All Workers Matter แรงงานไทย-ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ความฝัน ความหวังถึงชีวิตที่ดีและการคุ้มครองในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียม

เรื่อง: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ /Activist Journalist จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

18 ธันวาคม วันโยกย้ายถิ่นฐานสากล ‘ถ้าหากแรงงานทุกคนไม่ว่าชาติใดได้รับการดูแลที่ดี คนไทยก็ต้องได้รับการดูแลที่ดีเช่นเดียวกัน’ การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นสิทธิเสรีภาพของมนุษยทุกคนที่สามารถเลือกที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและมีความปลอดภัย

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 และประกาศให้ทุกวันที่ 18 ธันวาคมเป็นวันผู้โยกย้ายถิ่นฐานสากล (International Migrants Day) เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน และได้การปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศทั่วโลก องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ให้ความหมายต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานว่า“ การเดินทางของบุคคลออกจากสถานที่อันเป็นภูมิลำเนา ทั้งโดยข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศ” (IOM GROSSARY ON Migration, 2019) ซึ่งตามนิยามดังกล่าว ผู้เขียนจึงเห็นว่าเราทุกคนล้วนแต่เป็นผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางจากต่างจังหวัดมาทำงานในกรุงเทพมหานคร การที่คนไทยไปทำงานต่างประเทศ การโยกย้ายไปหาโอกาสใช้ชีวิตในต่างแดน หรือในทางตรงกันข้ามแรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย แรงงานที่ย้ายถิ่นเข้ามาพำนักพักพิงเพราะปัญหาจากประเทศต้นทาง ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างชาตินั้นการเดินทางย้ายถิ่นมีเป้าหมายสำคัญ คือ การแสวงหาชีวิตที่ดีให้กับตนเองและครอบครัว ความหวัง ความฝันต่อชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยและมีสภาพความเป็นอยู่อาศัยที่ดีขึ้น

เสียงสะท้อนผู้โยกย้ายถิ่น-ในฐานะแรงงานข้ามชาติ – ผู้สร้างประโยชน์ให้ประเทศไทย

“แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคเกษตรไม่มีกองทุนประกันสังคม หรือแรงงานทดแทน พวกเราเป็นคนทำงานที่เสี่ยงสูงแต่หลักประกันความปลอดภัยในด้านการทำงาน หลักประกันสุขภาพ ทางรัฐสวัสดิการไม่มีอะไรให้คุ้มครองพวกเราในฐานะคนทำงาน แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายทุกส่วนต้องซื้อทั้งนั้น ทั้งจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ตามรัฐบาลกำหนดให้ การซื้อแต่ละครั้งเป็นการซื้อรายปี ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นต่อปีต่อคน และค่าตอบแทน ค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับแรงงานขั้นต่ำ ทำให้ไม่เพียงพอต่อชีวิต” จอ วีวี

แรงงานข้ามชาติที่ทำงานภาคเกษตร ไร่อ้อย
/ภาพ: คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) สาขาแม่สอด

จอ วีวี (นามสมมติ) แรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ ที่ทำงานภาคเกษตร ระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ตนเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองในประเทศเมียนมาอันไม่สงบจึงจำเป็นที่จะต้องหาพื้นที่ปลอดภัยและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ครอบครัวพวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเริ่มต้นจากการย้ายถิ่นเข้ามาในฐานะที่เป็นผู้ลักลอบเข้าเมือง หรือที่มักจะได้ยินคำว่า ‘การเดินทางด้วยช่องทางธรรมชาติ’ คำเหล่านี้คือการเคลื่อนย้ายของคนที่ไม่มีเอกสารที่ถูกต้องและมักจะต้องทำงานหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในประเทศไทย

จอ วีวี เล่าว่า ส่วนใหญ่แรงงานกลุ่มนี้จะเริ่มเข้ามาเป็นแรงงานในภาคเกษตร และจะต้องรอช่วงเวลาที่หน่วยงานภาครัฐมีมติคณะรัฐมนตรีให้พวกเขาสามารถลงทะเบียนแรงงานได้ จึงจะสามารถขยับขยายเปลี่ยนอาชีพเพื่อมีรายได้ที่ดีขึ้นและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป พวกเขาไม่อยากเป็นคนไม่มีเอกสาร แต่การขึ้นทะเบียนเอกสารมีขั้นตอนที่ยาก ซับซ้อน และค่าใช้จ่ายสูง ทำให้แรงงานหลายคนกลายเป็นคนที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง และมีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิแรงงานและถูกผลักให้เปราะบางอย่างยิ่งยวดในประเทศไทย

แรงงานข้ามชาติที่ทำงานภาคเกษตร มีสภาพการทำงานที่เสี่ยงต่ออันตรายและมักจะได้ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ากฎหมาย
/ภาพ: คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) สาขาแม่สอด

แม้รัฐบาลไทยจะมีการดำเนินการหรือมีประกาศให้แรงงานข้ามชาติหรือแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กระบวนการขึ้นทะเบียนไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาไทยที่ต้องใช้ในการติดต่อประสานงาน การเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐ สิ่งนี้ทำให้ผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่ต้องการทำงานในประเทศไทยจำนวนมากต้องพึ่งพิงบริษัทนำเข้าแรงงาน หรือนายหน้า เพื่อดำเนินการให้ตนเองมีเอกสารตามกฎหมายที่ถูกต้อง ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนนั้นสูงกว่ากฎหมายกำหนดหลายเท่า เช่น หากทะเบียนกำหนดค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 – 6,000 บาทต่อคน แรงงานข้ามชาติจะต้องไปให้บริษัทนำเข้าหรือนายหน้าดำเนินการติดต่อหน่วยงานรัฐ โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 – 20,000 บาทต่อคน และค่าใช้จ่ายจำนวนมากเหล่านี้ ก็ไม่ได้มีหลักประกันต่อสิทธิชีวิตแรงงาน และบางครั้งนำไปสู่การสร้างปัญหาที่ซับซ้อน เช่น ปัญหาหนี้สินกับนายจ้าง และนำไปสู่ความรุนแรงด้านอื่น ๆ ตามมา

“แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคเกษตรและแรงงานที่ทำงานในบ้าน ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประกันสังคม หรือกองทุนเงินทดแทน พวกเราเป็นคนทำงานที่มีความเสี่ยงสูงแต่หลักประกันความปลอดภัยในด้านการทำงาน หลักประกันสุขภาพ ทางรัฐสวัสดิการไม่มีอะไรคุ้มครองพวกเราในฐานะคนทำงานเลย แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายทุกส่วนต้องซื้อทุกอย่าง ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นต่อคน ต่อปี แต่สวนทางกับค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับแรงงานขั้นต่ำ” จอ วีวี

สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติ และผู้ติดตาม ที่มาอยู่ในประเทศไทย
/ภาพ: คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) สาขาแม่สอด

จอ วีวี ยกเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิแรงงานและลดทอนความเป็นคนเพียงเพราะเป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะสามารถพูดภาษาไทยได้และอยู่ในประเทศไทยกว่า 10 ปี  เธอเผชิญกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงเวลานั้นแรงงานข้ามชาติจำนวนมากทั่วประเทศได้รับผลกระทบและเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานก่อสร้างและงานเกษตร พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับหลักประกันด้านความอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

และแม้แรงงานหลายคนที่เป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม แต่ก็ถูกเลือกปฏิบัติจากภาครัฐ เช่น การไม่ได้รับเงินเยียวยา มาตรา 33 จากกฎหมายประกันสังคม การกักโรคในพื้นที่ทำงานห้ามคนเข้าออกจากไซต์งานก่อสร้าง หรือไปถึงขั้นการสร้างอคติต่อผู้โยกย้ายถิ่นว่าเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อระบาด สร้างความเกลียดชัง ความกลัวต่อแรงงานข้ามชาติในสังคมไทย ซึ่งผลกระทบทั้งหมดทำให้ครอบครัวของแรงงานข้ามชาติที่อาศัยในประเทศไทยที่มีทั้งผู้สูงอายุ เด็กเล็กต่างได้รับความลำบากอย่างยิ่ง ต้องอาศัยกันอยู่อย่างแออัด ไม่มีรายได้ และการสนับสนุนยาและอาหารพวกเขาอย่างทันท่วงที มีหลายคนที่เสียชีวิตไปอย่างไร้มนุษยธรรมในช่วงเวลาดังกล่าว

ข้อเสนอของ จอ วีวี ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิและการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยคือ แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในหลาย ๆ ลักษณะประสบอุบัติเหตุในไทย ไม่มีกองทุนเงินทดแทน ประกันสุขภาพที่เราซื้อทุกปีก็ไม่สามารถรักษาหรือเยียวยาให้กับแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้เลย เพราะอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บที่จ่ายได้ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติในภาคเกษตร รัฐบาลยังไม่อนุญาตให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด เพราะรัฐบาลมองว่าแรงงานภาคเกษตรไม่ใช่แรงงานต่อเนื่อง เป็นเพียงแรงงานตามฤดูกาล หรือการดำเนินการให้นายจ้างจ่ายค่าแรงให้กับลูกจ้างตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ และควรช่วยเหลือแรงงานทุกคนไม่ว่าชาติใด นอกจากนี้อยากให้มองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ การมองเราเป็นคนย้ายถิ่นฐานที่มาอยู่ในไทยแล้วมีศักยภาพ จะทำให้เห็นเรื่องผู้ติดตาม หรือบุตรของแรงงานข้ามชาติไม่ใช่ปัญหาที่รัฐมองว่าเป็นภาระ เพราะพวกเขาสามารถพัฒนาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพได้ในทุกส่วน แต่ปัจจุบันระเบียบที่สร้างผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ คือ เรื่องสุขภาพและการศึกษา เช่น การให้บุตรของแรงงานข้ามชาติอายุ 6 ปี ขึ้นไปซื้อประกันสุขภาพของโรงพยาบาลในราคาเท่ากับผู้ใหญ่ หรือการเข้าไม่ถึงหรือหลักสูตรการศึกษาที่ไม่มีได้ส่งเสริมศักยภาพของลูกหลานแรงงานข้ามชาติให้มีทักษะในอนาคต

การยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย – ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน – แรงงานข้ามชาติ เป็นเรื่องเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือเวลาเราพูดถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติ ก็จะมีคนถามเราว่าไม่คิดถึงแรงงานไทยบ้างเลยเหรอ พูดแต่ถึงสิทธิแรงงานต่างชาติ ทำไมเราไม่ดูแลคนของเราก่อน แล้วค่อยไปดูแลคนอื่น การแบ่ง us/others มันชัดเจนมากนะ แต่คำตอบ คือ เราต้องเชื่อว่าถ้าหากแรงงานข้ามชาติได้รับการดูแลที่ดี คนไทยก็ต้องได้รับการดูแลที่ดีเช่นเดียวกัน เราไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติต่อใคร” ดร.ประภาศรี เพชรมีศรี

ดร.ประภาศรี เพชรมีศรี นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และเป็นอดีตผู้แทนไทยคนแรกในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ดร.ประภาศรี เพชรมีศรี นักวิชาการ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนภาพรวมของ 4 ปัจจัยหลัก ที่มีแนวโน้มในการโยกย้ายถิ่นฐานมากขึ้นในทั่วโลก คือ 1. ปัญหาการเมือง 2. ปัญหาเชิงประวัติศาสตร์ 3. ปัญหาเชิงวัฒนธรรรม-สังคม เช่น อุดมการณ์ทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาวะ ฯลฯ นำไปสู่การทารุณกรรมหมู่ต่อกลุ่มชนที่แปลกแยก และ 4. ปัญหาทางเศรษฐกิจ คือความรุนแรงที่ทำให้คนในหลายพื้นที่ถูกสภาวะบีบบังคับให้ต้องโยกย้ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างชีวิตที่ปลอดภัยและมั่นคงมากขึ้น

อย่างกรณีที่ชัดเจนของการโยกย้ายถิ่นฐานจากข้อมูลของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มในประเทศไทย ได้แก่ 1. ผู้หนีภัยการสู้รบ (ผภร.) จำนวน 77,721 (90,000) คนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่ง ใน จ. ราชบุรี กาญจนบุรี ตาก และแม่ฮ่องสอน 2. ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) จำนวน 6,000 –7,000 คนในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ปัจจุบันมี 5 แห่งใน จ.แม่ฮ่องสอน 3. ผู้ลี้ภัยในเมือง อย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ เช่น พัทยา แม่สอด และเชียงใหม่ เป็นต้น เป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มาจากกว่า 47 ประเทศ จำนวน 4,983 คน และกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ที่รัฐจัดให้ จำนวน 5,000 –10,000 คน ผู้ลี้ภัยที่มีความเปราะบางต่อความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น อุยกูร์ โรฮีนจา เกาหลีเหนือ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีสถานะทางกฎหมาย และมีมิติความเปราะบางสูง เช่น สถานะเข้าเมืองผิดกฎหมายและไม่สามารถพัฒนาสถานะได้ และเสี่ยงต่อการถูกจับกุมหากออกนอกพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต

ภาพพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และศูนย์ผู้อพยพผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displace Person)
/ภาพ: คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) สาขาแม่สอด

ความยากจนเนื่องจากไม่มีสิทธิทำงาน ขาดการศึกษาในระบบไทยและไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับสูง และนอกจากนี้ประเทศไทยนั้นมีผู้โยกย้ายถิ่นฐานอีกกลุ่มที่เป็นแรงงานข้ามชาติ โดยกลุ่มเหล่านี้เป็นผู้ที่มีเอกสารที่ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ผู้โยกย้ายถิ่นที่เป็นแรงงานข้ามชาติและได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักรมีมากกว่า 2.74 ล้านคน  โดยมีส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ที่มีจำนวนมากกว่า 2.49 ล้านคน และทำงานในภาคการผลิตที่สำคัญของประเทศไทย เช่น ทั้งงานก่อสร้าง ภาคเกษตร กิจการต่อเนื่องการเกษตร เสื้อผ้า อุตสาหกรรมอาหาร และพลาสติก และการบริการพื้นฐาน เช่น การขายส่งและการขายปลีก การรับใช้ในบ้าน ฯลฯ

“อยากให้มีการนิรโทษกรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐาน แรงงานข้ามชาติที่มากกว่าครึ่งและอาศัยอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมายที่สาเหตุเกิดจากเรื่องเอกสารการไม่ได้ขึ้นทะเบียนคนเข้าเมืองอย่างถูกต้อง เช่น กลุ่มคนผู้ที่ลี้ภัยในไทยที่พำนักในประเทศไทยมากว่า 30-40 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐานและไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่สามได้นั้น พวกเขาควรถูกพัฒนาความสามารถและเด็ก ๆ ที่เป็นผู้ติดตามหรือเกิดในประเทศไทยควรสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นแรงงานทดแทนให้ประเทศไทยได้” ดร.ประภาศรีกล่าว

ดร.ประภาศรี ชี้ว่าความไม่เข้าใจในประเด็นของสิทธิการโยกย้ายถิ่นฐานของคนไทยและมิติทางด้านสิทธิมนุษยชน  สามารถสังเกตได้จากผลสำรวจในปี ค.ศ. 2016 ที่สื่อมวลชนได้จัดทำขึ้นและยังเป็นภาพสำคัญที่ชี้ว่าการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนเป็นผลจากอคติของคนไทยที่มีต่อแรงงานเพื่อนบ้าน โดยผลสำรวจดังกล่าว ได้ชี้ให้เห็นว่า คนไทยเพียง 50% เห็นด้วยที่ประเทศไทยควรรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน คนไทย 75% เห็นว่าแรงงานข้ามชาติไม่ควรได้รับค่าตอบแทนเท่าคนไทยหรือควรได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าคนไทย และผลสำรวจสุดท้าย มีคนไทยเพียง 15% ที่จะให้ความช่วยเหลือหากเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต่อหน้าต่อตา อีก 85% ไม่ให้ความช่วยเหลือ

ข้อเสนอสำคัญของ ดร.ประภาศรี ในประเด็นการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และแรงงานข้ามชาติ โดยเชื่อมกับสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจ และการก้าวเข้าสู่ ‘สังคมสูงอายุ’ (Aging Society) ของประเทศไทย ที่มีการคาดการณ์โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลงจาก 43.26 ล้านคนในปี พ.ศ. 2563 เป็น 36.5 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583 ซึ่งทางออกของปัญหาดังกล่าว สอดคล้องกับการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ การพัฒนากำลังแรงงานในประเทศโดยไม่แบ่งแยกแรงงานด้วยเงื่อนไขของเชื้อชาติมีความจำเป็นในอนาคต และข้อสำคัญที่ต้องแก้ไขคือต้องเริ่มจากหน่วยงานในระดับนโยบายของไทย เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ที่ต้องทำงานร่วมกัน เพราะปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือหอการค้าแห่งประเทศไทยก็ออกมาตอบรับเป็นเสียงเดียวกัน เพราะปัจจุบันในส่วนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กิจการหลายประเภทแรงงานข้ามชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนแล้ว หากจะพัฒนาแผนเพื่อรองรับสังคมสูงวัยและเศรษฐกิจ การพัฒนานโยบายระดับประเทศในเรื่องผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และการพัฒนากำลังแรงงานอย่างเป็นระบบต่อแรงงานทุกคน จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากสถานการณ์ในอนาคตเรื่องการขาดแคลนแรงงานและปัญหาสังคมสูงวัยได้

ข้อเสนอภาคประชาสังคม รัฐต้องคุ้มครอง – เคารพและไม่ควรละเมิดสิทธิหลักสิทธิมนุษยชน

ภาพงาน International Migrant Day (IMD) ที่ บ้านแม่ตาวใหม่ แม่สอด จังหวัดตาก
/ภาพ: คลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด ภายใต้มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) สาขาแม่สอด

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 เครือข่ายแรงงานสิทธิแรงงาน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Human Rights and Development Foundation – HRDF), มูลนิธิมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานและกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation – MAP), Arkan Workers Organization (AWO), Yong Chi Oo workers Organization (YCOWA)และ เครือข่ายส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Rights Promotion Working Group – MRPWG) ภาคีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับประชากรข้ามชาติในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเรื่องการคุ้มครองทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ยังต้องมุ่งเน้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนี้

  1. รัฐต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นไปตามหลักการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และกำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปีในอัตราที่สอดคล้องกับระดับค่าครองชีพโดยคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อ รวมอีก 3 เปอร์เซ็นต์ของอัตราค่าจ้าง และต้องเป็นค่าจ้างแบบถ้วนหน้าเท่ากันทั่วประเทศ
  2. รัฐต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบและเป็นนโยบายระยะยาว 5 – 10ปี ที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติ เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอนุญาตให้อยู่ในประเทศ
  3. ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO และดำเนินการต่อเนื่องหลังรับรองอนุสัญญา ดังนี้
    • 3.1 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และดำเนินการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเร่งด่วนเพื่อให้แรงงานทุกภาคส่วนมีอิสระในการรวมตัวจัดตั้ง หรือเข้าร่วม และการต่อรองกับนายจ้างด้วยการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่กระทบต่อการจ้างงาน
    • 3.2 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้านและดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบต่าง ๆ  เพื่อส่งเสริมสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้านโดยเร็วที่สุด และต้องมีกลไกเพื่อคุ้มครองลูกจ้างแรงงานทำงานบ้านให้ได้รับสิทธิ และสวัสดิการ โดยเฉพาะลูกจ้างทำงานบ้านที่ทำงานในบริเวณที่พักอาศัยของนายจ้างจะต้องได้รับการจัดหาที่พักและอาหารที่สะอาด ถูกหลักสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยและทำให้แรงงานได้พักผ่อนเพียงพอและมีศักยภาพในการทำงาน
  4. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม และให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จ ชราภาพได้ทันที
  5. รัฐต้องรับรองสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานที่มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันและสร้างความคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างแท้จริง เช่น แรงงานแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ แรงงานพนักงานบริการ แรงงานสร้างสรรค์ แรงงานทำงานบ้าน แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี แรงงานข้ามชาติ เป็นต้น โดยต้องแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน
  6. รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายในการแรงงานจ้างงานตามมาตรา 64 เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยไม่มีการเลือกปฎิบัติ 
  7. รัฐบาลต้องส่งเสริมและสร้างหลักประกันการเข้าถึงการจ้างงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความคุ้มครองแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยกำหนดมาตรการการจ้างงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ไม่แบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นมิตรต่อแรงงานผู้มีความหลากหลาย เช่น ห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ และนำพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
  8. ยกระดับการตรวจแรงงานของพนักงานตรวจแรงงานให้มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อแรงงานข้ามชาติ รวมถึง คำนึงถึงหลักการเคารพหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights)
  9. ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศเมียนมาส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น จึงขอให้รัฐบาลยุติการกักขังและบังคับส่งกลับทั้งแรงงานและผู้อพยพจากประเทศเมียนมา รวมถึงพิจารณา เรื่องสถานะที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การอนุญาตให้อยู่อาศัย ทำงาน เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการเดินทาง โดยเร่งด่วน

บทความนี้เป็นผลงานผู้เข้าร่วมโครงการ Activist Journalist ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสื่อประชาธรรม (Prachatham Media Foundation) และสำนักข่าวลานเน้อ (LANNER News Media) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Citizen Accountability for Local governance Media (CALM)

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง