ความจริงที่ไม่ปรากฏในชุมชนบ้านป่าตึงงาม

โดยทั่วไปการภาคสนามมักจะใช้การสอบถาม สัมภาษณ์ หรือสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่นั้น และแน่นอนว่าข้าพเจ้าต้องทำตามวิธีการเหล่านี้ จากการสัมผัสประสบการณ์ผ่านการใช้ดวงตาคู่หนึ่งเฝ้าดู การพูดคุยสอบถามกับชาวบ้านเเละหัวหน้าชุมชน ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นว่าหมู่บ้านป่าตึงงามเป็นหมู่บ้านที่มีธรรมชาติที่สวยงาม มีพื้นที่ราบ ภูเขา หุบเขา เเละทรัพยากรอื่น ๆ ที่มาประกอบกันแล้วลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ ในส่วนของชาวบ้านและวัฒนธรรมนั้นก็มีความหลากหลายมาก เช่น ภูมิลำเนาเดิมก่อนมาลงหลักปักฐาน ชาติพันธุ์ที่หลากหลายเพราะอนุญาตให้คนภายในหมู่บ้านแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านได้ แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินจะยังเป็นของคนในหมู่บ้านต่อไป และข้าพเจ้าคิดว่าหมู่บ้านนี้น่าสนใจมากในเรื่องของความเป็นพหุศาสนาที่มีรากฐานมาจากการนับถือผี แม้ว่าในปัจจุบันพวกเขาจะเปลี่ยนไปนับถืออะไรก็ตาม ความเคารพต่อเจ้าป่าเจ้าเขาก็ยังมีอยู่ (อาจจะมาจากการปลูกฝังจิตใต้สำนึกมาทุกยุคทุกสมัยของชุมชน ผ่านบรรพบุรุษหรือบรรพสตรี) หรือการมีความเชื่อเรื่อง “จิตวิญญาณของธรรมชาติ”

อย่างไรก็ตามความเชื่อย่อมมีวันลดลงไปตามกาลเวลา พิธีกรรมดั้งเดิมเริ่มหายไปเพราะว่ามันโหดร้ายเเละป่าเถื่อน คริสเตียนมองว่าการตั้งศาลพระภูมิเป็นการเชื้อเชิญผีเข้าบ้าน ชาวพุทธบางคนอาจมองว่าคริสเตียนเพิกเฉยต่อพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้าน ถึงเเม้ว่าจากการสอบถามเเล้ว ชาวบ้านหลายคนบอกว่าหมู่บ้านนี้เปิดโอกาสเรื่องการนับถือศาสนาอย่างเสรี แต่เสรีที่ว่านั่นจะเปิดให้ชาวบ้านมากน้อยเพียงไรก็ไม่มีใครรู้เช่นกัน เพราะภายใต้เสรีภาพย่อมมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าอิสระทางความคิดและเสรีภาพที่กล่าวอ้างนั้นไม่จริงเสมอไป

จากแนวคิดเรื่อง “การปกครองชีวญาณหลากระนาบ” (Multiple governmentalities) โรเบิร์ต เฟล็ตเชอร์ (Robert Fletcher) เสนอให้ทำความเข้าใจใหม่วิเคราะห์การต่อรองเชิงสร้างสรรค์และผลลัพธ์ใหม่ที่แสดงถึงพลวัตแห่งอำนาจอันหลากหลายมากกว่าจะมุ่งประเด็นไปที่ผลสำเร็จหรือล้มเหลวของอำนาจในด้านใดด้านหนึ่ง ความน่าสนใจของแนวคิดนี้ในประการที่สอง ที่ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขที่เป็นลักษณะเฉพาะเชิงสถานที่และสถานการณ์ (Particularity) ในการวิเคราะห์การปกครองชีวญาณทางสิ่งแวดล้อมในทางปฏิบัติ เน้นความสำคัญของเสรีนิยมใหม่ (อรัญญา ศิริผล, 2564: น. 117-118) สามารถนำมาใช้อธิบายการปกครองของพ่อหลวงในหมู่บ้านป่าตึงงามได้

ชาวบ้านบ้านป่าตึงงามอยู่ร่วมกันภายใต้ผู้นำชุมชนที่เรียกว่า “พ่อหลวง” (ปัจจุบันคือพ่อหลวงเศรษฐี) ผู้มีอุดมการณ์ค่อนข้างแกร่งกล้าที่จะทำงานร่วมกับรัฐให้ได้ ตัวอย่างจากงานศึกษาของเจฟเกนนี่ บูลสเทน (Jevgeniy Bluwstein) (อรัญญา ศิริผล, 2564: น. 118) เมื่อนำมาเทียบกับหมู่บ้านป่าตึงงาม สามารถเชื่อมโยงการแทรกแซงของหน่วยงานรัฐผ่านการครอบงำพื้นที่ทำกินเดิมของชาวบ้านด้วยระบบกฎหมาย การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เพื่อทำความเข้าใจชุดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เดิมกับรัฐในมิติของการมองว่าชาวบ้านเป็นพวกที่ทำลายธรรมชาติ มีการยึดพื้นที่ทำกินเดิม จัดระเบียบพื้นที่ใหม่ ห้ามทำไร่หมุนเวียน ทำให้พันธุ์พืชพื้นเมืองนั้นหายไป ซึ่งข้าพเจ้ามองว่านี่คือกระบวนการขยายอำนาจเหนือพื้นที่ (Re-territorialization) เพื่อรัฐไม่ใช่เพื่อชุมชนแห่งนี้ ผ่านวาทกรรมการอนุรักษ์ธรรมชาติแบบเสรีนิยมใหม่กับทุนธุรกิจสิ่งเเวดล้อม เเต่หมู่บ้านนี้มีการปกป้องที่ดินของตนเองไว้ได้และมีการใช้สังคมวัฒนธรรมชาติพันธ์ุเพื่อทำธุรกิจท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเเละผ้า ก่อให้เกิดการจัดการเชิงพื้นที่ภายในตรรกะธรรมภิบาลสีเขียว ยังไม่ถือว่ารัฐได้พรากสิทธิในที่ดินเเละการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติที่เคยวางอยู่บนระบบการจัดการของชุมชนไปอย่างสิ้นเชิง เหมือนว่ารัฐเเละชุมจะพูดคุยเเละตกลงกันได้อย่างลงตัวแล้ว แต่ถ้ามองอีกแง่มุมความสงบที่มองเห็นอาจจะไม่ได้หมายความตามนั้น อาจมีคลื่นใต้น้ำหรือกองไฟสุมที่รอวันปะทุ ปัญหายังคงมีเพียงแต่ระงับไว้ชั่วคราว เพื่อทำให้ชุมชนทำงานร่วมกับภาครัฐได้อย่างสันติ ปัญหาระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่อุทยานศรีลานนา ไม่มีทางหายไปโดยถาวร ไม่สามารถกลบฝังลงไปได้แน่นอน เพราะจิตใต้สำนึกและความหวงแหนธรรมชาติของชาวบ้านเเละเจ้าหน้าที่รัฐมันต่างกัน 

สำหรับชาวบ้านเเล้ว ผืนป่า แผ่นดิน น้ำ สำคัญต่อการดำเนินชีวิตมาก เพราะพวกเขามีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติมาตั้งแต่บรรพกาล จากการตั้งกฎระเบียบป่าชุมชนบ้านป่าตึงงาม สามข้อ คือ หนึ่งห้ามตัดไม้และทำไม้เพื่อค้าขาย สองห้ามล่าสัตว์ป่าเพื่อค้าขาย และสามห้ามขายที่ดินให้บุคคลภายนอก ฝ่าฝืนปรับ 10,000 บาท

พวกเขาย่อมรู้ดีว่าควรใช้ธรรมชาติอย่างไรให้สมดุล “รุ่นนี้ใช้เท่าไหร่ รุ่นหลังต้องมีใช้เท่านั้น” ไม่ใช่การกอบโกยผลประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเต็มที่  แล้วเจ้าหน้าที่รัฐรู้จักพื้นที่ตรงนี้มากน้อยเท่าไหร่จึงตัดสินชาวบ้านด้วยอคติ ยัดเยียดกฎหมายและข้อบังคับสารพัด โยนความผิดให้ชาวบ้านทั้งหมด แต่ถ้าหากจำเป็นต้องชี้ขาดความถูกผิดระหว่างสองฝ่ายก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะทั้งสองฝ่ายถูกครอบงำด้วยอุดมกาณ์ที่ต่างกันตั้งเเต่เเรก เเต่ในความคลุมเครือนี้ก็มีข้อดีเพราะมันจะต้องมีบางส่วนของอุดมกาณ์ ความคิด การมองโลก ที่ไปในทิศทางเดียวกันบ้าง หากหาจุดร่วมของอุดมการณ์ได้ ทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถทำงานร่วมกันได้เหมือนอย่างที่พ่อหลวงของชุมชนได้ตั้งปณิธานไว้

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้รับจากการภาคสนามที่นำวิเคราะห์ประกอบกับแนวคิดการปกครองชีวญาณหลากระนาบ และส่วนของพหุศาสนาที่มีความเกี่ยวข้องกับความจริงที่ไม่ปรากฏในชุมชนบ้านป่าตึงงาม จะมีลำดับการวิเคราะห์ที่อ้างอิงแนวคิดเรื่อง Structuralism: 3 Instances (Louis Althusser) “From base to ‘instances’ economic base, politico-legal, and ideology” และ Deconstructionism (Jacques Derrida) “An origin whose structure can be expressed as ‘signifier’ of the ‘signifier’ conceals and erases itself in its own production” เพิ่มเติมสี่ประการ ดังนี้

ประการแรก ดวงตาเป็นผัสสะที่รับรู้ในเชิงประจักษ์ รูปแบบการปกครองและการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านบ้านป่าตึงงามกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่พยายามปรับตัวเข้าหากัน เผยออกมาให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย การจัดการทรัพยากรที่ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องตามสถานการณ์ประเทศไทย เช่น การที่เด็กในชุมชนต้องออกไปเรียนหนังสือให้ได้วุฒิการศึกษาเท่ากับเด็กภายนอก ในขณะที่ต้นทุนทางเศรษฐกิจของคนในหมู่บ้านกับคนในเมืองนั้นต่างกัน ข้าพเจ้าตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า ถ้ามันยากลำบาก มีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย ทำไมไม่อยู่ภายในหมู่บ้าน จัดการกันเองไปเรื่อย ๆ เเละได้คำตอบว่า ทรัพยากรมนุษย์นั้นสำคัญเทียบเท่ากับทรัพยากรทางธรรมชาติ ถ้าไม่มีคนสืบทอดอุดมการณ์ของชุมชนแห่งนี้ ทรัพยากรต่าง ๆ ที่สั่งสมมาก็ไร้ความหมาย

ประการที่สอง มนุษย์ฟังเสียงธรรมชาติอย่างเข้าใจหรือเปล่า? การเชยชมธรรมชาติด้วยสายตาเป็นความต้องการของคนที่อยากพักผ่อนหย่อนใจ ถ้าเรามาคิดว่าธรรมชาติให้บทเรียนอะไรกับเรา ในทางกลับกันเราควรคิดว่าเราให้อะไรกกลับคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วบ้าง นโยบายหรือกฎกติกาที่มีมาเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติได้ทำหน้าที่นั้นตามเป้าประสงค์จริงหรือไม่ การกล่าวอ้างว่าทำไปเพื่อรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ ธรรมชาติต้องการสินน้ำใจนั้นจากมนุษย์จริงหรือ? เราเข้าใจและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้มากพอที่จะไปจัดการธรรมชาติได้มากน้อยเท่าไหร่กันแน่ หรือที่ผ่านมามนุษย์ไม่เคยฟังเสียงเรียกร้องของธรรมชาติเลย ความเจ็บปวด ความโหดร้ายที่ห้ำหั่นกันไปมาไม่รู้จักจบสิ้นจะไปหยุดที่ยุคสมัยไหน นี่เป็นประเด็นที่เราต้องหาทางจัดการและแก้ไขกันต่อไปตามสถานการณ์ที่บีบบังคับให้ทำเท่านั้นหรือ?

ประการที่สาม ปิดดวงตาทั้งสองข้างให้ผัสสะที่เหลือได้โลดแล่นอยู่บนความจริง  การนำเสนอผลงานของชุมชนที่ผ่านการประกวดโครงการต่าง ๆ และได้รับรางวัลเป็นหมู่บ้านดีเด่น หมู่บ้านนำร่อง เราสามารถเห็นได้จากผลงาน และภาพรวมภายในหมู่บ้านนี้ แต่โครงสร้างทางสังคมที่มองเห็น ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ไม่อย่างนั้นปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านคงหมดลงไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงชอบการหลับตาลงเเละซึมซับธรรมชาติผ่านเสียง กลิ่น สัมผัสจากมือที่เเตะต้องลงบนผืนดิน ผืนป่า และสายน้ำ ธรรมชาติที่สวยงามไม่ได้ถูกสัมผัสได้ด้วยตาเท่านั้น เสียงที่ไพเราะ กลิ่นหอมหวลชวนนึกถึงบางสิ่ง เเละสัมผัสที่ได้รับ มันช่างรู้สึกดีจนไม่อยากกลับออกมาสู่โลกที่วุ่นวาย ทำให้ข้าพเจ้าตระหนักรู้ว่าการเฝ้ามอง สัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้งหมด เเละเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ เป็นวิธีที่จะทำให้เราใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด

และประการสุดท้าย เปิดสัมผัสที่ 6 ซึมซับเอาจิตวิญญาณเบื้องหลังของธรรมชาติ ธรรมชาติคือความจริงที่เราไม่สามารถเข้าใจมันได้ทั้งหมด สิ่งที่ไม่ได้ปรากฏให้เราสัมผัสได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นแหละคือจิตวิญญาณที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง แรงดึงดูดที่ดึงเอาการจัดวางโดยธรรมชาติ ความเชื่อที่ทับซ้อน มาผสานกันอย่างลงตัวเเละก่อตั้งเป็น “บ้านป่าตึงงาม” ให้ผู้คนมากมายได้เดินทางเข้าไปศึกษาและได้รับบางสิ่งบางอย่างกลับมาเสมอ

เอกสารอ้างอิง

  • เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2565). Deconstructionism. สไลด์ประกอบการสอนในกระบวนวิชา 159305.
  • เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2565). Structuralism. สไลด์ประกอบการสอนในกระบวนวิชา 159305.
  • อรัญญา ศิริผล. 2564. หนังสือมานุษยวิทยานิเวศ : พัฒนาการ แนวคิดและข้อถกเถียง. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง