ฮ่วมฮอมปอย ฮ้อยฮอยเก่า : เล่าประวัติและพัฒนาการ “เมืองเชียงของ” และ “ผู้คนเมืองแห่งน้ำของ” 

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

แม่น้ำคือชีวิตและมิใช่เป็นเพียงรางน้ำหรือท่อส่งน้ำแต่อย่างใด ทว่าความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ส่วนหนึ่งได้มีการตักตวงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างแม่น้ำเกิดมีขึ้นผ่านรูปแบบของเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า การระเบิดแก่งหินอันเป็นถิ่นพำนักอาศัย การวางไข่หรืออนุบาลของสัตว์น้ำเพื่อการเดินเรือคมนาคมขนส่งสินค้า สิ่งที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นและมีการดำเนินไปอย่างไม่ใยดีธรรมชาติและผู้คนซึ่งการตระหนักรู้ต่อความสำคัญที่มีต่อปัญหาความเสื่อมโทรมของ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีวัฒนธรรมของผู้คนที่สัมพันธ์อยู่กับลุ่มน้ำของนั้น คือที่มาของขบวนเรือคายัก เรือหางยาวและเรือโดยสารที่ค่อยๆลอยไหลล่องตามลำน้ำของจากบริเวณบ้านห้วยเม็งมาจนถึงบริเวณโฮงเฮียนแม่น้ำของในช่วงโมงยามเช้าราวช่วงสายๆ ของวันหยุดรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

ผู้คนและเครือข่ายภาคประชาชนทั้งที่อยู่ในขบวนเรือและเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์อยู่ริมฝั่งตลิ่ง ต่างก็ล้วนมีพันธกิจทางใจในการร่วมรณรงค์เพื่อปกป้องแม่น้ำของในฐานะสายธารและน่านน้ำขนาดใหญ่ ที่เลาะริน หลั่งไหลและหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน ตลอดจนสิ่งมีชีวิตนานาสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วทั้งลำน้ำ ผู้คนเหล่านี้ มีการรวมตัวขึ้นมาเป็นเครือข่ายอันมีที่มาจากหลากหลายอาชีพที่เป็นทั้งหมอ ครู นักธุรกิจ พ่อค้า ผู้นำ ชุมชน พระสงฆ์ และตัวแทนชุมชน ภาคส่วนต่างๆเหล่านี้ได้เข้ามาเกาะเกี่ยวสัมพันธ์เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งในรูปแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และร่วมกันปกป้องแม่น้ำของทั้งยังได้มีการดำเนินกิจกรรมผ่านการจัดเวทีชุมชนและเวทีวิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาในลุ่มน้ำของเพื่อนำเสนอความเห็นหรือสิ่งที่เป็นเสียงภาคประชาชนให้ได้ยินไปยังหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในนามขององค์กรภาคประชาสังคมที่ชื่อว่ากลุ่มรักษ์เชียงของขึ้นในราวปลายทศวรรษที่ 2530 ภายใต้หลักคิดในการขับเคลื่อนองค์กรที่ว่า“เคารพในธรรมชาติ ศรัทธาในความเท่าเทียมของมนุษย์” ปัจจุบันเครือข่ายที่ว่านี้ได้มีครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว อดีตข้าราชการครูและครูใหญ่โรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่อำเภอเชียงของที่ได้ลาออกจากราชการมาเป็นผู้ก่อตั้งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานและยังเป็นประธานของกลุ่มรักษ์เชียงของที่เคลื่อนไหวในนามของลูกหลานแม่น้ำของ เช่น โครงการรักษ์ปลานึกรักษ์เชียงของ โครงการปลูกป่า รณรงค์ต่อการระเบิดแก่ง แม่น้ำของ การเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม ยกร่างแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาเมืองเชียงของหนึ่งเมืองสองแบบ รวมทั้งเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ ใน อำเภอเชียงของและอำเภอข้างเคียง เป็นต้น นอกจากนี้พวกเขายังสร้างเครือข่ายมวลมิตรที่มาจากหลากหลายลุ่มลำน้ำ เช่น แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำยม แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ ได้มารวมกันเพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ และสานพลังความร่วมมืออย่างมีไมตรีมิตรอีกด้วย

เวลากว่า 3 ทศวรรษที่แม่น้ำโขงต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่เขื่อนแห่งแรกสร้างขวางกั้นสายน้ำที่ตอนบน จวบจนปัจจุบันมีเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงในจีนเรียงรายกันถึง 13 เขื่อน รวมถึง 3 ปีก่อน เขื่อนไซยะบุรีก็ถูกสร้างกั้นสายน้ำโขง และต่อมาคือ เขื่อนดอนสะโฮง นี่จึงเป็นประโยคท่อนแรกๆอันทรงพลังของคำประกาศ  แม่น้ำโขงที่ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้วประธานกลุ่มรักษ์เชียงของได้อ่านในเช้าของงาน “ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง” ที่จัดขึ้น ณ โฮงเฮียนแม่น้ำของ บ้านหัวเวียง ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นกิจกรรมช่วงท้ายๆภายหลังการเสร็จสิ้นงานดนตรี ศิลปะ เสวนาการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขง สิทธิของชุมชน สิทธิของแม่น้ำ ตลอดจนการทำบุญเพื่อร่วมรำลึกถึงสหายผู้รักและเคยร่วมต่อสู้เพื่อแม่น้ำของที่ล่วงลับไปก่อนหน้าอย่าง แสงดาว ศรัทธามั่น จิตติมา ผลเสวก ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง เป็นต้น

การใช้ชื่องานว่า “ฮอมปอย” ยังสื่อสะท้อนนัยยะของการมารวมกัน ของทุก ๆ คนที่รักและศรัทธาต่อแม่น้ำของ ทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่งาน องค์ความรู้ และกิจกรรรมของโฮงเฮียนแม่น้ำของ ในการพัฒนาแม่น้ำของไปสู่ความสมดุลของแม่น้ำของอีกด้วย มากไปกว่านั้นยังเป็นงานรวมกันของพี่น้องชาวบ้าน เครือข่ายคนรักแม่น้ำของที่จะได้มาร่วมทบทวนการดำนเนินงานที่ผ่านๆมาและงานที่จะพัฒนาไปข้างหน้า ผู้เขียนเห็นว่านี่เป็นฉากสำคัญของการเมืองภาคประชาชนใน “เมืองชายแดน” เล็กๆอย่างเมืองเชียงของ เมืองแห่งมนต์เสน่ห์ที่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมเกิดขึ้นมาอย่างแข็งขัน ตลอดจนมีการสานพลังร่วมกับกับเครือข่ายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

แม่น้ำของเป็นทั้งน้ำคำและทำนองของภาษาผู้คนในท้องถิ่นแถบนี้ช่างมีความยิ่งใหญ่และชวนให้ใหลหลง การสืบค้นและคว้าเอาประวัติศาสตร์เมืองชายแดนแห่งนี้มาเล่าสู่กันฟังก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะนำพาผู้อ่านได้ย้อนกลับไปสำรวจและสัมผัสมนต์เสน่ห์เมืองชายแดนเชียงของที่ว่านี้ว่ามีพัฒนาการและสาระสำคัญอย่างไรทำไม “คนเชียงของ” ซึ่งเชียง ที่แปลว่าเมือง ของ ที่แปลว่าแม่น้ำของหรือแม่น้ำโขงที่แปลความหมายได้ลำลองต่อ “คนเชียงของ” ได้ว่าเป็น “คนแห่งเมืองแม่น้ำของ” ถึงได้มี “ความรักษ์และผูกพัน” กับสายธาราอันเป็นมหานทีแห่งชีวิตที่มีคุณค่าสำหรับพวกเขายิ่งนัก

เอกสารประวัติศาสตร์ท้องถิ่นระบุถึงเชียงของว่าเป็นเมืองที่ถูกสถาปนาขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 1800 หากแต่คำบอกเล่าจากเอกสารของขุนภูนพิเลขกิจหรือเจ้าหนานบุษรศ จิตตางกูร  ลูกเขยเจ้าเมืองเชียงของนั้น ได้กล่าวถึงต้นกำเนิดเมืองเชียงของว่ามีที่มาจากการสถาปนาโดยเจ้าอริยะ บุตรของเจ้าฟ้ามาละ เชื้อสายเจ้านายเชียงแสนที่ได้กวาดต้อนเอาผู้คนจากเมืองเชียงแสนให้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยแล้วจึงตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “เชียงของ” ภายหลังจากที่เชียงแสนได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เจ้าอริยะจึงพาผู้คนอพยพไปอยู่ที่เมืองน่าน จวบจนพระเจ้าเมืองน่านได้แต่งตั้งให้เจ้ารำมะเสนซึ่งเป็นบุตรของเจ้าอริยะพาผู้คนให้กลับขึ้นมาบูรณะและฟื้นฟูเมืองเชียงของอีกครั้ง จึงทำให้เชียงของถูกจัดวางไว้เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองน่านในการดูแลผลประโยชน์และจัดเก็บบรรณาการจากปลายสุดเขตตอนบนของนครรัฐน่าน (รัฐน่านกินพื้นที่ข้ามอาณาบริเวณมาจนถึงพื้นที่บางส่วนทางตะวันออกของจังหวัดเชียงรายในปัจจุบันเช่นเขตเมืองเชียงคำ เขตเมืองเทิงและเมืองเชียงของ) ทั้งยังเป็นเมืองท่าทางการค้าในแถบแม่น้ำโขงตอนบนที่สามารถติดต่อลงไปยังเมืองหลวงพระบางได้ ขณะที่เอกสารและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเชียงของต่างก็ระบความสัมพันธ์ที่มีอยู่อย่างแนบแน่นระหว่างเชียงของกับเมืองน่านที่ดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนสำเนียงเสียงการพูดการจาที่ห้วนและวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่ละม้ายคล้ายคลึง “อย่างชาวน่าน” ยิ่งนัก

ความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่เชียงของได้มีมาตั้งแต่ก่อนการเกิดขึ้นของรัฐชาติสมัยใหม่ในช่วงทศวรรษที่ 2300 การมาของเจ้ารำมะเสนจากเมืองน่านที่กล่าวไว้ในก่อนหน้านั้น ได้มีการกวาดต้อนเอาผู้คนทั้งคนเมือง คนลื้อ และคนขมุ จากเมืองน่านมาตั้งถิ่นฐานที่เชียงของ (นิวัฒน์ ร้อยแก้ว และ คณะ, 2547) ขณะเดียวกันก็ได้มีกลุ่มคนเมืองจากเมืองน่านและเมืองแพร่อีกส่วนหนึ่งที่ได้หลบหลี้หนีความยากจนข้นแค้นเข้ามาเพื่อแสวงหาที่ทำกินในพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองเชียงของจนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมหลักของเชียงของ ยิ่งไปกว่านั้น การที่เชียงของมีสภาพภูมิศาสตร์และที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง ตลอดจนอยู่ในพื้นที่ระหว่างหัวเมืองใหญ่ในอนุภูมิภาค เช่น สิบสองปันนา หลวงพระบาง และน่าน จึงมีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่เป็นไปเพื่อการค้าขายแลกเปลี่ยนหรือหนีความทุกข์ยากและโรคระบาดข้ามพื้นที่ที่ไม่มีเส้นแบ่งกั้นเขตแดนมาสู่พื้นที่ดังกล่าว (ประสิทธิ์ ลีปรีชา และคณะ, 2558) ขณะที่หลายๆชุมชนในพื้นที่เมืองเชียงของเองก็ได้มีผู้คนชาติพันธ์อื่นๆ อย่างเช่นคนลื้อซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนาก็ได้อพยพหนีการรุกรานของจีนและเคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณชายแดนลาวและจีนประมาณปี พ.ศ. 2428 จากนั้นจึงข้ามฝั่งมาอยู่บริเวณบ้านหาดไคร้และบ้านใหม่ทุ่งหมด (อำเภอเชียงของในปัจจุบัน) ภายหลังจึงได้แยกย้ายกันเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ บ้านห้วยเม็ง บ้านท่าข้าม (ศรีดอนชัย) และย้ายกลับไปที่บ้านโป่งผาและบ้านท่าฟ้า สปป.ลาว (โสภิดา วีรกุลเทวัญ 2548  ; sappasook, 2019)

ต่อมาราวช่วงทศวรรษที่ 2430 ดินแดนล้านนาฝั่งตะวันออกที่มีพื้นที่ติดต่อกับแม่น้ำโขงต้องเผชิญปัญหาว่าด้วยการขยายอิทธิพลของฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม การคุกคามทางการเมืองจากลัทธิจักรวรรดินิยมที่ว่านี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นกับเมืองเชียงของ ภายหลังวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 แม้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้พื้นที่พระนครหลวงอย่างกรุงกรุงเทพ หัวเมืองจันทบุรีและเมืองตราด รวมถึงพื้นที่อ่าวไทยบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาเอาก็ตาม แต่ผลของวิกฤตการณ์ที่ว่ามาได้ทำให้สยามเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ดังนั้นการลากเส้นเขตแดนระหว่างสยามและฝรั่งเศสที่มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนจึงเกิดผลให้เมืองเชียงของครึ่งหนึ่งในอีกฝั่งของแม่น้ำโขงหรือฝั่งซ้ายนั้นตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ในขณะที่ครึ่งหนึ่งในฝั่งขวาก็อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม “ชาวเชียงของ” ในขณะนั้นจึงเป็นทั้งพลเมืองในบังคับของฝรั่งเศสและพลเมืองสยาม โดยสถานะความเป็นเมืองเมืองเดียวแต่สองฝ่ายฟ้าที่ว่านี้ มีปัญหาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์เงี้ยวบุกเชียงของใน พ.ศ. 2445 เมื่อนายทหารนอกเครื่องแบบที่รัฐบาลสยามส่งมาจัดการปัญหาเงี้ยวก่อจลาจลกลุ่มหนึ่งได้ไปเที่ยวที่เมืองห้วยทรายแล้วถูกทหารฝรั่งเศสจับและถูกคุมขังเนื่องจากไม่มีหนังสือประจำตัว ต่อมาไม่กี่วันหลังจากนั้นมีชาวบ้านห้วยทราย บ้านสะโต๊ะ บ้านป่าอ้อย บ้านต้นม่วง และบ้านผาคำ อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงข้ามเอาผักและอาหารมาขายที่เชียงของประมาณ 80 คน ปรากฏว่าคนกลุ่มนี้ก็ไม่มีหนังสือประจำตัวทำให้ถูกจับเช่นกัน ปัญหาที่ว่านี้ได้นำมาสู่ข้อพิพาทที่เป็นจุดเริ่มต้นให้รัฐบาลสยามและฝรั่งเศสออกหนังสือประจำตัวแก่ผู้ที่จะข้ามไปมาระหว่างเชียงของและห้วยทราย ทั้งยังจุดการเริ่มต้นในการควบคุมผู้คนและประชากรที่เคลื่อนย้ายไปมาระหว่างสองฟากฝั่งลำน้ำโขง (สมศักดิ์ ลือราช, 2529 ; จักรกริช สังขมณี, 2561)

หลังสิ้นสุดเหตุการณ์จลาจลเงี้ยวปล้นเมืองได้ทำให้เชียงของซึ่งเดิมอยู่ในภายใต้แขวงเชียงคำที่ขึ้นตรงกับเมืองน่านก็ได้ถูกจัดสรรพื้นที่การปกครองแบบใหม่และได้ถูกเปลี่ยนให้ไปขึ้นตรงต่อเมืองพายัพเหนือใน พ.ศ. 2449 ด้วยเหตุผลเพื่อความสะดวกแก่การบังคับบัญชา เพื่อป้องปรามอำนาจและอิทธิพลของบรรดาเจ้านายท้องถิ่นที่อาจจะเอาใจออกห่างรัฐบาลสยามและหันไปเข้ากับฝรั่งเศส งานของเนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว (2559) กล่าวว่า ในช่วงเวลา นั้นรัฐบาลสยามใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการดำเนินการกับเมืองสำคัญอย่างเมืองเชียงของซึ่งเป็นพื้นที่หรืออาณาบริเวณชายขอบของรัฐชาติที่มีความล่อแหลมต่อการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายขึ้นมาซึ่งรัฐบาลสยามได้มีการประกาศให้ยุบเมืองเชียงของเป็นอำเภอเชียงของ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2453 โดยกระบวนการดังกล่าวนี้ได้ส่งผลให้มีการยุบเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองและเปลี่ยนให้เป็นนายอำเภอในฐานะข้าราชการของสยาม ส่งผลให้เชียงของ กลายเป็นอำเภอชายแดนของรัฐบาลสยามโดยสมบูรณ์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านรัฐศาสตร์แล้ว รัฐบาลสยามยังมีความพยายามในการสร้างความทรงจำร่วมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวให้แก่พลเมืองในพื้นที่เชียงของ โดยการสถาปนาอำนาจเชิงพื้นที่ผ่านสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ในการสร้างภาพแทนให้รับทราบต่ออำนาจของรัฐในพื้นที่ชายแดน เช่น การสร้างที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจภูธรขึ้นมาในปี 2455 ด่านพรมแดนหรือด่านศุลกากรในปี พ.ศ. 2481  ด่านตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2494 และโรงเรียนประถมศึกษาในปี พ.ศ. 2464 เป็นต้น (Sappasook, 2019) องค์กรภาครัฐที่กล่าวมานี้ ต่างก็มีบทบาทอย่างมากในการกำกับควบคุมสถานการณ์และความเป็นไปในหลากหลายมิติของเมืองชายแดนเล็กที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสมัยใหม่และมีผลต่อวิถีปฏิบัติต่างๆในชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่ชายแดน

อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตประจำวันของผู้คนสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงก็ยังคงข้ามลอดรัฐไปมาทำการเกษตรกรรมและเป็นแรงงานรับจ้างตามโรงบ่ม ใบยาสูบ โรงสีไฟ แรงงานในสัมปทานป่าไม้ ในพื้นที่เมืองเชียงของและหัวเมืองใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่หนีความทุกข์ยากและโรคภัยใช้เจ็บมาสู่พื้นที่ของเมืองเชียงของอีกด้วยซึ่งการอพยพโยกย้ายอย่างต่อเนื่องของผู้คนหลายๆชาติพันธ์มาสู่พื้นที่เมืองเชียงของนี้ได้เป็นที่มาในการเกิดขึ้นของชุมชนชาติพันธ์หลายชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้ปัจจุบันเชียงของมีชุมชนคนขมุ 3 ชุมชนหลักๆ ได้แก่ บ้านห้วยกอก บ้านห้วยเย็น และบ้านทุ่งทราย (บางส่วน) เช่นเดียวกับการอพยพของคนลาวจาก หลังพระบางมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปากอิง บ้านตอนมหาวัน และบ้านหัวเวียงซึ่งในปัจจุบันคนในชุมชนยังมีการติดต่อข้ามไปมา ระหว่างญาติพี่น้องสองฟากฝั่งแม่น้ำโขงอยู่เป็นประจำ (นิวัฒน์ ร้อยแก้วและคณะ, 2547 : 132)

ขณะเดียวกันความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงยุคสงครามเย็นก็เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนเข้ามาอยู่ในเมืองเชียงของ เช่น การ อพยพของคนจีนฮ่อกองพล 93 ซึ่งเป็นอดีตทหารจีนคณะชาติที่แตกทัพจากการต่อสู้พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานชั่วคราวในพื้นที่ซึ่งได้ถูกบังคับย้ายไปอยู่ที่บ้านเวียงหมอก ตำบลห้วยซ้อในปัจจุบัน (นิวัฒน์ ร้อยแก้ว และคณะ, 2547 : 140, โสภิดา วีรกุลเทวัญ 2548) เช่นเดียวกับการอพยพลี้ภัยของผู้คนหลากชาติพันธุ์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาวช่วงปี พ.ศ. 2518-2525 กลุ่มคนเหล่านี้ได้หนีข้ามแม่น้ำโขงจากเมืองห้วยทราย ประเทศลาวมายังฝั่งเมืองเชียงของ ภายหลังผู้อพยพบางส่วนถูกส่งไปประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา แคนานา และ นิวซีแลนด์ และบางส่วนก็เลือกที่จะตั้งถิ่นฐานในฝั่งไทยหรือบางส่วนเลือกกลับไปฝั่งลาว เนื่องจาก กลัวถูกหลอกหรือมีญาติผู้ใหญ่ที่แก่เฒ่าต้องดูแล (โสภิตา วีรกุลเทวัญ, 2548)

การสิ้นสุดของสงครามเย็นที่ติดตามมาด้วยนโยบายการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนโยบายด้านการต่างประเทศแรกๆที่มีต่อภูมิภาคอินโดจีนในต้นทศวรรษ 2530s นี้ จึงเป็นที่มาของการเปิดจุดผ่านแดนระหว่างเมืองเชียงของกับเมืองห้วยทรายที่มีขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2532 ก่อให้เกิดการค้าขายและการข้ามแดนของผู้คนระหว่างพื้นที่สองฟากฝั่งให้เกิดขึ้นมาอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ขณะที่รัฐบาลเองก็ได้มีการลงนามข้อตกลงความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน ด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และการบริการ สนับสนุนการจ้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ของ ประชาชนให้ดีขึ้นในปี พ.ศ. 2534 ที่นับได้ว่าสร้างโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศที่เร่งเร้าให้เกิดการพัฒนาแม่น้ำของให้มีขึ้นมั้งในรูปแบบของการขุดลอกและระเบิดเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ตลอดจนการสร้างและขยายถนนหนทางเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการค้าระหว่างยูนนาน เชียงแสน เชียงของ ปากแบ่ง และหลวงพระบาง (Sangkhamanee, 2009) รวมถึงการปรับปรุงถนนสาย R3A และ ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทยลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางและการ ขนส่งจากเชียงของข้ามไปยังห้วยทราย บ่อหาร บ่อเห็น สปป.ลาว และไปต่อยังคุณหมิง ประเทศจีน เมืองเชียงของจึงถูกประกาศให้เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในปี2558 โดยมุ่งเน้นพัฒนาให้เป็นเมืองศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้า (Logistic city) และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรครบวงจรและอุตสาหกรรมทั่วไปซึ่งทำให้เชียงของกลายมาเป็นเมืองที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น กลุ่มเกษตรกรรม อุปกรณ์เกษตร ประมงเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เชียงของเกิดขึ้นและดำเนินอยู่ท่ามกลางกระแสทุนนิยมข้ามชาติที่คืบคลานเข้ามามีบทบาททั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ การค้า โครงสร้างพื้นฐาน และความหลากหลายของผู้คนที่ทิ้งปัญหาไว้ให้กับผู้คนในพื้นที่อย่างมากมายทั้งในแง่ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ การรุกล้ำพื้นที่ตลิ่งแม่น้ำโขงประเภทสวนกล้วยและยางพารา การระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินเรือพาณิชย์ เป็นต้น ขณะที่ด้านเศรษฐกิจชุมชนก็ก่อให้เกิดปัญหาการสูญเสียที่ดินว่าครึ่งหนึ่งที่ถูกเปลี่ยนมือไปสู่นายทุน เกษตรกรก็ถูกเปลี่ยนจากเจ้าที่ดินมาเป็นผู้เช่าที่ดิน ตลอดจนปัญหาที่เกิดจากการเปิดสะพาน และการย้ายด่านศุลกากร ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระดับท้องถิ่น เช่น ร้านค้าส่ง โรงแรมขนาดเล็ก สามล้อรับจ้าง เรือรับจ้างข้ามฟาก เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อบ่งชี้ต่อเมืองชายแดนที่ดำเนินไปภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ที่อ้างโอกาสหรือตัวเลขทางเศรษฐกิจและการลงทุนเป็นตัวหลอกล่อใยดีต่อนิเวศวิทยาทางธรรมชาติและนิเวศวิทยาทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นเมืองเชียงของจากเดิมที่เป็นเมืองท่าการค้าขนาดเล็กในอดีตของรัฐตอนในอนุภูมิภาคที่ผู้คนในท้องถิ่นสามารถข้ามไปมาหาสู่ ค้าขาย แต่งงาน หรือทำ กิจกรรมร่วมกันภายใต้ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของผู้คนสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง แล้วถูกเปลี่ยนมาสู่การเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนมุ่งส่งเสริมการค้าการลงทุนภายใต้การจัดการและควบคุมของรัฐและทุนขนาดใหญ่ซึ่งก็ส่งผลทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจน “ผู้คนเมืองแห่งน้ำของ” ที่มีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมดำรงอยู่คู่ควบกับ “ลำน้ำของ” บางส่วน ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทันและถูกผลักให้เป็นคนชายขอบของการพัฒนา

อ้างอิง

  • จักรกริช สังขมณี. (2561). Limology : ชายแดนศึกษากับเขต-ขันธ์วิทยาของพื้นที่ใน/ระหว่าง. กรุงเทพฯ : ศยาม.
  • เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. (2559). เปิดแผนยึดล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน. 
  • นิวัฒน์ ร้อยแก้วและคณะ. (2547). เชียงของ เวียงแก่น : พัฒนาการของสังคมชายขอบจากอดีต สู่การปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง:เชียงราย.โครงการอบรมและวิจัยเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีและชาติพันธุ์.สำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย (สกว.).
  • สมศักดิ์ ลือราช. (2529). ความสำคัญของเมืองแพร่และน่านในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453). ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร
  • โสภิดา วีรกุลเทวัญ. (2548). เชียงของ: ชาติพันธุ์และการค้าที่ชายแดน. รายงานวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  • Sapphasuk, W. (2019). Cultural Citizenship Construction in Thailand – Lao PDR Border School. Doctoral Dissertation in Education. Chiang Mai: Graduate School, Chiang Mai University.

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง