เรื่อง: ทอฝัน กันทะมูล
‘อากาศ’ คือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต มนุษย์จะตาย หากขาดอากาศหายใจมากกว่า 4 นาที แต่สำหรับการหายใจเอามลพิษเข้าไป ยังไม่มีข้อมูลวิชาการชัดเจนว่า ‘กี่นาที’ จึงจะเสียชีวิต ถึงอย่างนั้นการสูดดมมลพิษทางอากาศเข้าไปจะส่งผลต่อระบบร่างกายแน่นอน เพียงแต่ละร่างกายจะตอบสนองอย่างไร เมื่อไหร่เท่านั้น
ปัจจุบัน มะเร็งปอดสามารถแยกชนิดจากสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้ว่าเป็นมะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ชนิด Squamous Carcinoma หรือชนิดที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ ชนิด Adenocarcinoma และในงานวิจัยของ รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยวิชามะเร็งวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าภาคเหนือของประเทศไทยเคยมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจากบุหรี่จำนวนมาก แต่ในขณะนี้มะเร็งปอดชนิดที่เกิดจากมลพิษนั้นมีสูงขึ้นมากกว่า รวมถึงการสูดดม PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าเดิม 2 เท่า และภาคเหนือยังครองตำแหน่งมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดสูงที่สุดในประเทศอีกด้วย
เหตุนี้จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเชียงใหม่ต้องตื่นตัวเรื่องปัญหามลพิษจากหมอกควันพิษ แต่มีเพียงช่วงต้นปีหรือฤดูฝุ่นเท่านั้นที่มีความกระตือรือร้น เพราะภาพถ่ายดอยสุเทพที่เลือนลาง
“แหล่งกำเนิดของฝุ่นเราก็สนใจอยู่หลายแหล่งและเป็นแหล่งสำคัญคือจากการจราจร ฝุ่นจากถนน การเผาชีวมวลและฝุ่นทุติยภูมิ ”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยข้อมูลจากการทดลองเก็บตัวอย่างฝุ่นในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ พบสัดส่วนสาเหตุของหมอกควัน PM2.5 ที่มากที่สุดในช่วงฤดูฝุ่น เกิดจากการเผาชีวมวล ส่วนช่วงนอกฤดูฝุ่นสาเหตุที่มากที่สุดเกิดจากการจราจร แม้ความเข้มข้นของฝุ่นพิษจะต่ำกว่า แต่หมายความว่าเราก็ยังสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 อยู่ในทุกวัน ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกฤดูฝุ่น
“ได้รับสารมลพิษพวกนี้เป็นระยะเวลาติดต่อกัน แม้จะเป็นช่วงเวลาเดียวของปี ก็มีโอกาสทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
ได้”
อย่างที่ทุกคนทราบ ปัญหาหมอกควันในเชียงใหม่มีมานาน หลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือและพยายามแก้ปัญหา รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามแผนนี้ได้ลงมาในระดับเทศบาลและอำเภอก็ต้องปรับเปลี่ยนตามพื้นที่ เมื่อได้มองปัญหานี้อย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่า ฝุ่นควันพิษไม่ใช่มลพิษทางอากาศเดียวที่คนเชียงใหม่ต้องเจอ มลพิษทางอากาศจากการเกษตร อุตสาหกรรมหรือการจราจรก็พบมากขึ้น ผ่านปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเมือง
พื้นที่รอบนอกเมืองเชียงใหม่ พื้นที่ที่ถูกมองข้าม
พื้นที่รอบนอกเมืองเชียงใหม่ เดิมเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและการเกษตร แต่แล้วผู้คนก็เริ่มตามหาพื้นที่สงบ ไม่วุ่นวายและอากาศดี พื้นที่นอกเมืองเชียงใหม่จึงถูกเลือกโดยคนต่างจังหวัด ต่างชาติหรือคนในเมืองเชียงใหม่เองให้เป็นถิ่นฐานใหม่ เมื่อหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมทยอยโผล่ขึ้นรอบเมือง มันคือสัญญาณการขยายตัวของเมือง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่กึ่งเมือง บางพื้นที่ก็จะติดป่า ติดพื้นที่ทางเกษตรหรือติดอุตสาหกรรมเดิม แผนผังเมืองและการจัดการภาครัฐก็ไม่ได้มีการเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อถึงฤดูฝุ่นหรือเกิดไฟป่าพื้นที่เหล่านี้ก็มักเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักจากฝุ่นควัน แต่ก็ไม่ได้มีเพียงเท่านั้น ยกตัวอย่างพื้นที่หนองควาย เคยมีการร้องเรียนปัญหากลิ่นจากฟาร์มหมูที่ตั้งอยู่ก่อน ทำให้ทางเทศบาลต้องเข้ามาจัดการปัญหากลิ่นและสุขอนามัยระหว่างฟาร์มและชุมชนหมู่บ้านจัดสรร ไม่นานมานี้หลังกัญชากลายเป็นสิ่งถูกกฏหมาย ชาวบ้านก็ร้องเรียกฟาร์มกัญชาที่เข้ามาตั้งอยู่ใกล้วัดและชุมชน เนื่องจากกลิ่น สิ่งเหล่านี้เองคือตัวอย่างบางส่วนของปัญหามลพิษทางอากาศที่มากกว่า PM2.5 ในพื้นที่เชียงใหม่ กล่าวคือมีทั้ง PM 2.5 และมลพิษอื่นๆ ปะปนด้วยเช่น สารเคมีที่เผารวมกับวัสดุทางการเกษตร ฝุ่นจากโรงงานขนาดเล็กที่ปะปนอยู่กับที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากไม่มีการวางผังเมือง
“ทางเทศบาลมีการรับเรื่องร้องเรียนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะชี้จุดลักลอบเผา หรือปัญหาที่ชาวบ้านเจอ เรื่องกลิ่นดอกกัญชา จากฟาร์มกัญชาที่กระทรวงอนุมัติได้แล้ว แต่ในเทศบัญญัติ ยังไม่มี เทศบาลก็ต้องทำการเจรจาและแก้ไขปัญหาให้ทั้งสถานประกอบการและชาวบ้าน ต้องเห็นใจทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน”
น.ส.กัญจนะ เหล่มนำชัย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม พูดถึงกรณีชาวบ้านหนองควายร้องเรียนกลิ่นจากโรงงานปลูกกัญชาในพื้นที่ใกล้ชุมชนและวัด เทศบาลจึงได้เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา เนื่องจากกลิ่นของดอกกัญชาทำให้เกิดความรำคาญและมีเทอร์พีนที่เป็นสารระเหย เมื่อสูดดมในปริมาณมากทำให้มึนหัว คอแห้งและบางคนอาจมีอาการแพ้ได้ อ้างอิงจากสถานการณ์พื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท ทำให้ปัญหาในชุมชนหนองควายทับซ้อนกับชุมชนและสถานประกอบการ แม้ความเจริญเข้ามาให้เศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
“เหมือนหายใจเอาทรายเข้าไป มันจะแสบ ข้างในของหูก็แปลก ๆ เย็น ๆ แสบ ๆ
ไม่ได้เกี่ยวกับหมอกควัน เพราะมาทุกวัน ไม่เว้นสักวัน มีทั้งวันที่ฝนตกและแดดออก”
“ตั้งแต่ปี 61 เริ่มมีการเผาและไม่ใช่การเผาแบบปกติธรรมดา เพราะกลิ่นมันแรง ไหม้ ๆ ฉุน ๆ ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์”
“มีอาการไอเรื้อรัง 3เดือน ไอแห้งๆ เข้าใจว่าเปนวัณโรค แต่ 6เดือนไม่หาย เลยได้ตรวจเพิ่มเติมและทราบว่าเป็นมะเร็งปอดชนิดที่รุนแรง”
เสียงจากคนในชุมชนหนองควาย ที่พบเจอมลพิษทางอากาศไม่ใช่แค่ฝุ่นควัน ในขณะที่มีการร้องเรียนพบปัญหาโดยชาวบ้าน เทศบาลจะรับเรื่องและได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้บุคลากรและอุปกรณ์จากทางจังหวัดที่มีมาตรฐาน เพื่อหาข้อตกลงระหว่างกลางอย่างประนีประนอม แต่ถ้าหลักฐานไม่เพียงพออาจทำให้การแก้ไขไม่สำเร็จได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม เทศบาลหนองควายได้อธิบายการทำงานรับเรื่องร้องเรียนปัญหาในพื้นที่ ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จะมีเครื่องมือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมงานกัน รวมไปถึงหาข้อสรุปการแก้ปัญหานั้น ๆ จะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานมากกว่า
“เชียงใหม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ รับเรื่องร้องเรียน แจ้งให้เขาเข้าไปตรวจวัดได้ ซึ่งถ้าแจ้งหน่วยงานท้องถิ่นระดับภาคอาจจะไวกว่า แต่ละที่มีเครื่องมือบางชนิด ตามแต่งบและการจัดซื้อ”
อาจารย์สมพร เสริมเมื่อถามถึงช่องทางการแจ้งเหตุเมื่อสงสัยว่าในพื้นที่อาจมีมลพิษทางอากาศ ยายสีตาสาหรือเยาวชนจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากแค่ไหน เมื่อไม่มีความรู้หรือเครื่องมือในการเก็บหลักฐานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับเรื่องร้องทุกข์ได้ ในบริบทนี้เอง อุปกรณ์ตรวจวัดทางวิทยาศาตร์ก็ราคาแพง 1 เครื่องวัดยังตรวจค่ามลพิษได้เพียงบางตัว อย่างน้อยต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรืออาจเขียนโครงการขอทุนได้ในนามของนักวิจัยจึงจะสามารถเก็บข้อมูลตัวร้ายในอากาศนี้ได้
อากาศพิษในชุมชนเมือง ทำให้เห็นอีกปัญหาของการวางผังเมืองที่พังแล้วพังอีก แม้จะมีการจัดส่วนของพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรและอุตสาหกรรมแยกออกจากกัน จังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการวางผังเมืองโดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของเมือง เมื่อคนเข้ามาท่องเที่ยว อยู่อาศัยและทำงานในเมืองมากขึ้น ไม่ได้มีการควบคุมการก่อสร้าง ระบบขนส่งสาธารณะไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาจึงขดกันเป็นปมใหญ่ สุดท้ายแล้วพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมก็มีหมู่บ้าน หอพักและห้างร้านเข้ามา พื้นที่นอกเมืองกลายเป็นรูปแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท
นอกจากนี้คือการเปลี่ยนแปลงพรบ.โรงงานใหม่ ปี 2562 ที่กำหนดความหมายในเชิงกฏหมายของโรงงานใหม่ ตัวชี้วัดเป็นจำนวนคนงานและขนาดแรงม้าของอุปกรณ์
แบบนี้จะทำให้ธุรกิจที่มีคนงานไม่ถึง 50 คน นับเป็นเพียงสถานประกอบการ แม้ว่าอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ก็สามารถตั้งในพื้นที่ชุมชนได้เพราะไม่ใช่โรงงาน อย่างนั้นหรือ ?
“ดอยสุเทพหมองศรี ประเพณีเผาป่า บุปผาชาติล้วนบ่งาม นามล้ำค่า AQI“
ข้อความด้านบนคงไม่เกินจริง หลังเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ผ่านไป ชาวเชียงใหม่คงต้องลุ้นกันต่อว่าฝุ่นควันพิษครั้งนี้จะทำให้ตัวเองไม่สบายอย่างไรบ้าง? ค่า AQI วันนี้จะถึงร้อยไหม? จะต้องเสียเงินค่าไฟหรือค่าหน้ากาก N95 อีกเท่าไหร่?
ซ้ำในปีพ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ ยังมีปรากฏการณ์เอลนีโญ รูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในแปซิฟิกเขตร้อน การเวียนกลับมาของภัยแล้งขั้นรุนแรงที่ทำให้อากาศแห้ง ร้อน ฝุ่นละเอียดเบาบางลงยากและอาจจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามทางจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มแผนการดำเนินเตรียมความพร้อมดูแล 7 ป่า ที่พบจุด Hot Spot จำนวนและการเผาซ้ำซาก แผนใหม่นี้ตั้งใจจะให้มีผู้ดูแลรับผิดชอบช่วยกันสอดส่องและควบคุมการเผาในพื้นที่ป่า โดยป่าที่สำคัญคือป่าสุเทพ-ปุย พื้นที่ที่ใกล้เมืองและกระทบกับสุขภาพ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวโดยตรง
ปล.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแผนการแก้ไขฝุ่น PM2.5 โดยการใช้รถฉีดพ่นละอองน้ำจะหยุดไป !! เพราะเป็นการเพิ่มปัญหามากกว่าการแก้ แม้แต่น้ำฝนก็ไม่สามารถทำให้ฝุ่นขนาดเล็กละเอียดตัวร้ายนี้เบาบางลงได้ มีเพียงกระแสลมและการควบคุมต้นเหตุเท่านั้นที่ช่วยได้
บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)