125 ปี สยาม – ล้านนา (2442-2567): สยาม-ล้านนา ก่อนจะถึงปี 2442

ปีนี้ 2567 ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับล้านนามาถึงวาระครบรอบ 125 ปีที่น่าสนใจยิ่งนัก ล้านนาตกเป็นประเทศราชของสยามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317 ในยุคของพระเจ้าตากสิน และต่อมาถึงยุครัตนโกสินทร์ ผู้ปกครองของล้านนาคือราชวงศ์กาวิละ ได้รับการสถาปนาโดยสยาม ที่ผ่านมา เราไม่ได้เห็นเอกสารที่ศึกษาความพยายามของผู้นำล้านนาที่ใส่ใจในปัญหาสถานะประเทศราชของตน ไม่มีใครคิดถึงประเด็นนั้น หรือเพราะว่าไม่มีหลักฐานใด ๆ ปรากฏ นั่นจึงเป็นคำถามที่ต้องค้นคว้าต่อไป

สำหรับสยาม-รัฐชายทะเลนั้น การเคลื่อนไหวทั้งภายในและรอบ ๆ นั้นช่างคึกคักต่อเนื่องน่าเร้าใจยิ่งนัก

สยามในยุคต้นรัตนโกสินทร์ย่อมรับรู้ว่าภัยการรุกรานของชาวตะวันตกเริ่มแล้วตั้งแต่ ค.ศ. 1786 (พ.ศ.2329) เมื่ออังกฤษยึดเอาเกาะหมาก (ปีนัง) ไปจากสยาม, พ.ศ. 2336 อังกฤษเข้ายึดครองลังกา ต่อจากนั้น ในปี พ.ศ. 2367 (ค.ศ. 1824) ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ 6 อย่างในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ 1. อังกฤษเข้ายึดครองสิงคโปร์ 2. เจ้าฟ้ามงกุฎทรงออกบวช 3. ในหลวงรัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต 4. รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ 5.ส่งผลให้เจ้าฟ้ามงกุฏซึ่งออกผนวชตัดสินใจบวชต่อ และ 6. อังกฤษขัดแย้งกับพม่าเข้ามาขอให้สยามช่วยอังกฤษรบพม่าในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 1 (พศ. 2367-2369) เจ้าฟ้ามงกุฎเริ่มออกผนวชในวัย 20 ชันษา ไม่ถึงเดือนหลังจากนั้นสมเด็จพระราชบิดา (รัชกาลที่ 2) ก็เสด็จสวรรคต และพระเชษฐาต่างมารดาทรงขึ้นครองราชย์ต่อในวัย 36 ชันษา วชิรญาณภิกขุ (คือรัชกาลที่ 4 ในภายหน้า) ผู้เฉลียวฉลาดคงจะทรงทราบดีว่า การครองผ้าเหลืองต่อไปจะมีความสำคัญอย่างไร ชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกษัตริย์สยามในอนาคต วชิรญาณภิกขุ ได้เรียนรู้จากบาทหลวงปัลเลอกัวซ์ จากฝรั่งเศส (พศ. 2348-2408) ที่ได้เข้ามาทำงานด้านเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในไทยเริ่มในปี พศ. 2372 นอกจากความรู้ด้านคริสต์ศาสนา ท่านผู้นี้มีความสามารถทั้งภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ และละติน รอบรู้ด้านภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ การพิมพ์และการถ่ายรูป ทั้งยังได้เรียนรู้ภาษาไทยและบาลีเป็นอย่างดีด้วย

บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ ภาพ: สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์

ในวัยไล่เลี่ยกัน (วชิรญาณภิกขุประสูติปี 2437 บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ เกิดปี 2438) บวชเรียนเหมือนกันและต่างมีสติปัญญาเป็นเลิศ ทั้งสองย่อมได้เรียนรู้จากกันอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทและอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของชาติตะวันตก นอกจากนั้น วชิรญาณภิกขุ ยังได้เรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษและวิทยาการจากสหรัฐเมื่อครอบครัวมิชชันนารีชาวอเมริกันเดินทางมาถึงไทยในปี พศ. 2378 (หมอแดเนียล บรัดเลย์ และภรรยา ครูผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษ) ส่วนบาทหลวงปัลเลอกัวซ์กลับกรุงปารีสในปี พศ. 2397

กล่าวกันว่า เพราะสยามไม่มีฝั่งทะเลเป็นท่าเรือที่สนับสนุนการค้าทางเรือโดยตรงของอังกฤษ ที่สำคัญคือไม่อยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์การเดินเรือระหว่างอินเดียกับจีน

เมื่ออังกฤษขัดแย้งและทำสงครามกับพม่า และสยามสนับสนุนฝ่ายอังกฤษ

อังกฤษจึงรู้สึกซาบซึ้งและได้ขอทำสนธิสัญญาการค้าเสรีกับสยามเรียกว่าสัญญาเบอร์นี่ย์ (the Burney Treaty) เป็นผลสำเร็จในปี พศ. 2369

และทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์ของสยามก่อจะถึงปี พศ. 2398 อันเป็นปีที่จอห์น เบาว์ริ่ง เป็นตัวแทนฝ่ายอังกฤษเข้ามาเจรจาขอทำสัญญาการค้าฉบับใหม่ในปี พศ. 2398 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงระหว่างสยามกับล้านนาอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา…

ข่าวที่เกี่ยวข้อง