‘แม่น้ำโขง’ สายน้ำสำคัญที่พาดผ่านหลายประเทศในทวีปเอเชีย มีต้นกำเนิดจากธารน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงธิเบตบนเทือกเขาหิมาลัย ผ่าน จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ ทอดยาวกว่า 4,909 กิโลเมตร และมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นสายธารแห่งชีวิตที่คอยหล่อเลี้ยงผู้คนในลุ่มน้ำเส้นนี้มาหลายชั่วอายุคน ผู้คนสองฝากฝั่งต่างไปมาหาสู่ดุจญาติมิตร วัฒนธรรมความเชื่อทั้งสองฟากนั้นกลมเกลียวเหมือนมีแม่น้ำที่คอยเชื่อมโยงลูกจากสองฟากฝั่งเข้าหากัน
กระนั้นเองตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ แม่น้ำแห่งชีวิตสายนี้กลับถูกมนุษย์ผู้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติย่ำยี ผ่านการเข้าไปลงทุนหากำไรผลประโยชน์ในแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนไฟฟ้ากั้นการไหลของสายธาร ส่งผลให้การไหลของน้ำดำเนินไปอย่างไม่เป็นธรรมชาติ พันธุ์ปลาจากที่เคยมีก็หายจาก น้ำจากที่เคยไหลเชี่ยวก็เหือดแห้ง พืชจากที่อุดมสมบูรณ์ก็ร้างลา
ข้อมูลจากรายงาน สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขง สำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง 2022 โดย เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง รายงานว่าแม่น้ำโขงมีเขื่อนทั้งหมด 25 เขื่อนทั้งที่สร้างเสร็จแล้ว ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และเตรียมการก่อสร้าง แบ่งเป็นเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนในจีนทั้งหมด 14 แห่ง และเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่าง (ไทย, ลาว, กัมพูชา) ทั้งหมด 11 แห่ง
ที่น่าสนใจคือใน 11 เขื่อนนี้มีเขื่อนที่บริษัทในไทยเข้าไปลงทุนนั่นก็คือ ‘เขื่อนปากแบง’ หรือ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Beng Hydropower Project) ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน กิโลเมตรที่ 2188 ในพื้นที่บ้านปากเงย เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ ทางตอนเหนือของ สปป.ลาว ห่างจากจุดสิ้นสุดเขตแดนไทยบนแม่น้ำโขง คือ แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ลงไปเป็นระยะทางเพียง 97 กิโลเมตร โดยมีสันเขื่อนสูง 340 ม. มีกำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่รับซื้อ 897 เมกะวัตต์ ซึ่งมีผู้รับซื้อหลักคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตามข้อมูลข้างต้น โดยโครงการดังกล่าวมี บริษัท Pak Beng Power Company Limited (PBPC) เป็นผู้พัฒนา และผู้ถือหุ้น 2 รายได้แก่ บริษัท ไชน่าต้าถังโอเวอร์ซี (China Datang Oversea) บริษัทสัญชาติจีนถือหุ้นอยู่ 51% และ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf Energy Development) บริษัทสัญชาติไทยถือหุ้นอยู่ 49%
เขื่อนปากแบง พลังงานสะอาดที่ขวางกั้นชีวิต
การสร้างเขื่อนปากแบงนั้นจะสร้างผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทั้งสองฝั่งไทย-ลาว โดยมีการต่อต้านโครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนรวมไปถึงภาคประชาสังคมที่เข้ามาผลักดันคัดค้านโครงการดังกลาว เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักข่าวชายขอบ ร่วมกับ The Reporters จัดอบรมนักสื่อสารลุ่มน้ำโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยพาผู้เข้าร่วมอบรมเดินทางไปสำรวจพื้นที่ ณ แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย มีผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม และคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ เข้าร่วมศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากแบ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
มนตรี จันทวง สมาชิกกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่า “เขื่อนปากแบงมีประวัติมานานกว่า 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้พี่น้องชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ ได้ยื่นจดหมายถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และศาลปกครองเพื่อคัดค้านและขอให้มีการทบทวนเรื่องเขื่อนปากแบง ทำให้การพิจารณาการสร้างเขื่อนยุติลงไป จนถึงช่วงปี 2564 เขื่อนปากแบงได้ถูกพูดถึงในทางสาธารณะอีกครั้ง”
มนตรี กล่าวต่ออีกว่า “เพราะมีบริษัทไทยหรือบริษัทกัลฟ์ไปร่วมทุนทำให้กระบวนการซื้อขายไฟฟ้าของภาครัฐดำเนินการไปค่อนข้างรวดเร็ว เริ่มตั้งแต่มีการทำลงนามบันทึกข้อตกลงหรือร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากันก่อนตั้งแต่ปี 2565 และมาพร้อมทั้ง 3 เขื่อน คือ เขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง ในส่วนของภาคประชาสังคมโดยเฉพาะกลุ่มรักเชียงของเห็นว่าต้องยื่นเรื่องนี้ให้ กสม. อีกครั้ง และได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยมีการจัดประชุมที่ว่าการอำเภอเชียงของ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา”
“ในวันที่ประชุมได้มีการเชิญตัวแทน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศที่เข้ามาดูเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเขตแดน และตัวแทนสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปรากฏว่าตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทยได้แจ้งว่าได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้ว ซึ่งการสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบโดยรวมต่อแม่น้ำโขง”
มนตรี ได้กล่าวทิ้งทายและย้ำถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนที่ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่รวมไปถึงผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องอาศัยและมีชีวิตที่พึ่งพาแม่น้ำโขงสายนี้ ซึ่งวิถีชีวิตของผู้คนอาจต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล อันเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงนั้นเอง
“แม้ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนในลาว แต่น้ำก็จะเอ่อล้นขึ้นมาจากเขื่อนปากแบ่งไปจนถึงหมู่บ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย บริเวณที่มีการเก็บไกและน้ำก็จะมีสภาพไม่ไหลและนิ่งตลอดปี ซึ่งนั่นได้ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปทั้งหมดและมีผลต่อวงจรชีวิตของปลาและอาชีพของชาวบ้าน”
“ไก” หรือสาหร่ายน้ำจืด หนึ่งในพืชที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และความสะอาดของน้ำโขง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cladophora glomerata Kutzing เป็นพืชที่มีโปรตีนสูง ไก สามารถเติบโตได้ในเฉพาะพื้นที่น้ำไหลเท่านั้น เพราะหากน้ำนิ่งหรือน้ำไหลแรงจนเกินไปก็ไม่สามารถเติบโตได้
‘เกาะกลาง’ เกาะที่อยู่ระหว่าง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงใหม่ ในฝั่งไทย และ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ในฝั่งลาว หนึ่งในพื้นที่ที่สามารถเก็บไกได้ดี ผู้คนจากทั้งสองฝั่งนั่งเรือขึ้นมาเก็บไกบริเวณเกาะกลางกันในทุกๆ ต้นเดือนธันวาของทุกปี
“ถ้าน้ำมากไกจะไม่ขึ้น ต้องเก็บช่วงนี้แหละ น้ำเริ่มลดแล้ว” ชาวบ้านอำเภอเชียงของที่มาเก็บไกในช่วงเช้ากล่าว
ไก สร้างอาชีพเสริมให้แก่ประชาชนในอำเภอเชียงของและเมืองห้วยทรายมาอย่างยาวนาน บางคนเก็บไกมาตั้งแต่ยังวัยรุ่น นำไปขายได้ทั้งแบบสดและแบบตากแห้ง นำไปประกอบอาหารได้หลากหลายทั้ง ไกยี แกงไก ห่อหมกไก คั่วไก น้ำพริกไก ซึ่งในปัจจุบันมีการนำไกมาแปรรูปเป็นสาหร่ายน้ำจืดอบกรอบ ดังนั้นการสร้างเขื่อนปากแบงจะส่งผลกระทบต่อไก เนื่องจากเขื่อนจะทำให้กระแสน้ำแห้งเหือดและเอ่อล้นไม่เป็นไปตามธรรมชาติ
“ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับทราบข้อมูลการลงนามเซ็นสัญญาดังกล่าว และการสร้างเขื่อนที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อตะกอนแม่น้ำ การอ้างสิทธิเกี่ยวกับเกาะดอนในแม่น้ำโขง มีการพูดถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่มีการจัดศึกษาวิจัย และเรื่องการบริหารจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนของแม่น้ำโขง พบว่าการสร้างเขื่อนมีผลกระทบและแม่น้ำโขงจะกลายเป็นทะเลสาบลึกตั้งแต่บริเวณอำเภอเชียงแสน เชียงรายไปจนถึงประเทศกัมพูชา” ปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ
ปรีดา เล่าว่า “คณะกรรมการสิทธิได้รับเรื่องร้องเรียนจึงมีการลงพื้นที่ แต่ก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือท้วงติงไปแล้วเมื่อปี 2563 การจะสร้างเขื่อนนั้นธุรกิจต้องคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนและผลกระทบต่อประชาชน รอบล่าสุดที่ได้มีการลงพื้นที่ก็ได้มีการกลับไปปรึกษาหารือกันและได้ทำหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ขอให้ทบทวนสัญญาการลงนามรับซื้อขายไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนปากแบง”
ด้าน อภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีม่วงยาย กล่าวว่า “หากจะมีการสร้างเขื่อนชาวบ้านในพื้นที่ก็มีความกังวลจากการรับทราบว่าระดับน้ำจะขึ้นมา 340 เมตร และคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสาขาที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ในส่วนของอำเภอเวียงแก่ง แม่น้ำงามเป็นแม่น้ำสายหลัก ซึ่งเกษตรก่อนในอำเภอเวียงแก่งก็จะอาศัยพื้นที่สองฝั่งในการทำมาหากินและปลูกส้มโอเป็นหลัก ถือเป็นอาชีพหลักของชาวอำเภอเวียงแก่ง”
ในฐานะนายกเทศมนตรีบ้านม่วงยาย อภิธารได้แสดงความกังวลถึงความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในประเทศลาว ว่านั่นจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตในชุมชนและการดำรงชีพ
“เรามีความกังวลว่าน้ำจะเพิ่มระดับสูงขึ้น ในอนาคตเรายังไม่รู้แน่นอนว่าจะต้องป้องกันอย่างไร ในส่วนของท้องถิ่นนั้นในการวางโครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่มีความมั่นใจว่าถ้าเกิดน้ำท่วมขึ้น จะเป็นการลงทุนที่ศูนย์เปล่าหรือไม่ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอาชีพการประมง วิถีชีวิตของชาวบ้าน แม้กระทั่งการลงนามเซ็นสัญญา ชาวบ้านก็พึ่งทราบในภายหลัง”
ขณะที่ ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร สมาชิกกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง และคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน กล่าวว่า “ในแง่ของการลงทุนจะเห็นได้ชัดว่ามีนักลงทุนชาวไทยเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้ถือหุ้น 49% และมีบริษัทต้าถังจากจีน ซึ่งเครือข่ายแม่น้ำโขงมีความพยายามที่จะพูดคุยกับนักลงทุนจากจีนมาโดยตลอดทั้งด้านวิชาการและการต่อรองกันระหว่างประเทศเมื่อปี 2559 และรัฐบาลลาวไม่สามารถตอบคำถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในฝั่งไทยได้ แม้จะยืนว่าไม่ส่งผลกระทบต่อฝั่งไทย แต่ในด้านวิทยาศาสตร์ก็ไม่มีข้อมูลว่าจะจัดการอย่างไร และการกักเก็บน้ำที่มีข้อมูลไม่ตรงกันว่าจะอยู่ในระดับไหน เพราะระดับการกักเก็บน้ำเป็นข้อมูลสำคัญต่อการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
ธีระชัยกล่าวเสริมทิ้งท้ายไว้ว่า “ 2 ปี ที่ผ่านมาบริษัทกัลฟ์กลายมาเป็นผู้เล่นสำคัญที่จะสร้างเขื่อนปากแบง และเห็นว่าในปีนี้มีการดำเนินการเร็วมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกขยายและมีการรับซื้อไฟฟ้ามากขึ้น มีการเซ็นสัญญาหลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายเพียง 2 วันเท่านั้น อีกตัวผู้เล่นที่สำคัญคือ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยหรือ (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า เพราะฉะนั้นทั้งคนลงทุนคนรับซื้อไฟฟ้าก็เป็นคนไทย นอกจากนี้ไม่ใช่เฉพาะเขื่อนปากแบ่งที่จะป้อนไฟฟ้าเข้าประเทศไทย แต่ยังมีเขื่อนอื่น ๆ อีกจำนานมาก แม้ว่าเรามีความต้องการไฟฟ้าแต่ไฟฟ้ากลับล้นระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น”
คำกล่าวจากผู้มีส่วนเกี่ยวโยงกับแม่น้ำโขงทั้ง 4 คน ชี้ให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของเขื่อนปากแบงนั้นไม่ได้ดำเนินไปเพื่อพลังงานสะอาด แต่หากดำเนินการก่อสร้างเพื่อดึงผลกำไรจากแม่น้ำแห่งชีวิตนี้ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และเศรษฐกิจของชีวิตในลุ่มน้ำโขง
ดั่งที่เขียนไปในตอนต้น แม่น้ำโขงนั้นมีความหมายต่อชีวิตผู้คนทั้งสองฟากฝั่ง รวมไปถึงผู้คนในลำน้ำสาขาย่อยอื่นๆ ที่แม่น้ำโขงได้ขยายย่อยแตกสาขาออกไป กว่า 60 ล้านชีวิต เพื่อใช้สายน้ำแห่งนี้เป็นที่พักพิง การพัฒนาที่ไม่เห็นหัวผู้คนนี้อาจจะไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ 2567 ที่ดีให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐโดยตรง แต่หากผู้คนยังคงต้องการแม่น้ำโขงสายนี้อยู่ นธีแห่งชีวีสายนี้ก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“วันนี้พวกเราลูกหลานแม่น้ำโขง พร้อมด้วยมวลมิตร จากหลากหลายลุ่มน้ำ เช่น สาละวิน แม่น้ำยม อิระวดี เจ้าพระยา ฯลฯ ได้มารวมกันเพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ และมิตรไมตรี
เกือบ 3 ทศวรรษแล้ว ที่แม่น้ำโขงของเราเผชิญความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่เขื่อนแห่งแรกสร้างกั้นสายน้ำที่ตอนบน จวบจนปัจจุบันมีเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงในจีน เรียงรายกันถึง 13 เขื่อน และสามปีก่อน เขื่อนไซยะบุรีก็กั้นสายน้ำโขง ต่อมาคือเขื่อนดอนสะโฮง
แม่น้ำโขงมิใช่รางน้ำ ท่อส่งน้ำ แต่คือกระแสธาราที่หล่อเลี้ยงชีวิต หล่อเลี้ยงลูกหลานนานาสายพันธุ์ตลอดลำน้ำ นับตั้งแต่หิมะละลายบนที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านโตรกเขา ภูเขาน้อยใหญ่ มีลำน้ำสาขาน้อยใหญ่เป็นดังแขนง พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่า ทุ่งนา แปลงเกษตร ทะเลสาบเขมร แม่น้ำโขงไหลผ่านที่ราบ ลงสู่ทะเล ผ่านพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือ 6 ประเทศ ได้แก่จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม ได้มีการจัดงานฮอมปอยศรัทธาแม่น้ำโขง มีหลายส่วนเข้าร่วมทั้งชุมชน ผู้แทนสถานทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เยาวชน กลุ่มสตรี ผู้เฒ่าผู้แก่ ฯลฯ โดยได้รับฟังเสียงสะท้อนโดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำโขงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงในลาวห่างจากชายแดนไทยเพียงกว่า 90 กม. เสียงสะท้อนอันเจ็บปวดและน้อยใจของชาวบ้านที่ไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ ทั้งในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทำให้มีข้อเสนอในการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขง และต้องให้มีการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรับฟังประชาชนในทันที
เมื่อแม่น้ำโขงถูกควบคุมโดยเขื่อนไฟฟ้า กระแสธาราก็เปลี่ยนแปลง ระดับน้ำโขงที่เคยขึ้นลงตามฤดูกาลน้ำหลากน้ำแล้ง ก็แปรเปลี่ยนอย่างสาหัส เกิดน้ำหลากในหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนกลับเกิดน้ำแห้ง สิ่งเหล่านี้รบกวนระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง พันธุ์ปลาที่อพยพตามฤดูกาลได้รับผลกระทบ ประมงแม่น้ำโขงเสียหาย สรรพชีวิตต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่ตนเองไม่ได้เลือก
ผลกระทบจากเขื่อนเป็นที่ประจักษ์ ชัดเจน กว้างขวาง แต่ประเทศไทยกลับลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากบริษัทเขื่อนอีก 3 แห่ง ได้แก่ ปากลาย หลวงพระบาง และปากแบง ซึ่งเป็นการร่วมทุนของเอกชนจีน ไทย ซึ่งขณะนี้เขื่อนถูกเรียกว่าไฟฟ้าสะอาด และราคาถูก ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง แต่ราคาทั้งหมดนี้ถูกจ่ายด้วยระบบนิเวศที่เสียหาย จ่ายด้วยชุมชนตลอดลุ่มน้ำที่สูญเสียวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ จ่ายด้วยค่าไฟฟ้าที่ประชาชนไทยทุกคนแบกรับภาระในใบเรียกเก็บเงินทุกๆ เดือน
เราอยากเห็นแม่น้ำโขงที่สามารถหล่อเลี้ยงนานาชีวิตดังที่เคยเป็นมานับล้านๆ ปี อยากเห็นการวางแผนการพัฒนาไฟฟ้าที่รับผิดชอบ คำนึงถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเท่าเทียมกันกับนักลงทุนเอกชนรายใหญ่ อยากเห็นความรับผิดชอบข้ามพรมแดน มีความโปร่งใสและเป็นธรรม
เขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด
เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิของแม่น้ำ”
คำประกาศแม่น้ำโขงโดย นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ
อ้างอิง
- สรุปสถานการณ์แม่น้ำโขง สำหรับลูกหลานแม่น้ำโขง 2022
- ฮอมปอยศรัทธาแม่น้ำโขง ขอเคารพธรรมชาติ ขอศรัทธาผู้คนสองฟากฝั่ง
- รู้จัก ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืดจากต้นน้ำน่าน
กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ