25 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดกิจกรรม ตามรอยงานวิจัยไทบ้านเรียนรู้วิถีชุมชนชายแดนฮิมน้ำของ เวลา 09.00 น. โดยมีนักศึกษาจาก 2 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมได้แก่ สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ คณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ช่วงเช้าได้มีการนำเสนอ “การทํางานวิจัยเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น: กรณีศึกษางานวิจัย ไทบ้าน” วิทยากรโดย พิศณุกรณ์ ดีแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัยจากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ที่ชี้ให้เห็นถึงการค้นหาและบันทึกความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นผ่านตัวของชาวบ้านด้วยวิธีการศึกษาแบบภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชนและคนท้องถิ่น ซึ่งหัวใจของงานวิจัยไทบ้านคือการสร้างความรู้ที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของที่ไม่ใช่การศึกษาที่ชาวบ้านเป็นผู้ให้ข้อมูลเพียงเท่านั้น มีการอธิบายขั้นตอนในการทำวิจัยไทบ้านทั้งหมด 6 ขั้นตอน หรือที่เรียกว่า “บันได 6 ขั้นการทำงานวิจัยไทบ้าน“ และปิดท้ายด้วยกิจกรรมที่ให้นักศึกษาได้ทดลองทำประวัติของตนเองและชุมชนของนักศึกษาผ่านการวาดภาพ หรือ ‘สายธารแห่งชีวิต’
ในช่วงบ่ายมีการฝึกการสื่อสารงานวิจัยสู่สาธารณะโดย วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการสำนักข่าว Lanner ที่มาชวนคิดถึงพลังของการสื่อสารที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่ประชาชนสร้างลุกขึ้นมาสร้างการสื่อสารเพื่อตรวจสอบรัฐหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสู่สาธารณะได้ นอกจากนี้ยังมีการให้ผู้เข้าร่วมทดลองทำการสื่อสารเพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงผ่านการสำรวจข้อมูลของชุมชนบ้านห้วยลึกที่ดึงแง่มุมอื่นของชุมชนเพื่อเชื่อมโยงกับประเด็นเขื่อนปากแบง
โดยกิจกรรมในวันนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้เข้าร่วมก่อนที่จะมีการลงพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 20-21 ธันวาคม 2566 เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นสังคมผ่านประสบการณ์ในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน และให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมในการสะท้อนมุมมอง พร้อมกับนำเสนอสถานการณ์
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...