการย้ายถิ่นด้วยเงื่อนไขด้านโอกาสที่มิอาจหาได้ในพื้น/จังหวัดบ้านเกิดของตน จนโครงสร้างหรือโอกาสเหล่านั้นบีบให้ผู้คนต้องย้ายถิ่นออกจากพื้นที่/จังหวัดของตน
วิจิตร ประพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายการย้ายถิ่นชั่วคราว (temporary migration) ไว้ว่า เป็นรูปแบบการอพยพไปอยู่ในสังคมปลายทางในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ยาวนาน แต่ก็มีความยากลําบากในการให้คําจํากัดความ เพราะไม่อาจกําหนดระยะเวลาได้อย่างชัดเจน การย้ายถิ่นแบบชั่วคราวจึงอาจเป็นการย้ายชั่วคราวแต่กลับยาวนานก็เป็นได้
การย้ายถิ่นแบบชั่วคราวนี้ ผู้ที่ย้ายยังคงมีความสัมพันธ์กับพื้นที่และสังคมเดิมอยู่ พร้อมกับยังคงมีความหวังว่า สักวันจะย้ายกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม แม้จะไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าคือเมื่อใด
การย้ายถิ่นแบบที่สองคือ การย้ายถิ่นแบบถาวร แต่ยังคงรักษาความเป็น “บ้านและครอบครัว” ไว้ การย้ายถิ่นในลักษณะนี้มีความซับซ้อน เนื่องด้วยเงื่อนไขของการย้ายถิ่นอาจเริ่มด้วยความจำเป็นเชิงโครงสร้างแบบเดียวกับการย้ายถิ่นในรูปแบบแรก หรืออาจมาจากเงื่อนไขของเจตจำนงของตนเองที่ต้องการย้ายถิ่นตั้งแต่เริ่ม แต่ท้ายที่สุดการย้ายถิ่นในรูปแบบนี้ ผู้ย้ายถิ่นมิได้ประสงค์จะย้ายกลับมาอยู่ในพื้นที่/จังหวัดเดิมของตนอีกต่อไปแล้ว
การย้ายถิ่นรูปแบบถาวร อาจเกิดจากการย้ายด้วยความจำเป็นเชิงโครงสร้าง เช่น หางานทำ หรือหารายได้เพิ่ม เป็นต้น แต่เมื่อย้ายถิ่นสู่พื้นที่ใหม่/สังคมใหม่แล้ว รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปจนมิอาจย้ายกลับมาอยู่ในพื้นที่เดิม/สังคมได้อีกต่อไป หรือเกิดการที่บุคคลผู้นั้นต้องการย้ายถิ่น ด้วยประสงค์จะเปลี่ยนแปลงสังคมอาจด้วยความอึดอัดในการใช้ชีวิต
อย่างไรก็ตาม ผู้ย้ายถิ่นในลักษณะที่ 2 นี้ก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ในพื้นที่บ้านและครอบครัวของตนเอาไว้ กล่าวคือผู้ย้ายถิ่นในรูปแบบนี้ แม้มิต้องการย้ายกลับมาอยู่ที่บ้าน แต่พวกเขาก็ไม่ได้ทิ้งพื้นที่และครอบครัวไว้เบื้อหลัง แต่ยังคงไปเยี่ยมบ้านและครอบครัวของตนเสมอ เพื่อให้ความสัมพันธ์กับพื้นที่และคนในครอบครัวยังคงมีอยู่ต่อไป ทั้งการคอยส่งเงินกลับมาให้คนในครอบครัว การกลับมาเยี่ยมครอบครัวทุกวันหยุด หรืออาจเป็นการสร้างเพื่อคอยกลับมาอยู่เป็นระยะ แบบที่ลูกสาวของตาปอยสร้างไว้
สำหรับข้อเสนอของงานชิ้นนี้ ผมประสงค์ที่จะเสนอการป้องกันชนบทมิให้กลายเป็นบ้านร้างมากกว่าที่จะเสนอมิให้เกิดการย้ายถิ่นแต่อย่างใด
ข้อเสนอแรกจะเชื่อมโยงไปกับรูปแบบการย้ายถิ่นแบบชั่วคราว เนื่องด้วยการย้ายถิ่นในลักษณะคือการย้ายถิ่นด้วยจำเป็นเชิงโครงสร้าง ฉะนั้นการย้ายถิ่นในรูปแบบนี้เป็นผลจากการขาดโอกาสในพื้นที่และความเหลือล้ำเชิงพื้นที่และสังคม ข้อเสนอแรกจึงเป็นการเสนอให้กระจายพื้นที่เศรษฐกิจออกจากจังหวัดอย่างกรุงเทพ ปริมณฑล และกลุ่มจังหวัด EEC เริ่มต้นโดยกระจายอำนาจให้องค์กรส่วนถิ่นในการบริหารจัดการงบประมาณเพื่อเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ทั้งการสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างพื้นที่ทางสังคม อาทิ โรงเรียนหรือโรงพยาบาล เป็นต้น เพราะจะทำให้โอกาสและอนาคตในพื้นที่ชนบทเกิดความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ความจำเป็นเชิงโครงสร้างจะน้อยลงจนนำไปสู่ความจำเป็นเชิงโครงสร้างในการย้ายถิ่นฐานจะน้อยลงตามไปด้วย
ข้อเสนอที่สองคือ การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำทั่วประเทศและมีผลบังคับใช้อย่างจริงจัง การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำในทุกพื้นที่อาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ในแต่ละพื้นที่ลง การย้ายถิ่นเพื่อรายได้ที่เพิ่มจึงอาจน้อยลง พร้อมกับสร้างความเป็นไปได้ในการสะสมทุนเพื่อเตรียมย้ายกลับมาสู่ภูมิลำเนาของผู้ที่เคยย้ายถิ่นแบบชั่วคราว กระทั่งอาจสร้างความารถในการรักษาความเป็นบ้านและครอบครัวในกลุ่มผู้ย้ายถิ่นแบบถาวรด้วยเช่นกัน เพราะทั้งการส่งเงินให้กับคนในครอบครัวหรือการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านจะทำได้ง่ายขึ้น และอาจส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ที่ยังอาศัยอยู่ในชนบทไปพร้อมกัน
ข้อเสนอสุดท้ายคือ การออกนโยบายพัฒนาพื้นที่ที่มุ่งกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นโยบายอย่างจริงจัง เนื่องด้วยการออกนโยบายที่มุ่งกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจจะช่วยพัฒนาพื้นที่และสร้างโอกาสให้กับคนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมเช่นกัน แต่สำคัญที่ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นโยบายก่อน เนื่องด้วยการเพียงออกนโยบายพัฒนาพื้นที่อาจทำให้เกิดการแทรกแซงโดยนายทุนหรืออำนาจที่สูงกว่าคนในพื้นที่ จนอาจนำไปสู่การย้ายถิ่นของคนในพื้นที่ที่ไม่มีทุน/อำนาจเทียบเท่าผู้ที่เข้ามาแทรกแซง
ทั้ง 3 ข้อเสนอที่กล่าวไปนี้คือ ข้อเสนอที่มุ่งป้องกันการกลายเป็นบ้านร้างในพื้นที่ชนบท สิ่งสำคัญของข้อเสนอคือการมุ่งเพิ่มศักยภาพในพื้นที่และสร้างโอกาสให้แก่ผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม เพราะไม่ควรมีพื้นที่ใดที่ผู้คนไม่อาจมองเห็นโอกาส และไม่ควรมีพื้นที่ใดที่ปราศจากอนาคต
อ้างอิง
- พรชนก เทพชาม. (2562). ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่และนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย. ธนาคารแห่งประเทศไทย
- วิจิตร ประพงษ์. (2561). การย้ายถิ่นแบบชั่วคราวแต่ยาวนานของแรงงานไทยแบบผิดกฎหมายในฝรั่งเศส. วารสารพัฒนศาสตร์ : ไทยนอกแผ่นดินไทย, 1(2), 206–240.
- ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์. (2562). เมื่อ ‘รายได้’ ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย : ทำความเข้าใจ ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ กับ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู. The 101.world
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2565). การสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2565. สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม
- อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ (2559). ผลกระทบของปัจจัยประชากรต่อสถาบันครอบครัวและชุมชนในชนบท: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...