Burning is not Destroying. เผา ไม่เท่ากับ ทำลาย

“คนส่วนน้อยอย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวจากป่า”

สุริยา ตั้งตัว ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ที่ได้รับฟังผู้ที่มีอำนาจสั่งการบริหารจัดการไฟป่า กล่าวหลังร่วมหารือแนวทางแก้ปัญหาไฟป่า ผู้ใหญ่บ้านคือผู้ที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านในพื้นที่มากที่สุด จึงรับรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านกับการใช้ประโยชน์จากป่าเป็นอย่างดี

(สุริยา ตั้งตัว ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่)

สุริยา กล่าวว่า การเก็บเห็ดป่าขายสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านจำนวนไม่น้อยในทุกๆ ปี เห็ดที่เป็นที่นิยมคือ เห็ดถอบ เก็บได้เพียงปีละครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนเท่านั้น เมนูที่นิยมนำไปปรุงอาหารได้แก่ แกงคั่วเห็ดถอบ แกงเห็นถอบใส่น้ำย่านาง ผัดเห็ดถอบ ราคาเห็ดเริ่มต้นที่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน เห็ดถอบจะขึ้นในบริเวณใต้ดิน ใต้ต้นไม้ ซึ่งจะมีใบไม้ปกคลุมหน้าดินเป็นจำนวนมากทำให้ยากต่อการหา วิธีการจัดการแบบฉบับชาวบ้านคือการเผาเชื้อเพลิงที่ปกคลุมหน้าดินให้สะดวกต่อการเก็บเห็ด และช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิง รวมทั้งทำแนวกันไฟป้องกันไม่ให้ไฟลุกลาม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมไฟป่าไม่ว่าจะเป็นระดับตำบล อำเภอ จังหวัดรวมทั้งหน่วยงานเอกชน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ไฟเพื่อกำจัดชีวมวลใบไม้ กิ่งไม้ที่ร่วงทับถมกันเป็นจำนวนมากในทุกปี เนื่องจากพื้นที่ป่าตำบลแม่หอพระเป็นป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ที่จะมีการผลัดใบพร้อมกันทั้งป่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ไฟเป็นตัวช่วยสำคัญในการกำจัดเชื้อเพลิงและลดความรุนแรงของไฟป่า

พื้นที่หมู่ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกปกคลุมไปด้วยป่าผลัดใบ เต็งรัง เบจพรรณ ที่มีปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลสูงซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยก่อให้เกิดไฟป่ารุนแรง ซึ่ง ‘ไฟ’ คือ กำลังสำคัญในการช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิง และยังสามารถเพิ่มความหลากหลายในระบบนิเวศน์อีกด้วย  วิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแม่หอพระ อำเภอแม่แตง มีการอาศัยประโยชน์จากป่ามาอย่างยาวนาน ‘ป่าชุมชน’ คือพื้นที่ที่ชาวบ้านทุกคนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ และร่วมกันดูแลรักษาเพื่ออนุรักษ์ให้ป่าคงอยู่อย่างยั่งยืน เพราะป่าคือชีวิตเมื่อป่าถูกทำลาย เท่ากับว่าชีวิตก็ถูกทำลายลงไปด้วย

เห็ดถอบ เห็ดตับเต่า เห็ดไข่ห่าน คือเห็ดป่าที่มีระยะเวลาขึ้นที่แตกต่างกัน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน แต่ละวันจะได้ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลว่ามีกำลังเก็บได้มากน้อยเพียงใด ราคาในการว่างขายขึ้นอยู่กับความยากง่ายและปริมาณที่สามารถหามาได้ ในขณะเดียวกันก็มีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางรับเห็ดไปขายต่อในเมือง การเก็บเห็ดขายถือเป็นรายได้หลักในการเลี้ยงชีพของชาวบ้าน

เมื่อไฟยังคงจำเป็นจึงต้องมีการควบคุมการใช้ไฟให้เหมาะสม แอพพลิเคชัน ‘ไฟดี’ (FireD) หรือ ระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล (Fire Management Decision Support System) ที่ทางคณะนักวิจัยที่นำโดย ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคเพื่อการศึกษาด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชัน ‘ไฟดี’ ขึ้นในปี 2564 ที่สามารพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ภายในพื้นที่ภาคเหนือล่วงหน้าได้ 3-5 วัน นอกจากนี้ยังสามารถแสดงข้อมูลดัชนีการระบายอากาศ เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจของทางคณะทำงานระดับจังหวัด ในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติคำขอสิทธิ์ในการใช้ไฟจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หรือ admin ระดับตำบลที่ได้รับมอบหมายสิทธิ์จากเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ ในการบันทึกข้อมูลคำร้องขอในการใช้ไฟของชาวบ้านในพื้นที่แต่ละตำบลลงในระบบคำร้องของแอพพลิเคชัน ‘ไฟดี’ (ชยา วรรธนะภูติ, 2566; น. 203-206)

การชิงเผา กับ มาตรการห้ามเผา

“ไฟใช้ได้ แต่ใช้ให้เป็น” การชิงเผา (early burning) หรือการเผาแบบควบคุม (prescribed burning) คือ การร่วมกันวางแผนจัดการควบคุมไฟในระดับชุมชน บันทึกการใช้ไฟลงระบบไฟดี (FireD) โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวล และลดความรุนแรงของไฟป่า

การชิงเผา (early burning) หรือการเผาตามกำหนด (prescribed burning) เป็นตัวช่วยในการลดปริมาณเชื้อเพลิงจากทุ่งหญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ ที่นี้ความรุนแรงของไฟป่าก็ลดลง ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นควันก็ลดลงไปด้วย และยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ส่งเสริมการเจริญเติบโตของของพืชพันธ์ จากกรณีศึกษา ‘การจัดการไฟป่าและหมอกควัน: บทเรียนจากการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของพหุภาคีในจังหวัดเชียงใหม่’ เผยแพร่ใน วารสารสังคมศาสตร์ 27 (2) : 138-143 (2558) ที่ได้ทำการศึกษาการจัดการไฟป่าในพื้นที่ป่าเต็งรังของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่า อำเภอจอมทอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิจัย ที่ได้ทดลองทำการลดไฟป่าร่วมกันในปี พ.ศ.2555-2558 ที่อำเภอจอมทอง โดยเริ่มจากตำบลสบเตี๊ยะ จำนวน 10 หมู่บ้านร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องวางแผนวิธีการชิงเผาร่วมกับการทำแนวกันไฟ การลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่า และการดับไฟป่า โดยมีขั้นตอนการทำงานชิงเผาคือ (1) การกำหนดขอบเขตพื้นที่ชิงเผา ด้วยการเดินเท้าสำรวจของตัวแทนแต่ละหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า (2) การประเมินความพร้อมในการลดปริมาณเชื้อเพลิงจากอัตราการร่วงของใบไม้ (ร้อยละ 60-70) (3) การจัดลำดับเวลาผ่านการประชุมหารือร่วมกัน โดยเริ่มจากหมู่บ้านที่มีความพร้อมก่อน (4) การชิงเผาตามวันที่กำหนด แต่ละหมู่บ้านนัดหมายชาวบ้านมาร่วมกันจุดไฟเผาเชื้อเพลิงตามแปลงที่ได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งทำแนวกันไฟป้องกันการลุกลาม และแบ่งคนคอยควบคุมดับไฟที่ลุกลามออกนอกแปลง (5) การประเมินผล พบว่าจำนวนไฟป่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบในปี พ.ศ.2550 และ 2553 การลุกลามของไฟป่าอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ ด้วยเหตุนี้ในปี  พ.ศ.2557-2559 ได้มีพัฒนาการจัดการไฟป่าจากเดิม 10 หมู่บ้าน เป็น 39 หมู่บ้าน ขนาดพื้นที่ป่าเต็งรังจำนวน 11,357 ไร่ เป็น 49,072 ไร่ ผลปรากฏว่าจำนวนจุดความร้อน (hot spot) ที่พบเจอเกิดขึ้นขณะทำการชิงเผาเพียงเท่านั้น และไม่พบหลังจากการชิงเผาอีก และในขณะเดียวกันแนวโน้มของการดับไฟป่าลดลงจากช่วงปีที่ไม่มีการชิงเผา นอกจากนี้การชิงเผาก่อให้เกิดผลกระทบด้านหมอกควันน้อย เพราะกระแสของลมในช่วงต้นฤดูไฟป่าช่วยพัดควันไฟไปทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ที่เป็นเทือกเขา แม้ลูกไม้จะได้รับความเสียหายบ้าง แต่พบว่าลูกไม้ส่วนใหญ่รอดตายร้อยละ 66 และไม้หนุ่มยังคงมีเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องวัดได้จากขนาดเส้นรอบวงและความสูง

ตำบลแม่หอพระปกคลุมไปด้วยป่าเต็งรัง และแน่นอนว่าจะพบปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลจำนวนมาก การชิงเผาจึงเป็นประโยชน์อย่างมากในการลดความรุนแรงของไฟป่า และเพิ่มการหมุนเวียนธาตุอาหารในดินเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่า การชิงเผาจะเกิดได้ต้องอาศัยการวางแผนร่วมกันในหลายหน่วยงานทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ต้องกำหนดพื้นที่และช่วงเวลาที่จะทำการเผา มีแผนเตรียมความพร้อมที่รัดกุมประกอบด้วยการเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ กำลังคน และแนวกันไฟที่ร่วมมือกับชาวบ้านภายในพื้นที่ แล้วจึงจองวันเวลาและระบุขนาดบริเวณที่ต้องการจะเผาแจ้งให้กับ admin ประจำตำบลเพื่อทำการบันทึกลงแอปพลิเคชัน ‘ไฟดี’ (FireD)  เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดจะพิจารณาสภาพอากาศมีความเหมาะสมกับการเผาหรือไม่จึงจะอนุมัติในเวลาต่อมา

“การอนุมัติบางครั้งก็อนุมัติให้หมดเลย บางทีก็จะใช้เวลา บางทีก็อนุมัติไปแล้ว แล้วก็ยกเลิกทีหลังก็มี เขาก็ประเมินสถานการณ์และทีนี้มันก็ไม่สอดคล้องกับแผนที่วางไว้”

สุริยา กล่าว หลังจากประสบปัญหาการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามแผน เพราะถูกยกเลิกการชิงเผาเนื่องด้วยค่าดรรชนีการระบายอากาศที่ไม่เหมาะสม สอดคล้องกับปัญหาไฟป่าและปัญหาฝุ่นควันที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ รัฐได้กำหนดมาตรการห้ามเผา (zero burning) ถูกบังคับใช้ควบคู่กับการนับจำนวณจุความร้อนในช่วงเวลาที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีปริมาณมาก ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.-30 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อลดมลพิษจากไฟป่าหมอกควัน เป้าหมายคือการลดจุดความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ โดยมีดาวเทียมทำหน้าที่ตรวจจับความร้อน 

ด้าน ปริศนา พรหมมา เจ้าหน้าที่สภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ได้กล่าวว่า “ช่วงเวลาที่อนุญาตให้ชิงเผาได้ในช่วงธันวา มกรา มันเป็นไปไม่ได้เพราะใบไม้มันยังไม่แห้ง ช่วงเวลาที่มันทำได้คือกุมภา มีนา แต่มันก็เป็นช่วงประกาศห้ามใช้ไฟ” เมื่อไม่สามารถเผาในเวลาดังกล่าวได้จึงนำไปสู่การลักลอบเผาที่ไม่สามารถควบคุมได้ในท้ายที่สุด มิหนำซ้ำความรุนแรงของไฟป่ายังทวีคูณเพิ่มขึ้นเนื่องจากการสะสมของเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ในการดับไฟป่าเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น อาศัยเพียงการทำแนวกันไฟไม่เพียงพอโดยเฉพาะพื้นที่ยากต่อการเข้าถึง

“ความคิดผมก็คือ ต้องเอาภาคพื้นที่เป็นหลัก อย่างดอยโตนทางหมู่บ้าน ทางผู้ใหญ่ ทางอุทยานที่อยู่ใกล้ อย่างบริเวณป่าดอยโตนเป็นป่าเต็งรัง เขาจะรู้ว่าสมควรจะเผาตอนไหน ไม่จำเป็นต้องชิงพร้อมกันทุกที่… แต่ว่าก็ต้องมีเรื่องของการควบคุมไปด้วย”

โฉลม วงศ์กลุ่ม เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประจำอยู่ที่วนอุทยานแห่งชาติน้ำตกบัวตองและน้ำพุเจ็ดสี กล่าวเสนอแนะแนวทางในการชิงเผา ในการช่วยเพิ่มช่องว่างระหว่างพื้นที่ในป่า ฉลอการลุกลามเมื่อเกิดไฟป่า และเพิ่มโอกาสในการเข้าไปดับไฟในพื้นที่ยากต่อการเข้าถึง ระบบสั่งการจากบนลงล่างกลายเป็นข้อจำกัดในการดำเนินงานตามแผนที่ว่างไว้ จำนวนจุดความร้อนกลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการควบคุมไฟ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่าและพื้นที่ทำการเกษตรที่ต้องใช้ไฟถูกมองว่าคือสาเหตุของฝุ่นควัน ผู้มีอำนาจมองข้ามเรื่องปากท้องและแต่งตั้งตนเองเป็นผู้สั่งการ ขาดความยืดหยุ่นกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่และเวลาที่หลากหลาย การพิจารณาแก้ไขปัญหาจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงปัญหาจึงยังคงอยู่

สถานการณ์ความรุนแรงของฝุ่นควัน PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้ติดอันดับ 1 ของเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดของโลกในวันที่ 13 เม.ย. 66 ที่ผ่านมา ชาวจังหวัดเชียงใหม่ทั้งในพื้นที่นอกเมืองและในเมืองต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เป็นบทเรียนของการจัดการไฟป่าที่สะท้อนให้เห็นช่องโหว่ของการทำความเข้าใจปัญหาในการจัดการไฟ มองข้ามเรื่องปากท้องโยนความผิดกันไปมา ความแตกต่างของแต่ละพื้นที่และเวลาพึงได้รับการยืดหยุ่นที่เหมาะสม และก่อนที่ฤดูฝุ่นควันจะกลับมาอีกครั้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่อย่างไร ทุกคนจะพึงตระหนักถึงสาเหตุของการเกิดฝุ่นได้มากน้อยเพียงใด เมื่อฝุ่นไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะการเผาป่าเพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนล้วนแล้วเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5

อ้างอิง

-ชยา วรรธนะภูติ, ‘การเมืองเรื่องจุดความร้อน กับความไม่แน่นอนเชิงพื้นที่และเวลาของระบบ “ไฟดี” (FireD):  กรณีศึกษาการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2565,’ วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 35 (มกราคม-มิถุนายน 2566): 203-206.

-ศุทธินี ดนตรี, “การจัดการไฟป่าและหมอกควัน: บทเรียนจากการจัดการอย่างมีส่วนร่วมของพหุภาคีในจังหวัดเชียงใหม่,” วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 27, 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558): 138-143.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง