‘ลำพูน 2024 ที่ไม่มีขนส่ง’ วงคุยถกปัญหาขนส่งสาธารณะ เพื่อขนส่งที่เป็นของทุกคน

สืบเนื่องจากการปิดตัวลงของสถานีขนส่งจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารเอกชน ที่เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 กรณีดังกล่าวทำให้จังหวัดลำพูนไม่มีสถานีขนส่งผู้โดยสารและรถโดยสารประจำทาง ไม่มีสถานที่จอดรถรับ-ส่งผู้โดยสาร ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2567 เป็นต้นมา แม้ว่าในความเป็นจริงสถานีขนส่งดังกล่าวจะตั้งอยู่โดยไม่ได้ถูกใช้งานเท่าที่ควร แต่การปิดตัวลงก็อาจส่งผลกระทบความเดือนร้อนในการเดินทางของผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

3 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา Lamphun City Lab ได้จัดกิจกรรม ‘Lamphun Journey มาเจอร์นี่ที่ลำพูน’ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นขนส่งสาธารณะและการท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์คือการทำความเข้าใจพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว และผู้คน ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดลำพูน, วิธีการเดินทางอย่างไรในลำพูนในสะดวกสบายและครอบคลุม, การรวมตัวของผู้ร่วมพัฒนาเมืองลำพูน จะมีวิธีการแก้ไขประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งเดินทางภายในจังหวัดลำพูนอย่างไร หรือมีวิธีการให้ทุเลาปัญหาเรื่องนี้อย่างไร, ความต้องการของผู้คนที่เกี่ยวข้องและทำงานในวงการขนส่งสามล้อ รถฟ้าสองแถว วินมอเตอร์ไซต์ และค้นหาคำตอบที่ว่าจะทำอย่างไรให้การขนส่งและการท่องเที่ยวพัฒนาไปพร้อมกันอย่างสอดคล้องเพื่อการเคลื่อนย้ายผู้คนเข้าสู่เมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยมีการเชิญผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากหลายภาคส่วน อาทิ อัญมณี มาตยบุญ สถาปนิกที่ทำงานด้านพัฒนาเมือง, เบญจมาภรณ์ ดวงเกิด Lamphun City Lab, วิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน พรรคก้าวไกลและสมาชิกพรรค, วรพจน์ กองเงิน กลุ่มเชียงใหม่กว่า, บุญเวท ศรีพวงใจ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน, ธณัท ปภพธนานนท์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ตัวแทนจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน, กุลวีร์ วัฒนกสิกรรม นายกสมาคมการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลำพูน, บริษัท ไอริช ทัวร์, YEC (Young Entrepreneur chamber of commerce), ณกรณ์พงศ์ เครือไชย KASFarmstay-ลำนำรักษ์, อุดมศักดิ์ มโนสมุทร ประชาสัมพันธ์และที่ปรึกษาชมรมสามล้อลูกหลานเจ้าแม่จามเทวี ลำพูน, โอ๊ค-นเรนทร์ ปัญญาภู นักจดหมายเหตุลำพูน และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจในเมืองลำพูน เยาวชนและผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลเมือง

โดยระหว่างการพูดคุย เรืองศักดิ์ ภูมิสันติ หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง จากสำนักงานขนส่งจังหวัดลำพูน ได้ระบุถึงสาเหตุการปิดตัวของสถานีขนส่งจังหวัดลำพูนว่า

“ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นของขนส่งลำพูนนั้นเนื่องมาจากอุปสงค์ อุปทานที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ คนในเขตเมืองเก่าไม่ได้ใช้ขนส่งสาธารณะมากนัก จำนวนผู้ใช้ส่วนใหญ่คือผู้เดินทางในเส้นทางระหว่างจังหวัด รวมไปถึงการมาของถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง ที่ทำให้เส้นทางระหว่างจังหวัดเดิมที่เข้าตัวเมืองลำพูนถูกลดบทบาทลง เอกชนภาคธุรกิจขนส่งจึงรวมตัวกันลงทุนจนเกิดเป็นสถานีขนส่งกลาย ๆ โดยเอกชนอีกแห่งหนึ่งที่บริเวณแยกดอยติ บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ (ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 5 กิโลเมตร) จึงต้องตั้งข้อสังเกตว่า คนไปตามเส้นทางหรือทางไปตามคน ซึ่งต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหาให้เหมาะสมต่อไป”

โดยได้ระบุเพิ่มเติมว่า ทางกรมขนส่งพร้อมให้ความร่วมมือขีดเส้นทางการเดินรถ หากเอกชนใดต้องการยื่นคำขออนุญาติจัดตั้งสถานีขนส่งหรือเส้นทางเดินรถที่เชื่อมต่อกับตัวเมืองลำพูน

ถนนหมายเลข 106 (ผ่านเข้าเมืองลำพูน), ถนนหมายเลข 11 ซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง (ไม่ผ่านเข้าเมือง)

โดยในระหว่างการสะท้อนปัญหาได้มีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวไปในทางเดียวกัน เช่น

“ถ้าไม่มีคนในครัวทำกิจการหรือมีบ้านในเมืองเก่าก็จะไม่เข้ามาเลย เพราะพื้นที่รอบนอกที่อื่นตอบโจทย์ความต้องการมากกว่า ทั้งระยะทาง ความสะดวกการเดินทาง ความเจริญ ศิวิไลซ์ สาธารณะสุข ไปทางเชียงใหม่ดีกว่า”

“มีความยากมากขึ้นตรงที่ไม่สามารถคาดการณ์วางแผนเวลาในการเดินทางได้เลย เนื่องจากความไม่มีขนส่งสาธารณะที่ชัดเจน”

“ขนส่งสาธารณะขาดความต่อเนื่อง มีขาไปแต่ไม่มีขากลับ หากไปในพื้นที่อำเภอเล็ก การเดินทางภายในวันเดียวคาดหวังได้ยาก ต้องเผื่อวันเพิ่มกรณีไม่มีขนส่งกลับภายในวันเดียวกัน”

“ถ้ามีเป้าหมายให้มีนักท่องเที่ยวมาในเมืองลำพูนจริง ๆ การมีขนส่งสาธารณะเข้าสู่ตัวเมืองเก่ามีความจำเป็นมาก และหากจำแนกจำเพาะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่โดยส่วนมากไม่ใช้รถส่วนบุคคลแต่จะใช้ขนส่งสาธารณะ เมืองเก่าลำพูนอาจเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ถูกตัดออกจากจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว”

ทางด้านกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจในเขตเมืองลำพูน ธัณย์จิรา ธนานนท์ขันธชัย ได้สะท้อนว่าพบปัญหาเรื่องความหลากหลายของกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะจากต่างถิ่นที่คาดหวังได้ยาก เพราะความไม่มีระบบขนส่งสาธารณะทำให้ตัวเมืองกลายเป็นจุดที่เหมือนถูกแยกออกจากผู้คนภายนอก ผู้ประกอบกิจการจำเป็นต้องหาวิธีการนำลูกค้าให้มาด้วยตัวเอง เช่น ใช้บริการวินมอเตอร์ไซต์ ไรเดอร์ หรือขนส่งเอกชนที่รู้จักกันไปรับลูกค้าให้ เพราะลูกค้าที่ไม่มียานพาหนะไม่สามารถเข้ามาได้ด้วยตนเอง

โดยในช่วงท้าย ได้มีการระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมทุกภาคส่วน ซึ่งได้ข้อเสนอร่วมว่า สำหรับการขนส่งภายนอกเข้ามาภายใน ในระยะสั้นควรเร่งให้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจยื่นคำขออนุญาติจัดตั้งเส้นทางเดินรถ ระหว่างบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารแยกดอยติเข้ามายังตัวเมืองลำพูน เนื่องจากการรอให้ภาครัฐดำเนินการก่อสร้างสถานีขนส่งแห่งใหม่อาจใช้เวลานาน

ส่วนการขนส่งภายในเขตเมือง มีข้อเสนอให้ผลักดันสามล้อซึ่งเป็นจุดเด่นที่เป็นทรัพยากรด้านวัฒนธรรมการเดินทางของจังหวัดมายกระดับโดยการจัดงบประมาณเพื่อพัฒนาตัวรถให้มีการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าทุ่นแรงร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางในเขตเมืองเป็นไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ข้อเสนอทั้งหมดที่ได้ร่วมระดมความคิดเห็น ทางทีมงาน Lamphum City Lab จะนำไปพัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต่อไป

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง