ตามรอยวิจัยไทบ้าน ประสบการณ์นอกห้องเรียนฮิมน้ำของ

วันที่ 20-21 ธันวาคม 2566 โครงการห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) ปีที่ 2: ชายแดนศึกษากับการเรียนรู้บนฐานชุมชนสู่การสร้างสังคมสร้างสรรค์ โดย ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดกิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชนชายแดนริมน้ำโขง ณ บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กิจกรรมครั้งนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมจากสาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

กิจกรรมวันแรก (20 ธันวาคม) ในช่วงเช้าเป็นการบรรยายประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของบ้านห้วยลึก ที่ชุมชนดั้งเดิมเป็นชาติพันธุ์ลาวอพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง โดย ชวลิต บุญทัน ตัวแทนชุมชนได้บอกเล่าถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาติพันธุ์ลาวที่ยังคงสืบทอดและพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของชาวชุมชนบ้านห้วยลึก และได้กล่าวว่า “รุ่นพวกผมที่อายุ 40 ปีลงมาจะเหลือแค่พูดภาษาลาวได้ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปยังพูดและเขียนภาษาลาวได้ บางคนที่อายุมากกว่า 80 ปีจะเข้าใจภาษาฝรั่งเศสด้วย” นอกจากนี้ตัวแทนชุมชนและผู้นำชุมชนได้ร่วมกันบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตจากเดิมที่อาชีพหลักคือประมงไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ชาวชุมชนสามารถเข้าถึงการบริการนอกพื้นที่ได้สะดวกขึ้น

“เมื่อก่อนถนนเส้นนี้ไม่ได้ดีเหมือนตอนนี้ โดยเฉพาะหน้าฝนยิ่งเดินทางลำบาก สมัยผมเรียนมัธยมที่โรงเรียนเวียงแก่น ที่ตอนนี้เหมือนจะใกล้ ๆ แต่เมื่อก่อนนั้น (ราวก่อนปีพ.ศ. 2540 – ผู้เขียน) เด็กบ้านห้วยลึกนี่ขึ้นชื่อเลย ถ้าหน้าฝนแล้ววันไหนฝนตก รถจะติดหล่ม เสื้อนักเรียนพวกผมจะเลอะไปด้วยโคลน เพราะต้องช่วยเข็นรถ แล้วก็กว่าจะไปถึงโรงเรียนก็เกือบ 10 โมงเช้า ขนาดออกจากบ้านตอน 6 โมงเช้านะ แต่สมัยนี้ถนนดีแล้ว เด็ก ๆ รุ่นลูกพวกผมไปโรงเรียนง่ายขึ้น” อภิเชษฐ์ คำมะวงศ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยลึก ขยายความเปรียบเทียบให้นักศึกษาเห็นภาพระหว่างชุมชนบ้านห้วยลึกในอดีตและปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้นจากประสบการณ์ตรงของตนเอง

ช่วงบ่าย นักศึกษาแบ่งกลุ่มไปสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ วิถีเกษตรเศรษฐกิจ วิถีประมง วิถีเกษตรและประมงริมฝั่งโขง และวิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ลาว โดยนักศึกษามีโจทย์สำคัญคือการค้นหาเรื่องราว ร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับวิทยากรชุมชน และสร้างสื่อที่สะท้อนความเป็นชุมชนบ้านห้วยลึก จากมุมมองและประสบการณ์ของนักศึกษา และนำเสนอต่อทั้งชุมชนและสาธารณะในกิจกรรมการคืนข้อมูลชุมชน โดยนักศึกษาแต่ละกลุ่มได้มีโอกาสทดลองใช้ชีวิตตามวิถีของชาวชุมชน เช่น การกรีดยาง ดูแลสวนส้มโอ เก็บส้ม ยกยอหาปลาริมฝั่งโขง ดูแลแปลงผักริมน้ำโขง และลงเรือติดตามดูพรานปลาหาปลาด้วยวิธีไหลมอง และปิดท้ายช่วงบ่ายด้วยการไป ‘แก่งผาได’ จุดสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านภาคเหนือของไทย ก่อนจะไหลเข้าประเทศลาว โดยตลอดเส้นทางถนนจากหมู่บ้านถึงแก่งผาได นักศึกษาได้เห็นลักษณะภูมินิเวศของแม่น้ำโขง เนื่องจากเป็นหน้าแล้งเกาะแก่งต่าง ๆ จึงโผล่ขึ้นมาให้เห็นชัดขึ้น ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดได้เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักศึกษาที่มาจากนอกพื้นที่ และยังสร้างความมั่นใจให้กับวิทยากรชุมชนในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของตนเองให้กับคนรุ่นใหม่อีกด้วย

ช่วงเย็น วิทยากรชุมชนได้พานักศึกษานั่งเรือ ไปเยี่ยมยาม ชมวิถีชีวิตพี่น้องชาวลาวริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของแม่น้ำโขง ที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร อาชีพ และเป็นเส้นทางสำหรับติดต่อค้าขายและเยี่ยมเยียนกันของผู้คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำ และปิดท้ายช่วงค่ำโดยกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนได้แสดงการขับร้อง พร้อมเครื่องดนตรีประกอบเต็มวงสไตล์ชาติพันธุ์ลาวบ้านห้วยลึก

ในวันที่สองของกิจกรรม (21 ธันวาคม) นักศึกษาได้เรียนรู้วิถีอาหารชาติพันธุ์ลาวสูตรเฉพาะบ้านห้วยลึก ได้แก่ ปลาแม่น้ำโขงทอด น้ำพริกน้ำผัก โอด(ใบบอน) และผักลวก ซึ่งวัตถุดิบหลักของทุกเมนูเป็นทรัพยากรที่หาได้ในชุมชน โดยมีแม่เตียด หรือ แพงประไพ บุญยัง สมาชิกกลุ่มแม่บ้านที่มาทำอาหารให้นักศึกษาพร้อมกับแนะนำวิธีการรับประทานเมนูต่าง ๆ ของบ้านห้วยลึก รวมถึงสอนนักศึกษาช่วยกันทำอีกหนึ่งเมนูพิเศษสูตรบ้านห้วยลึก “อั่วมะเผ็ด” หรือห่อนึ่งพริกหวานยัดไส้หมู และปิดท้ายด้วยกิจกรรมการทดลองชิมรสชาติโดยไม่บอกที่มาของอาหาร (Blind test) เพื่อเป็นการให้กลุ่มแม่บ้านและกลุ่มผู้สูงอายุที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ฟังความคิดเห็นนักศึกษาที่มาจากนอกพื้นที่ รวมทั้งได้ทดลองชิมผลิตภัณฑ์ของชุมชนอื่น ๆ ด้วย โดยเมนูที่นำมาใช้ในการทดลองครั้งนี้คือ ไส้อั่ว และปลาส้ม

แม้ว่ากิจกรรมครั้งนี้จะมีเวลาให้นักศึกษาได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวชุมชนบ้านห้วยลึกเพียง 2 วัน 1 คืน แต่ประสบการณ์ที่ได้รับนั้นหลากหลาย ผ่านการร่วมทำกิจกรรมกับผู้รู้โดยตรง และนักศึกษาได้สะท้อนความรู้ที่ได้รับจากโครงการนี้ผ่านผลงานสื่อที่จะนำเสนอในกิจกรรมคืนข้อมูลชุมชนซึ่งเป็นกิจกรรมสุดท้ายของโครงการ

เนื้อหาและภาพ โดย: ออมสิน บุญเลิศ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

พื้นที่สื่อสาร สังคมประชาธิปไตย ชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง