3 ปีรัฐประหารเมียนมา: สถานการณ์ พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง

รัฐประหารเมียนมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ได้เติมบาดแผลฉกรรจ์ให้กับประเทศและประชาชนในเมียนมาที่เดิมบอบช้ำจากปัญหาทางการเมืองอย่างยาวนานตั้งแต่เมียนมาได้รับเอกราช โดยเฉพาะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ การปกครองโดยเผด็จการทหาร และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แม้ในช่วงปี 2011-2020 ประเทศเมียนมาเข้าสู่การปฏิรูปทางการเมืองภายใต้รัฐบาลกึ่งประชาธิปไตย แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ถูกควบคุมโดยระบอบทหารผ่านรัฐธรรมนูญปี ค.ศ. 2008 ช่วงสิบปีก่อนรัฐประหารจึงมีฉากหน้าเสมือนเป็นประชาธิปไตย แต่ปัญหาทางการเมืองที่สะสมไว้ใต้พรมนั้นรอการปะทุ การสู้รบของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations หรือ EAOs) ก็ยังดำเนินต่อไปแม้รัฐบาลเมียนมามีกระบวนการเจรจาสันติภาพ การเมืองรวมศูนย์มากขึ้นแทนที่จะมีสหพันธรัฐตามข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ ยังมินับว่ามีวิกฤตเรื่องโรฮิงญาที่สะท้อนถึงความรุนแรงทุกระดับและการเหยียดเชื้อชาติที่ฝังรากลึกในสังคมเมียนมา อย่างไรก็ดี พื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นก็ทำให้ทศวรรษที่ 2010 เป็นช่วงเวลาแห่งความหวังที่จะสร้าง “เมียนมาใหม่” แต่ความหวังดังกล่าวก็ได้ถูกทำลายลงไปแล้วด้วยการรัฐประหาร ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดพรมที่ซุกปัญหาเดิมไว้อันการต่อสู้เพื่อการสร้างชาติใหม่ที่แท้จริง

การต่อสู้ในทางการเมืองเชิงสถาบันนั้นเริ่มต้นด้วยการพุ่งเป้าไปที่รัฐธรรมนูญเมียนมาปี 2008 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทหารอยู่ในการเมืองได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งหากย้อนไปตลอดประวัติศาสตร์จะพบว่ากองทัพเมียนมามักอ้างตนเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญและเป็นเครื่องมือที่นำมาสร้างความชอบธรรมอยู่เสมอ รัฐประหารครั้งนี้ก็เช่นกัน กองทัพอ้างว่าประเทศเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินจากข้อขัดแย้งเรื่องผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2020 สร้างความแตกแยกให้กับประเทศ และอ้างว่าการเลือกตั้งดังกล่าวขาดความโปร่งใส จึงใช้มาตรา 417 ของรัฐธรรมนูญสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารและ “ขอเวลาอีกไม่นาน” เพื่อจัดการเลือกตั้งในภายหลัง ซึ่งหากแม้ไม่นับว่าข้ออ้างดังกล่าวขาดความชอบธรรมอย่างรุนแรง เป็นการยึดอำนาจจากพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy หรือ NLD) ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย ในปัจจุบันรัฐบาลทหารเมียนมา ในนามสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council หรือ SAC) ก็ขาดความชอบธรรมตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่ดี เพราะปกครองประเทศมาเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้

สถาบันทางการเมืองคู่ขนาน อันประกอบไปด้วย สภาที่ปรึกษาเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Consultative Council หรือ NUCC) รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government หรือ NUG) และ คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (The Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw หรือ CRPH) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรค NLD จึงได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008 และเสนอกฎบัตรประชาธิปไตยสหพันธรัฐ (Federal Democracy Charter) พร้อมกับการต่อสู้ทางการเมืองในฐานะรัฐบาลที่ชอบธรรม แต่ขณะเดียวกันสถาบันทางการเมืองคู่ขนานเหล่านี้ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านอำนาจควบคุมพื้นที่ ประสิทธิภาพในการทำงานจากการที่ต้องลี้ภัย รวมถึงการสร้างเอกภาพกับฝ่ายต่อต้านอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับฝ่ายต่อต้านว่าใครคือผู้แทนที่ชอบธรรมและนำพาชัยชนะให้อยู่เหนือระบอบทหารเมียนมาได้

ส่วนการต่อสู้ในทางการเมืองในภาคประชาชน มีการประท้วงโดยสงบสันติหลังรัฐประหารที่มีประชาชนลุกฮือทั้งประเทศหลังรัฐประหารช่วงเดือนแรก ๆ และเกิดขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement หรือ CDM)  ที่ประกอบไปด้วยข้าราชการหลากหลายอาชีพ นำโดยแพทย์ พยาบาล อาจารย์ นักศึกษา รวมถึงมีการเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศให้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ  แต่เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง จึงทำให้แกนนำทางการเมืองจำนวนมากถูกจับกุม นักกิจกรรมทางการเมืองบางส่วนจำต้องลี้ภัยและต่อสู้ทางการเมืองจากพื้นที่บริเวณชายแดนหรือในประเทศปลายทาง ประชาชนทั่วไปจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เดิมไม่ได้สนใจการเมืองก็ผันตัวไปทำงานเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่บางส่วนเลือกที่จะจับอาวุธในนามกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force) หรือ PDF

หากพูดถึงในแง่ทางทหาร ตลอดสามปีมานี้ ชัยชนะยังไม่ปรากฏอย่างเด็ดขาดไม่ว่ากับฝ่ายใด พื้นที่มากกว่าสองในสามของประเทศเต็มไปด้วยความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธที่มีกองกำลังชาติพันธุ์ หรือไม่ก็ PDF ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศหลายร้อยกลุ่ม สิ่งที่น่าสนใจคือ การมีอยู่ของ PDF ทำให้พื้นที่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากที่สุดกลับอยู่ในเขตที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์บะหม่าอย่าง เขตสะกาย (Sagaing) และเขตมะเกว (Magway) นอกเหนือไปจากเดิมที่การสู้รบจะอยู่ในเพียงพื้นที่รัฐชาติพันธุ์ กองทัพเมียนมาใช้กลวิธีโจมตีทางอากาศอย่างไม่เลือกในรัฐชาติพันธุ์และเขตที่ต่อต้าน ในแง่หนึ่งเป็นการแสดงถึงสมรรถนะทางทหารที่เหนือกว่าตัวแสดงอื่น ๆ อยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มีนัยยะของการที่ไม่สามารถโจมตีดินแดนทางราบ นอกจากนี้ยังนับว่าเป็นการกระทำผิดต่อมวลมนุษยชาติอย่างร้ายแรงซึ่งบั่นทอนความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้นไปอีก

กองทัพเมียนมาไม่สามารถควบคุมพื้นที่ส่วนมากของประเทศได้ แม้ยังคงควบคุมเมืองใหญ่ ๆ และเขตเมืองเกือบทั้งหมดได้ ขนาดกองทัพแม้ยังไม่มีใครชนะได้แต่ก็มีขนาดหดลง ทางยุทธศาสตร์มีการสูญเสียพื้นที่ให้กับกลุ่มที่ติดอาวุธต่าง ๆ แม้รัฐบาลทหารเมียนมาต้องการจัดการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองก็ยังไม่สามารถทำได้ และล่าสุดในช่วงปลายปี 2023 มีปฏิบัติการ 1027 (Operation 1027) โดยพันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) ที่ประกอบไปด้วยกองกำลังของโกก้าง ตะอาง และอาระกัน ยึดพื้นที่ในเขตรัฐฉานเหนือบางส่วนจากกองทัพเมียนมาได้ และกองทัพเมียนมายังสูญเสียพื้นที่ให้ฝ่ายต่อต้านติดอาวุธเพิ่มเติมในเขตอื่น ๆ ซึ่งการสู้รบมีโอกาสยืดเยื้อต่อไป สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในหลาย ๆ พื้นที่กองกำลังชาติพันธุ์ได้สร้างกลไกการบริหารในพื้นที่ตัวเอง ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดคือในรัฐคะเรนนีที่มี สภาบริหารรัฐคะเรนนีชั่วคราว (Interim Executive Council) ก่อกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของกองกำลังชาติพันธุ์ต่าง ๆ และกลุ่มพลเรือน เพื่อเป็นรูปแบบของการสร้างสหพันธรัฐจากฐานราก (Bottom-up Federalism) แทนที่จะต้องถูกกำหนดมาจากชนชั้นนำทางการเมืองในระดับชาติที่มักเป็นชาวบะหม่าและไม่ยินยอมให้เกิดระบอบสหพันธรัฐโดยง่าย

ในการต่อสู้ทางการเมืองแนวคิดประชาธิปไตยสหพันธรัฐ (Federal Democracy) กลายเป็นแนวคิดอุดมคติที่ถูกทำให้เป็นกระแสหลักมากขึ้นหลังการรัฐประหารเพื่อใช้สร้างชาติเมียนมาใหม่ สร้างประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” แม้เป็นแนวคิดที่มีมานานในฝั่งชาติพันธุ์แต่หลังการรัฐประหารได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านชาวบะหม่า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็เล็งเห็นความสำคัญ จำนวนมากมองว่าตัวเอง “ตาสว่าง” เพราะเคยสนับสนุนกองทัพเมียนมาในเรื่องโรฮิงญา และไม่เคยเข้าใจการเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์มาก่อน แต่หลังรัฐประหารพวกเขาก็ได้รับการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากกองกำลังชาติพันธุ์ที่แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารอย่างชัดเจน หรือที่เรียกว่ากลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการต่อต้าน (Ethnic Resistance Organizations หรือ EROs) นอกจากนี้แนวคิดดังกล่าวยังแพร่หลายในเขตสะกายและเขตตะนาวศรีบางส่วนจนมีการริเริ่มหาแนวทางสร้างสหพันธรัฐในพื้นที่นอกรัฐชาติพันธุ์เช่นกัน แต่แนวคิดสหพันธรัฐยังคงมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก เนื่องจากแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีเป้าหมายทางการเมืองแตกต่างกันอยู่ ในรัฐฉานเองก็ประกอบไปด้วยชาติพันธุ์หลากหลายและมีกองกำลังของตนเอง อย่างปฏิบัติการ 1027 เองก็สร้างความซับซ้อนให้กับพื้นที่ยึดครองของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น และหากมองในภาพรวมระดับประเทศ แม้มี EROs ที่ต่อต้านกองทัพเมียนมาอย่างเข้มแข็ง แต่ก็ยังมีกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ที่เลือกที่จะไม่แสดงออกบ้าง มีจุดยืนไม่ชัดเจนบ้าง หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่พร้อมประนีประนอมกับรัฐบาลทหาร อย่างไรก็ดี แนวคิดสหพันธรัฐก็ยังคงเป็นเป้าหมายอุดมคติสูงสุดที่จะแก้ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมได้ อยู่ที่ว่าจะออกแบบกระบวนการเจรจาระหว่างตัวแสดงทางการเมืองต่าง ๆ อย่างไร 

สามปีที่ผ่านมาความท้าทายต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริงมีอยู่อีกมาก แต่สิ่งที่ยังหล่อเลี้ยงการต่อสู้ต่อไปนั้นคือความหวัง ความหวังที่จะเห็นกองทัพเมียนมาสั่นคลอน ความหวังที่จะสร้างชาติใหม่ในระยะยาว ในวิกฤติทางการเมืองจึงเป็นโอกาสในการวางรากฐานความคิดทางการเมืองแบบใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง