ประสานเสียงค้านกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนลาว ชี้ส่งผลกระทบข้ามแดน-ละเมิดสิทธิมนุษยชน

จากกรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงพื้นที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจรที่ จ.หนองบัวลำภู พร้อมให้สัมภาษณ์สนับสนุนการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าและเป็นพลังงานสะอาด



วันที่ 5 ธันวาคม 2566 น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด และแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand-FFT) กล่าวว่า โครงการที่นายพีระพันธุ์พูดถึงคือเขื่อนน้ำงึม น้ำเงี้ยบ และน้ำเทิน เป็นเขื่อนบนลำน้ำสาขา ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อาจเข้าข่ายพลังงานสะอาดได้ หากคำนึงถึงเพียงการปล่อยคาร์บอน และอาจมีราคาถูกกว่า หากเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ แต่หากมองปรากฏกาณณ์ว่ารับซื้อไฟเขื่อนลาวถูกกว่าและอยากให้ไทยซื้อ พูดแบบนี้เมื่อหลายปีก่อนคงไม่มีปัญหามากเพราะเขื่อนไม่ได้ใหญ่มาก แต่พูดในวันนี้จะหมายถึงอนาคต หมายถึงโครงการเขื่อนใหม่ในลาว ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งมีผลกระทบข้ามพรมแดน อาทิ โครงการเขื่อนปากแบง โครงการเขื่อนหลวงพระบาง โครงการเขื่อนปากลาย ที่จะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมชัดเจน จนมีกรณีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาที่คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) และแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมฯ (FFT) ก็ได้รวบรวมข้อกังวลและประเด็นเสี่ยงมาเป็นกรณีศึกษามาแล้วร่วมกับ International Rivers

น.ส.สฤณีกล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของบริบท ว่าเขื่อนใหญ่ที่เป็นโครงการใหม่ ๆ ต้องเข้ากระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่า รายงานและเอกสารต่างๆ ก็มีออกมา ทุกคนตอนนี้ต่างพูดถึงเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน กรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบางก็มีข้อกังวลจาก UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลก ทั้งเรื่องขนาดเขื่อนและที่ตั้งของเขื่อน ยิ่งหากมองในมุมของนักการเงินจะเห็นว่ามีความเสี่ยงกว่า ดังนั้นการพูดว่าเขื่อนลาวเหมือนกันหมด อาจไม่จริง

“นี่ยังไม่นับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ climate change ที่สมาคมไฟฟ้าพลังงานน้ำสากล (IHA) ได้ระบุชัดเจนเรื่องการศึกษาผลกระทบนี้ ทั้งปริมาณน้ำ การไหลของน้ำ อุทกวิทยา ฯลฯ แล้วโครงการเขื่อนในลาวได้ใช้มาตรฐานนี้อย่างไร การระบุว่าต้นทุนเชื้อเพลิงของเขื่อนมีราคาถูก หากเทียบกับแก๊ส แต่หากดูกรณีเขื่อนน้ำงึม แรกเริ่มนั้นไฟฟ้าที่รับซื้อราคา 1 บาทเศษๆ ต่อมาขึ้นมาเป็น 2 บาทจากการเจรจา และหากดูเขื่อนใหม่ๆ เช่น โครงการหลวงพระบาง ราคา 2.84 บาทต่อหน่วย โครงการปากแบง 2.719 บาท คือราคาไฟฟ้าจากเขื่อนไม่ได้ถูกแบบเดิมแล้ว” น.ส.สฤณี กล่าว

น.ส.สฤณีกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนนั้น พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และลม ซึ่งก็ไม่ได้เปิดให้เสนอราคา แต่มี feed in tariff ในขณะที่ราคาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์บวกแบตเตอรี่ อยู่เพียง 2.8 บาท ราคานี้หากเปิดเสรี ย่อมมีผู้ผลิตไฟฟ้าที่สนใจเสนอเข้ามาในราคาที่ถูกกว่านี้ ตอนนี้คือเหมือนพูดลอยๆ ว่าไฟฟ้าจากเขื่อนดีที่สุดแล้ว

“อีกประเด็นคือปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองล้น (over supply) เป็นเรื่องที่กังวลมาตลอด เขื่อนเหล่านี้เป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ take or pay และมีค่าความพร้อมจ่าย โครงการเขื่อนหลวงพระบาง มีสัญญากับกฟผ. ยาวนานถึง 35 ปี ทำไมต้องนานขนาดนั้น หากเป็นส่วนหนึ่งของไฟฟ้าที่เกินก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระบบ การบริหารพลังงานที่ยาวขนาดนี้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาปริมาณไฟฟ้า” น.ส.สฤณี กล่าว


ไกหรือสาหร่ายแม่น้ำโขงซึ่งเก็บได้วันแรกของฤดูกาลในเช้าวันเดียวกันนี้ โดยพืชชนิดนี้อาจหายไปหากมีการสร้างเขื่อนปากแบง

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่าการจะตัดสินใจซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงประเด็นต่างๆ ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างชัดเจนก่อน คือ 1. กำลังการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน มีเกินกว่าความต้องการมากน้อยขนาดไหน และรัฐบาลมีแผนที่จะจัดการกับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า หรือ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าต่ำไร้ประสิทธิภาพ อย่างไร เนื่องจากรัฐบาลต้องเอาเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายให้กับนายทุนโรงไฟฟ้าแบบฟรีๆ

นายวิโรจน์กล่าวว่า 2. รัฐบาลควรต้องชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่า จะบริหารจัดการราคาก๊าซธรรมชาติ ที่รัฐอุดหนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาโดยตลอดอย่างไร สามารถทำให้ราคาก๊าซที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้ามีราคาที่ถูกลงอย่างเป็นธรรมได้หรือไม่ 3. หากจะเอางบประมาณที่จะไปซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากเขื่อน ก็ควรต้องตอบคำถามของประชาชนทั่วประเทศก่อนว่าเอางบประมาณก้อนนี้ มาใช้อุดหนุนให้ประชาชนหันมาพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และขับเคลื่อนนโยบายที่ให้ประชาชนขายไฟฟ้าให้กับรัฐ ในรูปแบบ Net metering หรือ การคำนวณค่าไฟแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้ากับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ จะดีกว่าหรือไม่ เนื่องจากการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์เซลล์ นอกจากผลประโยชน์จะเกิดขึ้นทันทีกับประชาชนแล้ว ยังจะเกิดความยั่งยืนด้านพลังงานกับประชาชน ในทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจขนาดย่อม ได้มากกว่า ซึ่งรัฐบาลยังสามารถการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเป็นรูปธรรม และหากรัฐบาลส่งเสริมการลงทุนต่อยอด ก็จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่นำเอาพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไปผลิตไฮโดรเจน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย และพลังงาน ได้อีกด้วย

“หากซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน คนที่ได้ประโยชน์ คือนายทุนพลังงานหน้าเดิมๆ แต่ถ้าเอามาอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์เซลล์ ประโยชน์จะวิ่งตรงไปที่ประชาชนทันที ส่วนข้ออ้างที่บอกว่า ถ้าซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนเพิ่มเติม แล้วค่าไฟฟ้าจะถูกลง ก็อยากให้ รมว.พลังงาน ชี้แจงการคำนวณ และเปิดเผยให้กับประชาชนได้ทราบว่า ราคาค่าไฟฟ้าจะถูกลงได้อย่างไร จะถูกลงขนาดไหน เมื่อไหร่ ไม่ใช่เพียงอ้างว่าราคาจะถูกลง แล้วก็รีบไปเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากนายทุนหน้าเดิมๆ เพราะที่ผ่านมา ภาษีของประชาชนได้ถูกนำไปถลุงซื้อไฟฟ้าจากนายทุนพลังงานอย่างขาดสำนึกมาโดยตลอด รัฐบาลก็อ้างเสมอว่าซื้อแล้วจะทำให้ไฟฟ้ามีราคาถูกลง แต่ได้พิสูจน์แล้วว่า ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับภาระ ราวกับว่าถูกมาเฟียโรงไฟฟ้ามัดมือชกไถเงินอยู่ทุกเดือน มีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ และแพงกว่าหลายประเทศในอาเซียน” สส.พรรคก้าวไกล กล่าว


หาดบ้านดอนซึ่งเป็นพื้นที่สันทนาการของชุมชนเชียงของ แต่หาดนี้จะหายไปเมื่อมีการสร้างเขื่อนปากแบงโดยหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยยังไม่มีคำอธิบายให้ชุมชน

นายวิโรจน์กล่าวว่า การซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากเขื่อน โดยไม่ยอมจัดการกับค่าพร้อมจ่าย ที่รัฐต้องเอาเงินภาษีไปประเคนให้กับนายทุนพลังงาน ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยแม้แต่เมกะวัตต์เดียว แทบจะไม่เห็นโอกาสที่จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลงได้เลย แต่ที่ลูบปากเห็นโอกาสทองรออยู่ตรงหน้าแน่ๆ คือ ความร่ำรวย และความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของนายทุนโรงไฟฟ้าหน้าเดิมๆ

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนพลังงานน้ำในประเทศลาวนั้น การที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานบอกว่าเป็นพลังงานสะอาดไม่ถูกต้อง เพราะจากที่ผ่านมาผลกระทบจากเขื่อนในแม่น้ำโขงกว่า 20 ปี ทำให้เห็นว่าเขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด แต่เป็นพลังงานที่ทำร้ายโลก โดยมีผลกระทบมากมาย และไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เพราะพลังงานสะอาดต้องไม่ทำลายระบบนิเวศ ผู้คน และสิ่งมีชีวิต จึงจะถือว่าสะอาด

“การกล่าวว่าไฟฟ้าจากเขื่อนลาวเป็นพลังงานที่ถูก ลดต้นทุน ลดภาระให้ประชาชนก็ไม่ถูกต้อง ไม่ใช้เหตุผลที่แท้จริงของการที่จะเข้าไปซื้อไฟฟ้า แต่เป็นเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ของเรื่องกลุ่มกิจการพลังงานไฟฟ้า กับกลุ่มทุนในประเทศที่กินรวบ และดำเนินแผนพลังงานไฟฟ้าอย่างไม่มีธรรมาภิบาล และกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการเขื่อนในแม่น้ำโขงก็ไม่มีความเป็นธรรม และถูกต้องตามกระบวนการ”ครูตี๋กล่าว

ทั้งในรอบปีที่ผ่านไทยมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับ 3 โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงในลาว ได้แก่ ปากลาย หลวงพระบาง และปากแบง สำหรับโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงห่างจากพรมแดนไทย ที่ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงไม่ถึง 100 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลา 7 ปี ชาวบ้านได้ตั้งคำถามมาโดยตลอด ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำในฐานะกองเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้จัดเวทีตามข้อตกลงแม่น้ำโขงของ เอ็มอาร์ซี (MRC) ซึ่งมีข้อกังวลอย่างยิ่งจากประชาชนและภาควิชาการเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะน้ำเท้อ backwater effect ถึงแผ่นดินไทย ผลกระทบต่อตะกอนแร่ธาตุ พันธุ์ปลาและประมง โดยยังไม่มีการศึกษาหรือเอกสารที่อธิบายผลกระทบและมาตรการแก้ไขปัญหา

อนึ่งในวันที่ 9-10 ธันวาคม 2566 จะมีการจัดงานใหญ่ “ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง”ขึ้นที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เขียงของ จ.เชียงราย โดยกิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่เช้าวันที่ 9 ธันวาคม โดยการทำบุญและรำลึกถึงนักต่อสู้เพื่อแม่น้ำโขงที่ล่วงลับ อาทิ แสงดาว ศรัทธามั่น ,อุ้ยเสาร์ ระวังศรี ,จิตติมา ผลเสวกและไพศาล เปลี่ยนบางช้าง ช่วงบ่ายจะมีงานเสวนา 2 เวทีซึ่งมีทั้งเสียงสะท้อนจากชุมชนและมีผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ส.ส. รวมถึงตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย ร่วมเสนอมุมมองเกี่ยวกับแม่น้ำโขง หลังจากนั้นจะมีการแสดงศิลปะสาขาต่างๆและการดนตรีในช่วงค่ำ ที่น่าสนใจคือจะมีร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วมขายสินค้าท้องถิ่น ส่วนในช่วงเช้าวันที่ 10 ธันวาคม มีขบวนเรือคายัครณรงค์ปกป้องแม่น้ำโขง ก่อนปิดท้ายด้วยการคำประกาศเพื่อแม่น้ำโขง


ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง